บ้านมั่นคงชนบท ‘น้ำพางโมเดล’ จ.น่าน (2) บ้านที่มั่นคงของ ‘สหายกำปืน' อดีตนักสู้ ‘อนุชน พคท.’

‘น้ำพาง’ สายน้ำเล็กๆ แต่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาเนิ่นนาน

‘น้ำพางโมเดล’ คือการปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตของชาวบ้านตำบลน้ำพาง อ.แม่จริม  จ.น่าน ตั้งแต่ปี 2558  จากเดิมที่ชาวบ้านปลูกข้าวโพดเป็นหลัก เป็นพืชเชิงเดี่ยวที่ต้องใช้สารเคมี  มีการถางป่า  เผาซากไร่  เกิดปัญหาต่างๆ ติดตามมา เช่น  ฝุ่นควัน  ดอยหัวโล้น  แผ่นดินแห้งแล้ง ฯลฯ  แล้วปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรเชิงนิเวศน์ โดยปลูกพืชเศรษฐกิจอื่นๆ เป็นการทำเกษตรผสมผสานที่ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม...

เช่น ปลูกกาแฟ โก้โก้ มะม่วงหิมพานต์ ไผ่ซางหม่น และนำผลผลิตที่ได้มาแปรรูปเพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่ม ไม่ใช่ขายเป็นวัตถุดิบเหมือนแต่ก่อน รวมทั้งช่วยกันดูแลดินน้ำป่า  และเดินหน้าแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินซึ่งเป็นหัวใจของเกษตรกร...เพราะ “ที่ดินคือชีวิต”...(อ่าน บ้านมั่นคงชนบท ‘น้ำพางโมเดล’ จ.น่าน (1) ที่ดินคือชีวิต..thaipost.net) 

เส้นทางสู่บ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง                                    

ปวรวิช  คำหอม  ผู้จัดการโครงการน้ำพางโมเดล  บอกว่า  การลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อพลิกฟื้นดอยหัวโล้นให้กลายเป็นพื้นที่สีเขียว  โดยการปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นทดแทนตั้งแต่ปี 2558  แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืนและครบทุกมิติได้  ดังนั้นแกนนำในตำบลน้ำพางจึงได้ร่วมกันจัดทำ ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง’ ขึ้นมา  เพราะเป็นโครงการที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ให้การสนับสนุนชุมชนทั่วประเทศ  เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดิน  ที่อยู่อาศัย  ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ  ทุนชุมชน  สิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากร การพัฒนาคุณภาพชีวิต  ส่งเสริมศิลปะ  วัฒนธรรม  ประเพณี  ภูมิปัญญาท้องถิ่น การท่องเที่ยวชุมชน  ฯลฯ  ครบทุกมิติ

ปัญหาที่ดินทำกินเป็นปัญหาสำคัญของคนน้ำพาง (ปัจจุบันตำบลน้ำพางมี 11 หมู่บ้าน)

โดยมีการจัดตั้ง ‘คณะทำงานบ้านมั่นคงและการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยตำบลน้ำพาง’ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน  มีคณะกรรมการจากทุกหมู่บ้านร่วมกันทำงาน  เช่น สำรวจข้อมูล ปัญหาความเดือดร้อน ความต้องการของชุมชน ทั้งด้านวิถีชีวิต ความเป็นอยู่  สภาพบ้านเรือน อาชีพ สาธารณูปโภค แหล่งน้ำ ฯลฯ และจัดทำเป็นโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินโครงการจาก พอช.’ ในปี 2565

ต่อมาในเดือนเมษายน 2566  คณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและที่ดิน พอช. ได้อนุมัติโครงการและงบประมาณ ‘โครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง’ รวมงบประมาณทั้งหมด 12.6 ล้านบาท มีแผนงานสำคัญ เช่น ซ่อมสร้างบ้านเรือนผู้ที่มีฐานะยากจน สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม รวม 242 ครอบครัว โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจครอบครัวที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย มีการจัดประชาคมหมู่บ้านเพื่อรับรองสิทธิ์ว่าเป็นผู้เดือดร้อนจริง ความจำเป็นในการซ่อมแซม  การถอดแบบวัสดุ  อุปกรณ์ที่ต้องใช้ การประเมินราคา (ไม่เกินครัวเรือนละ 40,000 บาท)

ใช้วิธีสั่งซื้อวัสดุพร้อมกัน  เพื่อให้ได้ส่วนลด  และใช้ช่างชุมชน ช่างจิตอาสาในตำบล เช่น  ช่างไม้  ช่างปูน  ช่างไฟ  ช่างเชื่อม  ประมาณ 130 คน  ช่วยกันลงแรงแบบ “เอามื้อเอาแรง” รื้อฟื้นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเหมือนในอดีต  ทำให้ประหยัดค่าแรงงาน

นอกจากนี้จะมีการแก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่อยู่อาศัยเพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรป่าไม้ ส่งเสริมเกษตรเชิงนิเวศน์ การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ประปาภูเขา ปรับปรุงถนน สะพาน ฟื้นฟูและส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น ส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาเรื่องอาชีพ การแปรรูปผลผลิต เช่น กาแฟ โกโก้ มะม่วงหิมพานต์ ไม้ไผ่  ข้าวคั่วดอย ข้าวเหนียวดำ ขยายพันธุ์ไก่กระดูกดำ ฯลฯ

นำทุนธรรมชาติ ทุนวัฒนธรรมมาส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่น การล่องแพ ล่องเรือในลำน้ำว้า การเดินป่า สัมผัสวัฒนธรรมประเพณีชนเผ่าม้ง ถิ่น ล้านนา ทำที่พักโฮมสเตย์รองรับนักท่องเที่ยว  มีอาหารพื้นเมืองต้อนรับ ฯลฯ

ปวรวิช ในฐานะผู้ประสานงานโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง บอกว่า  ขณะนี้ (มกราคม 2567)แผนงานการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพางคืบหน้าไปมากแล้ว  เช่น  การซ่อมสร้างบ้านเรือนผู้มีฐานะยากจน  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  จำนวน 242 ครอบครัว  ตอนนี้ซ่อมไปแล้ว 149 ครอบครัว  ส่วนที่เหลืออีกจำนวน 93 ครอบครัวจะทยอยซ่อมสร้างให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้

การสำรวจข้อมูลชุมชน  สภาพบ้านเรือนที่ทรุดโทรม  ฐานะยากจน

ต่อยอดกองทุนพัฒนาที่ดินที่อยู่อาศัย

นอกจากนี้ ‘คณะทำงานบ้านมั่นคงและการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยตำบลน้ำพาง’ ยังได้ประชุมพูดคุยกันว่า  จะทำอย่างไรเพื่อให้มีกองทุนสำหรับเอาไว้ดูแลผู้ที่ด้อยโอกาส  คนยากคนจน คนพิการ ผู้สูงอายุในตำบล เพื่อจะได้มีบ้าน มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง หรือให้ผู้เดือดร้อนคนอื่นๆ กู้ยืมไปใช้ซ่อมสร้างบ้าน  เพื่อให้กองทุนเติบโต  เกิดการหมุนเวียน จึงจัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อที่ดินและที่อยู่อาศัยตำบลน้ำพาง’ ขึ้นมาตั้งแต่ปี 2565  

โดยให้สมาชิกที่จะซ่อมแซมบ้านออมเงินเข้ากองทุนเดือนละ 10 บาท  และเมื่อสมาชิกได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ในการซ่อมแซมบ้าน (ไม่ได้ช่วยเหลือเป็นเงินสด) จากโครงการบ้านมั่นคงฯ แล้ว คณะกรรมการตกลงกันว่าจะให้สมาชิกสมทบเงินร้อยละ 5 จากงบประมาณซ่อมแซมบ้านแต่ละหลังเพื่อเอาเข้ากองทุนไว้ช่วยเหลือกันต่อไป ส่วนคนที่ยากลำบากจริงๆ ไม่ต้องสมทบเงินเข้ากองทุน  เช่น  หากได้รับการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ซ่อมแซมบ้านจำนวน 40,000 บาท  จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนจำนวน 2,000 บาท  โดยให้ทยอยสมทบคืนเป็นรายเดือนจนครบภายใน 1 ปี    

“ตอนนี้กองทุนที่อยู่อาศัยตำบลน้ำพางมีสมาชิก 424 ครอบครัว มีเงินอยู่ประมาณ 150,000 บาท  ต่อไปเราก็จะเอาเงินนี้ไปช่วยเหลือครอบครัวอื่นที่เดือดร้อนต่อไป”  ปวรวิชบอก

เขาบอกด้วยว่า ที่ผ่านมา ชาวบ้านในตำบลน้ำพางได้ร่วมกันจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือกันในการประกอบอาชีพ รวมทั้งนำมาช่วยเหลือสมาชิกในยามเดือดร้อน เช่น กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลน้ำพาง จัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 ปัจจุบันมีสมาชิก 315 คน มีเงินกองทุนกว่า 200,000 บาท ช่วยเหลือสมาชิกในยามเจ็บ ป่วย คลอดลูก เสียชีวิต ฯลฯ

บ้านมั่นคงของชาวม้ง ‘สหายกำปืน’

กระบวนการซ่อมสร้างบ้านมั่นคงของชาวบ้านตำบลน้ำพางแม้จะดูไม่ซับซ้อน  แต่ก็มีแนวคิดที่น่าสนใจ  ดังเช่น  การจัดตั้ง ‘กองทุนเพื่อที่ดินและที่อยู่อาศัยตำบลน้ำพาง’ ขึ้นมา เพื่อเป็นกองทุนสำหรับเอาไว้ดูแลเรื่องที่ดินที่อยู่อาศัยสำหรับคนที่ด้อยโอกาส  คนยากจนในตำบล 

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวชีวิตที่ผูกพันกับประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชุมชนท้องถิ่น  ดังตัวอย่างที่หมู่ 10 บ้านร่มเกล้า หมู่บ้านของชาวม้งที่เคยจับปืนต่อสู้กับอำนาจรัฐมาก่อน..!!

เครื่องแบบของนักรบ พคท. (ทปท.กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย) ภายในพิพิธภัณฑ์ทหารทุ่งช้าง อ.ทุ่งช้าง  จ.น่าน

ย้อนอดีตกลับไปประมาณ 40-50 ปี  หรือก่อนปี 2525  อำเภอแม่จริม  จังหวัดน่าน  ในอดีตเคยเป็นพื้นที่     ‘สีชมพู’ หรือเป็นพื้นที่ที่มีการแทรกซึมเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) มาก่อน  เช่นเดียวกับพื้นที่ในเขตชายแดนจังหวัดน่านและจังหวัดอื่นๆ ที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศลาว  เนื่องจากในขณะนั้น พคท.อาศัยชายแดนไทย-ลาวเป็นพื้นที่เคลื่อนไหว  และบางส่วนอาศัยอยู่ในเขตลาวที่ ‘สำนัก A 30’ แขวงหลวงน้ำทา  ติดชายแดนจีนด้านเมืองบ่อหาน  เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน

‘เล่าเพี๊ยะ แซ่โซ้ง’  อดีต ‘สหายกำปืน’  ชาวม้งบ้านร่มเกล้า หมู่ที่ 10 ตำบลน้ำพาง อายุ 60 ปี  เล่าว่า สมัยก่อน  ชาวม้งเป็นชนชาติส่วนน้อยในประเทศไทย  ไม่ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่น  เจ้าหน้าที่รัฐมักข่มเหง  รังแก  เพราะถือว่าไม่ใช่คนไทย เป็นชาวเขา  ชาวดอย  หากอยากกินหมู  กินไก่ที่ชาวม้งเลี้ยงเอาไว้ก็จะใช้ปืนยิงเอาไปกินเลย  ทำให้คนม้งเจ็บช้ำน้ำใจ  เมื่อมีการเคลื่อนไหวของ พคท.ในตำบลน้ำพาง  อำเภอแม่จริม  คนม้งส่วนมากจึงเข้าร่วม   บางคนเป็นทหารจับอาวุธ  บางคนเป็นมวลชนช่วยส่งเสบียงอาหาร

“พ่อผมเป็นทหารม้ง  พาผมเข้าป่าตั้งแค่ปี 2511 ตอนนั้นผมอายุประมาณ 5-6 ขวบ  ไปพร้อมกับคนม้งอีกหลายคนเพื่อจะต่อสู้กับเจ้าหน้าที่รัฐ  ตอนแรกไปอยู่แถวทุ่งช้าง  ต่อมาปี 2516 พ่อพาข้ามไปอยู่ฝั่งลาวที่สำนัก A 30 แขวงหลวงน้ำทา  เพราะเป็นพื้นที่ปลอดภัย  มีผู้นำพรรค  นักศึกษาไทยอยู่ที่นั่น  มีโรงเรียนให้เด็กและยุวชนของพรรคได้เรียนหนังสือ   ผมได้เรียนหนังสือไทยที่นั่น”  สหายกำปืนเล่าถึงอดีตที่เติบโตขึ้นมาในป่าและสถานการณ์สงคราม  ไม่ได้เล่นสนุกเหมือนกับเด็กอื่นๆ  แต่เห็นปืนที่เป็นอาวุธจริงไม่ใช่ของเล่นมาตั้งแต่เด็ก

เขาบอกว่า  หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ทำให้มีคนหนีเข้าป่าเป็นจำนวนมาก  คนที่เข้าป่าที่เป็นผู้นำ  ปัญญาชน  หมอ อาจารย์มหาวิทยาลัย  นักการเมือง  นักศึกษา  นักดนตรีเพื่อชีวิต  จะถูกส่งเข้ามาอยู่ที่สำนัก A 30 ในลาว เพราะเป็นเสมือน ‘สำนักทางผ่าน’ หรือเป็นที่พักชั่วคราวก่อนจะเดินทางไปทำภารกิจอื่น และยังสะดวกหากจะข้ามไปศึกษาหรือติดต่อธุระที่เมืองจีน  เพราะตอนนั้นจีนยังสนับสนุนพรรคคอมมิวนิสต์ไทย

“ที่สำนัก A 30 มีผู้นำพรรคหลายคนอยู่ที่นั่น  แต่ผมเป็นเด็กจึงไม่รู้ว่าใครเป็นใคร  เพราะทุกคนจะใช้ชื่อจัดตั้งแทนชื่อจริง  ผมเจอ ‘พี่หงา  คาราวาน’  ประมาณปี 2520 ตอนนั้นนักดนตรีเพื่อชีวิตหลายคนมาอยู่ที่สำนัก A 30  ช่วงนั้นผมอายุประมาณ 14-15 ปี  พี่หงาชอบมาคุยมาเล่นกับผม บางทีผมก็ไปดูแกซ้อมดนตรี แกตั้งชื่อให้ผมว่า ‘สหายกำปืน’  เพราะตอนนั้นผมถือปืนอาร์ก้า  ส่วนแกมีชื่อจัดตั้งว่า ‘สหายพันตา’ หลังจากนั้นไม่กี่เดือน  พี่หงาและนักดนตรีคนอื่นๆ ก็ทยอยกลับมาอยู่ในป่าเขตชายแดนจังหวัดน่าน”  สหายกำปืนบอกที่มาของชื่อจัดตั้งที่ได้มาจาก ‘หงา คาราวาน’ หรือสุรชัย  จันทิมาธร  และบอกว่าตัวเองยังไม่เคยจับปืนยิงกับใคร  เคยกำแต่ปืนเพราะช่วงที่อยู่สำนัก A 30 เรียนแต่หนังสือจนถึงชั้น ป. 4

หลังความขัดแย้งระหว่างพรรคคอมมิวสต์ไทยกับลาว ราวต้นปี 2523  ทำให้สำนัก A 30 ถูกยุบ  เมื่อไม่มีหนทางให้ไปต่อ  ขณะที่ฐานที่มั่นของ พคท.ตั้งแต่เหนือจรดใต้ในไทยถูกอำนาจรัฐตีแตก  ประกอบกับรัฐบาลในขณะนั้นมีนโยบาย ‘66/2523’ ใช้นโยบาย ‘การเมืองนำการทหาร’ เพื่อยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ ทำให้บรรดาสหายนักศึกษา  ปัญญาชน  ทยอยเดินทางกลับเมืองไทยเพื่อมอบตัว  ยุติการต่อสู้ด้วยอาวุธ  สหายกำปืนและพ่อ  พร้อมด้วยสหายม้งคนอื่นๆ จึงเดินทางกลับน่าน  และทยอยมอบตัวกับทางการไทยตั้งแต่ช่วงปี 2523-2524  

ภาพวาดเหตุการณ์ยุติสงครามระหว่าง พคท.ที่ จ.น่านกับฝ่ายทหาร  แสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ทหาร อ.ทุ่งช้าง 

“คนม้งที่บ้านร่มเกล้าและบ้านน้ำตวงที่เคยเข้าป่าก็กลับมาบ้าน  ที่บ้านร่มเกล้ามีคนม้งมอบตัว 3 ชุด  หลังจากนั้นทหารก็ให้ไปอยู่ในค่ายการุณยเทพ เพื่อปรับความคิด  และกลับมาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย”  สหายกำปืน  หรือชื่อปัจจุบัน ‘สงวน แซ่โซ้ง’ บอก และว่า หลังมอบตัว  เขาและพ่อ  รวมทั้งชาวม้งคนอื่นๆ กลับมาทำไร่ที่บ้านร่มเกล้า (หมู่ที่ 10)  บางคนอยู่ที่บ้านน้ำตวง (หมู่ที่ 9) ปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน  ปลูกขิงและข้าวโพดเอาไว้ขายเป็นรายได้ใช้จ่ายในครอบครัว 

หลายปีที่ผ่านมา  อดีตสหายกำปืนอาศัยอยู่กับภรรยา ลูกและหลาน  รวม 7 คน  (พ่อเสียชีวิตเมื่อหลายปีก่อน) แม้ไม่อดอยาก  แต่บ้านเรือนก็ทรุดโทรมเพราะปลูกสร้างมานาน ฝาบ้านทำด้วยไม้ไผ่ขัดแตะผุๆ พังๆ  เมื่อมีโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง  ครอบครัวของเขาจึงได้รับเลือกจากคณะกรรมการหมู่บ้านร่มเกล้าให้ได้รับสิทธิ์ซ่อมบ้าน โดยเป็น 1 ใน 43 หลังในหมู่บ้านนี้ที่ได้รับสิทธิ์ (บ้านร่มเกล้ามี 152 หลัง  ทั้งตำบลมี 967 หลัง ได้รับสิทธิ์รวม 242 หลัง) ได้รับงบสนับสนุนเป็นวัสดุอุปกรณ์จาก พอช. จำนวน 40,000 บาท เปลี่ยนฝาบ้านไม้ไผ่เป็นอิฐบล็อก  ขนาดกว้างยาวประมาณ 8x10 เมตร รวมทั้งเปลี่ยนประตูไม้เก่าๆ เป็นประตูใหม่ 2 บาน  ดูสวยงาม  เริ่มทำตั้งแต่เดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา

“งบประมาณ 40,000 บาทไม่พอหรอกครับ  เพราะก่อฝาบ้านด้วยอิฐบล็อกทั้งหลัง  อาศัยลูกหลานเอาเงินมาเพิ่ม  มีชาวบ้านมาช่วยทำ  ค่อยๆ ทำกันเพราะไม่มีเงิน  ขาดเหลืออะไรก็ค่อยต่อเติม  ใช้เวลาเกือบ 2 เดือนจึงเสร็จ  ตอนนี้บ้านก็แข็งแรงดีกว่าเดิม...ต้องขอขอบคุณชาวบ้านและหน่วยงานที่มาช่วย” อดีตสหายกำปืนบอก  และว่า เขาได้ทยอยสมทบเงินเข้ากองทุนที่ดินและที่อยู่อาศัยจำนวน 2,000 บาท (5 % ของเงิน 40,000 บาท) เดือนละ 100-200 บาท  ภายในปีนี้จะสมทบให้หมด  เพื่อให้มีกองทุนเอาไว้ช่วยเหลือคนอื่นต่อไป

‘สหายกำปืน’ กับบ้านใหม่ก่ออิฐบล็อค

ก้าวต่อไปของ ‘น้ำพางโมเดล’

นอกจากการการซ่อมสร้างบ้านตามโครงการบ้านมั่นคงชนบทตำบลน้ำพาง  ซึ่งขณะนี้ซ่อมสร้างไปแล้ว 149 หลัง/ครอบครัว  จากทั้งหมด 242 หลัง/ครอบครัว  ยังเหลืออีกจำนวน 93 หลัง/ครอบครัวที่โครงการจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้  นอกจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ เช่น  การสร้างฝายชะลอน้ำ

ปวรวิช  คำหอม  ผู้จัดการโครงการน้ำพางโมเดล  บอกว่า  ฝายที่จะสร้างเป็น ‘ฝายคอกหมู’ เพื่อชะลอน้ำในลำห้วยให้ไหลช้าลง  โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน  ทำให้น้ำซึมลงไปกักเก็บใต้ดิน  ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนป่า  ฤดูแล้งลำห้วยจะปล่อยน้ำออกมา  ทำให้เกษตรกรมีน้ำใช้ตลอดปี  นอกจากนี้หากป่ามีความชุ่มชื้นก็จะช่วยป้องกันไฟป่า  โดยจะทำฝายจำนวน 100 ตัวในลำน้ำ  ลำห้วยทั้งตำบล

ทั้งนี้ฝายคอกหมูจะมีลักษณะเป็นฝายไม้แกนดินหลายๆ ฝายเรียงติดต่อกัน  มีความสูงลดหลั่นลงมาตามขนาดลำน้ำและความสูงของตลิ่ง  ใช้วัสดุในท้องถิ่น  เช่น  ไม้ไผ่  ดิน  หิน  มีความทนทานต่อกระแสน้ำ

ปวรวิชและสภาพพื้นที่ป่าเขาและดอยสูงของตำบลน้ำพาง

นอกจากนี้ก็จะปรับปรุงระบบประปาภูเขา ใช้ท่อประปาขนาด 4 นิ้ว  จำนวน 195 ท่อน  ต่อจากพื้นที่สูงลงมายังหมู่ที่ 4 (ใช้งบ 300,000 บาท) สร้างถังพักน้ำแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดกว้าง 5 เมตร  ยาว 5 เมตร  สูง 2  เมตร  ความจุ 50 ลูกบาศก์เมตร  พร้อมทั้งระบบท่อส่งน้ำ (ใช้งบ 400,000 บาท) เพื่อให้ชาวบ้านมีแหล่งน้ำใช้  ซ่อมถนนคอนกรีต  สะพานที่ชำรุดทรุดโทรม  เพื่อให้การเดินทาง  การขนส่งสินค้าเกษตรมีความสะดวก ฯลฯ

ส่วนด้านการเกษตร  การแปรรูปผลผลิต  ปัจจุบันชาวตำบลน้ำพางรวมตัวกันเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำพาง’ ได้นำผลผลิตที่เริ่มปลูกตั้งแต่ช่วงปี 2559-2560  นำมาจำหน่าบและแปรรูปเป็นสินค้าต่างๆ  เช่น ‘เมล็ดกาแฟคั่วโรบัสต้าน้ำพาง’ ขนาดถุงละ 250 กรัม ราคา 170 บาท ราคารับซื้อกาแฟเชอร์รี่จากสมาชิกกิโลกรัมละ 18 บาท ซึ่งในระยะแรกที่กาแฟเริ่มให้ผลผลิตจะได้เมล็ดกาแฟประมาณปีละ 2,000 กิโลกรัม 

นอกจากนี้ยังมีเมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบ ราคารับซื้อเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ตากแห้งจากชาวบ้านประมาณกิโลฯ ละ 24-28 บาท  นำมาอบและบรรจุซองขนาด 80 กรัม  ราคาขาย 50 บาท  ขนาด 200 กรัม  ราคาขาย 120 บาท  รวมทั้งส่งเมล็ดมะม่วงหิมพานต์อบกรอบจำหน่ายให้แก่ร้านทำขนมเค้กด้วย

“ตอนนี้สินค้าแปรรูปของกลุ่ม  ทั้งกาแฟและเมล็ดมะม่วงหิมพานต์มีจำหน่ายทางเพจ ‘วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำพาง’ และออกบูธตามงานต่างๆ  และต่อไปจะมีบริษัทซีพีมาช่วยพัฒนากระบวนการผลิตกาแฟให้มีคุณภาพ  มีมาตรฐาน  และมีตลาดที่กว้างกว่าเดิม  นอกจากนี้เราจะส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกและปรับปรุงพันธุ์อโวคาโดที่ตลาดต้องการ  รวมทั้งผลโกโก้ที่จะนำมาแปรรูปเป็นขนมและเครื่องดื่มต่างๆ ด้วย”  ผู้จัดการโครงการน้ำพางโมเดลบอก

ส่วนเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนนั้น  ขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำปฏิทินและวางแผนการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี  เช่น เดือนมกราคมจะมีงานปีใหม่ม้ง  มีประเพณีวัฒนธรรมของคนล้านนา  คนถิ่น  มีเส้นทางท่องเที่ยวเดินป่า ผจญภัยแบบ  adventure ล่องแก่งน้ำว้า  ซึ่งปัจจุบันมีเอกชน และอุทยานแห่งชาติแม่จริมจัดให้มีการล่องแก่งน้ำว้า สามารถท่องเที่ยวได้ตลอดปี ยกเว้นในช่วงที่น้ำหลาก

พาไปชิมอาหารพื้นเมือง  กินหมูดำ  ไก่กระดูกดำตุ๋นสมุนไพรของชาวม้ง  ช่วยบำรุงร่างกาย  กินกับข้าวไร่อินทรีย์  หรือข้าวดอยคั่วม้ง  ชมพระธาตุคำปลิวอายุกว่า 800 ปี  ชมภาพเขียนสีบนผนังถ้ำของคนโบราณอายุกว่า 3,000 ปีบนเส้นทางดอยผาหน่อ คาดว่ามีอายุใกล้เคียงกับภาพเขียนสีที่ผาแต้ม จ.อุบลราชธานี เป็นภาพคล้ายสัญลักษณ์สวัสดิกะ นักรบ  ฯลฯ

“น้ำพางโมเดลเราเริ่มตั้งแต่ปี 2558 ปีนี้ย่างเข้า 9 ปี  ช่วยลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด  เพิ่มพื้นที่สีเขียว  โดยทำเกษตรผสมผสาน  ปลูกพืชต่างๆ ไปแล้ว  ประมาณ 3,400 ไร่ จำนวนกว่า 120,000 ต้น และมีพื้นที่ปลูกไผ่ซางหม่นอีกประมาณ 500 ไร่ที่จะนำมาแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์  และจะขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเติม  เราตั้งเป้าว่าภายในปี 2575 จะเพิ่มพื้นที่สีเขียวทั้งตำบลได้รวม 14,000 ไร่  ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินเราก็จะเดินหน้าต่อไป เพราะถือเป็นสิทธิชุมชนที่ชาวบ้านอยู่อาศัยกันมาก่อน  เพื่อให้ตกทอดเป็นสมบัติของลูกหลานต่อไป”  ปวรวิชบอก

ขณะที่ ลุงสงวน  แซ่โซ้ง  ‘อดีตสหายกำปืน’ บอกว่า  วันนี้สงครามสู้รบระหว่าง พคท.กับอำนาจรัฐสงบลงแล้ว  แต่คนม้งและคนน้ำพางยังต่อสู้เรื่องสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยต่อไป  เพราะบ้านเรือนและที่ทำกินยังไม่มีสิทธิ์โดยชอบธรรม  เพราะรัฐประกาศเขตป่าสงวนแม่จริม-น้ำว้าทับที่ชาวบ้านเคยอาศัยอยู่ก่อน

“วันนี้ผมไม่ได้กำปืนแล้ว  แต่ยังต่อสู้เรื่องที่ดิน  ผมเคยเข้าไปชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มพีมูฟที่กรุงเทพฯ เพื่อจะได้มีที่ดินเอาไว้ให้ลูกหลานทำกินต่อไป  ตอนนี้ก็ยังติดตามว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร” อดีตสหายกำปืนบอกทิ้งท้าย 

ทั้งหมดนี้คือเป้าหมายการขับเคลื่อน ‘โครงการน้ำพางโมเดล’  ทั้ง 4 ด้าน คือ  1.มีกิน เพิ่มความมั่นคงทางด้านอาหาร ปลูกพืชที่กินได้และจำหน่าย 2.มีใช้ เพิ่มรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนที่มั่นคงในระยะยาว   3.มีสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียว สร้างระบบนิเวศน์ที่สอดคล้องกับชุมชน และ 4. มีกฎหมายและนโยบายที่เป็นธรรม สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรม ภูมินิเวศน์ และรูปแบบการผลิตที่ยั่งยืนของคนน้ำพาง...!!

ผู้คนมีกิน  มีใช้  สุขภาพดี มีความสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีสิ่งแวดล้อมดี มีกฎหมายที่เป็นธรรม เป็นอุดมคติและเป้าหมายที่คนน้ำพางจะไปให้ถึง !!

***********

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

พะเยา-เชียงราย-แพร่-น่าน จัด'วิ่งเลาะเวียงเมืองล้านนาตะวันออก' 4จังหวัด4สนาม

พะเยา เชียงราย แพร่ น่าน ผนึกกำลัง 4 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2  จัดใหญ่งานวิ่งเลาะเวียงเมืองล้านนาตะวันออก  กว่า 700 คนเหล็กเตรียมตบเท้าเข้าร่วม  4 จังหวัด 4 สนาม เริ่มสนามแรก วันที่ 30 พ.ย.-1  ธ.ค. 67  ที่จังหวัดพะเยา 

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ