ทีมช่างชุมชนตำบลโกรกพระ รพ.โกรกพระ อสม. เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนตำบลโกรก จ.นครสวรรค์ ร่วมกันดูแลสุขภาพและซ่อมบ้านผู้สูงอายุ
นครสวรรค์ / ชาวอำเภอโกรกพระ จ.นครสวรรค์ ร่วมแรงร่วมใจ ดูแลคนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กถึงผู้สูงวัย นำร่องพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเทศบาลตำบลโกรกพระ โดยนำรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบ ‘High Scope’ มาใช้เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก จัดทำโครงการ ‘ช่างชุมชน’ ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง ฯลฯ เพื่อเป็นจิตอาสาซ่อมบ้านผู้ด้อยโอกาส และร่วมกับ รพ. อสม. ดูแลผู้สูงอายุ กลุ่มเปราะบาง เชื่อมประสานภาคีทุกหน่วยงาน มุ่งเป้าสู่อำเภอบูรณาการ
ตำบลโกรกพระ อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน ประชากรนอกเขตเทศบาลส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร ทำนา ปลูกข้าวโพด ทำสวน เลี้ยงสัตว์ วัว ควาย ไก่ ฯลฯ ส่วนในเขตเทศบาลมีอาชีพค้าขาย ข้าราฃการ รับจ้างทั่วไป ฯลฯ โดยมีภาคีเครือข่ายในตำบลและอำเภอเชื่อมโยงการทำงานด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต การดูแลคนทุกช่วงวัยร่วมกัน เช่น เทศบาลตำบลโกรกพระ สภาองค์กรชุมชนตำบลโกรกพระ โรงพยาบาลโกรกพระ ชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ
อรรถกร รุ่งเจิดฟ้า นายกเทศมนตรีตำบลโกรกพระ (แถวหลังเสื้อเขียว) และผู้แทนทุกภาคส่วนที่ร่วมกันพัฒนาตำบล
พัฒนาศูนย์เด็กเล็กนำร่อง1 ใน 60 แห่งทั่วประเทศ
อรรถกร รุ่งเจิดฟ้า นายกเทศมนตรีตำบลโกรกพระ กล่าวว่า เทศบาลตำบลโกรกพระให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็กเล็ก กลุ่มผู้เปราะบาง ผู้สูงวัย ฯลฯ ด้านเด็กเล็ก เทศบาลมี ‘ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลโกรกพระ’ อยู่ในความดูแล เปิดรับเด็กเล็กอายุตั้งแต่ 2-6 ขวบเข้ามาดูแลเพื่อแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง เปิดดำเนินการมาแล้วหลายปี ปัจจุบันมีเด็กจำนวน 36 คน แบ่งออกเป็น 2 ห้องเรียน
นายกเทศมนตรีเล่าว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ร่วมกับภาคีพัฒนา จัดทำโครงการ ‘การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาคน โดยใช้การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเป็นฐาน’ ขึ้นมา เพื่อร่วมกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพัฒนาศูนย์เด็กเล็กให้มีคุณภาพ โดยจะนำรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่เข้ามาพัฒนาศูนย์เด็ก ทางเทศบาลตำบลโกรกพระมีความสนใจจึงได้สมัครเข้าร่วมโครงการ และได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ เป็น 1 ใน 60 ศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศนำร่องในปี 2566
รุ่งฤดี เหล่าอินทร์ ครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลโกรกพระ บอกว่า เธอมีอาชีพเป็นครูในศูนย์เด็กมานาน 14 ปี ก่อนหน้านั้นก็จะจัดการเรียนขั้นพื้นฐาน เช่น ตอนเช้าเข้าแถว เคารพธงชาติ สวดมนต์ หลังจากนั้นจะมีกิจกรรมเคลื่อนไหว ส่วนช่วงบ่ายจะให้เด็กนอน รอผู้ปกครองมารับตอนบ่าย 2 โมง
“เมื่อเข้าร่วมโครงการพัฒนาศูนย์เด็กเล็กแล้ว ช่วงเดือนสิงหาคม 2566 โครงการได้ส่งเจ้าหน้าที่มาอบรมการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ ใช้วิธีเรียนแบบ Hi Scope ใช้เวลาอบรม 10 วัน มีการจัดมุมเล่น 5 มุม เช่น มุมบ้าน มุมของใช้ในบ้าน ในครัว มุมบล็อก ต่อเลโก้ มุมวิทยาศาสตร์ มุมศิลปะ มุมหนังสือนิทาน เพื่อให้เด็กเลือกเล่นตามความต้องการ และเมื่อเล่นแล้ว เด็กๆ จะต้องเก็บของที่เล่นกลับคืนที่” ครูรุ่งฤดีบอก
โครงการ ‘การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนผ่านการพัฒนาคน โดยใช้การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเป็นฐาน’ เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เครือข่ายองค์กรชุมชน ชุมชน สถาบันพัฒนาระบบบริการสุขภาพองค์รวม (สพบ.) มูลนิธิยุวพัฒน์ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) โดยเล็งเห็นว่า การพัฒนาชุมชนจะเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ และจะต้องเริ่มพัฒนาคนตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะในช่วงที่เด็กมีอายุระหว่าง 2-6 ขวบ เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี เติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ เป็นเยาวชนและผู้นำชุมชนที่มีคุณภาพ
โครงการดังกล่าวเริ่มนำร่องในปี 2566 จำนวน 60 แห่งทั่วประเทศ เช่น กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงรายสุโขทัย นครสวรรค์ สระบุรี ขอนแก่น นครพนม จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี ปัตตานี ฯลฯ โดยมีภาคเอกชนร่วมสนับสนุน มอบอุปกรณ์ของเล่น หนังสือนิทาน และทางโครงการมีแผนจะขยายพื้นที่ดำเนินการออกไปอีก
มุมเล่น 5 มุม เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในศูนย์เด็ก
การจัดการเรียนการสอนแบบ Hi Scope จะเน้นให้เด็กเรียนรู้แบบลงมือทำ ผ่านมุมเล่นที่หลากหลาย ด้วยสื่อและกิจกรรมที่เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็กและการแก้ปัญหาอย่างกระตือรือร้น เป็นการสร้างองค์ความรู้จากการที่เด็กได้ลงมือทำหรือเล่นกับอุปกรณ์ต่างๆ โดยครูจะเป็นคนเตรียมอุปกรณ์ให้กับเด็กและกระตุ้นให้เด็กพัฒนาและดำเนินกิจกรรม โดยใช้หลักปฏิบัติ 3 ข้อ คือ
1.การวางแผน ( Plan ) เป็นการกำหนดแนวทางการปฏิบัติหรือดำเนินงานตามที่ได้รับมอบหมาย มีการพูดคุยระหว่างครูกับเด็ก ว่าจะทำอะไร อย่างไร การวางแผนกิจกรรมอาจจะแสดงด้วยภาพหรือสัญลักษณ์ประจำตัวเด็ก เป็นกระบวนการที่เด็กมีโอกาสเลือกและตัดสินใจ
2.การปฏิบัติ ( Do ) คือการลงมือกระทำตามแผนที่วางไว้ ทำให้เด็กได้ร่วมกันคิด แก้ปัญหา ตัดสินใจและทำด้วยตนเอง ช่วยส่งเสริมให้เด็กได้มีการพัฒนาการพูดและมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมสูง
3.การทบทวน ( Review ) เป็นช่วงที่ได้งานตามจุดประสงค์ ช่วงนี้จะมีการพูดคุยและเล่าถึงผลงานที่เด็กทำเพื่อทบทวนว่า เด็กสามารถปฏิบัติตามแผนที่วางไว้หรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงแผนอย่างไร และชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างแผนกับการปฏิบัติ และผลงานที่ทำ รวมถึงการเล่าประสบการณ์ต่างๆ ที่ได้รับ
การที่เด็กได้ลงมือทำหรือเล่นกิจกรรมต่างๆ ด้วยความสนใจ จะทำให้เด็กสนุกกับการทำงาน การทำตามขั้นตอนอย่างเป็นระบบ ผลงานที่เกิดขึ้นนับเป็นความสำเร็จของเด็กในการลงมือทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนอย่างมีความสุข
ปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2567) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลโกรกพระได้ปรับปรุงการจัดการเรียนใหม่ตามแนวทาง Hi Scope มาเป็นเวลา 6 เดือน
ครูรุ่งฤดี บอกว่า ความเปลี่ยนที่เห็นได้ชัด คือ 1.พัฒนาการของเด็กดีขึ้น เด็กมีความกล้าแสดงออก 2.เด็กมีปฏิสัมพันธ์กันดีขึ้น เพราะได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ชวนกันเล่น 3.เด็กมีความรับผิดชอบ มีระเบียบวินัย เล่นของเล่นแล้วเก็บ รู้จักการรอคอย หมุนเวียนเปลี่ยนกันเล่น ไม่แย่งกัน
อรรถกร นายกเทศมนตรีเสริมว่า หลังจากเข้าร่วมโครงการนี้แล้ว เด็กๆ มีความเปลี่ยนแปลงเยอะมาก มีความรับผิดชอบ รู้จักแบ่งปัน แบ่งกันเล่น
“เมื่อก่อน เวลาพ่อแม่ ผู้ปกครองมาส่งที่ศูนย์เด็ก เด็กๆ จะงอแง ไม่อยากมาเรียน จะร้องหาพ่อแม่ อยากกลับบ้าน แต่เดี๋ยวนี้ผู้ปกครองบอกว่า เด็กๆ ร้องอยากจะมาโรงเรียนทุกวัน”
ใช้ธรรมนูญสุขภาวะตำบลดูแลผู้สูงอายุ
นอกจากการปรับปรุงพัฒนาการจัดการเรียนในศูนย์เด็กเล็กแล้ว อรรถกร นายกเทศมนตรีตำบลโกรกพระบอกว่า เทศบาลยังสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในตำบลด้วย เพราะจำนวนผู้สูงอายุมีเพิ่มขึ้น เฉพาะในเขตเทศบาลมีประชากรทั้งหมดประมาณ 2,200 คน แต่มีผู้สูงอายุประมาณ 21 % ถือเป็นสังคมสูงวัยเต็มตัว
เทศบาลจึงร่วมกับชมรมผู้สูงอายุตำบลโกรกพระ รพ.โกรกพระ อสม. จัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงวัย โดยมี ‘ธรรมนูญสุขภาวะผู้สูงอายุตำบลโกรกพระ’ เป็นเครื่องมือ เช่น มีโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีกิจกรรมทำ ออกจากบ้านมาพบปะ พูดคุยกัน ออกกำลังกาย รำวง มีการตรวจสุขภาพเบื้องต้น หากใครเจ็บป่วยไม่มีลูกหลานพาไปโรงพยาบาล ให้โทรศัพท์แจ้งมายังเทศบาลๆ จะนำรถไปรับ-ส่ง
ณรงค์ ตั้งศิริชัย ประธานเครือข่ายหมออนามัยอำเภอโกรกพระ กล่าวเสริมว่า เครือข่ายฯ อยากให้ประชาชนทุกคน ทุกช่วงวัย ตั้งแต่เด็ก คนทำงาน ผู้สูงอายุ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงร่วมกับทุกฝ่าย ทุกหน่วยงาน โดยจัดเวทีพูดคุย สำรวจข้อมูลกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุที่ป่วย ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ที่มีฐานะยากจน บ้านเรือนทรุดโทรม และอาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ ผู้พิการ เพื่อสำรวจปัญหาและความต้องการของประชาชน และนำมากำหนดแนวทางในการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาวะประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ จึงร่วมกันจัดทำ ‘ธรรมนูญสุขภาวะผู้สูงอายุตำบลโกรกพระ’ ขึ้นมาในปี 2562
ณรงค์ขยายความว่า ธรรมนูญสุขภาวะฯ ไม่ใช่แค่เป็นหนังสือที่จัดทำเป็นเล่มออกมา แต่ได้นำไปสู่การปฏิบัติจริง เป็นเครื่องมือที่มาจากความต้องการของประชาชนในตำบล มี 4 มิติ เช่น ด้านสุขภาพ จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยร่วมมือกับแพทย์ นักบริบาลชุมชนและ อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน) เพื่อให้ความรู้ด้านการดูแลสุขภาพ เยี่ยมผู้ป่วยติดบ้าน ติดเตียง ตรวจสุขภาพ วัดความดัน แนะนำการกินยา ฯลฯ
นอกจากนี้ยังชวนมาโรงเรียนผู้สูงอายุ เพื่อพบปะพูดคุยกับคนอื่น ทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน จะได้ไม่เหงา เศร้าซึม ฯลฯ โดยปัจจุบันได้ขยายการดูแลสุขภาวะประชาชนจากระดับตำบลเป็นเครือข่ายทั้งอำเภอโกรกพระ
‘หมอนุช’ เยี่ยมผู้สูงอายุในตำบล
หนึ่งนุช ราหุล หรือ ‘หมอนุช’ จากโรงพยาบาลโกรกพระ บอกว่า นอกจากหมอ นักบริบาลชุมชนและ อสม.จะออกไปเยี่ยมผู้สูงอายุ ผู้ป่วยในหมู่บ้านแล้ว ยังดูว่าบ้านไหนมีฐานะยากจน มีผู้ป่วย ผู้พิการ ทางโรงพยาบาลจะเอากายอุปกรณ์ต่างๆ ที่ รพ.ได้รับบริจาคหรือมีอยู่ เอาไปให้ผู้ป่วย เช่น ไม้เท้า วอล์คเกอร์ช่วยเดิน หรือเตียง ซึ่งขณะนี้ทาง รพ.ไม่มีที่เก็บจึงประสานกับทางเทศบาลตำบลโกรกพระเพื่อให้ทำห้องจัดเก็บกายอุปกรณ์ต่างๆ เอาไว้ หากผู้ป่วย ผู้พิการคนใดมีความต้องการก็นำไปใช้ได้ทันที
“นอกจากนี้ การเยี่ยมผู้สูงอายุ ผู้ป่วยและผู้พิการในหมู่บ้านต่างๆ เราจะดูด้วยว่า บ้านไหนมีสภาพทรุดโทรม เช่น พื้นบ้านผุพัง ห้องน้ำ ราวบันไดชำรุด ผู้สูงอายุ คนป่วย คนพิการ อาจพลัดตก หกล้ม ได้รับบาดเจ็บ หรือพิการซ้ำซ้อนได้ เราก็จะประสานกับทางช่างชุมชนเพื่อให้มาซ่อมแซมบ้านเรือนให้ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ชีวิต” หมอนุชอธิบาย
ช่างชุมชนตำบลโกรกพระกำลังทำราวจับเพื่อให้ผู้สูงอายุเดินเข้าห้องน้ำ ป้องกันการหกล้ม
‘ช่างชุมชนจิตอาสา’ ซ่อมบ้านผู้ด้อยโอกาส
เชาว์ มาประเสริฐ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลโกรกพระ และประธานชมรมผู้สูงอายุตำบลโกรกพระ บอกว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลฯ ได้ทำโครงการ ‘บ้านพอเพียง’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ สนับสนุนงบประมาณซ่อมบ้านเรือนผู้มีฐานะยากจน (ครอบครัวหนึ่งไม่เกิน 20,000 บาท) มาตั้งแต่ปี 2562 หลังจากนั้นจึงจัดตั้งทีมช่างชุมชนจิตอาสาขึ้นมา เพื่อช่วยกันซ่อมแซมบ้านเรือนผู้ที่มีความเดือดร้อน โดยไม่รับค่าจ้าง
“เมื่อทางหมอนุชพบเห็นว่าบ้านของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการคนใด ที่สภาพบ้านเรือนผุพังทรุดโทรมจนอาจเกิดอุบัติเหตุหรือเป็นอันตรายได้ ทีมช่างชุมชนอาสาก็จะไปช่วยซ่อมแซมให้ฟรี โดยจะหางบประมาณและวัสดุอุปกรณ์ไปเอง หรือมีผู้บริจาคมา ที่ผ่านมาทีมช่างชุมชนช่วยซ่อมแซมบ้านไปแล้วหลายสิบหลัง”
เชาว์บอก และว่าในปี 2564 ทีมช่างชุมชนได้จัด Work Shop เรื่องการซ่อมบ้านผู้ป่วย ผู้สูงอายุ โดยมีทีมหมอนุชมาให้ความรู้ ให้คำแนะนำ เช่น การทำราวจับในห้องน้ำ ราวช่วยพยุงตัวในบ้าน ว่าควรจะมีความสูงระดับไหน หรือทางลาด ทางชันในบ้าน ควรมีระดับกี่องศา เพื่อรถเข็นวีลแชร์จะขึ้น-ลงได้สะดวก
นอกจากนี้ ในปี 2566 ที่ผ่านมา สภาองค์กรชุมชนตำบลโกรกพระได้จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อย’ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. จำนวน 45,000 บาท นำมาจัดอบรมช่างชุมชนเพิ่มเติม โดยประสานกับสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 8 จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อให้ส่งวิทยากรมาฝึกอบรมช่างชุมชน เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างก่อสร้าง งานไม้ งาน ปูน ประปา ฯลฯ
เชาว์บอกว่า ปัจจุบันมีช่างชุมชนในตำบลประมาณ 20 คน และมีเป้าหมายจะขยายเพิ่มทั้งอำเภอโกรกพระ ทั้งหมด 9 ตำบล ตำบลหนึ่งอย่างน้อย 2 คน รวมทั้งยังมีเป้าหมายจะสร้าง ‘กองทุนช่างชุมชน’ ขึ้นมา โดยอาจจะเปิดรับบริจาคจากภาคเอกชนในอำเภอ ขณะนี้มีเงินกองทุนตั้งต้นประมาณ 2,000 บาท
มานิต จันทร์กระจ่าง อายุ 59 ปี, สุรพล ทรัพย์เจริญ อายุ 63 ปี และสาลี่ เดชครุธ อายุ 69 ปี ทั้ง 3 คนมีอาชีพหลักคือ ทำไร่ ทำนา แต่มีฝีมือทางช่างติดตัว บางคนถนัดงานเหล็ก งานเชื่อมโลหะ บางคนถนัดทางช่างไม้ ช่างปูน บางคนทำงานช่างได้สารพัด แต่ที่เหมือนกันคือทุกคนมี ‘หัวใจอาสา’ สมัครเข้ามาเป็นช่างชุมชนตั้งแต่ปี 2562 จนถึงทุกวันนี้ พวกเขาช่วยกันซ่อมแซมบ้านผู้ที่มีฐานะยากจน บ้านผู้ป่วย ผู้สูงวัย รวมแล้วคนหนึ่งไม่ต่ำกว่า 20 หลัง
ล่าสุดพวกเขาร่วมกับทีมหมอนุชมาช่วยกันซ่อมแซมบ้านคุณยายสม กันมินทร์ อายุ 99 ปี ที่สภาพพื้นบ้านผุพัง ทำราวจับเพื่อเข้าห้องน้ำ ราวกันตกหลังบ้าน โดยใช้วัสดุที่เหลือจากการซ่อมบ้านหลังอื่น ใช้งบประมาณเพียง 1,000 บาทเศษ และก่อนหน้านี้พวกเขาได้ช่วยกันปรับปรุงห้องน้ำให้คุณยายสม เปลี่ยนจากส้วมแบบนั่งยอง เป็นโถส้วมแบบนั่งเพื่อความสะดวกปลอดภัย
คุณยายสมทดลองจับราวช่วยเดิน
คุณยายสม บอกว่า “เกรงใจลูกหลานที่อุตส่าห์มาช่วยกันลงแรงซ่อมบ้านให้หลายครั้งแล้ว จึงไม่อยากจะให้มาอีก แต่เมื่อมาแล้วก็ดีใจที่มีลูกหลานมาช่วยซ่อมบ้านให้ เวลาเข้าห้องน้ำจะได้ไม่หกล้ม”
ส่วนบรรดาช่างชุมชนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า “ทำแล้วมีความสุข สบายใจ เพราะได้ช่วยเหลือคนอื่น เวลาเห็นรอยยิ้มของคนที่ยากลำบากแล้วทำให้หายเหนื่อย”
นี่คือตัวอย่างความร่วมแรงร่วมใจของคนโกรกพระ เพื่อดูแลช่วยเหลือคนทุกช่วงวัย และพวกเขาตั้งเป้าว่าจะขยายความร่วมมือเช่นนี้ไปทั้งอำเภอ เพื่อเป็น ‘อำเภอบูรณาการ’ โดยการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน ทุกหน่วยงาน ร่วมกับเครือข่ายชุมชน เครือข่ายสภาองค์กรชุมชน ตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด รวมทั้งหน่วยงานในส่วนกลาง...เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”
*****************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนาองค์ความรู้และสื่อสารองค์กร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา