‘7 ปีที่รอคอย’ ของคนเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี เตรียมสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ โครงการ 3 รวม 182 ครอบครัว

สมาชิกสหกรณ์บ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี  ประชุมเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อเตรียมสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ หลังใช้เวลารวมกลุ่มกันมานาน 7 ปี

จ.สุราษฎร์ธานี /  ‘7 ปีที่รอคอย’...คนเวียงสระ 182 ครอบครัว  เตรียมสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ เป็นบ้านแฝดชั้นเดียวและบ้านแถว 2 ชั้น หลังจากเริ่มรวมกลุ่มผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย-ชาวบ้านที่โดนไล่ที่ตั้งแต่ปี 2560  โดยจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนซื้อที่ดิน 16 ไร่เศษ  ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อและเงินอุดหนุนจาก ‘พอช.’  เตรียมสร้างบ้านเฟสแรกเร็วๆ นี้  ประเดิม 100 หลัง พร้อมทั้งมีแปลงปลูกผักรวมเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้  และพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข...!!

พื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ  อำเภอเวียงสระ  จังหวัดสุราษฎร์ธานี   เป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด  เป็นที่ตั้งของธนาคาร  ห้างร้าน  ร้านทอง  วัสดุก่อสร้าง  ตลาดสด  สถานีรถไฟ  รถโดยสาร   ฯลฯ  จึงมีผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาอยู่อาศัยและทำกิน 

ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง ลูกจ้างร้านค้า  รับจ้างทำสวน  กรีดยางพารา  ค้าขายรายย่อย  ขายอาหาร  ฯลฯ  ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  บ้างเช่าบ้านอยู่  จำนวนไม่น้อยสร้างบ้านบุกรุกที่ดินรัฐ  โดยเฉพาะที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เพราะมีเส้นทางรถไฟสายใต้ผ่านอำเภอเวียงสระ จึงเสี่ยงต่อการถูกไล่ที่  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย  มีผู้ที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยหลายร้อยครอบครัว

พื้นที่ในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระมีประชาชนที่มีรายได้น้อยขาดแคลนที่อยู่อาศัยจำนวนมาก

บ้านมั่นคงเวียงสระโครงการ 1-2

ชาติชาย  กิจธิคุณ  กรรมการเครือข่ายที่อยู่อาศัยเมืองเวียงสระ  บอกว่า  จากปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยดังกล่าว   ชาวเวียงสระจึงได้เริ่มรวมตัวแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2549  โดยได้รับการสนับสนุนจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ (พอช.เริ่มโครงการบ้านมั่นคงทั่วประเทศในปี 2546)

โดยเจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาให้คำแนะนำ  สนับสนุนให้ชุมชนจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงาน  ร่วมกันสำรวจข้อมูล  รวบรวมผู้ที่เดือดร้อน  อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง  ส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดิน รฟท. รวม 5 ชุมชน   ร่วมกันออมทรัพย์รายเดือนเพื่อเป็นทุน  ครอบครัวหนึ่งอย่างต่ำเดือนละ 500-600 บาท  ใครมีมากก็ออมมาก  และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อทำนิติกรรมต่างๆ เช่น  ซื้อที่ดิน  ขอสินเชื่อจาก พอช.

ต่อมาจึงได้ร่วมกันหาซื้อที่ดินเอกชนในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ  เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่  2 งาน  รองรับผู้เดือดร้อนได้  44 ครอบครัว  จัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา  ถือเป็นโครงการแรกในอำเภอเวียงสระ  โดยจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อบริหารจัดการโครงการ  ใช้ชื่อว่า ‘สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเวียงสระ จำกัด’   โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้าน  รวมประมาณ 10 ล้านบาท  สนับสนุนระบบสาธารณูปโภค  ถนน  น้ำประปา  ไฟฟ้า  ฯลฯ ประมาณ 1.5 ล้านบาทเศษ 

สร้างบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 5X9 ตารางเมตร  ราคาประมาณหลังละ 210,000 บาท  ผ่อนประมาณเดือนละ 2,100 บาท  สร้างเสร็จ 44 หลังในปี 2553  โดยนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี  และนายอิสสระ  สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในขณะนั้น  เป็นประธานการมอบบ้านในเดือนมกราคม 2553  (ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ชำระสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านหมดแล้ว)

หลังจากนั้นจึงมีโครงการบ้านมั่นคง  โครงการที่ 2  เพราะในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระยังมีผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยอีกมาก  โดยโครงการที่ 2 มีชาวบ้านที่เดือดร้อนจำนวน 86 ครอบครัว  ได้รวมตัวกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคงใช้ชื่อ ‘สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเปี่ยมสุขเวียงสระ  จำกัด’ (เริ่มรวมตัวออมทรัพย์ในปี 2551)

ต่ออมาได้จัดซื้อที่ดินในเขตเทศบาลเวียงสระ  เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่เศษ  ราคาประมาณ 5.4 ล้านบาท  เริ่มก่อสร้างบ้านในปี 2555  ขนาดที่ดินครอบครัวละ 4.20 เมตร x  9 เมตร  ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถวแบบทาวน์เฮ้าส์  ขนาด  2 ชั้น  โดยเทศบาลตำบลเวียงสระและ พอช.สนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภค  และ พอช.ให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน  ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,200 บาท  สร้างบ้านเสร็จทั้งหมดในปี 2560

บ้านมั่นคงโครงการ 2 จำนวน 86 ครอบครัว  สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2560

รวมกลุ่มบ้านมั่นคงโครงการ 3 ตั้งแต่ปี 2560

จากรูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงในอำเภอเวียงสระทั้ง 2 โครงการ  จึงทำให้เกิดบ้านมั่นคงโครงการที่ 3 ตามขึ้นมา  โดยเฉพาะชาวชุมชนที่ถูกขับไล่ออกจากแนวทางการพัฒนารางรถไฟในปี 2560  กว่า 20 ครอบครัว

พันธัช  จันทร์แจ่มศรี  แกนนำโครงการบ้านมั่นคงโครงการ 3 ในฐานะ ‘ประธานสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ จำกัด’  บอกว่า  โครงการบ้านมั่นคงทั้ง 2 โครงการ  ทำให้คนจนในเมืองเวียงสระมีที่อยู่อาศัยมั่นคงเป็นของตัวเอง  จำนวน 130 ครอบครัว  แต่ในอำเภอเวียงสระยังมีคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองมีจำนวนมาก มีทั้งคนที่อยู่บ้านเช่า  ครอบครัวขยาย  บ้านเรือนแออัดทรุดโทรม  สร้างบ้านในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย

บ้านที่บุกรุกสร้างในที่ดินการรถไฟฯ ถูกรื้อย้ายในปี 2560

ขณะเดียวกันในช่วงต้นปี 2560 มีชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ในอำเภอเวียงสระ  ถูกไล่ที่  โดนรื้อบ้าน    ตัวแทนผู้เดือดร้อนจึงได้ร่วมกันสำรวจข้อมูลและรวมกลุ่มคนที่เดือดร้อนเพื่อจะจัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา  เป็นโครงการที่ 3   ซึ่งตอนแรกมีคนที่เดือดร้อนแจ้งความต้องการจะเข้าร่วมประมาณ 350 ครอบครัว  โดยให้ครอบครัวที่เข้าร่วมๆ กันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  ออมเงินเป็นรายเดือนๆ ละ 600 บาท  เพื่อเป็นทุนในการดำเนินงาน  เริ่มออมในเดือนกันยายน 2560

นอกจากนี้ในการจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  ตามเงื่อนไขของ พอช.  ชาวบ้านจะต้องร่วมกันออมเงินให้ได้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อที่จะขอใช้ในการซื้อที่ดินหรือก่อสร้างบ้าน  เช่น  หากจะใช้สินเชื่อจาก พอช. เพื่อก่อสร้างบ้านและซื้อที่ดินรายละ 300,000 บาท  สมาชิกที่เข้าร่วมจะต้องออมเงินให้ได้รายละ 30,000 บาท  หากมีสมาชิกเข้าร่วม 100 ราย  จะต้องมีเงินออมร่วมกันจำนวน 3 ล้านบาท  แต่เมื่อต้องใช้ระยะเวลาในการออมเงินนาน 3-4 ปี  โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบเรื่องปากเรื่องท้อง  รายได้ลดน้อยลง  บางคนตกงาน  จึงทำให้เหลือผู้เข้าร่วมและออมทรัพย์อย่างสม่ำเสมอจำนวน 182 ครอบครัวที่มีความต้องการจะทำโครงการบ้านมั่นคงต่อไป

‘พันธัช’ แกนนำบ้านมั่นคง (ซ้าย)สำรวจข้อมูลครอบครัวที่เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย

ในปี 2564  แกนนำโครงการบ้านมั่นคงร่วมกันตระเวนดูแปลงที่ดินที่เหมาะสมในอำเภอเวียงสระ  พบที่ดินเป็นสวนยางพาราอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านส้อง  เนื้อที่ 16 ไร่  3 งานเศษ สามารถรองรับสมาชิกได้ทั้ง 182 ครอบครัว อยู่ห่างจากย่านธุรกิจการค้าในอำเภอเวียงสระเพียง 1 กิโลเมตรเศษ  ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสม  เพราะสมาชิกที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ต่างทำมาหากินอยู่ในตัวเมือง  ราคาขายทั้งแปลง 6.5 ล้านบาท  (ไร่ละประมาณ  386,000 บาท) จึงทำสัญญาจะซื้อจะขาย 

หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 2565  แกนนำจึงร่วมกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อเตรียมทำนิติกรรมซื้อที่ดินในนามสหกรณ์  ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ  จำกัด” มีคณะกรรมการสหกรณ์จำนวน 11 คน  โดยมีพันธัช  จันทร์แจ่มศรี เป็นประธานสหกรณ์  และซื้อที่ดินในเดือนธันวาคมปีเดียวกันเพื่อเตรียมทำโครงการบ้านมั่นคง  โดยใช้เงินของสหกรณ์ที่สมาชิกร่วมกันออมทรัพย์มาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี  จำนวน 650,000 บาท  (เงินออมรวมกันปัจจุบันประมาณ 11 ล้านบาท) และสินเชื่อซื้อที่ดินจาก พอช. จำนวน 5,850,000 บาท

อีก 1 ปีต่อมา  ในเดือนสิงหาคม 2566  จึงมีพิธียกเสาเอกเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยตามความเชื่อและเพื่อความเป็นสิริมงคลของสมาชิกโครงการบ้านมั่นคง  

พิธียกเสาเอกเดือนสิงหาคม 2566

7 ปี...บ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ”

‘โครงการบ้านมั่นคงสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ  จำกัด’  จัดสรรแบ่งแปลงที่ดินออกเป็น 182 แปลง/ครอบครัว  ขนาดที่ดินตามความต้องการของสมาชิกและความสามารถในการผ่อนชำระ  ที่ดินมีขนาดตั้งแต่ 15.75 – 52 ตารางวา  เป็นที่อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ  4,000 ตารางวา  พื้นที่ส่วนกลางประมาณ 2,600 ตารางวา  (เฉลี่ยตารางวาละ 966 บาท) เพื่อก่อสร้างถนน  สาธารณูปโภค  อาคารอเนกประสงค์  สวนหย่อม  สนามเด็กเล่น  และแปลงปลูกผักรวม

ตามผังโครงการจะมีการก่อสร้างบ้านแฝดชั้นเดียว  ขนาด 6X7 ตารางเมตร จำนวน 28 หลัง  ราคาก่อสร้างหลังละ 255,840  บาท  บ้านแฝด 2 ชั้น  ขนาด 4X8 ตารางเมตร  จำนวน 144 หลัง  ราคาก่อสร้างหลังละ  387,200 บาท  และบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4X8 ตารางเมตร  จำนวน 40 หลัง  ราคาหลังละ  374,170 บาท

โดยสหกรณ์จัดทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อเสนอขอใช้สินเชื่อก่อสร้างบ้านจาก พอช. ในเดือนธันวาคม 2565  จำนวน 60 ล้านบาทเศษ  และได้รับอนุมัติในหลักการในช่วงต้นปี 2566  พร้อมทั้งงบอุดหนุนและงบก่อสร้างสาธารณูปโภคทั้งหมดประมาณ  13.6 ล้านบาท   (พอช.อุดหนุนการก่อสร้างบ้านครอบครัวละ 30,000 บาท  และงบก่อสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลางครอบครัวละ 45,000 บาท)

พันธัช  จันทร์แจ่มศรี   ประธานสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ  บอกว่า  แม้จะจัดซื้อที่ดินและมีพิธีลงเสาเอกเอาฤกษ์เอาชัยไปแล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา  แต่ก็ยังมีความล่าช้าในการดำเนินงานหลายประการ   ทำให้โครงการบ้านมั่นคงที่ล่าช้าออกไปเกือบ 1 ปีมีต้นทุนวัสดุค่าก่อสร้างสูงขึ้นจากเดิมที่เคยคำนวณเอาไว้ในช่วงปลายปี 2565  เช่น  จากเดิมบ้านแฝดชั้นเดียว ขนาด 6X7 ตารางเมตร  ราคาก่อสร้างหลังละ 255,840  บาท  ปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้น 24,125 บาท  เป็น  279,965 บาท

ส่วนสินเชื่อการก่อสร้างบ้านที่ พอช.สนับสนุนการก่อสร้างบ้านนั้น เฉลี่ยประมาณครอบครัวละ 250,000-310.000 บาท (ตามขนาดบ้านและที่ดิน) ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,500-3,000 บาท  ระยะเวลาผ่อนชำระ 15 ปี

อย่างไรก็ตาม  ล่าสุดเมื่อวันที่ 14 มกราคมที่ผ่านมา  มีการประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการสหกรณ์ฯ  และสมาชิกโครงการบ้านมั่นคงกับเจ้าหน้าที่ พอช. ที่ศาลาการเปรียญ  วัดบ้านส้อง  อ.เวียงสระ  เพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องแนวทางการบริหารการก่อสร้างบ้านมั่นคงให้แล้วเสร็จโดยเร็ว  เพราะโครงการนี้มีการริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2560  จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 7 ปี...!!

ประชุมแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อเตรียมฝึกให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารงานก่อสร้างบ้าน

พันธัช บอกว่า  ผลจากการประชุมดังกล่าว ทำให้ได้ข้อตกลงร่วมกันว่า  สหกรณ์ฯ จะออกประกาศเชิญชวนให้บริษัทรับเหมาก่อสร้างเข้ามาซื้อซองประกวดราคาในช่วงกลางเดือนมกราคมนี้  หลังจากนั้นในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์จะเปิดให้มีการยื่นซองประกวดราคา  โดยบริษัทที่มีเงื่อนไขที่ดีที่สุดและราคาต่ำสุดจะได้รับการคัดเลือก  และทำสัญญารับเหมางานก่อสร้างภายใน 15 วันหลังประกาศผล  และคาดว่าภายในเดือนมีนาคม 2567 นี้จะเริ่มงานก่อสร้างได้

“ตามแผนงานเราจะสร้างบ้านเฟสแรก 100 หลังจากทั้งหมด 182 หลัง  เป็นบ้านแฝดชั้นเดียว  28 หลัง  และบ้านแฝด 2 ชั้น  72 หลัง  ใช้ระยะเวลา 180 วัน  หรือจะแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน  หลังจากนั้นจึงจะสร้างบ้านที่เหลือต่อไป  ซึ่งในระหว่างการก่อสร้างบ้านเราจะให้สมาชิกทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารและดูแลการก่อสร้าง  โดยแบ่งสมาชิกเป็นกลุ่มย่อยจำนวน 27 กลุ่มๆ ละ 6-10 คน  และแบ่งหน้าที่กันทำงาน  เช่น  ดูแลด้านการก่อสร้าง  ด้านการเงิน  ประสานงาน  เพื่อให้การก่อสร้างแล้วเสร็จและเป็นไปตามสัญญา”

ประธานสหกรณ์บอกและว่า  การให้สมาชิกทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมยังเป็นการฝึกการบริหารจัดการโดยชาวชุมชนเอง และยังเป็นการเตรียมให้สมาชิกคนอื่นๆ ได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการสหกรณ์เพื่อช่วยกันบริหารงาน  เพราะคณะกรรมการสหกรณ์แต่ละชุดจะมีวาระการทำงานครั้งละ 2 ปี  จึงต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ๆ ให้เข้ามาช่วยกันทำงาน

“นอกจากนี้  โครงการบ้านมั่นคงของเรายังได้แบ่งพื้นที่ส่วนกลางเพื่อใช้ประโยชน์ต่างๆ  โดยเฉพาะพื้นที่แปลงปลูกผักส่วนกลาง  เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่เศษ  เพื่อให้สมาชิกช่วยกันปลูกผักสวนครัวเอาไว้กิน  ช่วยลดรายจ่าย และนำไปขาย รายได้แบ่งผู้ปลูก และแบ่งกำไรส่วนหนึ่งเข้าสหกรณ์ มีสวนหย่อมเพื่อพักผ่อนและออกกำลังกาย  มีลานกิจกรรมสำหรับเด็กๆ  รวมทั้งจะมีการส่งเสริมอาชีพ  ดูแลคุณภาพชีวิตชาวชุมชนให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป”

ที่ดิน 16 ไร่เศษที่จะสร้างบ้านมั่นคงในเร็วๆนี้ของชาวเวียงสระ...สิ้นสุดการรอคอยตลอดช่วง 7 ปีที่ผ่านมา

***************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

หวิดโศกนาฏกรรมหมู่! รถทัวร์ชนรถบรรทุกพ่วง นักท่องเที่ยวต่างชาติเจ็บระนาว

ร.ต.ท.เกรียงศักดิ์ เวชเตง รอง สว.(สอบสวน) สภ.สวี จ.ชุมพร ได้รับแจ้งว่าเกิดอุบัติเหตุหมู่ รถทัวร์นักท่องเที่ยวต่างชาติ ชนกับรถพ่วง บนถนนสายเอเชีย 41 ขาล่องใต้ ช่วงกม.ที่ 29-30 หมู่ 3

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ