"รมช.สุรศักดิ์" ผนึกกำลัง​ สพฐ. ลงพื้นที่กระบี่ ย้ำโรงเรียนต้องปลอดภัย อาหารกลางวันต้องได้คุณภาพ พร้อมดันนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" ต่อเนื่อง

เมื่อวันอาทิตย์​ที่ 21 มกราคม 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมช.ศธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ จ.กระบี่ เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 (ครม.สัญจร) กลุ่มจังหวัดภาคใต้ โดยมี​ นายวิศรุต ปู่เพ็ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพิษณุ พลธี ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายกมล รอดคล้าย ประธานคณะทำงาน รมช.ศธ. และผู้บริหารของ สพฐ. ร่วมคณะมาด้วย​ และมี นายสมชาย หาญภักดีปฏิมา ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษาในจังหวัดกระบี่ ครูและนักเรียน ให้การต้อนรับ
.
นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและศธ.ครั้งนี้ พบว่า สถานศึกษาในจังหวัดกระบี่ที่อยู่ภายใต้สังกัดศธ. มี 277 แห่ง มีนักเรียน นักศึกษา 86,715 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา 4,620 คน ซึ่งจากการตรวจเยี่ยมโรงเรียนองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ ก็ได้เห็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับนโยบาย "เรียนดี มีความสุข" ของพล.ต.อ. เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ. อาทิ การลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษา การลดภาระนักเรียนและผู้ปกครอง การแก้ไขปัญหาหนี้สินครู การพัฒนาระบบการแนะแนวการเรียน (Coaching) และเป้าหมายชีวิตให้เป็นรูปธรรม รวมถึงส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และมีรายได้ระหว่างเรียน จบแล้วมีงานทำ เป็นต้น ซึ่งมีความคืบหน้าเป็นลำดับ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจของสถานศึกษาและสำนักงานเขตพื้นที่ฯ ที่บูรณาการทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี


.
นายสุรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า อีกเรื่องที่เราให้ความสำคัญ คือเรื่องของการดําเนินงานโครงการอาหารกลางวัน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีโปรแกรม Thai School Lunch อยู่แล้ว เป็นระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยให้การออกแบบอาหารมื้อกลางวันเหมาะสมกับเด็กแต่ละช่วงวัย โดยเราจะกําชับอย่างเคร่งครัดว่าในการทําอาหารกลางวันแต่ละมื้อจะต้องอิงจากเมนูในโปรแกรม Thai School Lunch ที่เหมาะสมตามหลักโภชนาการและสอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรร ซึ่งต่อไปเราจะทำเป็นแอปพลิเคชันเพื่อให้ถ่ายรูปอาหารที่ทำเสร็จแล้วของแต่ละโรงเรียนรายงานส่งมาที่เขตพื้นที่การศึกษา โดยจะให้เขตพื้นที่การศึกษาคอยเป็นฝ่ายช่วยมอนิเตอร์ในเรื่องอาหารกลางวันด้วย
.
นอกจากนั้น ก็มีเรื่องของการดำเนินงานร่วมกับ สำนักงาน ป.ป.ช. ใน 2 เรื่อง​คือ 1.เรื่องการนำหลักสูตรการต่อต้านทุจริตมาสอนให้กับนักเรียน ซึ่งมีความสําคัญ เป็นรากฐานที่ดีในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ปลูกฝังการต่อต้านทุจริต รวมถึงความรู้เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างในโรงเรียนและงานพัสดุ โดยจะมี สำนักงาน ป.ป.ช. ของแต่ละจังหวัดคอยเป็นพี่เลี้ยงให้อย่างใกล้ชิด เพื่อให้เกิดความผิดพลาดน้อยที่สุด 2.เรื่องภัยคุกคามจากภายนอก ที่คุณครูเวรโดนทําร้ายในโรงเรียน โดยศธ.ได้มีการทำ MOU ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ขอความร่วมมือให้ฝ่ายปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชน เข้ามาช่วยดูแลเรื่องความปลอดภัยในโรงเรียนสังกัดศธ. โดยทางศธ.จะทำหนังสือเพื่อขอความอนุเคราะห์ในการเน้นย้ำกระทรวงมหาดไทย ส่งไปถึงฝ่ายปกครองต่าง ๆ ให้ช่วยดูแลเรื่องนี้อย่างเข้มงวดมากขึ้น

"ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าทุกคดีที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ทางศธ.จะดำเนินการเอาผิดให้ถึงที่สุด โดยสถานศึกษาต้องเป็นสถานที่ปลอดภัย ต่อไปหากมีการบรรจุนักการภารโรงเพิ่มเข้ามา ก็จะช่วยดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนได้อีกทางหนึ่ง และศธ.มีแนวคิดที่จะยกศูนย์ความปลอดภัย ศธ. ขึ้นมาเป็นสำนักความปลอดภัย เพื่อให้มีทั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละเขตพื้นที่ก็จะรีบเข้าไปตรวจสอบ ดูแล และรับเรื่องร้องเรียน มีบุคลากรที่มีความชำนาญโดยเฉพาะ และมีอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือที่เพียงพอสำหรับการดำเนินงานต่อไป“ รมช.ศธ. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลชวน 'ครู-นร.' ลงทะเบียน 'ซิมพร้อมเรียน' ใช้เน็ตฟรี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

'บิ๊กจวบ' ชื่นชมตำรวจจราจรกระบี่ ช่วยปชช. 2 เหตุการณ์รถคว่ำไฟไหม้

พล.ต.ท.ประจวบ วงศ์สุข ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการแทนรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.รอง ผบ.ตร.) ในฐานะผู้อำนวยการคณะทำงานขับเคลื่อนงานจราจร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning

กระทรวงศึกษาธิการ สั่ง สพฐ. เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ครอบคลุมทุกภาค ทุกโรงเรียน หวัง ส่งเสริมให้นักเรียนตั้งคำถามและหาคำตอบเอง แทนการท่องจำแบบเดิม