วิถีชีวิตชาวแพสะแกกรังและผลผลิตจากแม่น้ำ หากเป็นปลาเนื้ออ่อนรมควัน ราคากิโลกรัมละ 3,000 บาท
ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี เป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย ขณะเดียวกันชุมชนชาวแพแห่งนี้ปัจจุบันมีผู้อยู่อาศัยลดน้อยลง จากเดิมที่ขึ้นทะเบียนกับทางราชการเอาไว้จำนวน 301 แพ แต่ทุกวันนี้เหลืออยู่เพียง 154 แพ และมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ จนอาจทำให้ชุมชนชาวแพแห่งนี้เหลือเพียงตำนาน...ดังเช่นชุมชนชาวแพแห่งอื่นๆ ที่ล่มสลายไปแล้ว
สันทนา เทียนน้อย ประธานชุมชน ‘7 ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง’ ให้คำตอบถึงการหายไปของเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรังว่า เนื่องจากชาวแพรุ่นเก่าๆ ล้มหายตายจากไป ลูกหลานไปเรียนหรือทำงานอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัดจึงไม่ได้มาอยู่อาศัย บางแพปล่อยให้ผุพังเสื่อมโทรม บางแพก็เปลี่ยนมือ ขายให้คนอื่น หรือบางแพที่เคยผูกแพอยู่หน้าท่า หน้าที่ดินของคนอื่น เมื่อเจ้าของขายที่ดิน หรือนำที่ดินไปปลูกสร้างอาคาร บ้านพัก รีสอร์ท ทำให้ชาวแพไม่มีทางขึ้น-ลง ไม่มีหน้าท่าเอาไว้จอดแพ จึงจำต้องขายแพหรือย้ายขึ้นไปอยู่ที่อื่น แพจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง
“นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความแห้งแล้ง ทำให้แม่น้ำสะแกกรังมีน้อย น้ำไม่ถ่ายเท แพเกยตื้น ลูกบวบไม้ไผ่แตกหัก การซ่อมแพต้องใช้เงินเยอะ 3-4 ปีก็ต้องเปลี่ยนลูกบวบใหม่อีก ไม้ไผ่ ไม้ต่างๆ ก็แพง คนอยู่ก็ลำบาก จึงต้องขายแพหรือย้ายขึ้นไปอยู่บนฝั่ง ทำให้แพลดน้อยลง บางคนก็ขายแพให้นายทุนเอาไปทำรีสอร์ท ทำที่พัก คนอยู่แพจึงน้อยลง” สันทนา ประธานชุมชน 7 ลุ่มแม่น้ำสะแกกรังเฉลยคำตอบ
ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง ภาพถ่ายคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสอุทัยธานี ปี 2444 มีเรือนแพและเรือสินค้าจอดหนาแน่น ด้านซ้ายขึ้นฝั่งเป็นตลาด มีท่าข้าว คนจีนมารับซื้อข้าวเปลือก แล้วล่องเรือออกไปขายยังเมืองต่างๆ ส่วนด้านขวาคือวัดอุโปสถาราม
เรือนแพและคุณค่าทางประวัติศาสตร์
ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า เรือนแพอยู่คู่กับสังคมไทยมานานเพียงใด แต่หากพิจารณาการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของคนไทย โดยเฉพาะในลุ่มน้ำภาคกลาง เช่น เจ้าพระยา ป่าสัก ท่าจีน แม่กลอง ลำน้ำลำคลองสาขาต่างๆ ซึ่งผู้คนในอดีตใช้เป็นเส้นทางคมนาคมและค้าขาย ทำให้เกิดตลาดน้ำ ตลาดบนฝั่ง มีการตั้งบ้านเรือน ตั้งชุมชนอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำ รวมทั้งปลูกสร้างเป็นเรือนแพเพื่อความสะดวกในการอยู่อาศัยและค้าขาย ไม่ต้องย้ายบ้านเรือนและข้าวของในยามน้ำหลาก จึงเป็นไปได้ว่า เรือนแพน่าจะมีการปลูกสร้างมาพร้อมๆ กับการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนริมฝั่งน้ำ แต่แตกต่างกันไปตามสภาพของแต่ละท้องถิ่น
อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักวิชาการด้านโบราณคดีและมานุษยวิทยาให้ความเห็นว่า เรือนแพน่าจะเกิดขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยา
โดยที่ผู้เป็นเจ้าของแพน่าจะเป็นคนจีนที่เข้ามาอยู่อาศัยและทำมาค้าขายในสมัยนั้น เพราะย่านการค้าหรือตลาดในเมืองนั้นมักเกี่ยวข้องกับคนจีน
ขณะที่หลักฐานจากเอกสาร ‘คำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมเอกสารจากหอหลวง’ กล่าวถึงการติดต่อค้าขายระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพ่อค้าวานิชชาวต่างชาติทั้งฝรั่งจีนแขกญี่ปุ่นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย คือสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หรือ ‘สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราชที่ 2’ (พ.ศ. 2223 – 2301) พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 31 แห่งกรุงศรีอยุธยา ครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. 2275 – พ.ศ. 2301 ซึ่งรัชสมัยของพระองค์ถือเป็นยุครุ่งเรืองยุคสุดท้ายของกรุงศรีอยุธยาก่อนที่จะเสียกรุงถูกพม่าตีแตกในปี พ.ศ.2310
คำให้การของขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรมฉายภาพการค้าขายที่คึกคักในกรุงศรีอยุธยาเมื่อราว 300 ปีก่อนเอาไว้ว่า มีเรือสินค้าจากนานาชาติเข้ามาค้าขาย ส่วนบนฝั่งก็มีชาวจีนเข้ามาตั้งโรงกลั่นสุราและเลี้ยงสุกรขาย ขณะที่เรือจากสุพรรณ อ่างทอง ลพบุรี บรรทุกข้าวเปลือกมาขาย มี ‘แพลอย’ พวกลูกค้าไทยจีนแขกเทศแขกจาม นั่งร้านแพขายสรรพสิ่งของต่าง ๆ กันทั้งสองฟากฝั่งแม่น้ำ...
“ตรงวัดเจ้าพระนางเชิงฝั่งตะวันออกตั้งแต่ท้ายเกาะเรียนมีแพจอด เรี่ยรายขึ้นมาจนถึงท่าเสือข้ามมีแพชุกชุมมากขึ้นจนมาถึงท้ายวัดเจ้าพระนางเชิง ประมาณแพแต่กรุงศรีอยุทธยารอบพระนครนั้น ราวสักสองหมื่นเสศพันปลายเปนแน่ ทั้งแพอยู่แลแพค้าขายในแขวงจังหวัดรอบกรุง ไม่น้อยต่ำลงมาจากสองหมื่นเสศพันเลยเป็นแน่...” ขุนหลวงวัดประดู่ฯ ประมาณจำนวนแพที่เป็นบ้านและเป็นแพค้าขายรอบกรุงศรีอยุธยาในเวลานั้นว่ามีไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นแพ
เรือนแพในแม่น้ำที่พระนครศรีอยุธยาในสมัยรัชกาลที่ 6
ย้อนอดีตให้เร็วขึ้น ในปี พ.ศ.2504 มีการสร้างและฉายภาพยนตร์เรื่อง ‘เรือนแพ’ นำแสดงโดย ‘ไชยา สุริยัน’ พระเอกชื่อดังในยุคนั้น เป็นภาพยนตร์แนวบู๊+ชิงรักหักสวาท เนื้อหาเกี่ยวกับชายหนุ่มเพื่อนรัก 3 คนมาเช่าเรือนแพริมแม่น้ำในกรุงเทพฯ เป็นที่อยู่อาศัย (เนื้อเรื่องไม่ได้บอกว่าเป็นเรือนแพบริเวณใด) เพื่อทำตามความฝันของตน มีนักมวย นักร้อง และตำรวจ แต่ทั้ง 3 คนหลงรักลูกสาวเจ้าของแพเหมือนกัน เรื่องราวยุ่งเหยิงขึ้น เมื่อพระเอกของเรื่อง 1 ใน 3 หนุ่มเรือนแพได้ใจตอบรับรักจากลูกสาวเจ้าของแพ (นางเอก) แต่ท้ายที่สุดเขาไปพัวพันกับแก๊งอาชญากรรมจนถูกตำรวจและสมุนโจรตามล่า เขาจบชีวิตด้วยกระสุนปืนจากกลุ่มโจรท่ามกลางน้ำตาของนางเอก...ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเพลงอมตะประกอบ คือ ‘เรือนแพ’ ขับร้องโดย ‘ชรินทร์ นันทนาคร’
‘หนุ่มเรือนแพ’ เพลงลูกทุ่ง โด่งดังเมื่อราว 50 ปีก่อน ขับร้องโดย ‘กาเหว่า เสียงทอง’ แต่งโดย ‘ครูไพบูลย์ บุตรขัน’ (ไม่ทราบปีที่แต่ง แต่น่าจะก่อนปี 2515 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายในชีวิตครูไพบูลย์) ครูไพบูลย์เกิดที่จังหวัดปทุมธานี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในยุคนั้นยังมีเรือนแพริมแม่น้ำเจ้าพระยาหลงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ ธนบุรี นนทบุรี และปทุมธานีไม่น้อย ครูไพบูลย์จึงนำภาพที่เห็นจนชินตามาแต่งเพลง มีเนื้อเพลงท่อนแรกว่า...
“บ้านพี่เป็นเรือนแพ สาวน้อยเขาไม่แล สาวแก่ เขาก็ไม่มอง
โตอยู่ริมฝั่งคลอง เมื่อยามน้ำนอง ลอยล่อง เหมือนดังวิมาน
เพราะมันไม่โก้ เหมือนตึกหลังโต ที่สูงตระหง่าน.
ไม่แลระริกโอฬาร แต่เป็นบ้าน..เรือนแพ....”
นั่นคือตัวอย่างของบันทึกระวัติศาสตร์สังคมที่สะท้อนภาพชุมชนเรือนแพในแง่มุมต่างๆ เป็นภาพเรือนแพในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ยังคงเหลืออยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในช่วงเวลานั้น ก่อนจะค่อยๆ หมดไปในราวปี 2538 ดังคำบอกเล่าของ ‘ศรัญญา บุญเพ็ชร์’ อดีตชาวแพริมน้ำเจ้าพระยาใกล้วัดฉัตรแก้วจงกลณี เขตบางพลัด กรุงเทพฯ (สัมภาษณ์เมื่อปี 2559 ปัจจุบันเสียชีวิต) บอกว่า...
“ครอบครัวฉันอยู่เรือนแพมาตั้งแต่ปี 2519 พ่อมีอาชีพขับเรือโยงขนส่งสินค้าในแม่น้ำเจ้าพระยา จึงสร้างเรือนแพเพื่อความสะดวก อยู่ในแพมานานเกือบ 20 ปี เฉพาะคนที่ปลูกแพอยู่ที่นี่ก็มีเกือบ 30 หลัง เรียกว่าเป็นชุมชนเรือนแพก็ได้ พอถึงปี 2537-2538 ตอนนั้นคลื่นจากเรือด่วนเจ้าพระยาตีลูกบวบจนพัง จะเปลี่ยนบ่อยๆ ก็เปลืองแรง เปลืองเงิน พ่อจึงรื้อแพมาสร้างบ้าน แต่ก็สร้างอยู่ในน้ำนั่นแหละ ไม่ไกลจากแพเดิม แล้วก็อยู่กันมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนแพหลังอื่นๆ ก็ทยอยรื้อแล้วสร้างบ้าน บางครอบครัวก็ย้ายขึ้นฝั่ง จนเรือนแพแถบนี้หมดไป”
‘ศรัญญา’ กับแพริมน้ำ ภาพถ่ายประมาณปี 2525 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้วัดฉัตรแก้วจงกลณี เขตบางพลัด (เยื้องกับรัฐสภาใหม่ในปัจจุบัน)
ฟื้นฟูวิถีชีวิตชุมชนชาวแพแห่งสุดท้าย
นอกจากชุมชนชาวแพริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะหมดไปในราวปี 2538 แล้ว ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำน่านที่ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนชาวแพที่ใหญ่แห่งหนึ่งของประเทศก็ล่มสลายไปในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โดยในปี 2540 ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำน่านถูกคำสั่งของจังหวัดให้รื้อย้ายขึ้นไปอยู่บนฝั่ง รวม 275 หลังคาเรือน (ที่มา : รวมเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมืองพิษณุโลก พ.ศ.2535) เพราะทางราชการมองว่าชุมชนชาวแพปล่อยน้ำเสีย ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงในแม่น้ำ ทำให้น้ำสกปรก นอกจากนี้ยังกีดขวางทางเดินของน้ำ
ขณะที่ ‘ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง’ จ.อุทัยธานี ได้รับการสนับสนุนจากหลายภาคส่วน เช่น จังหวัดอุทัยธานี เทศบาลเมืองอุทัยธานี การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานเกษตรจังหวัด ชลประทานจังหวัด กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ฯลฯ เพื่อร่วมกันอนุรักษ์ชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศเอาไว้ เพราะถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัด และยังช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังต่างได้รับผลกระทบเนื่องจากปัญหาความแห้งแล้ง ปริมาณน้ำในแม่น้ำสะแกกรังลดน้อยลง ทำให้เรือนแพจำนวนมากได้รับความเสียหาย เพราะเรือนแพที่เคยอยู่ในน้ำ เมื่อน้ำแล้งแพจะเกยตื้น ลูกบวบไม้ไผ่ที่รองหนุนแพจะแตกหัก
นอกจากนี้เมื่อน้ำในแม่น้ำแห้งแล้ง จะทำให้น้ำไม่ไหลเวียน ออกซิเจนในน้ำมีน้อย ส่งผลกระทบต่อปลาที่เลี้ยงในกระชัง เพราะจะทำให้ปลาตาย ชาวแพที่มีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังต้องสูญเสียรายได้ และยังส่งผลถึงชาวประมงในแม่น้ำสะแกกรังที่หาปลาได้น้อยลง รวมถึงแม่ค้าที่มีอาชีพขายปลาต่างได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่
ขณะเดียวกันเมื่อน้ำแล้ง กอผักตบชวาจะไหลมารวมกันหนาแน่น ทำให้กีดขวางเรือที่สัญจรไปมาในแม่น้ำสะแกกรัง เรือพายไม่สามารถแหวกผ่านได้ ส่วนเรือที่ติดเครื่องยนต์ใบพัดก็จะเกี่ยวพันกับกอผักตบและสวะใต้น้ำ ทำให้การสัญจรทางเรือยากลำบาก ฯลฯ
สภาพแพที่เกยตื้นในช่วงปี 2562-2563 เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำสะแกกรังลดน้อยลง ทำให้น้ำหนักของตัวเรือนแพกดทับลูกบวบไม้ไผ่ที่ช่วยพยุงแพในน้ำจนแตกหัก
ปัญหาดังกล่าว ชาวชุมชนชาวแพได้ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนและหน่วยงานในท้องถิ่นตั้งแต่ช่วงปี 2562 จนในปี 2563 นายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ในขณะนั้น) จึงให้หน่วยงานในสังกัด คือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดอุทัยธานี (พมจ.) ร่วมกับจังหวัดอุทัยธานี เทศบาลเมืองอุทัยธานี เกษตรจังหวัด ชลประทานจังหวัด ฯลฯ จัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง
โดย พอช.ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นเริ่มสำรวจข้อมูลชุมชนชาวแพตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เช่น ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชุมชนชาวแพ สำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการ จัดทำแผนที่ทำมือ ถ่ายรูปเรือนแพ จับพิกัด GPS ถอดแบบรายการการซ่อมแซมเรือนแพผู้เดือดร้อน ฯลฯ โดยมีผู้แทนชุมชนชาวแพจำนวน 13 คนร่วมเป็นคณะทำงาน
จากการสำรวจข้อมูลชุมชนชาวแพ 127 ครัวเรือน (เฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย) ประชากรประมาณ 300 คนเศษ ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไป ค้าขายในตลาด เลี้ยงปลาในกระชัง จับปลาในแม่น้ำ ฯลฯ พบปัญหาและความต้องการรวม 8 ด้าน เช่น ปัญหาน้ำแล้ง สิ่งแวดล้อม ที่อยู่อาศัยทรุดโทรม อาชีพ รายได้ การจัดการท่องเที่ยวชุมชน คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก ผู้ด้อย โอกาส ด้านวัฒนธรรม และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดย พอช.จะสนับสนุนให้ชุมชนชาวแพซ่อมแซมเรือนแพก่อน เพราะชาวแพส่วนใหญ่มีรายได้น้อย สภาพเรือนแพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากสร้างมานาน ลูกบวบที่ใช้พยุงแพซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ไผ่ชำรุดแตกหัก
ในเดือนกรกฎาคม 2563 หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในจังหวัดอุทัยธานีและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ รวม 16 หน่วยงานได้จัดพิธี ‘ลงนามความร่วมมือการพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวแพสะแกกรังและโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทจังหวัดอุทัยธานี’ เพื่อร่วมกันเดินหน้าฟื้นฟูชุมชนชาวแพ
เริ่มซ่อมแพตั้งแต่ปี 2563
การซ่อมแซมเรือนแพจำนวน 127 หลัง เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2563 โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมเรือนแพเฉลี่ยหลังละ 40,000 บาท ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนไม้กระดานปูพื้นแพที่ผุพัง หลังคาสังกะสี ฝาเรือน ลูกบวบไม้ไผ่ ฯล หากเกินงบสนับสนุนเจ้าของแพจะสมทบเอง โดยมีช่างชุมชนและจิตอาสาจากจังหวัดต่างๆ ประมาณ 80 คนหมุนเวียนมาช่วยกัน
นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนงบประมาณจัดทำแพกลางของชุมชนเพื่อใช้เป็นที่ประชุมและจัดกิจกรมต่างๆ สนับสนุนการปรับปรุงสภาพแวดล้อม บำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยทิ้ง ส่งเสริมอาชีพ ฟื้นฟูภูมิปัญญาชาวแพ ส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม ส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ฯลฯ ใช้งบประมาณทั้งหมด 7,350,000 บาท (เฉลี่ยครัวเรือนละ 58,000 บาท)
ปัจจุบันการซ่อมแพทั้ง 127 หลังดำเนินการแล้วเสร็จ แต่ยังมีการซ่อมแซมเพิ่มเติมอีกจำนวน 37 หลัง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2567 นี้
การเปลี่ยนลูกบวบที่ใช้พยุงแพ โดยใช้เหล็กและถังพลาสติกขนาด 200 ลิตร (ราคาใบละ 550 บาท) แทนบวบไม้ไผ่ แพหนึ่งหลังจะต้องใช้ถังพลาสติกไม่ต่ำกว่า 10 ลูกตามขนาดของแพ ส่วนค่าจ้างช่างจะคิดราคาเหมาตามจำนวนช่องของลูกบวบๆ ละ 4,500 บาท แพหนึ่งหลังจะมีลูกบวบประมาณ 3-4 ลูกขึ้นไป หากเปลี่ยนลูกบวบทั้งหมด รวมค่าวัสดุและค่าแรงไม่ต่ำกว่า 40,000 บาท/แพ
เสียงและความหวังของชาวแพ
คุณตาชำนาญ พรหมสุทธิ์ วัย 80 ปี ผู้อาวุโสแห่งลุ่มน้ำสะแกกรัง เกิดและใช้ชีวิตในเรือนแพมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันยังเลี้ยงชีพด้วยการหาปลาในแม่น้ำและเลี้ยงปลาแรด ปลาสวายในกระชัง และหากสืบสาวไปถึงรุ่นปู่ย่าที่เป็นชาวเรือนแพ ตระกูลพรหมสุทธิ์น่าจะใช้ชีวิตในแพริมแม่น้ำสะแกกรังมานานไม่ต่ำกว่า 100 ปี ส่วนคุณตาว่ายน้ำเป็นและลงเบ็ดหาปลามาก่อนอ่านออกเขียนได้เสียอีก
“ผมหาปลามาตั้งแต่เรียนชั้น ป.1 แล้ว ออกเรือไปหากับผู้ใหญ่ เมื่อก่อนปลาชุม หาง่าย มีปลาแรด ปลาเนื้ออ่อน สารพัดปลา ช่วงเดือนอ้าย เดือนยี่น้ำจะลง ปลาจะเยอะ จะมีปลาจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาในคลองสะแกกรัง พวกปลาฉลาด ปลากราย น้ำกินเมื่อก่อนก็ใช้น้ำในคลอง แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว น้ำมันเริ่มเน่า แต่ยังพอใช้อาบ ใช้ซักล้างได้”
คุณตาชำนาญเรียกแม่น้ำสะแกกรังว่า “คลอง” เหมือนกับคนรุ่นเก่าๆ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ที่เคยเสด็จประพาสเมืองอุทัยธานีเมื่อ 123 ปีก่อน โดยทางเรือกลไฟก็เรียกว่า “คลองสะแกกรัง” เช่นกัน
คลองสะแกกรังในช่วงที่ไหลผ่านเมืองอุทัยธานีไปบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลท่าซุงมีความยาวประมาณ 7-8 กิโลเมตร หากปีใดปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยามีน้อยจากความแห้งแล้งเพราะน้ำจากทางภาคเหนือไม่ไหลมาเติมเต็ม แม่น้ำสะแกกรังก็จะพลอยแห้งแล้งไปด้วย ทำให้แพเกยตื้น ปลาที่เลี้ยงในกระชังจะตายหรือเสียหายเพราะออกซิเจนในน้ำจะมีน้อย คนเลี้ยงต้องจับปลาที่ยังไม่ได้ขนาดขึ้นมาขายก่อน ราคากิโลฯ ละไม่กี่บาทก็ต้องขาย เพราะหากปล่อยไว้ปลาจะตายหมดกระชัง เสียหายหนักกว่าเดิม..!!
นอกจากนี้น้ำทิ้งจากในเมืองที่ผ่านท่อน้ำทิ้งลงสู่แม่น้ำสะแกกรังตลอดเดือนตลอดปีก็ช่วยเร่งให้สะแกกรังเน่าเสียเร็วขึ้น “ตอนนี้คนเลี้ยงปลาในกระชังลดน้อยลงเพราะปัญหาน้ำเน่าเสีย ก็อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไข จะได้หากินในคลองนานๆ” คุณตาชำนาญบอก
คุณตาชำนาญและป้าแต๋วทำปลาย่างและขายบนแพ
“ป้าแต๋ว” ศรีวภา วิบูลรัตน์ วัย 70 ปี เจ้าของกิจการร้าน ‘ป้าแต๋วปลาย่าง’ อาวุโสน้อยกว่าคุณตาชำนาญ แต่หากสืบสาวไปถึงต้นตระกูล บรรพบุรุษของป๋าแต๋วล้วนเกิดและอาศัยอยู่ในเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรังมานานและต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 100 ปีเช่นกัน เพราะคุณแม่ของป้าแต๋วปีนี้อายุ 91 ปี ยังมีชีวิตอยู่
ป้าแต๋วเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของคนลุ่มน้ำสะแกกรัง เพราะมีรายการทีวี สื่อออนไลน์ ยูทูปเปอร์ ตลอดจนหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ มาสัมภาษณ์ นำไปเผยแพร่ไม่รู้กี่สิบสำนัก จนคนรู้จักทั่วบ้านทั่วเมือง ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาอุทัยธานี ไม่พลาดที่จะต้องแวะแพปลาย่างของป้าแต๋ว ซึ่งมีทั้งปลาเนื้ออ่อนรมควัน ปลาช่อน ปลากด ปลาสวาย ปลาซิว น้ำพริกปลาย่าง ขนมพื้นบ้าน ฯลฯ
โดยป๋าแต๋วจะย่างหรือรมควันปลาด้วยขี้เลื่อยและใช้เสื่อรำแพนคลุมเพื่อให้ความร้อนระอุทั่วถึง ไฟไม่แรงเกินไป เพราะจะทำให้ปลาไหม้หรือมีรสขม หากเป็นปลาตัวใหญ่ เช่น ปลาเนื้ออ่อนตัวขนาดแขน ต้องใช้เวลารมควันนานถึง 3 วัน จนเนื้อปลาแห้งกรอบ สีสวย เหลืองอร่าม และตากปลาบนแพอีกแพหนึ่ง เมื่อเสร็จสรรพก็จะนำมาขายอีกแพที่อยู่ติดกัน ปลาที่เอามาทำขายส่วนใหญ่จะรับซื้อมา มีทั้งปลาในแม่น้ำสะแกกรังและปลาจากที่อื่น
“ป้าทำปลาขายตั้งแต่อายุ 18 ปี เมื่อก่อนเอาไปขายที่ตลาด ปลาสร้อย 5 ไม้ 20 บาท ปลาเนื้ออ่อนกิโลฯ ละ 4-5 บาท เอามารมควันขายราคาไม่กี่บาท แต่ตอนนี้ปลาหายาก ปลาเนื้ออ่อนรมควันป้าขายกิโลฯ ละ 3,000 บาท ราคามันสูง แต่เอาไปทำอะไรกินก็อร่อย ต้มยำ ต้มโคลง หรือเอามาทำปลาป่นกินกับน้ำพริก กินกับข้าวก็อร่อย”
ป้าแต๋วสาธยาย และทิ้งท้ายว่า “ตั้งแต่ช่วงโควิด นักท่องเที่ยวมาน้อยลง แต่ตอนนี้ก็เริ่มดีขึ้น แต่ป้าก็อยากจะให้มีการลอกคลอง เพราะช่วงหลังๆ นี้น้ำในคลองสะแกกรังมันแล้ง น้ำไหลไม่สะดวก จะทำให้น้ำเน่าได้ ถ้ามีการขุดลอกคลองก็จะดี น้ำจะได้ไหลเวียน คนมาเที่ยวทางเรือก็จะสะดวก”
ปลายท่อน้ำทิ้งจากในเมือง 1 ในหลายท่อที่ไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรังตลอด 24 ชั่วโมง
อนาคตชาวแพสะแกกรัง
สันทนา เทียนน้อย ประธานชุมชน 7 ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง บอกว่า เดิมเรือนแพในแม่น้ำสะแกกรังที่ขึ้นทะเบียนกับกรมเจ้าท่ามีทั้งหมด 301 แพ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่เพียง 154 แพ/หลัง เนื่องจากชาวแพรุ่นเก่าๆ ล้มหายตายจากไป ลูกหลานไปเรียนหรือทำงานอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัดจึงไม่ได้อยู่อาศัย บางแพปล่อยให้ผุพังเสื่อมโทรม บางแพก็เปลี่ยนมือ ขายให้คนอื่น หรือบางแพที่เคยผูกแพอยู่หน้าท่า หน้าที่ดินของคนอื่น เมื่อเจ้าของขายที่ดิน หรือนำที่ดินไปปลูกสร้างอาคาร บ้านพัก รีสอร์ท ทำให้ชาวแพไม่มีทางขึ้น-ลง ไม่มีหน้าท่าเอาไว้จอดแพ จึงจำต้องขายแพหรือย้ายขึ้นไปอยู่ที่อื่น แพจึงค่อยๆ ลดจำนวนลง
“เมื่อก่อนคลองจะกว้างกว่านี้ แต่ตอนนี้คลองมันตื้นเขิน เพราะน้ำลดน้อยลง น้ำถ่ายเทไม่สะดวก ปลาก็ลดลงด้วย คนอยู่แพก็ลำบาก เพราะเดี๋ยวนี้ไม้แพงขึ้น 3-4 ปีก็ต้องเปลี่ยนลูกบวบที ไม้ไผ่เมื่อก่อนลำละ 20 บาท แต่ตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 60 บาท และเป็นไม้ไผ่ที่เนื้อยังไม่แข็งเต็มที่ ใช้ไปไม่กี่ปีก็ต้องเปลี่ยนอีก” ประธานชุมชนบอกถึงปัญหาที่ชาวแพสะแกกรังต้องเผชิญ
ขณะที่ แววดาว พรมสุทธิ์ รองประธานโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงชนบทชาวแพสะแกกรัง บอกอย่างมีความหวังว่า แม้ว่าชุมชนชาวแพจะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ แต่ก็ยังมีหน่วยงานต่างๆ มาช่วยสนับสนุนฟื้นฟูชุมชนชาวแพ เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ที่สนับสนุนการซ่อมแซมเรือนแพที่ชำรุดทรุดโทรม รวมทั้งหมด 127 หลัง
นอกจากนี้ยังมีโครงการต่างๆ ที่ พอช.สนับสนุนการฟื้นฟูชุมชนชาวแพที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการ เช่น การท่องเที่ยวชุมชน งานประเพณีสงกรานต์ในช่วงเดือนเมษายนนี้ จะจัดให้มีพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ คนเฒ่าคนแก่ โดยจะเชิญชวนนักท่องเที่ยวมาร่วมสืบสานประเพณีนี้ด้วย
มีโครงการส่งเสริมอาชีพและเศรษฐกิจชุมชนชาวแพ โดยจะทำแพร้านค้าชุมชนชาวแพ จำหน่ายสินค้าที่ระลึกจากเศษผ้า เช่น ย่าม และของชำร่วยต่างๆ ทำอาหารปลาอัดเม็ดจากรำข้าว เพื่อขายให้คนเลี้ยงปลาในกระชัง และให้นักท่องเที่ยวซื้อไปให้อาหารปลาในแม่น้ำสะแกกรัง นำปลามาแปรรูปทำปลาย่าง ปลาแห้ง น้ำพริกจากปลา ขายในตลาดและแพร้านค้าชุมชน ฯลฯ โดย พอช.สนับสนุนประมาณ 300,000 บาท
รวมทั้งสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นกองทุนของชาวแพ ใช้ชื่อว่า “กลุ่มออมทรัพย์ลุ่มน้ำสะแกกรัง” โดยให้สมาชิกชาวแพที่ได้รับการซ่อมแพจำนวน 127 ครัวเรือน ร่วมกันออมเงินเข้ากลุ่มเดือนละ 50 บาท/ครอบครัว เริ่มออมตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 แล้วนำเงินออมมาให้สมาชิกที่เดือดร้อนกู้ยืม เช่น นำไปประกอบอาชีพ ปรับปรุงเรือนแพ ฯลฯ คิดดอกเบี้ยเพื่อเป็นรายได้เข้ากลุ่มร้อยละ 1 บาท/เดือน ที่ผ่านมาปล่อยกู้ให้สมาชิกไปแล้ว รวมเป็นเงินประมาณ 150,000 บาท ปัจจุบันกลุ่มออมทรัพย์มีเงินสดหมุนเวียนประมาณ 100,000 บาทเศษ
“เราวางแผนงานว่า โครงการต่างๆ ที่ พอช.สนับสนุน ทั้งการซ่อมแพ แพร้านค้า การส่งเสริมอาชีพต่างๆ และการท่องเที่ยวชุมชน จะทำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ และจะทำต่อไป เพราะเรามีกองทุนชาวแพของเราแล้ว เมื่อมีรายได้จากกลุ่มต่างๆ เช่น จากการขายของที่ระลึก ขายอาหารปลา เราจะนำกำไร 5 เปอร์เซ็นต์มาเข้ากลุ่มออมทรัพย์ เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน ทำให้กลุ่มและกองทุนของชาวแพเติบโตช่วยเหลือกันได้นานๆ” แววดาวรองประธานโครงการฯ บอกถึงแผนงานที่กำลังจะเดินหน้าต่อไป
นี่คือเรื่องราวของชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศที่แม้จะต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ แต่พวกเขาก็ยังมีความหวังในการดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด รวมทั้งยังรวมพลังกันพัฒนาชุมชนชาวแพให้มั่นคงตลอดไป...!!
ชุมชนชาวแพสะแกกรังที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองอุทัยธานีมานานกว่า 100 ปี
*****************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา