การยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

สิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยรัฐจะดำเนินการที่กระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีกฎหมายให้อำนาจเท่านั้น จึงกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า “กฎหมาย” ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง  ดังนั้น การตรากฎหมายจึงควรกระทำอย่างมีคุณภาพและเท่าที่จำเป็น ตามหลักการมีกฎหมายเท่าที่จำเป็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กล่าวคือ เป็นกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับการป้องกัน แก้ไขปัญหาหรือส่งเสริมและพัฒนาสังคม และเมื่อบังคับใช้แล้ว กฎหมายนั้นต้องมีกลไกที่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายโดยไม่สร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องปฏิบัติตามมากจนเกินสมควร สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ สร้างผลสัมฤทธิ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

นอกจากการกลั่นกรองก่อนการตรากฎหมายขึ้นใหม่ให้มีเท่าที่จำเป็นแล้ว การเก็บสะสมกฎหมายเก่าไว้โดยไม่มีการทบทวนแก้ไขเพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับปัจจุบัน กฎหมายที่เคยว่าดีเมื่อสามสิบสี่สิบปีก่อน อาจกลายเป็นกฎเกณฑ์เก่าที่ไม่จำเป็น ใช้งานได้ไม่ดีเหมือนเก่า สร้างภาระให้แก่ภาคเอกชนหรือประชาชนเกินไปกว่าผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้น หรือกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้เพื่อลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้โดยใช่เหตุ 

ด้วยเหตุนี้ คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้ดำเนินการรวบรวมกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นเพื่อเสนอยกเลิกอยู่เป็นประจำตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา ได้ยกเลิกกฎหมายไปกว่า 60 ฉบับ และการเสนอยกเลิกกฎหมายในปัจจุบัน นับเป็นการดำเนินการครั้งที่ 5  โดยในการพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดควรเสนอยกเลิก คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจะศึกษาวิเคราะห์และตัดสินใจจากข้อเท็จจริง 2 ประเด็น คือ (1) ความจำเป็นในการมีกฎหมาย ซึ่งพิจารณาจากวัตถุประสงค์ของกฎหมายว่ายังมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ในปัจจุบันหรือไม่ และ (2) ความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ซึ่งอาจเป็นความซ้ำซ้อนในวัตถุประสงค์ของการมีกฎหมาย หรือความซ้ำซ้อนในมาตรการที่กำหนดในกฎหมาย 

เมื่อสังคมพัฒนาเติบโต ปัญหาในลักษณะใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นตามไปด้วย ในหลายครั้งที่รัฐเลือกที่จะตรากฎหมายใหม่ขึ้นมาเพื่อรับมือกับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ในขณะนั้น โดยไม่ได้ย้อนกลับไปแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายที่ใช้อยู่ก่อนหน้า เมื่อการกำกับดูแลการกระทำเรื่องหนึ่งถูกควบคุมโดยกฎหมายหลายฉบับ และโดยที่กฎหมายแต่ละฉบับถูกตราขึ้นในช่วงเวลาที่ต่างกัน หลักการในกฎหมายในแต่ละช่วงเวลาย่อมสะท้อนถึงพัฒนาการของหลักการคุ้มครองสิทธิของประชาชนและธรรมาภิบาลภาครัฐที่แตกต่างกันไป ทำให้เกิดเป็นมาตรการกำกับดูแลที่ซ้ำซ้อนหรือขัดแย้งกันเอง นอกจากนั้นยังเป็นการสร้างภาระให้แก่ประชาชนโดยไม่จำเป็น และที่สำคัญเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพโดยใช่เหตุ

ดังตัวอย่างเช่นกรณีพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 ตราขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อกำกับดูแลเกี่ยวกับการโฆษณาชวนเชื่อต่าง ๆ ในทางการเมือง ด้วยการกำหนดให้ขออนุญาตก่อนจะใช้เครื่องขยายเสียงและการควบคุมภาษาที่ใช้ได้ แต่ปัจจุบันสภาพการณ์ทางสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว โดยเฉพาะการแสดงออกในทางการเมืองที่มีความเปิดกว้างมากขึ้น และเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ในยุคสมัยที่เครื่องขยายเสียงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของประชาชน การต้องขออนุญาตก่อนจะใช้เครื่องขยายเสียงและการควบคุมภาษาที่ใช้จึงเป็นเครื่องมือกฎหมายที่ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ทั้งในเชิงพัฒนาการด้านกฎหมายและพัฒนาการทางด้านสังคม อีกทั้งในปัจจุบันมีกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่กำหนดมาตรการเกี่ยวกับการใช้เสียงอันสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่นไว้ด้วยแล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 370 กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข และกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งมีบทบัญญัติกำหนดให้ต้องมีการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงในการชุมนุมสาธารณะไว้แล้ว

หรือกรณีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 50 ลงวันที่ 15 มกราคม 2502 ก็เป็นอีกตัวอย่างของกฎหมายที่ถูกตราขึ้นในสถานการณ์ที่มีความจำเป็นเฉพาะเร่งด่วน ณ ช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อให้อำนาจพิเศษรัฐในการควบคุมสถานบริการได้อย่างเด็ดขาด แต่มาถึงปัจจุบัน การบัญญัติให้รัฐมีอำนาจในการสอดส่องการกระทำผิดกฎหมายหรือพฤติการณ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนในสถานบริการประชาชนโดยให้อำนาจพิจารณาสั่งปิดสถานที่โดยมีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ได้เช่นนี้ เป็นการกำหนดให้ดุลพินิจให้แก่รัฐในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยไม่มีขอบเขต ขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อีกทั้ง การกำกับดูแลสถานบริการและโรงแรมสามารถกระทำได้โดยใช้กฎหมายอื่น อาทิ กฎหมายว่าด้วยสถานบริการ และกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ซึ่งมีการบัญญัติเงื่อนไขการใช้อำนาจของหน่วยงานของรัฐไว้อย่างชัดเจน

เพราะฉะนั้น การดำเนินการเพื่อยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่นดังกล่าว จึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสให้ภาครัฐได้ทบทวนกฎหมายในความรับผิดชอบ การใช้บังคับกฎหมายจึงจะสามารถก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้อย่างแท้จริง โดยกฎหมายไม่กลายเป็นตัวปัญหาเสียเอง ซึ่งกระบวนการยกเลิกกฎหมายนี้จะบรรลุผลได้อย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการร่วมกันสะท้อนความคิดเห็นและผลกระทบที่ได้รับ  สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เราจะร่วมพัฒนากฎหมายเพื่อสังคมที่ดีและน่าอยู่ไปด้วยกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม

นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในบทบาทผู้ขับเคลื่อนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

การมีกฎหมายที่ดี มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมและยกระดับการพัฒนา ให้สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

'วิรุตม์' สอนมวยกฤษฎีกา ชี้ 'โจ๊ก' ถูกให้ออกจากราชการ ตาม ม.131 ไม่เกี่ยว ม.120

พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม(สป.ยธ.) กล่าวว่า กรณีการตอบและตั้งข้อสังเกตตามหนังสือหารือของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

เปิดความเห็น 'กฤษฎีกา' กรณีสั่งให้ 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการไว้ก่อน

มีการเผยแพร่บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องการดำเนินการเกี่ยวกับให้ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ออกจากราชการไว้ก่อน

'เศรษฐา' รอดยาก! จับตาเอกสารสลค.สำคัญที่สุดในการเข้าข่ายเลี่ยงกฎหมาย

นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์เฟซบุ๊กว่า ยังไม่สิ้นกระบวนความ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับฟ้อง พิชิต ชื่นบาน เพราะลาออกไปก่อน