คนอุทัยธานีเดินหน้าพัฒนาชุมชนทุกมิติ-ที่อยู่อาศัย-คุณภาพชีวิต ด้าน พอช.หนุนซ่อมบ้าน 24 ตำบล สร้างอาชีพสวัสดิการ

ผู้นำชุมชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ ในนาม ‘เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุทัยธานี’ ร่วมประชุมวางแผนการพัฒนาชุมชนเมื่อเร็วๆ นี้  ร่วมกันทำสัญลักษณ์ ‘บ้าน’ การพัฒนาที่อยู่อาศัย

อุทัยธานี / เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุทัยธานีเดินหน้าพัฒนาชุมชนทุกมิติ  เช่น  ที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย  ส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้  คุณภาพชีวิต ฯลฯ โดยในปี 2567 พอช. สนับสนุน 5 โครงการ เช่น  ซ่อมสร้างบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม  ในพื้นที่ 24 ตำบล  รวม 240 ครัวเรือน  ส่งเสริมการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน  พัฒนาแกนนำ  คนรุ่นใหม่ เครือข่าย  ส่งเสริมกองทุนสวัสดิการชุมชน สร้างสังคมสุจริต ฯลฯ  ใช้งบกว่า 6 ล้านบาท

ในปี 2567  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนในจังหวัดอุทัยธานี  เช่น  สภาองค์กรชุมชนตำบล  กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบล  ฯลฯ ได้จัดทำแผนงานเพื่อพัฒนาชุมชนในทุกมิติ  เช่น  พัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อย  ส่งเสริมการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนฯ  กองทุนสวัสดิการชุมชน  โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  สำนักงานภาคเหนือ  รวม 5 โครงการ  จำนวนเงิน  6,360,425 บาท  ประกอบด้วย

1.โครงการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านที่อยู่อาศัยจังหวัดอุทัยธานี ปี 2567 สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่มีสภาพทรุดโทรม  ฐานะยากจน  ตามโครงการ บ้านพอเพียง ของ พอช.  ในพื้นที่ 24 ตำบลในจังหวัดอุทัยธานี  รวม 240 ครัวเรือน  รวมงบประมาณ  5,168,520 บาท (เฉลี่ยครัวเรือนหนึ่งไม่เกิน 20,500 บาท)

บ้านบางหลังมีสภาพทรุดโทรมมาก  ต้องรื้อสร้างใหม่  โดยชุมชน  หน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่นร่วมสมทบการก่อสร้าง  ทั้งวัสดุและแรงงาน  ทำให้ประหยัดงบประมาณ  แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน

2.โครงการสนับสนุนการขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชนจังหวัดอุทัยธานี  เพื่อสนับสนุนให้กองทุนสวัสดิการฯ เกิดความเข้มแข็ง  สามารถช่วยเหลือสวัสดิการขั้นพื้นฐานแก่สมาชิกได้ทั่วถึงและยั่งยืน  เช่น  ช่วยเหลือยามเกิด  แก่  เจ็บ ตาย  ทุนการศึกษา  ส่งเสริมอาชีพ  ฯลฯ  รวมงบประมาณ 656,055 บาท

3.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย  ส่งเสริมการสร้างอาชีพ  ลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  ฯลฯ ในพื้นที่ 5 ตำบล  งบประมาณ 210,000 บาท

4.โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของชุมชน  จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล 70 ตำบล พัฒนาสภาองค์กรชุมชนตำบล  พัฒนาผู้นำ ฯลฯ  งบประมาณ  195,850 บาท

 5.โครงการพัฒนาเครือข่ายชุมชนสุจริตจังหวัดอุทัยธานี  สร้างเครือข่ายป้องกันการทุจริต  พัฒนาเครือข่าย  เสริมสร้างศักยภาพแกนนำคนรุ่นใหม่  10 ตำบล  งบประมาณ 130,000 บาท

อัญชุลี วัฒนกุล  ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโคกหม้อ  อ.ทัพทัน  จ.อุทัยธานี  แกนนำพัฒนาในตำบลโคกหม้อ  บอกว่า  ในตำบลมีการพัฒนาหลายด้าน  เช่น  การจัดสวัสดิการช่วยเหลือสมาชิกในชุมชน  มีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโคกหม้อ  ช่วยเหลือสมาชิกในยามเดือดร้อนจำเป็น  เจ็บป่วย  เสียชีวิต  ทุนการศึกษา  ส่งเสริมอาชีพ  ฯลฯ  จัดตั้งขึ้นมาในปี 2551 ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 1,700 คน  มีเงินกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือสมาชิกประมาณ  6 ล้านบาทเศษ 

“ส่วนในปี 2567 นี้  เราทำโครงการสมทบและพัฒนากองทุนสวัสดิการฯ  ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช.  ประมาณ 5 หมื่นบาท  และทำโครงการซ่อมแซมบ้านให้ครอบครัวที่เดือดร้อน  ยากจน  หรือ ‘โครงการบ้านพอเพียง’  รวม 8 หลัง  ได้รับงบสนับสนุนจาก พอช.เหมือนกัน”  อัญชุลีบอกและว่า   โครงการบ้านพอเพียงตำบลโคกหม้อเริ่มทำตั้งแต่ปี 2564  โดยซ่อมบ้านให้ผู้เดือดร้อนไปแล้วประมาณ 30 หลัง 

ทั้งนี้การพัฒนาชุมชนของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุทัยธานีดำเนินการต่อเนื่องมานานหลายปี  โดยได้รับการสนับสนุนโครงการและงบประมาณจาก พอช. เช่น ในปี 2563 มีโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชาวแพในแม่น้ำสะแกกรัง อ.เมือง (ปัจจุบันยังดำเนินการต่อเนื่อง) โครงการบ้านมั่นคงชนบท-ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น อ.ห้วยคต   เปิด ‘ตลาดนัดกะเหรี่ยง’ ปี 2565  ฯลฯ

‘ตลาดนัดกะเหรี่ยง’ ที่บ้านภูเหม็นกลาง  ตำบลทองหลาง  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี เปิดในปี 2565 เพื่อรองรับผลผลิตชาวบ้าน

‘คนป่าอ้อ’ พัฒนาคุณภาพชีวิต-ส่งเสริมอาชีพ-สร้างแหล่งอาหาร

ตำบลป่าอ้อ  อ.ลานสัก  จ.อุทัยธานี  เป็นพื้นที่รูปธรรมแห่งหนึ่งในจังหวัดอุทัยธานีที่ พอช.ได้สนับสนุน ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท’  โดยในปี 2563 หลังจากที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19  ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนทั่วประเทศ  โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย  ซึ่งอาจตกงาน  ถูกเลิกจ้าง  ขาดรายได้  ต้องกลับภูมิลำเนาเดิม 

‘พอช.’  จึงมีโครงการสนับสนุนชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว  โดยจัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท’ ขึ้นมา  เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนลุกขึ้นมาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ  ปัญหาปากท้อง  สร้างแหล่งอาหาร  เพิ่มรายได้      ลดรายจ่าย

สมบัติ  ชูมา  เครือข่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมชุมชนตำบลป่าอ้อ  อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี  บอกว่า  เครือข่ายทรัพยากร ฯ ได้ร่วมกับกลุ่มและองค์กรอื่นๆ ในตำบล  ในนามของสภาองค์กรชุมชนตำบลป่าอ้อ  จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยตำบลป่าอ้อ’ ขึ้นมาในปี 2565   ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. จำนวน 135,000 บาท   มีเป้าหมายสำคัญคือ  การพัฒนาชุมชนบนฐานทรัพยากรที่ชุมชนมีอยู่  โดยการสร้างและส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว  สร้างความมั่นคงทางอาหารและอาชีพ  ครอบคลุมพื้นที่ 11 หมู่บ้านในตำบลป่าอ้อ  รวม 1,871 ครัวเรือน

กิจกรรมที่ทำ  เช่น  1.การสำรวจข้อมูลชุมชน  ครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย  กลุ่มเปราะบาง  รวมทั้งข้อมูลทุนทางสังคม  ระบบเศรษฐกิจของชุมชน  2.นำข้อมูลมาจัดทำแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิต  การพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว  ส่งเสริมการสร้างความมั่นคงทางอาหาร  สร้างอาชีพ  3.การเปิดตลาดชุมชนสีเขียว เพื่อรองรับผลผลิต  และส่งเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่   ฯลฯ  เริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 2565 จนถึงปัจจุบัน

บางครอบครัวเลี้ยงเป็ดไข่เป็นอาหารในครอบครัว  เหลือนำไปขายหรือแจกเพื่อนบ้าน

“โครงการนี้เป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและเศรษฐกิจชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำ  กลางน้ำ  จนถึงปลายน้ำ  1.ต้นน้ำ  คือ ส่งเสริมให้ชาวบ้านทำเกษตรแบบผสมผสาน  ปลูกพืชผัก  ผลไม้  เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงหมู  เป็ด  ไก่  ปลา เอาไว้กินและขาย  เป็นการลดรายจ่าย 

2.กลางน้ำ  คือสร้างตลาดสีเขียวหรือ ‘ตลาดลานร่มสัก’  ให้ชาวบ้านนำเอาผลผลิตทางการเกษตรหรือในครัวเรือนมาขาย  และแปรรูปสินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่า  เป็นการสร้างอาชีพ  สร้างรายได้  และ 3.ปลายน้ำ  คือ  การพัฒนาช่องทางการตลาด  การขาย  และการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อกระจายสินค้า”  สมบัติบอก

การสร้างธุรกิจชุมชนปลายน้ำ  โดยเปิดตลาดสีเขียวหรือ ‘ตลาดลานร่มสัก’ ขึ้นมาที่ตำบลป่าอ้อ อ.ลานสัก   เปิดตลาดตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565

เลี้ยงหมูขุน-มูลทำปุ๋ย

โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยตำบลป่าอ้อ  เริ่มส่งเสริมอาชีพชาวบ้านในตำบลตั้งแต่ต้นปี 2565 เช่น  ส่งเสริมการเลี้ยงหมู  เป็ด  ไก่  ปลา  ปลูกผัก  ทำเกษตรผสมผสาน  ฯลฯ  โดยนำงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจาก พอช. มาซื้อพันธุ์สัตว์เลี้ยง  เมล็ดพันธุ์พืช  แจกจ่ายให้แก่กลุ่มต่างๆ ในตำบล  (งบประมาณกลุ่มละ 10,000 บาท)  เช่น  กลุ่มเลี้ยงหมูหลุม

สมปอง  เหลือน้อย  กลุ่มเลี้ยงหมูหลุม   เครือข่ายวนเกษตรตำบลป่าอ้อ  อ.ลานสัก  จ.อุทัยธานี  บอกว่า  กลุ่มได้รับการสนับสนุนจาก พอช.ในปี 2565  แต่ก่อนหน้านั้นกลุ่มเริ่มเลี้ยงหมูตั้งแต่ปี 2562  มีสมาชิก 8 คน  ให้สมาชิกลงหุ้นกันเดือนละ 100 บาท  เพื่อสะสมเป็นทุนไว้ซื้อหมูมาเลี้ยง  หลังจากนั้นจึงซื้อลูกหมูพันธุ์แลนด์เรซมาเลี้ยง 5 ตัว  หมูพันธุ์นี้มีความแข็งแรง  ทนต่อโรค เลี้ยงง่าย ให้ลูกดก  ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 ปีเศษ  จนลูกหมูโตจึงขายหมูรุ่นแรก  ได้เงินมาประมาณ 20,000 บาทเศษ  จึงซื้อหมูแม่พันธุ์มาเลี้ยง 2 ตัว  ใช้วิธีผสมทียม  ได้ลูกหมูออกมาหลายตัว  เลี้ยงเป็นหมูขุนขาย  ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4-5  เดือนจึงจับขาย  น้ำหนักหมูประมาณ 90 กิโลกรัมขึ้นไป

“ช่วงแรกเราใช้วิธีการเลี้ยงแบบหมูหลุม  คือเอาแกลบมารองพื้นคอก  เอาน้ำหมักชีวภาพมาคลุกเคล้ากับแกลบ  เมื่อหมูถ่ายมูลออกมาจะช่วยให้ไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวนชาวบ้าน  มูลที่ถ่ายออกมาจะรวมกับแกลบใช้เป็นปุ๋ยบำรุงพืชผักที่ปลูก  ส่วนอาหารเลี้ยงหมูก็ทำเอง  เพื่อลดต้นทุน  โดยเอารำ  ปลายข้าว  และหัวอาหารผสมกัน   แล้วอัดเป็นเม็ด  ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงได้เยอะ”  สมปองบอกและว่า  การเลี้ยงหมูตนจะเป็นคนเลี้ยงหลัก  เพราะใช้พื้นที่ว่างที่บ้านเป็นที่เลี้ยง หากสมาชิกคนไหนมีเวลาก็จะมาช่วย  เช่น  ช่วยกันทำอาหารอัดเม็ด

ช่วงแรกเลี้ยงแบบหมูหลุม ปัจจุบันแกลบรองพื้นคอกหายาก

เขาบอกว่า  การเลี้ยงหมูขุนต้นทุนหลักคือค่าอาหาร  ถ้าซื้อหัวอาหารสำเร็จ  ขนาดถุงละ 30  กิโลกรัม ราคาประมาณถุงละ 500-700 บาท (ราคาขึ้นอยู่กับยี่ห้อ) หมูตัวหนึ่งใช้เวลาเลี้ยงก่อนจับขายประมาณ  4-5 เดือน  จะมีต้นทุนค่าอาหารประมาณตัวละ 4,000 บาท   แต่หากซื้อหัวอาหารมาผสมกับรำและปลายข้าวจะช่วยลดต้นทุนได้ประมาณตัวละ 3,000 บาท 

ส่วนราคาขายหมูเป็น  ก่อนจะมีปัญหาเรื่องหมูเถื่อนจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาด  ราคาขายกิโลกรัมละ     100  บาท  แต่เมื่อมีหมูเถื่อนเข้ามาในช่วงปี 2565-2566  ราคาหมูเป็นเหลือกิโลกรัมละ 48-50 บาทเท่านั้น  ทำให้คนเลี้ยงได้รับผลกระทบ  ต้องขาดทุน

หมูขุนและสมาชิกกลุ่มเลี้ยงหมู

ปัจจุบันกลุ่มเลี้ยงหมูทั้งหมด 23 ตัว  เป็นหมูแม่พันธุ์ 2  ตัว  แบ่งเลี้ยงเป็น 2 คอก  แต่ปัจจุบันไม่ได้เลี้ยงหมูหลุมหรือใช้แกลบรองพื้นคอกแล้ว  เนื่องจากแกลบมีน้อย  หายาก  เพราะพื้นที่ทำนาในอำเภอลานสักลดน้อยลง  ชาวนาเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น  แต่กลุ่มก็ยังได้มูลหมู  คอกหนึ่งประมาณ 100 กระสอบต่อการเลี้ยง 1 รอบ  หรือประมาณ 5 เดือน  นำไปขายราคากระสอบละ 40 บาท  หนักกระสอบละ 30 กิโลกรัม  หรือนำไปใส่ผักที่ปลูกเอาไว้  จำพวกผักกินใบ  หรือใส่ในแปลงมันสำปะหลัง  บำรุงพืช  และช่วยปรับสภาพดิน  ดินจะร่วน  ไม่แข็ง

“นอกจากเลี้ยงหมูแล้ว  กลุ่มของเรากำลังจะเลี้ยงเป็ดไก่  ไข่ไก่  และเลี้ยงปลานิลด้วย  เพื่อให้มีอาหารหลายอย่าง  เหลือก็ขาย  เอารายได้มาเข้ากลุ่มและแบ่งสมาชิก  โดยจะหักรายได้จากการขายเข้ากลุ่ม 40 เปอร์เซ็นต์  ปันผลกำไรให้สมาชิก 60 เปอร์เซ็นต์  แม้ว่าจะมีรายได้ไม่มากนัก  ถือเป็นรายได้เสริม และช่วยลดรายจ่าย ทำให้มีอาหารกินตลอดปี”  สมปองบอก

นี่คือตัวอย่างของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดอุทัยธานี  ที่ช่วยกันสร้างแหล่งอาหาร  สร้างอาชีพและรายได้เสริม  ซ่อมสร้างบ้านเรือนผู้เดือดร้อนยากจน  และพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนในทุกมิติ  โดยทำต่อเนื่องมานานหลายปี...และจะเดินหน้าในปี 2567 นี้อีกหลายโครงการ !!

**************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา