นิด้า-พอช.ภาคีเครือข่ายจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ‘การสร้างชุมชนเข้มแข็ง พื้นฐานประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย-การขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ’

ระหว่างวันที่ 6 – 7 กุมภาพันธ์ 2567 สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) จัดงาน การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ‘การสร้างชุมชนเข้มแข็ง พื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยและการขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ’ ที่ห้องประชุมอาคารนวมินทราธิราช  นิด้า  ถนนเสรีไทย  เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ  โดยมีผู้บริหารนิด้า  ผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ผู้แทนภาคีเครือข่าย  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน  ผู้นำชุมชนจากทั่วภูมิภาค   เข้าร่วมงานสัมมนาประมาณ  100  คน

การจัดงานสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ  1.สร้างความเข้าใจ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ  2.เพื่อออกแบบเป้าหมาย กระบวนการ เครื่องมือการขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ  3.เพื่อกำหนดแผนการขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการ  ทั้งนี้การจัดงานสัมมนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง พื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย” โดยมีพื้นที่วิจัย 5 จังหวัด  คือ  เชียงราย  ขอนแก่น ชลบุรี สุพรรณบุรี และพัทลุง

‘ขบวนองค์กรชุมชน’ หุ้นส่วนสำคัญของการพัฒนา

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช’ กล่าวถึงขบวนองค์กรชุมชน หุ้นส่วนสำคัญของการพัฒนา โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งว่า พอช. มีภารกิจในการส่งเสริมขบวนองค์กรชุมชนหลากหลายมิติ เช่น  การขับเคลื่อนสวัสดิการชุมชน สภาองค์กรชุมชน เศรษฐกิจและทุนชุมชน การพัฒนาคนในขบวนองค์กรชุมชน  ฯลฯ

คำว่า ‘ชุมชนเข้มแข็ง’ นั้น สามารถมองความเข้มแข็งได้หลากหลายมิติ มิติที่สำคัญอีกมิติหนึ่งคือ การสร้างประชาธิปไตยในระดับพื้นที่ หรือประชาธิปไตยอยู่ได้ กินได้ ที่เป็นระบบการปรึกษาหารือกันในพื้นที่ ไม่ใช่เพียงการโหวตหรือเลือกตั้งเสียงส่วนใหญ่ที่ชี้ขาดแพ้หรือชนะ ซึ่งฐานดังกล่าวเป็นฐานสำคัญในการสร้างฐานความเป็นชุมชนเข้มแข็ง”  ผอ.พอช.กล่าว

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช.

ผอ.พอช.กล่าวต่อไปว่า  ในปี พ.ศ. 2551 มี ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน’ เกิดขึ้น เนื่องจากผลกระทบจากการพัฒนาประเทศ  ส่งผลให้ชุมชนอ่อนล้าและอ่อนแรง จึงมีการรวมตัวกันของขบวนองค์กรชุมชนในการแลกเปลี่ยนร่วมกันสร้างความเข้มแข็งของขบวนองค์กรชุมชน

โดยชุมชนเข้มแข็งมีองค์ประกอบของทุนต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ทั้งทุนคน ทุนทรัพยากรธรรมชาติ ทุนด้านการเงิน และอื่นๆ ที่เป็นพื้นฐานในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง รวมถึงการจัดสวัสดิการของคนในชุมชน ที่คนในชุมชนลุกขึ้นมาจัดระบบสวัสดิการของตนเอง เพื่อขับเคลื่อนสู่ระบบการจัดการ อันหมายรวมถึงการสร้างสัมมาชีพของชุมชน มีการประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนใคร  มีธรรมาภิบาล คำนึงถึงคน สิ่งแวดล้อม เป็นต้น

“พอช. เป็นองค์กรที่ได้รับเกียรติจากนิด้าในการทำงานวิจัย และขยับขับเคลื่อนในประเด็นดังกล่าว การสร้างชุมชนเข้มแข็งมีหลายประการ เช่น  ประการแรก คือ เรื่องของคน การพัฒนาผู้นำ และคนในขบวนองค์กรชุมชน ประการที่สอง การใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง ประการที่สาม หุ้นส่วนการพัฒนา หรือภาคีพัฒนาในการส่งเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องที่ท้องถิ่น ที่มีการส่งเสริมการขับเคลื่อนทั้งเชิงนโยบายและพื้นที่”  ผอ.พอช.กล่าว

ส่วนทิศทางในการขับเคลื่อนการทำงานนั้น ผอ.พอช. กล่าวว่า ชุมชนที่ยังไม่เข้มแข็ง จะใช้ทรัพยากรทุกมิติที่มีอยู่ และต่อเชื่อมพลังภาคีมาหนุนเสริมให้ชุมชนนั้นเข้มแข็งต่อไป ส่วนชุมชนที่เข้มแข็งแล้วจะใช้กระบวนการต่อยอด ให้พี่น้องโบยบินออกไปหากินด้วยตนเอง ใช้ทรัพยากรจากแหล่งอื่น ปัจจุบันในหลายๆ จังหวัดไม่ได้พึ่งพาทรัพยากรของ พอช.เพียงอย่างเดียว บางสภาองค์กรชุมชนสามารถไปต่อเชื่อมกับภาคีอื่นได้

เช่น กศส. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา)  ที่ทำในมิติของการศึกษานอกระบบ เปิดโอกาสในการพัฒนาอาชีพ พัฒนาความรู้ สร้างอาชีพ ให้กับเด็กและเยาวชน  รวมทั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลหลายพื้นที่มีการต่อเชื่อมกับภาคธุรกิจเอกชน  เรื่องอาชีพ เพิ่มรายได้ให้กับชุมชน บางพื้นที่ได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่นเป็นอย่างดี  เป็นการพัฒนาคนโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง สร้างเสริมภาคี  รวมถึงการใช้ระบบข้อมูล องค์ความรู้ และงานวิชาการ ที่เสริมเติมให้ชุมชนนั้นเข้มแข็ง ซึ่งปัจจุบัน พอช. ก้าวสู่ปีที่ 24 มีทิศทางในการให้ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชนมาร่วมในการทบทวนและกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนงานร่วมกัน

“องค์กรชุมชนเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนงานร่วม และมีองค์กรหลายภาคส่วนที่เข้ามาหนุนเสริม เราจะเดินให้ไกล เราต้องเดินร่วมกันเป็นหมู่คณะ และทิศทางสำคัญคือ ปี 2579 ชุมชนเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย” นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช. กล่าวในตอนท้าย

‘ประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย’ ทางรอดของสังคมไทย

ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ หัวหน้าโครงการวิจัยฯ “นวัตกรรมทางสังคมเพื่อสร้างชุมชนเข้มแข็ง พื้นฐานของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย”  กล่าวในประเด็นประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยกับการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย     มีใจความสำคัญว่า รากที่มั่นคงของประเทศไทย คือ ชุมชน คุณค่าทางสังคม คือ สันติภาพ  โดยมีแนวทางที่เป็นทางเลือกและทางรอดของประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยด้วยเหตุผล 4 ประการ  คือ

ประการแรก ความเสื่อมถอยของประชาธิปไตยแบบตัวแทนของตะวันตกนับวันมีความถดถอย ท้ายที่สุดแล้วประชาธิปไตยตามแนวทางดังกล่าวกลับสร้างความเหลื่อมล้ำและเสื่อมโทรมของสังคมยิ่งขึ้น ในทางกลับกันประชาธิปไตยตามแนวทางของจีนกลับลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความรุ่งเรืองของสังคมโดยรวมมากขึ้น

ประการที่สอง ปัญหาการจัดโครงสร้างสถาบันทางการเมืองของไทยตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงปัจจุบัน  มีการใช้รัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 20 ฉบับ แต่ยังหาความลงตัวของการจัดโครงสร้างทางการเมืองของไทยไม่ได้ นัยก็คือ พลังอำนาจทางสังคมของไทยยังไม่ลงตัว รัฐธรรมนูญเป็นเพียงผลิตผลของความไม่ลงตัวในดุลอำนาจ

ศ.ดร.บรรเจิด  สิงคะเนติ

ประการที่สาม การที่สังคมไทยไม่สามารถเชื่อมต่อกับ “ประชาธิปไตยแบบตะวันตก” ได้อย่างลงตัวไร้รอยต่อนั้น เกิดจากสภาพพื้นฐานของสังคมไทย  หรือเรียกว่า “สภาพสังคมวิทยาการเมืองของไทย” นั้น แตกต่างไปจากสังคมตะวันตก การนำ หลักการพื้นฐานประชาธิปไตยมาออกแบบเชิงกลไกและองค์กรจะต้องเชื่อมโยงกับสภาพสังคมวิทยาของสังคมไทย จึงจะทำให้การออกแบบโครงสร้างสถาบันการเมืองของไทยสามารถเชื่อมต่อกับประชาธิปไตยได้

ประการสุดท้าย สังคมไทยเป็นสังคมที่ชุมชนยังมีบทบาท ในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมาชุมชนต่าง ๆ ได้พยายาม แสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยผ่านกระบวนการลองผิด ลองถูกมาอย่างยาวนาน และท้ายที่สุดหลายชุมชนได้สร้างนวัตกรรมในการจัดการเชิงองค์กรที่นำไปสู่ความร่วมมือร่วมใจ และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นต้นทุนทางสังคมที่เกิดจากสติปัญญาและความสามารถของชุมชนไทยที่พยายามหาหนทางแก้ไขปัญหาของตนเองและสังคม

“วันนี้เปลี่ยนศูนย์กลางความคิดไปหมดแล้ว สังคมเหลื่อมล้ำฐานรากแห่งปัญหา เป็นความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง รัฐ เอกชน (ทุน) และประชาชน (สังคม) หากจะปฏิรูปคือการผลักดุลอำนาจใหม่ สิ่งที่ควรเพิ่มคือ ประชาชน สังคม ให้มีอำนาจในการต่อรอง กระจายอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรและกลไกที่จำเป็นสำหรับการสร้างความเป็นธรรม  ลดความเหลื่อมล้ำ” ศ.ดร.บรรเจิดกล่าว

ศดร.บรรเจิด  กล่าวในประเด็น  นวัตกรรมทางสังคม “พื้นที่กลาง” เป็นการเปลี่ยนดุลเพื่อสร้างการต่อรอง องค์ประกอบพื้นที่กลาง คือ ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคส่วนอื่นๆ  หลักการพื้นที่กลางคือ การชวนเข้ามา การมีส่วนร่วม และการเห็นพ้องต้องกัน สำหรับบทบาทของพื้นที่กลาง คือ  บทบาทในการกำหนดประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาในพื้นที่ บทบาทกำหนดทิศทางการพัฒนา และบทบาทเชื่อมโยงกับการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการในพื้นที่

“ชุมชนเข้มแข็ง  คือ ชุมชนที่ประชาชนในชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองในเรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกัน โดยใช้สิทธิและการทำหน้าที่ของชุมชนเพื่อพัฒนาตนเองด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมท้องถิ่น มรดกทางวัฒนธรรม คุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ สุขภาพอนามัย และคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยความร่วมมือกันของประชาชน การให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และสามารถพึ่งพาตนเองได้   ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนในชุมชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ” ศ.ดร.บรรเจิดกล่าว

การเสวนา ประสบการณ์การขับเคลื่อนพื้นที่กลาง’

‘ประสบการณ์การขับเคลื่อนพื้นที่กลาง’

การจัดงานสัมมนาในวันนี้มีเวทีเสวนา ‘ประสบการณ์การขับเคลื่อนพื้นที่กลาง จังหวัดบูรณาการ’ พื้นฐานประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทย’  โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากตัวแทนภาคประชาชนและนักวิชาการ

นายกิตติศัพท์  วันทา ผู้แทนจังหวัดแม่ฮ่องสอน  กล่าวว่า  กระบวนการพัฒนาขบวนองค์กรชุมชนมีมาอย่างยาวนาน เริ่มจากงานแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด มีเอ็นจีโอลงในพื้นที่ เพื่อพัฒนากลุ่มชาติพันธุ์ไม่ให้ปลูกฝิ่น มีชาติพันธุ์ 13 ชนเผ่า มีหน่วยงานภายนอกในการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน มีพัฒนาการในการเกิดกลุ่มองค์กรตั้งแต่ชุมชน ตำบล จังหวัด จนเกิดคณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งจังหวัดแม่ฮ่องสอน และมีการเคลื่อนงานเชิงประเด็น

นายกิตติศัพท์  วันทา

เช่น สภาลมหายใจ และมีการเคลื่อนงานเชิงพื้นที่ โดยสภาองค์กรชุมชนตำบล ใช้เรื่องการซ่อมสร้างบ้านเป็นเครื่องมือพัฒนาใน 5 ด้าน และเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาความยากจน  มีกระบวนการทำงานที่เชื่อมโยงภาคีหลากหลาย มีการกำหนดยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ เช่น  ลุ่มน้ำยวม และลุ่มน้ำปาย  เพื่อขับเคลื่อนงาน

นายกิตติศัพท์  กล่าวถึงการกำหนดยุทธศาสตร์ “แม่ฮ่องสอนเมืองพิเศษทางธรรมชาติและวัฒนธรรม”  โดยการกำหนด 4 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่น ยุทธศาสตร์ที่ 2 การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากและทุนชุมชน  ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างสังคมสวัสดิการของชุมชน ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาศักยภาพคนและขบวนองค์กรชุมชนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ สร้างความเข้มแข็งของชุมชน

“การพัฒนาของแม่ฮ่องสอนเป็นการต่อยอดและมีบทเรียนของการพัฒนาในห้วงเวลาที่ผ่านมา มีการนำข้อมูลพื้นที่มาถกแถลงร่วมกัน  ใช้ปัญญานำ ใช้รูปธรรมเชิงพื้นที่ มีการปักธงที่เบาขึ้นและเชื่อมโยงภาคีที่เปิดกว้างมากขึ้น โดยใช้ ‘การแก้ไขปัญหาความยากจน’ เป็นเครื่องมือ ใช้เรื่องการพัฒนาที่อยู่อาศัยมาเคลื่อน และชวนทีมนักวิชาการ ตลอดจนภาคีมาร่วมกัน  เป็นการทำงานผ่านงานจริง การปฏิรูปภายใต้ความสัมพันธ์ใหม่ การสร้างภูมิสังคมที่หลากหลาย จนเกิดการขับเคลื่อนในพื้นที่ และการเคลื่อนงานเชิงประเด็น โดยใช้เป้าหมายร่วมกัน คือ การแก้ไขปัญหาความยากจน”  ผู้แทนจังหวัดแม่ฮ่องสอนกล่าว  และว่าการขับเคลื่อนต่อไปจะต้องดึงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถมาเข้าร่วมด้วย

‘ขอนแก่น’ สร้าง 5 ฐานภาคประชาชน

นายพิพัฒนชัย  พิมพ์หิน   ผู้แทนจังหวัดขอนแก่น (พื้นที่โครงการวิจัย) กล่าวว่า  ทุนที่ภาคอีสานมีคือขบวนผู้นำชุมชน ขอนแก่นเป็นจังหวัดที่ยากจน สิ่งที่เรามีในอดีตคือการประท้วง และเรียกร้องให้รัฐบาลมาสนับสนุน สิ่งที่งอกงามที่สุดคือปี 2540 มีรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงสิทธิชุมชน มีขบวนการของภาคประชาชน ประชาสังคม และวิชาการ ใช้สิทธิชุมชนในการเข้าไปแก้ปัญหา  เป็นฐานสำคัญในการแก้ไขปัญหา ขบวนองค์กรชุมชนร่วมกับเครือข่ายทั่วประเทศ

เขาบอกว่า  ก่อนปี 2540 มีการตั้งขอนแก่นฟอรั่ม มีภาคประชาสังคม นักวิชาการ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ มารวมตัวกัน และเปลี่ยนประเด็นการคุยกันตามสถานการณ์ในช่วงนั้น มีการลงพื้นที่นำประเด็นปัญหามาวิเคราะห์และสื่อนำเสนอขยายผล มีการขับเคลื่อนมาเรื่อยๆ  และจะมีพระเอกคนเดียวไม่ได้ จะต้องร่วมกัน เห็นการก่อเกิดตั้งแต่ 2538-2565 เมื่อก่อนมีการมองและวิพากษ์กัน ซึ่งในยุค 2 และ 3 เป็นภาคธุรกิจที่มีความพร้อมร่วมกับพี่น้องประชาชน

นายพิพัฒนชัย  พิมพ์หิน  

บทเรียนสำคัญคือที่อำเภอบ้านไผ่ ที่พี่น้องคนจนไปคุยกับนักธุรกิจบ้านไผ่ และช่วยหาที่ดิน 35 ไร่ให้ แล้วมาลงขันกันพัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนจน  (ทำโครงการบ้านมั่นคงในปัจจุบัน  รวม 300 ครัวเรือน) ปัจจุบันได้มีการสืบค้นเครือข่ายนักธุรกิจ รุ่นที่ 3 รุ่นลูกรุ่นหลาน มีการเรียนด้วยกัน มีเพื่อนฝูงมากทั้งในเมือง และในชนบท  กระจายในหลายอำเภอ เกิดเครือข่ายขึ้นมา

ในขอนแก่น มี 5 ฐานภาคประชาชน คือ 1.การขับเคลื่อนในภาคชนบท โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบล 2.ทำงานกับคนเมือง ในตลาด คือ นักธุรกิจ นักวิชาการ ในการใช้ “ขอนแก่นทศวรรษหน้า” จนได้ “ขอนแก่นพัฒนาเมือง”  3.เครือข่ายกำหนดภาคธุรกิจในเมืองขอนแก่น 4.เวทีสมัชชาสุขภาพ ใช้เวทีเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงหมอ และหารือเรื่องสุขภาพ 5.เครือข่ายผู้บริโภค มีการเชื่อมโยง เห็นพลังของภาคประชาชนและประชาสังคม ในการกำหนดทิศทางนโยบายร่วมกับภาคประชาชน

“เมืองขอนแก่นมีวัฒนธรรมที่คนรู้จักกัน และทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีประเด็นปัญหาทั้งเมือง ชนบท ผลกระทบจากนโยบายรัฐ จากการคุยกันเชิงปัจเจก ก็เกิดการร่วมกันทำ จนเกิดกลุ่มต่างๆ 5 กลุ่มอย่างหลากหลาย อีกประการคือ เราใช้เครื่องมือของรัฐ คือ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ให้ภาคประชาชนได้แสดงออก ได้เสนอ ได้ตรวจสอบบางส่วน บางครั้งพี่น้องภาครัฐเวลาทำแผนก็ผิดพลาดกันได้ เราก็ไปเสริม เพื่อทำให้จังหวัดขอนแก่นมีความหลากหลายมากขึ้น ทำให้บทบาทของภาคประชาชนและภาคประชาสังคมได้รับการยอมรับมากขึ้น”  ผู้แทนจากจังหวัดขอนแก่นยกตัวอย่างการขับเคลื่อนงาน

โครงการบ้านมั่นคงที่ อ.บ้านไผ่  จ.ขอนแก่น  ที่หลายฝ่ายร่วมสนับสนุน  ทั้งเครือข่ายองค์กรชุมชน  นักธุรกิจท้องถิ่น  เทศบาลเมืองบ้านไผ่ และ พอช. ขณะนี้สร้างเสร็จแล้ว  120 หลัง  จากทั้งหมด 300 หลัง

“พัทลุง...มหานครแห่งความสุข”  

ดร.พา  ผอมขำ  ผู้แทนจังหวัดพัทลุง (พื้นที่โครงการวิจัย) กล่าวว่า พัทลุง มีบทเรียนของคนทำงาน มีทุนเดิมอยู่ มีการขับเคลื่อนมาหลายปี เหมือนเป็นการวิ่งบนลู่วิ่งไฟฟ้า ไม่ถึงเป้าหมายสักที พัทลุงเริ่มคุยกันโ สสดยตัวแทนสภาองค์กรชุมชน ปี 2562 มีทั้งท้องถิ่น ภาคีตระกูล ส. (สสส.  สช. ฯลฯ) มีการสรุปบทเรียน และตกผลึกทางความคิดร่วมกัน จนเกิดภาพฝันที่ทุกคนร่วมกันออกแบบ “พัทลุงมหานครแห่งความสุข”

โดยมีการนำประเด็นดังกล่าวหารือกับ อบจ.พัทลุง และสอดคล้องกับวิธีคิดคือ “องค์การบริหารส่วนจังหวัดคือสมบัติของประชาชน” และ “อบจ. คือ ศูนย์กลางความร่วมมือและการพัฒนาระดับจังหวัด” เมื่อหารือกันบ่อย เหมือนเป็นการเปิดประตูบ้านที่รับฟังภาคประชาชนและภาคส่วนอื่นๆ มากขึ้น

ดร.พา  มองถึงองคาพยพในการขับเคลื่อนเมืองว่า มี 5 ด้าน เป็นเบญจภาคี คือ ภาครัฐ ท้องถิ่น ภาควิชาการ ใช้งานวิจัยเริ่มเคลื่อนเมือง มี 8 ประเด็นงาน ประกอบด้วย การศึกษา เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ อาหารปลอดภัย สวัสดิการชุมชน ประวัติศาสตร์/ภูมิปัญญา พื้นที่พิเศษ และการท่องเที่ยว มีการเปิดวงคุยมาเล่าความฝัน ในปี 2562-2563 เป็นกระบวนการคุยความฝันให้ทุกคนมาร่วมกันออกแบบ

พา  ผอมขำ

“สิ่งที่ถกเถียงกันถึง ‘พัทลุงแห่งความสุข’ หากเป็นความสุขและมีคนมาหยิบยื่นให้เราไม่เอา เราจึงใช้คำว่า ‘พัทลุงมหานครแห่งความสุข ที่ทุกคนร่วมกันออกแบบ’ สิ่งที่ยากที่สุดคือ การหาเพื่อนภาคี จนเกิดการตกผลึกทางความคิดร่วมกัน เช่น อบจ. ไม่ใช่แหล่งงบประมาณ สิ่งที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญงอกงามต้องบูรณาการกัน มีเป้าหมายร่วมกัน ที่เราจะไปด้วยกัน และแยกกันเดิน แยกกันทำ’   ดร.พากล่าว

ดร.พากล่าวด้วยว่า  พื้นที่กลางของพัทลุง คือ “แจกัน ที่พร้อมให้ดอกไม้หลากสีมาปักในแจกันนั้น” หลังจากที่นายก อบจ. ประกาศคำสั่ง ปี 2564 สร้างพื้นที่ปฏิบัติการ เครือข่ายแต่ละเครือข่ายเคลื่อนอยู่แล้วก็ดำเนินการไป สำหรับพื้นที่ดังกล่าว มีการคิดร่วมกัน และแยกกันทำงาน การรวมตัวกัน

ปี 2565 มีการจัดเวที “สมัชชาพัทลุงมหานครแห่งความสุข” เป็นความท้าทายว่า เมื่อจัดเวทีแล้วจะมีคนมาร่วมไหม หิ้วปิ่นโตมาร่วม มีความหลากหลายจากวิถีวัฒนธรรม มีคนมาร่วมมากมาย กว่า 600 คน ทำให้เราเชื่อมั่นในการสร้างพัทลุงมหานครแห่งความสุข ปี 2566 มีคนมาร่วมกว่า 1,000 คน ที่ ม.ทักษิณ สมัชชาดังกล่าวมีกลุ่มเป้าหมายเข้าร่วมในทุกเครือข่ายที่มีในพื้นที่    มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ ถ่ายทอดบทเรียน มีการนำเสนอนิทรรศการร่วมกัน ชวนพี่น้องที่ทำจริงในพื้นที่มาโชว์ มาแชร์ มาเชื่อมโยงกัน

“การขับเคลื่อนพัทลุงมหานครแห่งความสุข มีการวางจังหวะก้าว 5 จังหวะ  เพราะเราไม่สามารถเดินไปพร้อมกันได้ทั้งหมด เครือข่ายไหนพร้อมก็ไปก่อน โดยมีกลไกการขับเคลื่อน ‘สภาขับเคลื่อนแผนชุมชน’ มีผู้แทน 40 กว่าชีวิต สิ่งที่ดำเนินการนั้น คือ การรับรู้ ความเชื่อมั่นที่พร้อมจะดำเนินการไปด้วยกัน สิ่งที่จะดำเนินการคือ การขยับต่อ คือ การนำแผนพัฒนาไปเชื่อมโยง และนำผังยุทธศาสตร์ ผังประเด็น ผังพื้นที่ เป็นกระบวนการผลักดันและส่งต่อ ใช้เวทีหารือแบบฉันมิตรร่วมกัน มีการเปิดเวทีเพื่อสร้างความเข้าใจและเคลื่อนไปเรื่อยๆ เป็นการสร้างการรับรู้ร่วมกัน นำบทเรียน และถอดความรู้จากการปฏิบัติมาขยับต่อ เช่น การมีกิจกรรมวิ่ง เพื่อระดมทุนพัฒนาเมือง”  ดร.พากล่าว

อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล

อาจารย์ไพสิฐ พาณิชย์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้สังเคราะห์ประสบการณ์การขับเคลื่อนพื้นที่กลาง จังหวัดบูรณาการ พื้นฐานประชาธิปไตยอัตลักษณ์ไทยของ 3 จังหวัดที่นำเสนอข้างต้นว่า แต่ละพื้นที่มีทุนและการขับเคลื่อนอยู่แล้ว แต่จะทำอย่างไรให้คนที่เป็นแกนกลางในการขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าว มีเป้าหมายหลายประเด็น เช่น ภาพฝันที่จะเกิดพื้นที่กลางในฐานะคนทำงาน ตัวอย่างแต่ละจังหวัด การค้นพบ มีบทเรียน ระหว่างทาง ซึ่งจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนต่อ และสิ่งที่เป็นประสบการณ์ความรู้จริงๆ เป็นหัวใจสำคัญ  คือ จะทำงานกับคนอย่างไร ? คนที่มีความคิด มีฝันร่วมกัน และจะขับเคลื่อนภาพฝันให้เป็นจริงอย่างไร?

ในส่วนของขบวนองค์กรชุมชนนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิดพื้นที่กลาง บางพื้นที่ก็จะนำประเด็นมาเคลื่อนก่อน แต่หลายพื้นที่ใช้คนมาเคลื่อนก่อน ฉะนั้นการหาคนที่มีเคมีร่วมกันได้ จะมีเทคนิคอย่างไรให้เกิดความรู้สึกร่วม  คือ “การกำหนดภาพอนาคตร่วมกัน”  โดย 1.รวมคน มีคนคุยร่วมกัน มีประเด็นร่วมกัน  2.มีข้อมูล มาคุย มาหารือ  3.การสื่อสาร  มีเวที มีฟอรั่มร่วม เพื่อสร้างความเข้าใจ  4.การสร้างเป็นเครือข่าย

ส่วนกระบวนการขับเคลื่อนนั้น มีการให้บทบาทท้องถิ่นร่วมมีบทบาทในการขับเคลื่อนร่วม และนำมาสู่การร่วมเคลื่อนภายใต้กลไกภาคราชการ

“ข้อสังเกตของ 3 จังหวัด คือ 1.ต้องไม่มีประเด็นที่แข็งกร้าวเกินไป 2.มีการทบทวนการทำงานที่ผ่านมา ผสานกับการใช้ข้อมูล การใช้งานวิชาการร่วม  3.พื้นที่กลาง มีลักษณะที่เป็นฝันร่วมของคนที่อยากทำเรื่องนั้นๆ เป็นพื้นที่ปฏิบัติ มีหลากหลายรูปแบบ มีหลายมิติ ทั้งเชิงประเด็น ทั้งพื้นที่ รวมถึงมีหน้าที่เสริมพลัง สร้างประเด็น ขับเคลื่อน สร้างกระแส ตลอดจนสร้างการสื่อสารและการสร้างการรับรู้  และ 4.ความล้มเหลวในหลายที่ ยังไม่มีการกล่าวถึง ซึ่งมองว่าน่าจะมีกระบวนการถอดบทเรียน เพื่อไม่ทำซ้ำ และจะทำอย่างไรเพื่อให้บทบาทของแกนนำ มีบทบาทในการเป็นช่างเชื่อมโยง เป็นคนชักใย ซึ่งมีความสำคัญมากในการสร้างนวัตกรรม เช่น การระดมทุน เพื่อการพัฒนาเมือง การปฏิรูปและยกระดับกลไกสร้างความสัมพันธ์ใหม่” อ.ไพสิฐ สรุปข้อสังเกตที่ได้จากการสังเคราะห์การขับเคลื่อนพื้นที่กลางของจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ขอนแก่น  และพัทลุง

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการสัมมนาในวันนี้แล้ว  ในวันพรุ่งนี้ (7 กุมภาพันธ์) จะมีผู้บริหารหน่วยงานภาคี  เช่น  สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ   สถาบันพระปกเกล้า  ฯลฯ ร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็น “การบูรณาการความร่วมมือกับภาคประชาชน” รวมทั้งผู้เข้าร่วมสัมมนาแต่ละจังหวัดจะนำเสนอแผนและจังหวะก้าวการขับเคลื่อนจังหวัดบูรณาการต่อที่สัมมนา  และนำไปขับเคลื่อนในจังหวัดตนเองต่อไป

                                                                                 **************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ