(ภาพ https://greennews.agency/ โดย Hasan Madani)
3 จังหวัดชายแดนใต้ / กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ -สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ พร้อมทั้งหน่วยงานภาคีในพื้นที่และส่วนกลาง มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) เตรียมสร้างบ้านใหม่ให้ผู้ประสบภัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ เริ่มที่ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส 22 หลัง และเตรียมสร้างบ้านใหม่ถาวรให้แก่ชาวมูโนะที่บ้านเรือนพังเสียหายจากเหตุการณ์โกดังพลุระเบิดอีก 85 หลัง
ตามที่เกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดวันที่ 22-24 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา กระแสน้ำได้ไหลเข้าท่วมหลายพื้นที่ในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี รวมทั้งจังหวัดสตูลและสงขลาที่อยู่ติดกัน บางพื้นที่น้ำท่วมสูงถึงหลังคา การสัญจรถูกตัดขาด บางพื้นที่ เช่น อ.สุคิริน จ.นราธิวาส เกิดเหตุการณ์ดินเลื่อนถล่ม ทำให้บ้านเรือนพังเสียหาย จำนวน 20 หลัง ถือเป็นเหตุการณ์น้ำท่วมหนักสุดในรอบ 50 ปีในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อมูลจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) สรุปความเสียหายทั้งหมด 5 จังหวัด (สตูล-สงขลา-ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส) พบว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 14 ราย สูญหาย 1 ราย มีผู้ได้รับความเดือดร้อนประมาณ 70,000 ครอบครัว โดยเบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในพื้นที่และส่วนกลางได้ระดมความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น ทำที่พักชั่วคราวจำนวน 6 จุด แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพให้แก่ประชนในพื้นที่รวมกว่า 189,000 ชุด
กระทรวง พม.-พอช.-เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ทั้งนี้นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วม นายวราวุธ ศลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น พมจ. (พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด) เร่งให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ประชาชนที่ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ
(ภาพจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย)
ขณะเดียวกันสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ โดยนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานภาคใต้ พอช. ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนตามภารกิจของ พอช.
โดย พอช.ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคใต้ ได้ให้ความช่วยเหลือกรณีเร่งด่วนไปแล้วได้แก่ 1. สนับสนุนงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ 3 จังหวัด รวมกว่า 400,000 บาท โดยสนับสนุนการทำครัวกลาง แจกจ่ายอาหารให้แก่ผู้ประสบภัย 2.ออกแบบฟื้นฟูชุมชนหลังภัยพิบัติ และ 3 .สนับสนุนการจัดทำระบบข้อมูลและลงพื้นที่สำรวจผู้เดือดร้อน
เครือข่ายองค์กรชุมชนภาคใต้ร่วมกับ พอช. เปิดรับธารน้ำใจจากประชาชนเพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ล่าสุดเมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ผู้แทน พอช.ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น โดยมีนายวิมุตติ อำนักมณี นายอำเภอระแงะ เป็นประธานการประชุม เพื่อปรึกษาหารือแนวทางการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม แก้ไขความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยจากเหตุการณ์น้ำท่วม กรณีบ้านพังทั้งหลัง รอบที่ 1 จำนวน 22 ครัวเรือน
ในเบื้องต้น ที่ประชุมได้จัดทำแผนบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีดังต่อไปนี้ 1. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สนับสนุนงบการสร้างบ้านใหม่ ครัวเรือนละ 49,500 บาท
2.สำนักนายกรัฐมนตรีสนับสนุนงบประมาณตามความเสียหายจริง 3.สำนักงาน พมจ.สนับสนุนช่วยเหลือ สร้างบ้านผู้พิการและผู้สูงอายุ ครัวเรือนละ 20,000 บาท และเงินสงเคราะห์ ครัวเรือนละ 3,000 บาท
3.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ สนับสนุนภายใต้งบประมาณโครงการบ้านพักชั่วคราว วงเงิน 18,000 บาทต่อครัวเรือน และ 4.ศอบต./ กอ.รมน. สนับสนุนแรงงานการซ่อมสร้างบ้านจากทหารช่าง
นอกจากนี้ยังมีภาคเอกชน ได้แก่ มูลนิธิคนช่วยคน มูลนิธิปูนซีเมนต์ไทย scg ฯลฯ รวมทั้งหน่วยงานในพื้นที่/ท้องที่/ท้องถิ่น ร่วมกันออกแบบการสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย
ทั้งนี้ที่ประชุมจะจัดให้มีการ “workshop รวมพลังการสร้างบ้าน" โดยจะนำร่องที่เทศบาลตำบลมะรือโบตกในวันที่ 22 มกราคมนี้ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการจัดกระบวนการในตำบลอื่นๆ ในการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย ภายใต้โครงการฟื้นฟูภัยพิบัติ เพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนต่อไป
การประชุมที่อำเภอระแงะเมื่อ 11 มกราคม
อำเภอสุคิริน จ.นราธิวาส เตรียมสร้างบ้านใหม่ 46 หลัง
ในวันเดียวกัน (11 มกราคม) ที่ว่าการอำเภอสุคิริน อ. สุคิริน จ. นราธิวาส นายกฤษดา สมประสงค์ ผอ.พอช. มอบหมายให้นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผช.ผอ.พอช. พร้อมด้วยนายศิลเรืองศักดิ์ สุขใส หัวหน้างานปฏิบัติการชุมชนสำนักงาน พอช.ภาคใต้ และนายพงษ์เทพ จันทร์หีบ สถาปนิกชุมชนอาวุโส สำนักบ้านมั่นคงและที่ดิน เข้าประชุมร่วมกับ 13 หน่วยงานในท้องถิ่นและส่วนกลาง เช่น มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส นายธีระศักดิ์ สังขโชติ นายอำเภอสุคิริน องค์การบริหารส่วนตำบลนาโมง นิคมสร้างตนเองสุคิริน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ฯลฯ
การประชุมที่ อ.สุคิริน เมื่อ 11 มกราคม
เพื่อหารือ กรณีเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักในพื้นที่อำเภอสุคิรินในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 ทำให้เกิดดินสไลด์มีบ้านเรือนเสียหายจำนวนมากในพื้นที่ 5 ตำบล โดยมีบ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง 46 หลัง เสียหายบางส่วน 308 หลัง เช่น ที่บ้านปารีย์ ตำบลมาโมง จำนวน 20 หลัง คาดว่าจะเริ่มสร้างบ้านใหม่ได้ในช่วงปลายเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์นี้
นอกจากนี้ นายสยาม ผู้ช่วย ผอ.พอช. ได้กล่าวถึงความคืบหน้าการสร้างที่อยู่อาศัยให้แก่ชาวมูโนะ ต. มูโน๊ะ อ.สุไหงโก-ลก จ. นราธิวาส กรณีเกิดเหตุโกดังเก็บพลุและดอกไม้ไฟระเบิด เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบ 427 ครัวเรือน รวม 1,935 คน ผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 209 ราย บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 427 หลัง
สภาพความเสียหายจากเหตุระเบิดโกดังเก็บพลุ เมื่อ 29 ก.ค.2566
หลังเกิดเหตุการณ์ พอช. ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชน กรณีบ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง และไม่มีบ้านญาติให้พักอาศัย โดยช่วยเหลือเป็นค่าเช่าที่พักชั่วคราว ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน เดือนละ 3,000 บาท รวมเป็นเงินครอบครัวละ 18,000 บาท จำนวน 85 ครอบครัว รวมเป็นเงินทั้งหมด 1,530,000 บาท
นอกจากการช่วยเหลือเบื้องต้นของ พอช. แล้ว ยังมีพี่น้องประชาชน ขบวนองค์กรชุมชนในภาคใต้ เช่น เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชนภาคใต้ระดมน้ำใจมอบเงินช่วยเหลือชาวมูโนะ จำนวน 250,000 บาท พี่น้องจากจังหวัดกระบี่จำนวน 10,000 บาท จังหวัดยะลา 21,000 บาท และพี่น้องจากปัตตานีนำเอาข้าวของ อาหาร น้ำดื่ม มอบให้ชาวมูโนะจำนวนหนึ่ง ฯลฯ
“ส่วนการสร้างบ้านใหม่ให้แก่พี่น้องประชาชนที่บ้านเรือนเสียหายทั้งหมดจำนวน 85 หลังนั้น ขณะนี้ พอช. ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นอยู่ในระหว่างการออกแบบบ้านและผังชุมชนร่วมกัน คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเร็วๆ นี้ ส่วนงบประมาณที่จะสร้างบ้านจะเป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยถาวรโดยเร็ว” นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช.กล่าว
นายธนภณ เมืองเฉลิม ผอ.สำนักงานภาคใต้ พอช. มอบเงินช่วยเหลือที่พักชั่วคราวชาวมูโนะ เมื่อ 21 สิงหาคม 2566
***********
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา