มช. ร่วมสร้างพื้นที่ปลอดภัย ไร้ฝุ่น PM2.5 ทั้งในรั้วไปจนถึงพื้นที่ห่างไกล พร้อมนำเอานวัตกรรมพัฒนาระบบตรวจวัดคุณภาพอากาศ แจ้งเตือน ป้องกันการเผาแบบ Real time

“PM 2.5” คำยอดฮิตที่หลาย ๆ คนมักได้ยินจากข่าวในช่วงต้นของปีหลังการสิ้นสุดฤดูหนาว และเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน หนึ่งในปัญหาที่พื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยประสบในทุกปี ด้วยค่าฝุ่นที่กำลังก่อตัวเป็นมลพิษ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชน สิ่งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการในฐานะศูนย์กลางสนับสนุนทางวิชาการเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาหมอกควัน โดยร่วมมือกับหลากหลายภาคส่วน รวมไปถึงประชาชน ก่อให้เกิดโครงการ องค์ความรู้ และผลงานทางวิชาการออกสู่สายตาสาธารณชนอย่างต่อเนื่องในทุกปี

เนื่องจาก PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก เมื่อสูดดมเข้าไปจะสามารถผ่านลงไปได้ลึกจนถึงถุงลมซึ่งเป็นส่วนปลายสุดของปอด ทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อหลอดลมฝอย ถุงลม และยังดูดซึมผ่านเส้นเลือดฝอยผ่านเข้าสู่กระแสเลือดได้ในที่สุด ซึ่งสารเหล่านี้จะมีผลเสียต่อร่างกายอย่างมาก เพื่อสร้างอากาศสะอาดในบริเวณที่อยู่อาศัยจึงสำคัญ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เดินหน้าอย่างต่อเนื่องกับโครงการสร้างอากาศสะอาด (Clean air) สำหรับห้องพักนักศึกษาในหอพักนักศึกษา จำนวน 16 หอพัก กว่า 2,773 ห้อง เพื่อสร้างห้องปลอดฝุ่นให้พื้นที่ปลอดภัย หรือ Safety Zone นำเอานวัตกรรมสร้างอากาศสะอาด (Clean air) สำหรับห้องพักนักศึกษาในหอพักนักศึกษา โดยทีมนักวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนาพลังงานนครพิงค์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ออกแบบห้องปลอดฝุ่นด้วยหลักการเติมอากาศสะอาดเข้าไปในห้องด้วยพัดลมที่มีเครื่องกรองอากาศผ่านทางท่อเข้าไปในห้องพัก และปิดช่องเปิดขนาดใหญ่ด้วยการติดตั้งมุ้งหรือผ้าม่านกันฝุ่นบริเวณหน้าต่างหรือบานเกร็ดภายใน เป็นการควบคุมระดับของสิ่งปนเปื้อนในอากาศ สร้างสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการอยู่อาศัย และเสริมสร้างบรรยากาศการเรียนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ไม่เพียงแต่ในพื้นที่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ยังร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มีพื้นที่ปลอดฝุ่น โดยล่าสุด มหาวิทยาลัยได้จับมือกับมูลนิธิพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดทำ “โครงการอากาศสะอาดเพื่อน้อง” ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) สำหรับอาคารศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ในพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 603 แห่ง เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากจากอนุภาค PM2.5 ที่เป็นอันตราย และส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่พวกเขาสามารถเรียนรู้และเติบโตได้อย่างปลอดภัย ผู้มีจิตศรัทธาในการสนับสนุนโครงการ โดยร่วมแสกนบริจาคได้ที่ เว็บไซต์ https://donate.cmu.ac.th/home/project-home-details/48/7

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดตั้งคณะทำงานด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (https://acair.cmu.ac.th/) ขึ้น โดยได้ระดมพลังและองค์ความรู้จากคณะ ส่วนงานต่างๆ บูรณาการร่วมกัน เพื่อเป็นหน่วยงานหลักของมหาวิทยาลัย ร่วมแก้ปัญหาหมอกควัน PM2.5 กับหลายภาคส่วน ทั้งในส่วนที่ได้ทำงานร่วมกับภาครัฐ จังหวัด และที่มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการเอง กำเนิดเป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้นักศึกษา บุคลากร รวมไปถึงประชาชนทั่วไปสามารถติดตามผลของคุณภาพอากาศได้อย่างรวดเร็ว อาทิ DUSTBOY เครื่องวัดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศด้วยระบบเซนเซอร์การตรวจวัดคุณภาพอากาศและการเตือนภัยมลพิษทางอากาศ รายงานสถานการณ์ฝุ่นแบบ Real Time NTAQHI (Northern Thailand Air Quality Health Index หรือ ดัชนีคุณภาพอากาศเพื่อสุขภาพชาวเหนือ และยังมีนวัตกรรมที่สามารถรายงานการเกิดไฟป่า หรือพื้นที่ที่มีการเผาไม้ได้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ที่เกี่ยวข้องให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ไฟป่า อันเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหามลพิษทางอากาศภาคเหนือ) อย่าง FireD แอปพลิเคชั่นรายงานสถานการณ์ฝุ่นควัน  PM 2.5  เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล (FireD) บูรณาการทุกภาคส่วนในการป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ผ่อดีดี แอปพลิเคชั่นช่วยดับไฟป่า เพื่อควบคุมปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ให้กับประชาชนทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่ สามารถช่วยกันเฝ้าระวัง รายงานแจ้งเหตุไฟป่า/เผาในที่โล่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สามารถตรวจจับและแจ้งให้กับผู้ที่ปฏิบัติงาน สามารถมาระงับเหตุได้อย่างรวดเร็ว โดยจะได้รับการติดตามเหตุโดยอัตโนมัติจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและอำเภอ

ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาระดับประเทศที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ประจักษ์ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่จะค่อย ๆ บรรเทาความเสียหายจากสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นสถิติที่สามารถวัดผลได้จากงานวิจัยต่าง ๆ เป็นผลมาจากความตั้งใจ มุมานะของทั้งทีมนักวิจัย บุคลากร หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหน่วยงานภายนอก รวมไปถึงประชาชนที่ร่วมมือร่วมใจกันมาตลอดหลายปี

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จัดระดมสมอง 'สื่อยุคเทคโนโลยีใหม่ ความท้าทายแห่งอนาคตสื่อสารมวลชน' 21 พ.ย.นี้

สมาคมศิษย์เก่าสื่อสารมวลชน - คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มัดรวมกูรู ร่วมเสวนา “สื่อยุคเทคโนโลยีใหม่ ความท้าทายแห่งอนาคตสื่อสารมวลชน" พร้อม Live สด ให้ชมทั่วประเทศ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน นี้