คนโคกหม้อ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี สร้างแหล่งอาหารและรายได้
ตำบลโคกหม้อ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ชาวบ้านส่วนใหญ่สืบเชื้อสายมาจากชาว ‘ลาวครั่ง’ ชาวลาวจากเมืองหลวงพระบาง ที่ต้องพลัดถิ่นฐานบ้านเรือนจากศึกสงครามระหว่างสยามกับราชอาณาจักรลาว ตั้งแต่สมัยพระเจ้าตากสินจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อสยามส่งกองทัพเข้าไปรุกตีดินแดนในฝั่งลาว สยามเป็นฝ่ายกำชัยจึงได้กวาดต้อนครัวเรือนชาวลาวหลายกลุ่ม หลายเผ่าพันธุ์เข้ามาอยู่ในสยาม โดยเฉพาะตามหัวเมืองทางด้านตะวันตก เช่น กาญจนบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท และอุทัยธานี
อัญชุลี วัฒนกุล หรือ ‘พี่เดือน’ แกนนำพัฒนาในตำบลโคกหม้อ เชื้อสายชาวลาวครั่ง บอกว่า ตำบลโคกหม้อมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 2,400 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา เพราะสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม มีแควตากแดดไหลมาจากอำเภอแม่วงศ์ จังหวัดนครสวรรค์ เป็นแหล่งน้ำสำคัญ นอกจากนั้นก็มีอาชีพทำสวน ปลูกส้มโอ พืชผักสวนครัว เลี้ยงปลา เป็ด ไก่ วัว ควาย แพะ เป็นอาชีพหลัก แต่หลายครอบครัวมีอาชีพทอผ้า ทอทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย
“การทอผ้าเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนลาวครั่ง ในสมัยก่อน เมื่อว่างจากงานในไร่นา งานในบ้านเรือน ผู้หญิงจะทอผ้าเอาไว้ใช้เอง ไม่ได้ซื้อหา เอาไว้ใช้ในครัวเรือน หรือใส่ในยามมีงานบุญประเพณี แต่เดี๋ยวนี้เราทอเป็นอาชีพ มีการรวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 2523 เป็นกลุ่มทอผ้าฝ้าย และอีกกลุ่มทอผ้าไหม ถ้าเป็นผ้าไหมราคาจะสูง ผืนหนึ่งราคา 3 พันบาทขึ้นไป จนถึง 3 หมื่นบาท ส่วนลายสวยๆ ที่มีความประณีต ทอยาก บางผืนมีราคาสูงถึง 5 แสนบาท เพราะทอจกทั้งผืน” พี่เดือนบอก
(ภาพจากผู้จัดการออนไลน์)
ในอดีตชาวโคกหม้อจะปลูกฝ้ายเพื่อนำมาปั่นและทอเป็นเส้นด้าย และเลี้ยงไหมเพื่อนำมาผลิตเป็นเส้นไหมเอง ใช้สีย้อมจากธรรมชาติ เช่น ครั่ง แก่นขนุน คำแสด ฯลฯ เด็กสาวก็จะเรียนรู้กระบวนการผลิตและหัดทอผ้าจากครอบครัว แต่ในยุคหลังจะซื้อเส้นด้ายฝ้ายและไหมสำเร็จเพราะสะดวกกว่า และย้อมด้ายด้วยสีเคมี เพราะลดขั้นตอน และสีจะติดทนทานกว่า
ปัจจุบันในตำบลโคกหม้อมีกลุ่มทอผ้า 2 กลุ่ม กลุ่มแรก คือ ศูนย์ทอผ้าบ้านโคกหม้อ เป็นกลุ่มทอผ้าไหมลวดลายโบราณ และลวดลายประยุกต์ ทอผ้ามัดหมี่ต่อตีนจก ฝ้ายยกดอกเชิงแบบเก่า ลวดลายผ้าเป็นแบบโบราณ เช่น ลายด่านเมืองลาว ลายด่านใหม่ ลายนาค ลายดอกแก้ว ลายสุพรรณิการ์ ฯลฯ กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มทอผ้าฝ้าย เช่น ผ้าขาวม้า โสร่ง ผ้าซิ่น ผ้าห่ม เสื้อผ้า ฯลฯ ผลิตขายและใช้เองในครอบครัว
ทั้งสองกลุ่มมีสมาชิกรวมกันประมาณ 60 คน สินค้ามีจำหน่ายทั้งทางเพจ ศูนย์แสดงสินค้าในตำบล และนำไปออกบูธตามงานต่างๆ ทำให้ผู้ทอมีรายได้เดือนละหลายพันจนถึงหลายหมื่นบาท ตามแต่ชิ้นงานและความยากง่าย บางผืนทอตามสั่งมีราคาหลายหมื่น จนถึงหลายแสนบาท แต่ต้องใช้เวลาทอนานหลายเดือน เช่น คนรุ่นใหม่ลูกหลานชาวโคกหม้อทอผ้าไหมประยุต์ ใช้ชื่อว่า ‘ผ้าไหมแต้มตะกอ’ ได้รับรางวัลจากการประกวดหลายครั้ง บางชิ้นงานตั้งราคาสูงถึง 2 ล้านบาท กลุ่มลูกค้ามีทั้งนักธุรกิจ สาวสังคม และเชื้อพระวงศ์ (ดูราย ละเอียดที่ https://www.facebook. com/TaemtakorSilk/?locale=th_TH)
นอกจากนี้พี่เดือนยังบอกเล่าประวัติชุมชนว่า สมัยก่อนตอนที่คนลาวครั่งอพยพมาอยู่ที่นี่ใหม่ๆ สภาพพื้นที่จะเป็นโคก เมื่อขุดลงไปจึงเจอเตาเผาเป็นแหล่งปั้นหม้อ มีเศษหม้อไหอยู่เต็มไปหมด เมื่อตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนแล้ว จึงเรียกหมู่บ้านที่ตั้งขึ้นนี้ว่า “โคกหม้อ” ต่อมาเมื่อมีบ้านเรือนหนาแน่นขึ้น ทางราชการจึงยกขึ้นเป็นตำบล
“ส่วนคำว่า ‘ลาวครั่ง’ นั้น คนเฒ่า คนแก่ บอกว่ามาจาก ‘สีครั่ง’ ที่บรรพบุรุษของเราใช้ย้อมผ้าเป็นสีหลัก มีสีแดง และพวกเรามีเชื้อสายหลวงพระบาง จึงเรียกชื่อให้แตกต่างจากคนลาวกลุ่มอื่นๆ ว่า ‘ลาวครั่ง’ เพราะยังมีคนลาวกลุ่มอื่นๆ อีกที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทย เช่น ลาวเวียงหรือลาวจากเมืองเวียงจันทน์” พี่เดือนอธิบายด้วยสำเนียงของชาวหลวงพระบาง ซึ่งจะคล้ายกับสำเนียงของคนจังหวัดเลย หรือ ‘ไทเลย’ เพราะมีเชื้อสายของคนที่อพยพมาจากหลวงพระบางเหมือนกัน
ผ้าทอลาวครั่งบ้านโคกหม้อ (ภาพจาก https://www.thai-tour.com/gal/2081/9231)
คนโคกหม้อรวมพลังสร้างทุนชุมชน-มีสมาชิกเกือบทั้งตำบล
ตำบลโคกหม้อ มีประชากรไม่มากนัก คือประมาณ 2,400 คนเศษ แต่พวกเขาได้รวมพลังสร้างทุนชุมชนขึ้นมาหลายอย่าง เริ่มจากการรวมกลุ่มกันจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโคกหม้อ’ ขึ้นมาในเดือนเมษายน 2551 หลังจากนั้นจึงจัดตั้ง ‘กลุ่มออมทรัพย์กองทุนสวัสดิการชุมชน’ และ ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกหม้อ’ ขึ้นมาในปีเดียวกัน
อัญชุลี วัฒนกุล หรือ ‘พี่เดือน’ ในฐานะประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ บอกว่า กองทุนกำหนดให้สมาชิกทุกคนสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือน ตามจำนวนวันของเดือนนั้น เช่น 30 บาท 31 บาท มีการจัดสวัสดิการเบื้องต้นช่วยเหลือสมาชิก เช่น คลอดบุตร ช่วย 500 บาท เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาลช่วยเหลือคืนละ 100 บาท ปีหนึ่งไม่เกิน 10 คืน เสียชีวิตช่วยตั้งแต่ 2,500 บาท จนถึง 30,000 บาท (เป็นสมาชิกครบ 30 ปีขึ้นไป) ฯลฯ
อัญชุลี วัฒนกุล ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโคกหม้อ
ส่วน ‘กลุ่มออมทรัพย์กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลโคกหม้อ’ จัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้สมาชิกกองทุนสวัสดิการฯ นำเงินมาฝากเป็นรายเดือนและถือหุ้นในกลุ่มออมทรัพย์อย่างน้อยคนละ 1 หุ้นๆ ละ 50 บาท และนำเงินจากกลุ่มออมทรัพย์มาให้สมาชิกกู้ยืมในยามจำเป็น เช่น ประกอบอาชีพ ค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน ยามเจ็บป่วย ซ่อมสร้างบ้าน ฯลฯ คิดอัตราดอกเบี้ยบำรุงกลุ่มร้อยละ 1 บาทต่อเดือน
เมื่อกลุ่มออมทรัพย์มีผลกำไรในช่วงปลายปี กลุ่มออมทรัพย์จะปันผลให้สมาชิก 6 % และนำผลกำไรจำนวน 10 % มาเข้ากองทุนสวัสดิการฯ ทำให้กองทุนเติบโต เพื่อช่วยเหลือสมาชิก ผู้ด้อยโอกาส พิการ ทุนการศึกษา ส่งเสริมอาชีพ และนำเงินมาใช้พัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น ส่งเสริมเยาวชนช่วยกันดูแลรักษาป่าไม้ ป่าชุมชน อนุรักษ์เขาหลวง สนับสนุนการจัดงานวัฒนธรรมประเพณี เช่น งานเทศน์มหาชาติ งานวันแม่ งานวันเด็ก ฯลฯ
ประชุมกองทุนสวัสดิการชุมชน
“ปีแรกของการจัดตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชนและกลุ่มออมทรัพย์ สมาชิกยังมีไม่เยอะ ไม่ถึง 200 คน แต่จากการบริหารกองทุนสวัสดิการชุมชนและกลุ่มออมทรัพย์ที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ เป็นที่เชื่อถือ ไว้วางใจของสมาชิก ทำให้ทั้ง 2 กลุ่มเติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กัน และขยายสมาชิกไปทั้งตำบล โดยการบอกต่อของพี่น้อง เครือญาติ ชักชวนกันมาเป็นสมาชิก โดยสมาชิกทั้ง 2 กลุ่มเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ตอนนี้มีสมาชิกกลุ่มละ 1,734 คน หรือคิดเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนชาวบ้านทั้งตำบล”
พี่เดือนบอกและว่า ปัจจุบันกองทุนสวัสดิการชุมชนมีเงินกองทุนประมาณ 6 ล้านบาทเศษ ส่วนกลุ่มออมทรัพย์มีเงินหมุนเวียนประมาณ 14 ล้านบาทเศษ สมาชิกสามารถกู้ยืมได้สูงสุด 200,000 บาท และปี 2566 ที่ผ่านมา นำผลกำไรจากกลุ่มออมทรัพย์จำนวน 600,000 บาทเศษมาเข้ากองทุนสวัสดิการ ทำให้กองทุนสวัสดิการโตขึ้นเรื่อยๆ ช่วยเหลือสมาชิกได้ทั่วถึง
สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน
ใช้สภาฯ ส่งเสริมอาชีพ-สร้างแหล่งอาหาร
นับแต่สถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 เป็นต้นมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำโครงการ ‘พัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในเมืองและชนบท’ เพื่อลดผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจให้แก่ชุมชน โดยสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดทำแหล่งอาหาร เลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช สร้างอาชีพ ฯลฯ
สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกหม้อ ได้เสนอโครงการต่อ พอช. ได้รับงบประมาณสนับสนุนในปีแรกจำนวน 45,000 บาท และล่าสุดในปี 2566 ที่ผ่านมา จำนวน 58,000 บาท นำมาส่งเสริมให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยหรือได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจมีแหล่งอาหารเพื่อลดรายจ่าย จำนวน 40 ครัวเรือน เช่น เลี้ยงเป็ดไข่ ไก่ไข่ ปลูกผักสวนครัวต่างๆ บางครอบครัวสามารถต่อยอดเป็นอาชีพ สร้างรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น
ครอบครัวของนิตยา อ่ำพาธ เกษตรกร อาชีพทำนาและเลี้ยงสัตว์ อยู่หมู่ที่ 3 บ้านโคกหม้อ ได้รับการสนับสนุนพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เป็ดไข่พันธุ์กากีแคมเบลล์จำนวน 5 ตัว เป็นเป็ดไข่พันธุ์ดกที่ให้ไข่เฉลี่ย 300 ฟองต่อปี ไข่เป็ดมีฟองใหญ่ เลี้ยงง่าย ทนต่อโรค ปัจจุบันมีเป็ดเพิ่มเป็น 11 ตัว นำไข่มาทำอาหารในครอบครัวได้ทุกวันๆ ละเกือบ 10 ฟอง ช่วยลดรายจ่าย ที่เหลือนำไปขาย
ควายของครอบครัวนิตยา อ่ำพาธ
นอกจากนี้ครอบครัวนิตยายังเลี้ยงควายและแพะเนื้อ มีควาย 16 ตัว นำมูลควายมาตากแห้ง ใช้เป็นปุ๋ยใส่ในนาข้าว หรือขายเป็นปุ๋ย กองละประมาณ 100 กิโลกรัม ราคา 300 บาท ช่วยฟื้นฟูดิน ทำให้ดินร่วนไม่แข็ง มีไส้เดือนช่วยพรวนดิน ส่วนควายเป็นควายเนื้อ ราคาขายแม่ลูกคู่หนึ่งประมาณ 30,000 บาท หรือขายลูกควายอายุ 1 ปีขึ้นไป ราคาตัวละ 7,000-8,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์และลักษณะของควาย
ส่วนแพะเนื้อจากเดิมมีไม่กี่ตัว ปัจจุบันมี 21 ตัว เพราะแพะออกลูกปีละ 2 ครั้งๆ หนึ่งประมาณ 1-4 ตัว เมื่อเลี้ยงได้ประมาณ 6 เดือนสามารถขายได้ ราคาแพะตัวผู้กิโลฯ ละ 70-100 บาท ส่วนตัวเมียจะเลี้ยงไว้ผสมพันธุ์ มูลแพะนำมาทำปุ๋ย
แพะจะออกลูกปีละ 2 ครั้ง นำต้นกระถินและหญ้าริมทางเป็นอาหารแพะช่วยลดต้นทุน
นอกจากนี้ยังมีครอบครัวอื่นๆ ที่สภาองค์กรชุมชนตำบลโคกหม้อส่งเสริมให้ปลูกผักสวนครัวเพื่อลดรายจ่าย หรือนำไปขาย โดยนำเมล็ดพันธุ์มาแจกจ่าย เป็นพืชระยะสั้น แต่เก็บกินและขายได้ตลอดทั้งปี เช่น กะเพรา โหระพา กำละ 5 บาท พริกใหญ่กิโลฯ ละ 60 บาท และยังมีฟักทอง บวบ มะระจีน ถั่วฝักยาว กระเจี๊ยบเขียว เอาไปขายที่ตลาด บางครอบครัวสามารถขายเป็นรายได้ไม่ต่ำกว่าวันละ 500-600 บาท
นี่คือตัวอย่างของคนโคกหม้อ อ.ทัพทัน จ.อุทัยธานี ที่ร่วมกันสร้างกองทุนต่างๆ เอาไว้ดูแลช่วยเหลือกัน ใช้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมดั้งเดิมทอผ้าใช้เองและขายเป็นอาชีพ มีพืชผักฟักแฟง เป็ด ไก่ วัว ควาย เป็นแหล่งรายได้และเป็นแหล่งอาหาร ทำให้คนโคกหม้อ ‘กินอิ่มและนอนอุ่น’
*****************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา