ดอกหงอนไก่ หรือ ‘โพ่โว โพ่บ่อง’ ชาวกะเหรี่ยงโผล่วจะปลูกในท้องทุ่งและใช้ในพิธีไหว้แม่โพสพในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนกุมภาพันธ์ เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อนการเพาะปลูกรอบใหม่ ดอกโพ่โว โพ่บ่อง ยังเป็นสัญลักษณ์ของการทำไร่หมุนเวียนด้วย
เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 50 ปีแล้ว...ที่ชาวกะเหรี่ยงโผล่ว 3 หมู่บ้านในอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ต้องลำบากยากแค้นเพราะถูกแย่งชิงที่ดินทำกิน นับแต่รัฐได้ให้สัมปทานทำไม้แก่บริษัทเอกชนรายหนึ่งตั้งแต่ปี 2516 เมื่อมีการปิดป่าในปี 2532 บริษัทเอกชนรายนั้นได้เช่าผืนป่าอีก 28,000 ไร่เพื่อทำธุรกิจการเกษตร...
ต่อมาในปี 2541 ได้มีการประกาศเขต ‘อุทยานแห่งชาติพุเตย’ เนื้อที่เกือบ 200,000 ไร่ ทำให้ที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยงหดแคบลงอีก มิหนำซ้ำยังทำให้คนที่อยู่อาศัยและทำกินมานานกลายเป็น ‘ผู้บุกรุกป่า’ ต้องถูกจับกุมดำเนินคดี...!!
นับแต่นั้นพวกเขาได้ลุกขึ้นสู้อย่างสันติ...เพื่อทวงความชอบธรรมและสิทธิในที่ดินทำกิน...แต่จนถึงบัดนี้ความเป็นธรรมสำหรับผู้ยากไร้ยังเดินทางมาไม่ถึง...
‘กะเหรี่ยงโผล่ว’ แห่งลุ่มน้ำตะเพิน
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในเมืองไทยมี 4 กลุ่มใหญ่ คือ สะกอร์หรือ ‘ปกาเกอะญอ’ คะยา ปะโอ และโผล่ว แต่ละกลุ่มมีภาษาพูดและวัฒนธรรมประเพณีแตกต่างกันไป โดยกะเหรี่ยงปกาเกอะญอ คะยา และปะโอส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่มากทางแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ฯลฯ นับถือศาสนาคริสต์ เพราะมีมิชชันนารีเข้าไปเผยแผ่ศาสนาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5
ส่วน ‘กะเหรี่ยงโผล่ว’ หรือ ‘กะเหรี่ยงโปว์’ ส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ตามแนวชายแดนด้านจังหวัดตากลงมาทางอุทัยธานี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ กะเหรี่ยงโปว์ส่วนใหญ่นับถือ ‘เจ้าวัด’ เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ และถือศีล 5 เหมือนศาสนาพุทธ คาดว่าจะได้อิทธิพลมาจากสยามตั้งแต่เมื่อหลายร้อยปีก่อน
‘เจ้าวัด’ ถือศีล 5 แบบศาสนาพุทธ (เจ้าวัดที่บ้านภูเหม็น อ.ห้วยคต จ.อุทัยธานี)
มีหลักฐานว่ากะเหรี่ยงอาศัยอยู่ชายแดนไทย-พม่า มานานไม่ต่ำกว่า 400 ปี ‘พงศาวดารเรื่องไทยรบพม่า’ พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชาธิราช (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2460) กล่าวถึงสงครามระหว่างสยามกับกรุงศรีอยุธยา สมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีความตอนหนึ่งว่า...
ในปี พ.ศ.2142 หรือเมื่อ 400 ปีก่อน คราวยกทัพตีเมืองหงสาวดีและเมืองตองอู กองทัพพระนเรศวรที่ล้อมเมืองตองอูทางด้านทิศตะวันตก ประกอบด้วย กองกำลังของพระยานครราชสีมา พระสิงคบุรี ขุนอินทรภิบาล และแสนภูมิโลกาเพชร ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิฐานว่า “ที่เรียกว่า ‘แสนภูมิโลกาเพชร’ เห็นจะเป็นกะเหรี่ยง”
นั่นหมายถึงว่า ชาวกะเหรี่ยงเข้ามามีความสัมพันธ์กับไทยตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจากนิตยสารศิลปวัฒนธรรม (เผยแพร่เมื่อธันวาคม 2564 https://www.silpa-mag.com/history/article_45371) ระบุว่า “ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยา พม่าเข้ายึดครองเมืองหงสาวดี กะเหรี่ยงหลายกลุ่มอพยพตามมอญเข้ามาสู่สยาม โดยให้กะเหรี่ยงอพยพอยู่ที่ ‘ลำห้วยตะเพินคี่ สุพรรณบุรี’ ลำห้วยคอกควาย อุทัยธานี, อำเภอสังขละบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ กาญจนบุรี ฯลฯ
ในรัชกาลที่ 1 หัวหน้าชุมชนกะเหรี่ยงติดต่อกับเจ้าเมืองกาญจนบุรี แสดงขอตั้งรกรากและสวามิภักดิ์ต่อสยาม โดยได้รับการอนุญาตให้อาศัยอยู่ที่เมืองสังขละบุรี เขตติดต่อด่านเจดีย์สามองค์ พ.ศ. 2365 กะเหรี่ยงกลุ่มดังกล่าวก็ช่วยขับไล่ทหารพม่าที่มาลาดตระเวนในพื้นที่”
ปัจจุบัน ‘ลำห้วยตะเพินคี่’ (คี่ = แม่น้ำ ลำห้วย, มีต้นกำเนิดจากภูเขาสูงในเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย) หรือ ‘ลุ่มน้ำลำตะเพิน’ เป็นแหล่งอยู่อาศัยและทำกินของชาวกะเหรี่ยงโผล่ว 3 หมู่บ้าน คือ ป่าผาก บ้านกล้วย และห้วยหินดำ จำนวนกว่า 200 ครัวเรือน ประชากรไม่ต่ำกว่า 600 คน ปัจจุบันอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติพุเตย ต.วังยาว อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี
ชาวกะเหรี่ยง 3 หมู่บ้านจะปลูกข้าวไร่เป็นหลักเพื่อเอาไว้กินในครัวเรือน เป็นข้าวพื้นเมือง เช่น ข้าวเหลือง ขาวลาย ข้าวจมูกดำ และปลูกพืชผสมผสานในไร่ข้าวหมุนเวียนตามวิถีวัฒนธรรมของตน เช่น ฟักทอง เผือก มันเทศ มันแก้ว ข้าวโพด ฟัก แฟง แตง มะเขือ พริก หมาก เมื่อเหลือจะขาย โดยเฉพาะพริกกะเหรี่ยงถือเป็นพืชเศรษฐกิจ จะปลูกเพื่อขายเป็นรายได้ใช้จ่ายในครัวเรือน ราคาขายส่งให้พ่อค้า พริกสดกิโลกรัมละ 70 -100 บาท พริกแห้ง 300 บาท
บ้านชาวกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิมจะปลูกสร้างด้วยไม้ไผ่ ไม่มีการตัดโค่นไม้ใหญ่
บาดแผลแห่งท้องทุ่ง
ชาวกะเหรี่ยงโผล่วอยู่อาศัยและทำกินในลุ่มน้ำลำตะเพินต่อเนื่องยาวนานหลายร้อยปี ในอดีตบ้านเรือนส่วนใหญ่จะสร้างด้วยไม่ไผ่เป็นหลัก ยกพื้นสูง มีบันไดสำหรับปีนขึ้น-ลง ใช้ไม่ไผ่นำมาสับฟากปูพื้น ฝาบ้านเป็นไม้ไผ่ขัดแตะ หลังคามุงด้วยหญ้าแฝกหรือใบพลวง 2-3 ปีเมื่อหลังคาผุผังก็จะซ่อมแซมใหม่ ไม่ค่อยได้ใช้ไม้ใหญ่ ทำให้ป่ายังอุดมสมบูรณ์
ลุงเอยยา งามยิ่ง วัย 58 ปี ผู้นำกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก ลุ่มน้ำลำตะเพิน บอกว่า คนกะเหรี่ยงใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ ดูแลรักษา ดิน น้ำ ป่า มีสุภาษิตว่า “ออที เกอะ ตอที ออก่อ เกอะ ตอก่อ” หรือ “กินจากน้ำต้องรักษาน้ำ กินจากป่าต้องรักษาป่า” แต่ทุกวันนี้สภาพป่าเปลี่ยนแปลงไป เพราะต้นไม้ใหญ่ถูกตัดโค่นทำลายไปตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน เพราะมีการเปิดสัมปทานทำป่าไม้ ทำให้ลำตะเพินและลำห้วยต่างๆ ในตำบลมีความแห้งแล้ง
ในช่วงปี 2516-2532 รัฐได้ให้สัมปทานทำไม้แก่บริษัทเอกชนรายใหญ่แห่งหนึ่งในจังหวัดสุพรรณบุรี พื้นที่สัมปทานประมาณ 180,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะเพิน อำเภอด่านช้าง มีการตัดโค่นไม้ใหญ่ต่างๆ เช่น ยางนา พลวง แดง ชิงชัน ประดู่ มะค่าโมง ฯลฯ
ตลอดช่วงระยะเวลาสัมปทานตัดไม้ 16 ปี ทำให้เกิดผลกระทบต่อชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน เพราะพื้นที่สัมปทานบางส่วนเป็นพื้นที่ทำไร่หมุนเวียนของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความแห้งแล้งติดตามมา เพราะไม้ใหญ่หายไป ไม่มีแหล่งดูดซับน้ำ ระบบนิเวศน์ถูกทำลาย ลำน้ำ ลำห้วยต่างๆ เริ่มแห้ง
ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผากลุ่มน้ำลำตะเพิน
ในปี 2532 รัฐบาลมีนโยบายปิดป่าไม้ทั่วประเทศ สัมปทานทำไม้ที่จังหวัดสุพรรณบุรีถูกยกเลิกด้วย แต่บริษัทเอกชนรายดังกล่าว ขอเช่าที่ดินจากกรมป่าไม้ จำนวน 28,000 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี (2532-2562) เพื่อทำธุรกิจการเกษตร ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินหรือไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงที่ทำกินมาแต่อดีต
“ต่อมาในปี 2538 ทางราชการขอใช้พื้นที่อีก 1,290 ไร่ เพื่อสร้างสถานีอาหารสัตว์สุพรรณบุรี ทับที่ดินทำกินชาวบ้านอีก และทางราชการให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินโดยไม่มีการจ่ายชดเชยค่าเสียหายอะไรเลย” ลุงเอยยาบอกความทุกข์ยากที่กระหน่ำซ้ำเป็นระลอก
แต่ก็ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะต่อมาในปี 2541 ทางราชการได้ประกาศ ‘เขตอุทยานแห่งชาติพุเตย’ เนื้อที่ 198,422 ไร่ ครอบคลุมป่าองค์พระ ป่าเขาพุระกำ และป่าห้วยพลู อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งครอบคลุมลุ่มน้ำลำตะเพินที่อยู่อาศัยและทำกินของชาวกะเหรี่ยงทั้งหมด
การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติครั้งนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสกว่าเดิม เพราะทำให้คนที่อยู่กับป่า หากินกับป่าและดูแลป่ามาตลอดช่วงชีวิต ต้องกลายเป็นผู้บุกรุกป่า จะเก็บเห็ด หาหน่อไม้ หาน้ำผึ้ง ทำไร่ข้าวเหมือนที่เคยทำกันมานานก็จะมีความผิด ขณะที่ทางราชการยึดคำสั่งและกฎหมายบีบให้ชาวบ้านออกจากที่ดินทำกินที่สืบทอดต่อกันมา แต่กลับให้เอกชนรายเดียวเช่าที่ดินทำธุรกิจการเกษตรหลายหมื่นไร่
ในปี 2541 ชาวบ้านจึงเริ่มรวมตัวกันร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และต่อมาในปี 2542 ได้ร้องเรียนไปยังศาลปกครอง รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะเห็นว่าเป็นการประกาศเขตอุทยานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านที่เคยอยู่มาก่อน...แต่ก็ไม่เป็นผล แม้จะใช้เวลานานหลายปี ทำให้ชาวบ้านถูกจับกุมดำเนินคดี
มะลิ งามยิ่ง ถูกจับในปี 2548 ขณะกำลังหยอดข้าวไร่
มะลิ งามยิ่ง ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก อายุ 52 ปี ถูกจับกุมดำเนินคดีในปี 2548 หรือเมื่อ 19 ปีที่แล้ว ย้อนเหตุการณ์ที่ยังจำได้แม่นว่า “วันนั้น ฉันออกไปทำไร่กับเพื่อนบ้านอีกหลายคน เอาลูกไปด้วย ลูกอายุ 3 ขวบกว่า ตอนสายๆ มีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้ามา ตอนนั้นฉันกำลังทำข้าวไร่ กำลังหยอดข้าว พอเห็นเจ้าหน้าที่ ทุกคนก็วิ่งหนี เพราะกลัวโดนจับ แต่ฉันวิ่งไม่ทันเพราะมีลูกอยู่ด้วย คนที่หนีไม่ทันก็โดนจับ มีคนโดนจับทั้งหมด 4 คน เจ้าหน้าที่พาไปส่งตำรวจ ต้องติดตะราง อยู่ในโรงพัก 1 คืน 2 วัน”
มะลิเล่าเหตุการณ์ครั้งนั้นที่จำฝังใจ ก่อนจะมีนักการเมืองท้องถิ่น (สจ.) คนหนึ่งมาช่วยประกันตัวชาวบ้านทั้งหมด ต่อมาเมื่อถูกส่งฟ้องศาล ศาลสั่งปรับข้อหาบุกรุกแผ้วถางป่าในเขตอุทยานฯ คนละ 5,000 บาท มะลิต้องกู้ยืมเงินจาก ‘ธนาคารข้าว’ ของหมู่บ้านมาจ่ายค่าปรับ
นอกจากนี้มะลิและเพื่อนบ้านยังโดนฟ้องศาลแพ่งเป็นคดีพ่วง ‘ข้อหาโลกร้อน’ แต่เมื่อคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลแพ่ง ศาลสั่งยกฟ้อง เพราะเห็นว่าชาวบ้านได้เข้าทำกินมาก่อนการประกาศเขตอุทยานฯ ในปี 2541
“รู้สึกว่าชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเป็นที่ดินทำกินมาตั้งแต่สมัยปู่ย่า พอฉันบอกศาลไปตรงๆ และมีชาวบ้านคนอื่นๆ มาเป็นพยาน ศาลก็ยกฟ้อง แต่ที่ทำกินตรงนั้น ตอนนี้ฉันก็ไม่ได้เข้าไปทำไร่ข้าวอีกแล้ว เพราะกลัวจะโดนจับอีก” มะลิบอก
ชาวกะเหรี่ยงบ้านป่าผาก ช่วยกันเกี่ยวข้าวไร่ พื้นที่รอบข้างยังเป็นป่าสมบูรณ์ ไม่มีการทำลายล้างหรือตัดโค่นไม้เพื่อ ‘ทำไร่เลื่อนลอย’ ตามข้อกล่าวหาในอดีต
เส้นทางการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิที่ดินทำกิน
นับแต่ชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพินโดนจับกุมในปี 2548 การต่อสู้ของชาวบ้านจึงเริ่มเข้มข้นขึ้น โดยมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน ให้ความรู้ทางด้านกฎหมายและสิทธิชุมชน เช่น มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
นอกจากนี้ในปีนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติพร้อมด้วยสื่อมวลชนได้เข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา รวมทั้งมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับนโยบาย เช่น เสนอขอพื้นที่ทำกินเพื่อทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ที่ชาวบ้านทำกินมาก่อนจำนวน 106 ไร่ จนได้รับการอนุมัติจากกรมป่าไม้ในปี 2548 นั้นเอง
ในปี 2553 คณะรัฐมนตรีในสมัย รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีมติเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เห็นชอบตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เรื่อง ‘แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง’ เพื่อเป็นแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยเฉพาะชาวกะเหรี่ยงที่มักจะมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกินที่อยู่อาศัยในป่าทับซ้อนกับเขตป่าต่างๆ โดยมีแนวทางสำคัญ ดังนี้
1.เห็นชอบหลักการแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง 2. มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงไปปฏิบัติ
ทั้งนี้ตามมติ ครม.ดังกล่าว มีมาตรการฟื้นฟูระยะยาวดำเนินการภายใน 1-3 ปี โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญด้านการจัดการทรัพยากร เช่น ให้เพิกถอนพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นพื้นที่ป่าไม้ ป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนฯ ซึ่งทับซ้อนกับที่ทำกินและที่อยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่มีข้อเท็จจริงจากการพิสูจน์อย่างเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าได้อยู่อาศัย ดำเนินชีวิต และใช้ประโยชน์ในที่ดังกล่าวมาเป็นเวลานาน หรือก่อนที่รัฐจะประกาศกฎหมายทับซ้อนพื้นที่ดังกล่าว โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ
ให้ยุติการจับกุมและให้ความคุ้มครองกับชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่เป็นชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมที่อยู่ในพื้นที่ข้อพิพาทเรื่องที่ทำกินในพื้นที่ดั้งเดิม
ส่งเสริมและยอมรับระบบไร่หมุนเวียนซึ่งเป็นวิถีวัฒนธรรมของกะเหรี่ยงที่เอื้อต่อการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและวิถีชีวิตพอเพียง รวมทั้งผลักดันให้ระบบไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม
นอกจากนี้ยังส่งเสริมการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรม กำหนดพื้นที่เขตวัฒนธรรมพิเศษสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง โดยมีพื้นที่นำร่อง เช่น บ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย, ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ฯลฯ
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลหลายครั้ง มติ ครม. ‘3 สิงหาคม 2553’ จึงถูกละเลย ไม่นำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง ชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่ต่างๆ ยังถูกจับกุมหรือขับไล่ออกจากป่า เช่น บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี กรณีปัญหาของชาวลุ่มน้ำตะเพินก็เช่นกัน กว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะขยับตัวก็ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี..!!
ในปี 2564 สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 10 (ราชบุรี) ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของชาวบ้านลุ่มน้ำตะเพิน คือ บ้านป่าผาก บ้านกล้วย และบ้านห้วยหินดำ หลังจากที่การต่อสู้ของชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำตะเพินได้ยกระดับจากปัญหาในระดับท้องถิ่น นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย
โดยข้อเรียกร้องทวงสิทธิที่ดินทำกินของพวกเขา (รวมทั้งกรณีปัญหาของพี่น้องคนจนทั่วประเทศ) ได้ผนวกรวมอยู่ในข้อเรียกร้องของ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ หรือ ‘P-Move’ ที่ใช้พลังคนจนกดดันจนรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาต้องยอมตั้งโต๊ะเจรจา และมีคำสั่งลงมาให้หน่วยงานในท้องถิ่นขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา...
“ไม่ใช่แค่ดอกไม้สีสวยประดับท้องทุ่ง”
ปลายเดือนมกราคม 2567 บริเวณไร่หมุนเวียนเนื้อที่ประมาณ 106 ไร่ที่ชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำตะเพินได้กลับคืนจากอุทยานแห่งชาติพุเตยในช่วงปี 2548 เริ่มเขียวชอุ่มแลดูร่มรื่นไปด้วยพืชผลต่างๆ เช่น มะพร้าว กล้วย อ้อย ส้มโอ มะขาม ฯลฯ ที่พวกเขาช่วยกันปลูก
ห่างออกไปบนเนินเขาไม่ไกลนัก ทุ่งดอกหงอนไก่ หรือ ‘โพ่โว โพ่บ่อง’ ในภาษาถิ่น ยืนชูดอกสีแดงเข้มและเหลืองสดใสท้าทายแดดจัดยามบ่าย แม้ไม่มีกลิ่นหอม แต่ระริกไหวของทุ่งดอกหงอนไก่ยามต้องลม ทำให้เนินเขาแห่งนี้แลดูงดงามสดใส คลายความระอุร้อนไปได้อย่างน่าแปลกใจ
“คนกะเหรี่ยงจะใช้ดอกหงอนไก่ในพิธีไหว้แม่โพสพ เพื่อขอขมาและขอพรให้แม่โพสพช่วยดูแลข้าวและพืชที่จะปลูกให้ ได้ผลสมบูรณ์ พิธีนี้จะจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ พวกเราจะช่วยกันปรับหน้าดิน เก็บเศษไม้ ซากพืชไร่ ออกจากไร่หมุนเวียน ก่อนที่จะเริ่มเพาะปลูกในเดือนเมษายน”
ลัดดาวัลย์ ปัญญา หญิงกะเหรี่ยง วัย 53 ปี บอกถึงพิธีไหว้แม่โพสพ แสดงถึงความเคารพ นอบน้อมต่อธรรมชาติเธอบอกว่า ดอกหงอนไก่ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของการทำไร่หมุนเวียนด้วย เพราะเมื่อดอกหงอนไก่เริ่มออกดอกเบ่งบานเต็มที่ในช่วงฤดูแล้ง ก็จะเป็นสัญญาณว่าเริ่มเข้าสู่ฤดูเพาะปลูกแล้ว
นอกจากนี้ต้นและดอกหงอนไก่ยังใช้เป็นยาสมุนไพร ใช้แก้ไข้ แก้โรคท้องร่วง เป็นยาระบาย ฯลฯ เมื่อต้นหงอนไก่มีอายุประมาณ 1 ปีก็จะเหี่ยวตาย กลายเป็นปุ๋ยบำรุงพืชไร่ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน...เมล็ดเล็กๆ ของต้นหงอนไก่ที่ปลิวไปทั่วท้องทุ่งก็จะเติบโตขึ้นมาอีก...เกิดประโยชน์ต่อคนและผืนดิน...หมุนเวียนไม่มีที่สิ้นสุด
ลัดดาวัลย์ รวมทั้งหญิงสาวกะเหรี่ยงคนอื่นๆ เช่น มะลิ งามยิ่ง และนันทนา กะโพ้ นอกจากจะเป็นแม่ของลูก เป็นแรงงานที่แข็งขันในไร่นา ยามว่างยังทอเสื้อผ้าเอาไว้ใช้ พวกเธอยังเป็นแกนนำในการต่อสู้เรื่องปัญหาที่ดินของชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำตะเพินอีกด้วย พวกเธอสามารถอธิบาย ชี้แจงปัญหาและเสนอทางออกได้แจ่มชัด ฉะฉาน ใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องงดงามราวกับผ่านการเรียนหนังสือในระดับมหาวิทยาลัยมาก่อน
..แต่เปล่าหรอก พวกเธอส่วนใหญ่พออ่านออกเขียนได้ เพราะความยากจน ความไร้โอกาส ต้องช่วยครอบครัวทำไร่ ทำกิน ไม่มีใครได้เรียนสูงกว่าชั้นประถมศึกษาที่ 6 แต่หากเป็นมหาวิทยาลัยชีวิต...พวกเธอสอบผ่านมาแล้วอย่างง่ายดาย
“เราสูญเสียที่ดินทำกิน เพราะสัมปทานป่าไม้ตั้งแต่ปี 2532 พอถึงปี 2541 ก็โดนประกาศเขตอุทยานฯ อีก พวกเราได้รับผลกระทบ พวกเราเดือดร้อน แต่จะไล่เราออกไปก็ไม่ได้ เพราะเราไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ทำกินแล้ว ไม่มีที่จะปลูกข้าว ต้องซื้อข้าวกิน เราจึงต้องต่อสู้ ต้องการความเป็นธรรม” ลัดดาวัลย์บอกปัญหาและเหตุผลในการต่อสู้อย่างกระชับ...
งาน ‘ประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมชุมชนกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน’ ที่วัดป่าผาก อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2566 เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิต วัฒนธรรม ที่ดินทำกินของชาวกะเหรี่ยง (ตามติ ครม. 3 สิงหาคม 2553) ปัจจุบันมีการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ ชาวกะเหรี่ยงทั่วประเทศแล้วประมาณ 20 พื้นที่
เสียงจากคนลุ่มน้ำลำตะเพิน
แม้ว่าการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพินจะเริ่มขยับขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2564 หลังจากปัญหาของพวกเขาได้ยกระดับไปสู่การแก้ปัญหาเชิงนโยบายร่วมกับพี่น้องคนจนทั่วประเทศในนามของ ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ หรือ ‘P-Move’ และต่อมาในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน กลุ่ม P-Move ได้มาปักหลักชุมนุมเรียกร้องต่อรัฐบาลในเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา จนรัฐบาลรับข้อเรียกร้องรวม 7 ด้าน รวมทั้งการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบทั้งประเทศ โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านต่างๆ ขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหา ทำให้กลุ่ม P-Move แยกย้ายกลับบ้านไปรอฟังผลการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
ล่าสุด กลุ่ม P-Move ได้ประกาศรวมพลที่หน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของรัฐบาล และจะส่งตัวแทนเข้าพบพลตำราจเอกพัชรวาท วงศ์สุวรรณ รัฐนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์นี้ เพื่อหารือในประเด็นสำคัญ คือ
- นโยบายของกระทรวง ทส. ที่เกี่ยวกับการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ และข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม2566
- กรอบแนวทางและแผนงานของคณะทำงานแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง ทส. รวมถึงการแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วนในความรับผิดชอบของกระทรวง ทส. 13 กรณีและการแก้ไขปัญหารายกรณีอื่นๆ รวม 169 กรณี
- ท่าทีของกระทรวง ทส. ต่อการผลักดันร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์พ.ศ. …. ฉบับรัฐบาล และร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … ฉบับประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมาย รวมถึงการประกาศพื้นที่คุ้มครองวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ทับซ้อนกับพื้นที่ป่าของรัฐ
ขณะที่ ลัดดาวัลย์ ปัญญา หญิงกะเหรี่ยง แกนนำการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาที่ดินลุ่มน้ำละตะเพิน บอกว่า ชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน 3 หมู่บ้าน จำนวน 80 ครอบครัว (มีผู้เดือดร้อนมากกว่านี้ แต่บางส่วนเข้าร่วมเรียกร้องกับกลุ่มสมัชชาคนจน) ขอเรียกร้องทวงคืนที่ดินทำกินที่ชาวกะเหรี่ยงทำกินต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษดังนี้
1.ที่ดินที่บริษัทเอกชน ขอเช่าจากกรมป่าไม้ จำนวน 28,000 ไร่ ระยะเวลา 30 ปี (2532-2562) เพื่อทำธุรกิจการเกษตร ปลูกมันสำปะหลัง ข้าวโพด ฯลฯ ทำให้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำกินหรือไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงที่ทำกินมาแต่อดีต ซึ่งที่ดินเช่าแปลงดังกล่าวหมดสัญญาเช่าตั้งแต่ปี 2562 แล้วนั้น
“ชาวกะเหรี่ยงลุ่มน้ำลำตะเพิน 3 หมู่บ้าน จึงขอใช้เป็นพื้นที่วัฒนธรรมรวม 5,000 ไร่ โดยแบ่งเป็น 1.พื้นที่ทำกินและไร่หมุนเวียน 2.พื้นที่ใช้สอย 3.พื้นที่อนุรักษ์ และ 4.พื้นที่พิธีกรรม โดยมีหลักการสำคัญ คือ ใช้ประโยชน์ส่วนน้อย รักษาพื้นที่ส่วนใหญ่ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ คุณภาพชีวิต และวิถีวัฒนธรรมของชุมชนชาวกะเหรี่ยง”
2.พื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติพุเตยที่ประกาศทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ขอให้มีการเพิกถอน 3.ให้ยุติการดำเนินคดีกับชาวบ้านระหว่างการแก้ไขปัญหา และ 4.ขอให้เยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน นับตั้งแต่มีการให้เอกชนเช่าที่ดินในปี2532 ทำให้ทับพื้นที่ทำกินของชาวกะเหรี่ยง
ทั้งนี้พื้นที่ที่ชาวกะเหรี่ยงจะขอใช้จำนวน 5,000 ไร่นั้น แบ่งพื้นที่สำหรับ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านป่าผาก 1,813 ไร่ บ้านกล้วย 1,562 ไร่ และบ้านห้วยหินดำ 1,625 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์รวมกันจำนวน 1,842 ไร่ (36.9 % ของพื้นที่ทั้งหมด)
โดยชาวบ้านมีกติการ่วมกัน เช่น 1.จัดการที่ดินร่วมกันในรูปแบบสิทธิชุมชน หรือกรรมสิทธิ์ร่วม หรือโฉนดชุมชน 2.ทำการเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี 3.ไม่ใช้เครื่องจักรกลขนาดใหญ่ 4.ห้ามซื้อขายที่ดิน 5.การเปลี่ยนแปลงการถือครองที่ดินต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ และต้องเป็นคนในชุมชนเท่านั้น 6.ใช้ที่ดินทำไร่หมุนเวียนไม่เกิน 3 ไร่/ปี/ครอบครัว 7.ใช้ที่ดินทำเกษตรผสมผสนาไม่เกิน 7 ไร่/ครอบครัว ฯลฯ นอกจากนี้ชาวบ้านจะร่วมกันดูแลพื้นที่ รักษาดิน น้ำ ป่า ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศน์ที่เสื่อมโทรมให้กลับคืนมา..เป็นมรดกของแผ่นดินและลูกหลานสืบต่อไป...!!
...บนท้องทุ่งไร่หมุนเวียนลุ่มน้ำลำตะเพิน ดอกหงอนไก่ยังคงยืนต้นท้าแดดแรง...อีกไม่นานพวกมันก็จะเหี่ยวแห้งตายลง...และเมล็ดเล็กๆ ก็จะงอกงามขึ้นมาใหม่ ยังประโยชน์ให้แก่ผู้คนและผืนดิน...ไม่เพียงแค่สีสวยประดับท้องทุ่งเท่านั้น..!!
****************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สืบนครบาลรวบ 'สมโคลท์ พันกระบอก' ขายปืนเถื่อนออนไลน์ ตกใจฉี่ราด
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีนโยบายปราบปรามอาวุธปืน โดยเฉพาะทางโลกออนไลน์เพื่อป้องกันเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ ชุดลาดตระเวนออนไลน์
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567