ปี 2556 องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดอย่างเป็นทางการว่า PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง และผลกระทบของ PM2.5 ต่อสุขภาพ มีทั้งผลระยะสั้น เช่น ระคายเคืองตา คอ จมูก หัวใจเต้นเร็ว หรือผิดจังหวะ โรคหืด หรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกำเริบ หลอดลมอักเสบ หรือปอดอักเสบ ผลระยะยาว เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหืด ภูมิแพ้ มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง คลอดก่อนกำหนด อีกทั้งเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในอนาคต
ประเทศไทยเป็นอีกประเทศที่กำลังต้องเผชิญกับปัญหา PM2.5 และดูเหมือนว่าจะเพิ่มอัตราความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากหลายๆ สาเหตุ รวมถึงปัญหาในด้านภูมิศาสตร์ ที่ประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงใช้วิธีการเผาในภาคเกษตรกรรม ทั้งนี้ปัจจุบันภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก มีประชากรรวมกันกว่า 150 ล้านคน มีแนวโน้มการพัฒนาสู่ความเป็นเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีส่วนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ และส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเนื่องจากมลพิษทางอากาศถึง 1.3 ล้านคน คิดเป็น 30% ของประชากรทั่วโลก
เพื่อหาทางออกของปัญหาดังกล่าว เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง, กรมควบคุมมลพิษ, กรุงเทพมหานคร, ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย และเยี่ยมชมนวัตกรรมเครื่องยนต์ต้นกำลังลดการเผาในที่โล่งภาคการเกษตรพื้นที่กรุงเทพมหานคร ในโครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดนจากการเผาไหม้ระหว่างไทย-เมียนมา (The Technical Workshop and Study Visit on Transboundary Haze Pollution Management Between Thailand and Myanmar) ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย และชุมชนอาสาพัฒนา เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า การเชื่อมประสานกันระหว่างสถานทูตไทย ย่างกุ้ง และผู้นำชุมชน เพื่อหารือร่วมกันในการนำเสนอบทเรียนที่ประเทศไทยควบคุมมลพิษ PM2.5 ด้วยการหารือกับรัฐฉานเกี่ยวกับพื้นที่ Hotspot ส่งผลกระทบต่อสุขภาวะทั้งสองประเทศ ในฐานะเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียงกัน รัฐฉานติดกับชายแดนทางภาคเหนือของไทย เชียงใหม่ ตาก รัฐฉานปลูกพืชไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ง่ายที่สุดคือการเผาวัชพืชซากพืช เป็นต้นทุนที่ถูกที่สุดก่อนที่จะลงมือปลูก ถ้าใช้เครื่องจักร แรงงานคนก็มีค่าใช้จ่ายสูง
ฝุ่น PM2.5 ขึ้นอยู่กับกระแสลมพัดมาทางไหนก็มีผลกระทบ เพราะฝุ่นฟุ้งกระจายบ้านใกล้เรือนเคียง ส่วนใหญ่จะมีการเผาก่อนฤดูฝน ก.พ.-มี.ค.เตรียมดิน เผาเดือนมี.ค.-เม.ย. ก่อนเดือน พ.ค.-มิ.ย. ขณะนี้ราชการสั่งไม่ให้เผา โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือเป็นภูเขา มีความลาดชัน การใช้รถเครนเกลี่ยวัชพืชทำได้ยาก เกษตรกรจึงเลือกการเผา ขณะนี้ประเทศไทยกำลังผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด โดยประชาชน นักวิชาการมีส่วนร่วมผลักดันร่วมกับนักการเมือง สสส.เป็นองค์กรมีส่วนร่วมประชุมภาคประชาชน
“สถานทูตไทยและพม่าให้ความสำคัญแลกเปลี่ยนความเข้าใจทั้งระยะสั้น ระยะยาว มีพื้นที่ต้นแบบ เริ่มต้นจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ สร้างการรับรู้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ภาครัฐบาลร่วมมือกันทำงานอยู่แล้ว ภาคเจ้าหน้าที่ ผู้ปฏิบัติงาน เป็นธรรมชาติบ้านเราก็มีการเผา ทิศทางลมแปรปรวนก็คงจะปลิวไปทางเขาด้วย เรามีกฎกติกาบังคับใช้ช่วยกันทำให้อากาศบริสุทธิ์ปลอดภัยสำหรับทุกคน”
“สสส.มุ่งสร้างสุขภาวะประชาชนโดยเน้น 'สร้างนำซ่อม' ได้ยกระดับการดำเนินงานปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ด้านการลดผลกระทบสุขภาพจากมลพิษสิ่งแวดล้อม เป็น 1 ใน 7 ทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565-2574) โดยมลพิษทางอากาศเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งแก้ปัญหา สำหรับปัญหาหมอกควันข้ามพรมแดน มีความเกี่ยวเนื่องกับหลายฝ่าย ไม่สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วโดยลำพัง โครงการนี้มีการกระชับความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศ เป็นก้าวสำคัญในการร่วมกันลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5 ของประชาชนทั้งในราชอาณาจักรไทย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา” นพ.พงศ์เทพเปิดเผย
นายยอดยิ่ง ศุภศรี อัครราชทูตที่ปรึกษา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ชี้แจงว่า โครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศข้ามแดนนี้ เกิดขึ้นจากการที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง และกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เป็นปัญหาสำคัญที่กระทบกับชีวิตของประชาชนไทย-สปป.ลาว-เมียนมา และสอดคล้องกับผลการประชุมระดับผู้นำสามฝ่าย เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2566 ซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวที่ฝังรากลึกในวิถีชุมชนและการทำการเกษตร เป็นปัญหาร่วมของทั้งภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและความเป็นอยู่ของประชาชนทั้ง 3 ประเทศ ซึ่งความรู้ที่ได้จากการอบรมในครั้งนี้ จะนำไปประยุกต์ใช้บริหารจัดการแก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดน และลดการเผาไหม้เพื่ออากาศสะอาดและมลภาวะที่ดีของทุกคน
“ตัวแทนเมียนมาเข้าร่วมประชุมดูงานในครั้งนี้ 20 คน เทคโนโลยีดาวเทียม ดูงานจิสด้า รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญ ขั้นตอนต่อไปมีการนำผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมมลพิษ ประเทศไทย ไปเมียนมา สาธิตการเพาะปลูกที่ลดการเผา ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นใน 2 หมู่บ้านนำร่อง เนื่องจากพรมแดนสองประเทศติดต่อกัน ทางพม่ายังไม่มี พ.ร.บ.อากาศสะอาดและยังไม่มีเทคโนโลยี รัฐบาลทหารของพม่าให้ความสำคัญเรื่องนี้จัดประชุม 3 ฝ่าย มีผู้นำสูงสุดของพม่าให้ความสำคัญเข้าร่วมประชุมด้วย” นายยอดยิ่งเปิดเผย
นายพันศักดิ์ ถิรมงคล ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การหารือแนวทางการจัดการปัญหามลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ประเทศไทยได้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิชาการ การใช้เทคโนโลยีดาวเทียมติดตามตรวจวัดจุดความร้อน (Satellite Fire Hotspot Monitoring) และการใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงการถ่ายทอดประสบการณ์ในการบริหารจัดการภาคการเกษตร (Agricultural Management) ให้ฝ่ายเมียนมา ภายใต้ “ยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR Sky Strategy)” ของไทย โดยฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการและเชิงเทคนิคให้แก่เจ้าหน้าที่เมียนมาที่เกี่ยวข้องจำนวน 2 0คน และเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยจำนวน 10 คน โดยได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนร่วมดำเนินการ รวมถึงสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.ด้วย ซึ่งคาดว่าจะนำไปสู่การบรรเทาปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ทั้งในไทยและเมียนมาในอนาคตต่อไป.
รศ.ดร.ดลเดช ตั้งตระการพงษ์
ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.)
ปัญหาการเผาในภาคการเกษตรของประเทศไทย ประเทศไทยมีพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ป่าไม้ 163,540 ตร.กม. (ร้อยละ 32) เนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตร 239,593 ตร.กม. (ร้อยละ 47) เนื้อที่ใช้ประโยชน์นอกการเกษตร 109,982 ตร.กม. (ร้อยละ 21) เกษตรกรเร่งการผลิตเพื่อให้ทำการเพาะปลูกได้หลายรอบ/ปี ขาดการจัดการที่ดีและเลือกใช้การเผาวัสดุทางการเกษตร เพราะง่าย สะดวก รวดเร็ว ต้นทุนต่ำ วัสดุทางการเกษตรที่ใช้เผามีข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 15,000 ตร.กม. (9.5 ล้านไร่) ผลผลิตข้าวนาปรัง/ไร่ 0.375กก./ตรม. (600 กก./ไร่) ปลูกมากที่สุดในพื้นที่ภาคกลาง การเผาในการทำนาข้าว เผาตอซัง ฟางข้าว ก่อนไถเตรียมดินเพื่อสะดวกในการไถเตรียมดินสำหรับการเพาะปลูกข้าวในฤดูต่อไป มีเศษฟางข้าว0.49ตัน/ตันผลผลิต ข้าวนาปีเผาร้อยละ 29 ของการปลูก ข้าวนาปรังมีการเผาร้อยละ 57 ของการปลูก มีพื้นที่ปลูกอ้อย 11 ล้านไร่ (17,600 ตร.กม.) ผลผลิต/ไร่ 6.5 4กก./ตร.ม. (10.47 ตัน/ไร่) ปลูกมากที่สุดในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
การเผาอ้อยก่อนเก็บเกี่ยวเพื่อความสะดวกในการตัดอ้อยและลดต้นทุนค่าจ้างตัด เผาหลังเก็บเกี่ยว เผาใบอ้อยที่อยู่ในไร่ เพื่อป้องกันไฟไหม้ช่วงแตกหน่อใหม่ หรือเพื่อความสะดวกในการไถเตรียมดินในกรณีที่จะรื้อตออ้อยพื่อปลูกอ้อยรอบใหม่ เผาเศษใบและยอดอ้อย 0.17 ตัน/ตันผลผลิต มีการเผาร้อยละ 47 ของการปลูก มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 11,000 ตร.กม. (6.8 ล้านไร่) ผลผลิต/ไร่เฉลี่ย 0.44 กก./ตร.ม. (700 กก./ไร่) ปลูกมากที่สุดทางภาคเหนือ การเผาต้นและใบข้าวโพดในแปลงเพื่อความสะดวกในการไถและเตรียมดิน มีเศษยอดใบและลำต้นข้าวโพด 1.84 ตัน/ตันผลิตและเศษซังข้าวโพด 0.24 ตัน/ตันผลผลิต เศษซังข้าวโพด 0.24 ตัน/ตันผลผลิต มีการเผาร้อยละ 35 ของการปลูก
กรมพัฒนาที่ดินระบุ การเผาเศษฟางข้าวจะเกิด PM2.5 จำนวน 4.18 กก./ไร่ การเผาเศษยอดใบ ลำต้น ซังข้าวโพด จะเกิด PM2.5 จำนวน3.09 กก./ไร่ การเผาเศษใบและยอดอ้อยจะเกิด PM2.5 จำนวน 17.60 กก./ไร่
การม้วนและอัดใบอ้อยเป็นก้อนส่งขายให้โรงงานน้ำตาลเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล สับและคลุกใบอ้อยลงในแปลงให้ย่อยเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ ตัดใบอ้อยปกคลุมหน้าดินเพิ่มความชุ่มชื้นหน้าดิน ข้าวโพดต้น ซัง ใบ อัดก้อนจากใบข้าวโพดเป็นอาหารเลี้ยงสัตว์ ผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์โดยไถกลบเร่งการย่อยสลาย อัดเป็นก้อนเพื่อใช้เป็นพลังงานชีวมวล
สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยทำกรณีศึกษา ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ บ้านยางตอย อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย เกษตรกรรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ นำเศษฟางข้าวมาฝากที่ธนาคารและเบิกถอนเป็นปุ๋ยและน้ำหมักชีวภาพไปใช้ในแปลงเกษตร เปลี่ยนเศษเปลือกข้าวโพดเป็นเห็ดฟางปลอดสารพิษ บ้านสันรุ่งเรือง ต.น้ำมวล อ.เวียงสา จ.น่าน เกษตรกรนำเปลือกซังข้าวโพดมาเพาะเห็ดฟางแบบตะกร้าและโรงเรือน อัดม้วนใบอ้อยแทนการเผา ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก นำรถอัดม้วนเศษใบอ้อยให้เป็นก้อน ใบอ้อยจะไถกลบเป็นปุ๋ยในดิน มีการรวมกลุ่มเกษตรกรใน จ.สุพรรณบุรีและกาญจนบุรี รวบรวมเศษยอดและใบอ้อยเพื่อผลิตเม็ดเชื้อเพลิงชีวมวล
การนำเครื่องจักรกลมาช่วยในการเก็บเกี่ยว ปรับเปลี่ยนวิธีการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อลดการเผา นำมาทำปุ๋ย เฟอร์นิเจอร์ นำไปเลี้ยงสัตว์ เพิ่มแรงจูงใจให้เกษตรกรที่ไม่เผา เพิ่มความแตกต่างของราคาอ้อยสดและอ้อยเผาที่เข้าสู่โรงงาน จัดหาตลาดสำหรับเศษวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร ห้ามเผาในพื้นที่ใกล้ชุมชน และบังคับใช้ กม.อย่างเคร่งครัด กำหนดวางแผนหรือจัดระเบียบการเผาในแต่ละพื้นที่ การใช้ Burn Check หรือการจองคิวการเผา รณรงค์สร้างความตระหนักและความรู้ความเข้าใจของปัญหาการเผาในภาคการเกษตรและผลกระทบที่เกิดขึ้นในด้านต่างๆ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจียระไนเพชร 3 องค์กรต้นแบบ สร้างเสริมสุขภาวะในที่ทำงาน
"ในอดีตเรารบกับเชื้อโรค มีการโจมตีด้วยเทคโนโลยี แต่วันนี้เรากำลังสู้กับกิเลสของมนุษย์ โรค NCDs เกิดขึ้นจากเราสร้างสุขเทียมเพื่อแก้ไขปัญหาให้ตัวเอง เติมรสหวาน มัน เค็ม สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า
อึ้ง ! ความเหงา-โดดเดี่ยว ภัยเงียบที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน หรือดื่มเหล้าวันละ 6 แก้ว
เวลา 09.00 น. วันที่ 1 พ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับธนาคารจิตอาสา ภาคีภาครัฐ และภาคเอกชน จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวแคมเปญ “เดือนการฟังแห่งชาติ” หรือ “National Month of Listening” เพื่อกระตุ้นให้สังคมเห็นความสำคัญของการดูแลความสัมพันธ์ด้วย
“รองนายกฯประเสริฐ” มอบนโยบาย สสส.สั่งด่วนยกระดับสร้างความปลอดภัยทางถนนในเด็กและเยาวชน 3 ด้าน “รถบัสปลอดภัย-สวมหมวกนิรภัย-ส่งเสริมวินัยจราจร”
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ สสส.
“อย่าเพิ่งเชื่อ-อย่าเพิ่งแชร์-อย่าเพิ่งโอน” คาถาป้องกันแก๊ง Call Center
คนไทย 36 ล้านคน ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ถูกหลอกให้ร่วมลงทุน พนันออนไลน์ ด้วยการเปิดบัญชีม้า ซื้อสินค้า-โอนเงิน-กู้เงิน ไตรมาสแรกปี 67
รพ.ศูนย์การแพทย์ ม.วลัยลักษณ์ สานพลัง สสส. ประกาศความร่วมมือเข้มแข็ง ผสานองค์ความรู้-สร้างนวัตกรรมฐานข้อมูล เตรียมพัฒนาหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาพ บรรจุในการเรียนการสอน ม.วลัยลักษณ์
ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือวิชาการ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยเฉพาะในจังหวัดนครศรีธรรมราช