กระทรวงอุตฯ เตรียมจัดงานมอบ "รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2566" เชิดชูศักยภาพ 44 องค์กรต้นแบบ รับรางวัลจากนายกรัฐมนตรี

กรุงเทพฯ 7 กุมภาพันธ์ 2567 - กระทรวงอุตสาหกรรม แถลงข่าวเตรียมจัดงานมอบ "รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี 2566" ในวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบรางวัลฯ เพื่อเชิดชูศักยภาพองค์กรต้นแบบ 44 แห่งทั่วประเทศ ภายใต้แนวคิด "อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน" พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่ความเข้มแข็ง

ดร.ณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมจัดงาน
มอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023) ในวันจันทร์ที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล โดยได้รับเกียรติจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่สถานประกอบการที่มีความเป็นเลิศ ทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน อุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต ความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ประกอบการที่พัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของประเทศ

การพิจารณารางวัลอุตสาหกรรมประจำปี พ.ศ. 2566 จะมุ่งเน้นให้รางวัลกับสถานประกอบการ
ที่มุ่งสู่การพัฒนาและปรับเปลี่ยนการประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภายใต้แนวคิด "อุตสาหกรรมเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืนคู่ชุมชน" โดยเน้นมาตรการและกลไกมุ่งสู่ความสำเร็จ 4 มิติ ประกอบด้วย มิติที่ 1 ความสำเร็จทางธุรกิจ มิติที่ 2 ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม มิติที่ 3 ความลงตัวกับกติกาสากล ดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมสู่อุตสาหกรรมสีเขียว และมิติที่ 4 การกระจายรายได้สู่ชุมชนที่ตั้ง

สำหรับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 (The Prime Minister’s Industry Award 2023)
มีจำนวน 14 ประเภทรางวัล ประกอบด้วย

1. รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม (The Prime Minister’s Best Industry Award) จำนวน 1 รางวัล
ซึ่งคัดเลือกจากสถานประกอบการที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ประเภท
และเป็นสถานประกอบการที่มีการพัฒนาศักยภาพขีดความสามรถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากล และมีความเป็นเลิศทั้งในด้านการผลิต การบริหารจัดการ การตลาด และการลงทุนมีการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่ รวมทั้งนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจของตนเองและสามารถสร้างการพัฒนาให้กับอุตสาหกรรมในภาพรวมได้อย่างชัดเจน

2. รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น (The Prime Minister’s Industry Award) แบ่งเป็น 9 ประเภท ประกอบด้วย 1) ประเภทการเพิ่มผลผลิต 2) ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 3) ประเภทการบริหารความปลอดภัย 4) ประเภทการบริหารงานคุณภาพ 5) ประเภทการจัดการพลังงาน 6) ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน 7) ประเภทอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคต 8) ประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม และ 9) ประเภทเศรษฐกิจหมุนเวียน

3. รางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น (The Prime Minister’s Small and Medium Industry Award) แบ่งเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) ประเภทการบริหารจัดการที่ดี 2) ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ 3) ประเภทการจัดการเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรม และ 4) ประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล

ดร.ณัฐพลฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายให้ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดงานรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2566 โดยมีสถานประกอบการให้ความสนใจสมัครเข้ารับการคัดเลือก จำนวนทั้งสิ้น 273 ราย แบ่งเป็นรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม จำนวน 3 ราย รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น และรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้ง 13 ประเภท รวม 270 ราย ซึ่งทุกรายผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากคณะทำงานฯ แต่ละประเภทรางวัลอย่างเข้มข้น โดยผู้ประกอบการที่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดหลายด้าน เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่น วิริยะอุตสาหะในการพัฒนาศักยภาพทั้งในด้านการเพิ่มผลผลิต คุณภาพ ความปลอดภัย การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพลังงาน โลจิสติกส์และโซ่อุปทานอุตสาหกรรม และบริการแห่งอนาคต ความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมโดยรวม ซึ่งมีผู้ได้รับรางวัลทั้งสิ้น 44 ราย และสถานประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ได้แก่ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สามารถดูรายชื่อผู้ได้รับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ.2566 ได้ที่เว็บไซต์กระทรวงอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน ในปีนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีรางวัลพิเศษ คือทูตอุตสาหกรรมภาคเอกชน หรือ
MIND Ambassador มอบให้แก่สถานประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งรางวัลนี้เปรียบเสมือนตัวแทนของกระทรวงอุตสาหกรรมจากภาคเอกชนที่จะเป็นต้นแบบการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมที่ดีและอยู่คู่กับชุมชนอย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นหน่วยงานกลางในการประสานความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและส่งเสริม สร้างภาพลักษณ์ที่ดีผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรม ตลอดจนช่วยประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร และบริการของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมอีกด้วย
ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในขณะที่โครงสร้าง
ทางเศรษฐกิจของประเทศไทยยังคงพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศสูง ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องพัฒนายกระดับศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ

โดยกิจกรรมหนึ่งที่สนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง คือ การจัดงานมอบรางวัลอุตสาหกรรม โดย กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งหวังให้เกิดการพัฒนามาตรฐานการประกอบการในด้านต่าง ๆ เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางการค้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการเจริญเติบโตของประเทศโดยรวม" ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กรมโรงงานฯลั่นจัดการ ‘โรงงานเถื่อน’ สุดซอยไม่กลัวผู้มีอิทธิพล

อธิบดีกรมโรงงานฯ ย้ำ เดินตามนโยบายรัฐมนตรีเอกนัฏ ตรวจสุดซอย ไม่กลัวผู้มีอิทธิพล โรงงานหรือผู้เกี่ยวข้อง รู้เห็น ร่วมทำความผิด เจอคดีถึงที่สุดทันที

โบว์แดง 'รทสช.' ผสานกำลัง 2 กระทรวงปลดล็อก 'โซลาร์รูฟท็อป'

ไทยเดินหน้าพลังงานสะอาด “หิมาลัย” เผย “พีระพันธุ์-เอกนัฏ” ผสานกำลังปลดล็อก “โซลาร์รูฟท็อป” สำเร็จ เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงพรรค

ก.อุตฯ ลุยเสริมทักษะเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย

'ศศิกานต์' เผย ก.อุตฯ เดินหน้าส่งเสริมเอสเอ็มอีกว่า 200 ราย เสริมทักษะ เพิ่มขีดการแข่งขัน เน้นดิจิทัลและความยั่งยืน คาดดันเศรษฐกิจโตกว่า 62 ล้านบาท