‘8 ส.’ ร่วมประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย ‘หมอประเวศ’ แนะสานพลังบูรณาการการทำงานแก้ปัญหาประเทศไทย

ผู้บริหาร 8 หน่วยงาน ‘ตระกูล ส.’ ร่วมประชุมวิชาการ

กรุงเทพฯ /  8 หน่วยงานด้านสังคมสุขภาวะ หรือ ตระกูล ส.เช่น  สช.  สปสช. สสส. สวรส. พอช. ร่วมประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย ครั้งที่ 1/2567  โดยมี   ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นองค์ปาฐก  แนะผู้บริหารแต่ละหน่วยจะเป็นอิสระได้ ต้องออกจากอัตตาองค์กรเพื่อร่วมสานพลัง  โดยบูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรอื่นเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศไทย

เมื่อวันที่ 12 มกราคม ที่โรงแรมอัศวิน ถ.วิภาวดีรังสิต เขตหลักสี่  กรุงเทพฯ มี การประชุมวิชาการเพื่อพัฒนาเครือข่ายสังคมสุขภาวะและนโยบาย ครั้งที่ 1/2567  โดยมีผู้บริหารหน่วยงานด้านสังคมสุขภาวะ 8 หน่วยงานเข้าร่วมประกอบด้วย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ‘สวช.’ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว

ศ.นพ.ประเวศ วะสี  กล่าวปาฐกถา  หัวข้อ ส. ทั้ง 8 : การสร้างสุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติและการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ มีใจความสำคัญว่า  การจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ถือโอกาสทบทวน Mission แลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้บริหารองค์กร ส. ทั้ง 8 และหน่วยงานภาคี ให้เป็นองค์กรที่เป็นหัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์  ตอกย้ำหลักคิด 1.การสร้างสุขภาวะที่สมบูรณ์ของคนไทยทั้งมวล (Complete  Well-being of mankind around the world)  2.การเข้าถึงความจริงที่เป็นปัญญา  และ 3. การสร้างสุขภาวะด้วยกันทั้งหมด  (Health is The Whole) 

ศ.นพ.ประเวศ  วะสี

ศ.นพ.ประเวศ เน้นย้ำว่า “การบูรณาการถือเป็นกุญแจสู่อนาคต  สร้างประเทศไทยที่มีการบูรณาการ ประเทศไทยองค์รวม  ชีวิตคือการเชื่อมโยงเรียนรู้ได้  ถ้าเราวินิจฉัยโรคไม่ถูก ประเทศไทยก็ไม่หายป่วย  ดังนั้นการใช้พื้นที่ตั้วตั้ง ให้ดำเนินการตามมรรค ที่มีนักวิชาการสังเคราะห์อย่างเข้มข้น ตัวบุคคลหรือผู้บริหารแต่ละหน่วยจะเป็นอิสระได้ ต้องออกจากอัตตาองค์กร และร่วมสานพลัง  โดยมีการบูรณาการร่วมกับองค์กรอื่น”

ศ.นพ.ประเวศ  ยกตัวอย่างแผนงานสนับสนุนร่วม 8 หน่วยงาน  คือ  1. รวบรวมประเด็นนโยบาย  2. วิเคราะห์ สังเคราะห์  ประเด็นนโยบาย 20 ประเด็น  3. เผยแพร่นโยบายให้รู้ทั่ว นำไปสู่ will power  4. นักวิชาการสังเคราะห์นโยบายสาธารณะ 20 กลุ่ม  5. เผยแพร่ความรู้ทั่วประเทศ ทำให้เกิดความมุ่งมั่นร่วมกัน   6.สร้างหรือสนับสนุนกลุ่มขับเคลื่อนนโยบาย 20 กลุ่ม

นอกจากนี้  ประเทศไทยจะต้องบูรณาการการทำงานทั้ง 8 มิติ  คือ  เศรษฐกิจ  จิตใจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  วัฒนธรรม  สุขภาพ  การศึกษา  ประชาธิปไตย  นำไปสู่การออกแบบ  สร้างบ้านประเทศไทย  ให้มีระบบคุ้มกัน  มีพื้นที่แข็งแรง  มีฝาทั้ง 8 ด้าน  ร่วมกันบูรณาการมิติประเทศไทย  ประกอบด้วย  การเมือง  ระบบรัฐ  เศรษฐกิจการเงิน  การศึกษา  ศาสนา  วัฒนธรรม  สุขภาพ  ประชาสังคม  และสื่อมวลชน  โดยการสร้างผู้นำจากทุกภาคส่วน เพื่อให้แต่ส่วนมาทำงานร่วมกัน  นำไปสู่เป้าหมาย “ประชาธิปไตยและสังคมสุขภาวะที่สมบูรณ์ของมนุษยชาติ

นพ.สุเทพ เพชรมาก เลขาธิการ สช.

นพ.สุเทพ เพชรมาก  เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) กล่าวในประเด็น สช. กับการประสานการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ’  โดยนำเสนอกลไกและบทบาทของ สช. ภายใต้ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ และมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1-16 รูปธรรมที่สำเร็จที่เกิดขึ้น  ระบบสุขภาพที่เป็นธรรมตามธรรมนูญระบบสุขภาพ ครั้งที่ 3 พ.ศ.2565  และความท้าทายในการบริหารงาน สช. ทั้งการบริหารองค์กร นโยบาย และวิธีงบประมาณ  รวมทั้งการสร้างคน สร้างผู้นำ และงานที่ขับเคลื่อนนโยบายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นหัวใจสำคัญ 

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ได้กล่าวถึงบทบาทของ พอช. และการบูรณาการการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม เริ่มจากจังหวัดบูรณาการ  เชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาสังคมและแก้ปัญหาความยากจน  ยกตัวอย่างการขับเคลื่อน ภูเก็ตโมเดล ขยับงานทั้งจังหวัดขับเคลื่อนทุกประเด็น  

นายกฤษดา  สมประสงค์ ผอ.พอช.

เช่น  การพัฒนาศูนย์เด็กเล็กเพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดี  การสนับสนุน ‘นักบริบาลชุมชน’ เพื่อดูแลผู้ป่วย  ผู้สูงอายุในชุมชน  การจัดสวัสดิการชุมชน  การจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม  ฯลฯ  โดยมีภาครัฐ ภาคเอกชน และคนรุ่นใหม่ ขับเคลื่อนการทำงานและลงทุนแบบหุ้นส่วนการพัฒนาแก้ปัญหาในพื้นที่ทั้งระบบ

“พอช. โยงการพัฒนาให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน โดยการดูแลสุขภาวะในชุมชน ตั้งแต่เรื่องการพัฒนาเด็กเล็กปฐมวัย การพัฒนานักบริบาลชุมชน การพัฒนาอาชีพและรายได้ของคนในชุมชน ยังเป็นเป้าหมายสำคัญควบคู่ไปกับการพัฒนาที่อยู่อาศัยและการใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง”  ผอ.พอช. กล่าว

นอกจากนี้  ในปี 2567 พอช. มีแผนงานงบประมาณ  โดยการสนับสนุนของสภาพัฒน์ ในการสำรวจข้อมูลที่อยู่อาศัยตำบลแก้ความยากจน TPmap 50 ตำบล กระจายเป็นรายอำเภอ นำข้อมูลวิเคราะห์นำสู่การแก้ปัญหารูปธรรม ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลเรื่องสุขภาวะในบางพื้นที่ที่ยังขาดการสำรวจข้อมูลที่ดีถึงแม้จะมีนโยบายที่ดีก็ตาม 

“ดังนั้นนอกจาก พอช. จะใส่ใจเรื่องสุขภาวะแล้ว ยังฝาก 2 ส. ในอ้อมอกอ้อมใจ โดยมีองค์กรชุมชนในการดูแล คือ ส. 1 พอช. คือ  สภาองค์กรชุมชน และ ส.2 พอช. คือ สวัสดิการชุมชน  กับหน่วยงานใน 8 ส.”  นายกฤษดา  สมประสงค์กล่าวในตอนท้าย

************

เรื่องและภาพ : น.ส. พิชยาภรณ์  หาญวณิชานนท์ เจ้าหน้าที่บริหารงานข้อมูลอาวุโส  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน).

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โศกนาฏกรรมหนองบัวลำภู ฟางเส้นสุดท้ายต้องปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์ โดย ศ.นพ.ประเวศ วะสี “ราษฎรอาวุโส”

ตำรวจเครียดจัดฆ่าตัวตายสูง และฆ่าผู้อื่นตาย ตำรวจเป็นข้าราชการที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดและฆ่าผู้อื่นตาย เกิดกรณีกราดยิงที่หนองบัวลำภู