1 ทศวรรษคนเขาไม้แก้ว จ.ปราจีนบุรี จากเกษตรเคมี...สู่แหล่งผลิตอาหารปลอดภัยและกัญชาเพื่อการแพทย์

ย้อนเวลากลับไปเพียง 10 ปี  เกษตรกรในตำบลเขาไม้แก้ว  อ.กบินทร์บุรี  จ.ปราจีนบุรี  ยังทำการเกษตรเหมือนกับเกษตรกรทั่วไป   นั่นคือใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นในแปลงเพาะปลูกมานานปี   แต่มีจุดพลิกผันบางอย่างทำให้พวกเขาปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์  และยึดมั่นแนวทางนี้มาตลอด  จนกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย  สามารถส่งพืชผักและสมุนไพรป้อนให้แก่โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร 

ล่าสุดคือการปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์  ทั้งยังเตรียมการต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มจากสมุนไพรมหัศจรรย์ชนิดนี้ด้วย!!

ตัวตนคนเข้าไม้แก้ว

ตำบลเขาไม้แก้ว  อ.กบินทร์บุรี  จ.ปราจีนบุรี  ในอดีตถือเป็นดินแดนทุรกันดาร  ห่างไกลความเจริญ  ราวปี      พ.ศ. 2480   มีชาวบ้านจากภาคอีสาน  เช่น  นครราชสีมา  บุรีรัมย์   และอำเภอใกล้เคียงในจังหวัดปราจีนบุรีเข้ามาบุกเบิกที่ดินทำกิน   บริเวณกลางตำบลมีภูเขาลูกเล็กๆ  มีต้นแก้วขึ้นปกคลุม  จึงเรียกชื่อหมู่บ้านตามนั้น    และยกฐานะขึ้นเป็นตำบลในเวลาต่อมา   ปัจจุบันมี 11 หมู่บ้าน  ประชากรประมาณ 9,200 คน   มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ  110,000  ไร่  สภาพส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ

สุนทร  คมคาย  เกษตรกรหนุ่มใหญ่วัย 47 ปี  แกนนำกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว  บอกว่า  ก่อนจะชักชวนกันมาทำเกษตรอินทรีย์แบบวันนี้  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา  ปลูกมันสำปะหลัง  ข้าวโพด  อ้อย  ยูคาลิปตัส  ส่วนใหญ่เป็นพืชเชิงเดี่ยว  ปลูกเพื่อส่งขายโรงงาน  ต้องใช้สารเคมี  ปุ๋ยเคมี  ยากำจัดหญ้า 

ผมเรียนจบปริญญาตรีด้านเกษตร  สาขาไม้ผล  มหาวิทยาลัยแม่โจ้  เชียงใหม่  จบแล้วก็มาเป็นเซลล์ขายเคมีภัณฑ์เกษตร  แล้วกลับมาเปิดร้านขายเคมีเกษตรที่บ้าน  คลุกคลีอยู่กับวงการเกษตรเคมีมานานกว่า 10 ปี  ไม่ได้สนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์อะไรหรอก  ชาวบ้านก็ต่างคนต่างอยู่  ไม่ค่อยมีกิจกรรมร่วมกัน  ยกเว้นงานบุญประเพณี  อิทธิพลท้องถิ่นก็ยังเยอะ  มีซุ้มมือปืน  เป็นแหล่งส่งมือปืนไปให้บ้านใหญ่”  สุนทรเกริ่นนำ  และขยายความว่า  ‘บ้านใหญ่’ ก็คือ  เครือข่ายของนักการเมืองท้องถิ่นที่มีอิทธิพลใหญ่ระดับภูมิภาค

สุนทร  (ภาพจากเฟสบุค์ สุนทร คมคาย)

ส่วนจุดพลิกผันหันมาสนใจเรื่องเกษตรอินทรีย์นั้น  สุนทรบอกว่า  ในช่วงปี 2553  มีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวลจะเข้ามาตั้งที่ตำบลเขาไม้แก้ว  ชาวบ้านเกิดความหวาดกลัวว่าจะได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากโรงงาน  ทั้งเรื่องแหล่งน้ำ  ฝุ่นควันและอากาศ  จึงรวมตัวกันคัดค้าน   เป็นการรวมตัวกันแบบชาวบ้าน  ไม่มีแกนนำ  ไม่มีการจัดตั้ง  สุนทรเองก็ไม่เคยนำม็อบ  ไม่เคยขึ้นปราศรัยมาก่อน  แต่ต้องตกกระไดพลอยโจน  นำชาวบ้านเขาไม้แก้วประมาณ 300 คนไปม็อบที่ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี  ยื่นข้อเรียกร้องไม่เอาโรงไฟฟ้าฯ ต่อผู้ว่าราชการจังหวัด

เหตุการณ์ครั้งนั้น  ทำให้สุนทรและแกนนำชาวบ้านเขาไม้แก้วได้รู้จักกับ กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต’ อ.สนามชัยเขต  จ.ฉะเชิงเทรา  ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน  และเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมและทำเกษตรอินทรีย์มาก่อน  เมื่อชาวบ้านเขาไม้แก้วร่วมกันต่อต้านโรงไฟฟ้าชีวมวล  กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตได้เข้ามาให้กำลังใจ  สนับสนุนการเคลื่อนไหว  และชักชวนให้ทำเกษตรอินทรีย์  ปลูกพืชผสมผสาน  ปลูกผลไม้  ผักสวนครัว  ผักพื้นบ้าน  สมุนไพร  ไม่ใช่ทำเกษตรเคมีหรือปลูกพืชเชิงเดี่ยวเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา

แต่กว่าจะเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ได้ก็ย่างเข้าปี 2555  มีชาวบ้านที่สนใจเข้าร่วมในช่วงเริ่มต้นเพียง 5-6 ครอบครัว...ขณะเดียวกันการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าชีวมวลก็เริ่มเข้มข้นมากขึ้น !!

ในปี  2556  ชาวเขาไม้แก้วร่วมกันประท้วงด้วยการปิดถนนสาย  304 สุวินทวงศ์-กบินทร์บุรี

ผักพื้นบ้าน  อาหารปลอดภัย  สร้างตลาดที่เป็นธรรม

จากการรวมกลุ่มชาวบ้านเขาไม้แก้วที่สนใจทำเกษตรอินทรีย์ในช่วงแรกเพียงไม่กี่คน  แต่จากความตั้งใจของสุนทรเพราะเขาคลุกคลีอยู่กับวงการเกษตรเคมีมาก่อน  จึงเล็งเห็นพิษภัยของสารเคมี  มีการจัดประชุม  ชี้แจง  สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านถึงผลดีของการทำเกษตรอินทรีย์  ภายในปี 2555 นั้นเอง  สมาชิกได้เพิ่มขึ้นเป็น 38 ครอบครัว  และร่วมกันจัดตั้ง กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว’  ขึ้นมา

สุนทร บอกว่า  เขาได้ใช้ที่ดินของตัวเองเนื้อที่ประมาณ 7 ไร่  เป็นเสมือนแปลงสาธิตการทำเกษตรอินทรีย์  เน้นการปลูกพืชผักพื้นบ้าน  เช่น  ผักกูด  ผักปลัง  หวาย  และผักอื่นๆ กว่า 10 ชนิด  เน้นผักที่เพาะปลูกง่าย  ไม่มีแมลงรบกวน   สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้เพาะปลูกต่อไปได้  

ผักปลัง (กลาง) ผักพื้นบ้านริมรั้วขึ้นได้ดีทุกภาค  ทำอาหารได้หลายชนิด  มีประโยชน์มากมาย 

ปลูกผลไม้ต่างๆ  เช่น  ทุเรียน  เงาะ  มะม่วง  กระท้อน  ชมพู่  มังคุด  ส้มโอ  มะละกอ  กล้วยหอม  ฯลฯ  ใช้ปุ๋ยหมักทำจากมูลสัตว์  ปลูกปอเทืองคลุมหน้าดินเมื่อย่อยสลายจะกลายเป็นปุ๋ย  ใช้น้ำหมักชีวภาพเพื่อบำรุงพืชและดิน  และใช้สมุนไพร  เช่น  บอระเพ็ด  หางไหล  หนอนตายหยาก  ตะไคร้หอม  มาทำเป็นน้ำหมักใช้ขับไล่แมลง  รวมทั้งยังเลี้ยงไก่ไข่และเป็ดแบบอินทรีย์  ไม่ขังคอก  มีพื้นที่ให้ไก่และเป็ดได้เดินคุ้ยหาอาหารกินเอง  ทำให้ได้ ไข่อารมณ์ดี’  มูลเอาไปทำปุ๋ย   นอกจากนี้ยังพาสมาชิกไปศึกษาเรียนรู้ที่กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต  จ.ฉะเชิงเทรา  กลุ่มเกษตรอินทรีย์วังน้ำเขียว  จ.นครราชสีมา  ฯลฯ  ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ทำเกษตรอินทรีย์มานานหลายสิบปี  มีตลาดรองรับที่แน่นอน  ทำให้สมาชิกเกิดความเชื่อมั่น  ทุ่มเทกับเกษตรอินทรีย์อย่างเต็มที่ 

จากการเพาะปลูกผักพื้นบ้าน  สมาชิกได้ขยายการเพาะปลูกไปยังพืชผักที่ตลาดมีความต้องการสูง  เช่น  คะน้า  ผักกาด  กะหล่ำปลี  บวบ  ถั่วยาว  ผักสลัด  ฯลฯ  แต่ยังยึดหลัก สร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยแก่ผู้บริโภค”  โดยกลุ่มได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์จากมาตรฐานสากลตั้งแต่ปี 2556  (ต่อมาในปี 2562 ได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากกรมวิชาการเกษตร)

อย่างไรก็ตาม  นอกจากการสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัยดังกล่าวแล้ว  กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วยังได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดทำ ธรรมนูญสุขภาพตำบลเขาไม้แก้ว ขึ้นมา  ในเดือนกันยายน 2557  โดยร่วมมือกับวัด  โรงเรียน  อบต.  รพ.สต.  ผู้นำท้องถิ่น  และชุมชน  จัดทำเป็นข้อตกลงหรือกติกาในการอยู่ร่วมกัน  มีเป้าหมายเพื่อให้คนเขาแก้ว  กินดี  อยู่ดี  มีสุข  มีวิสัยทัศน์  คือ  “เขาไม้แก้วน่าอยู่  ผู้คนน่ารัก” โดยส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์  กินผักพื้นบ้าน  อาหารท้องถิ่น  ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม  ป่าชุมชน  อนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี  ฯลฯ

ผักและผลไม้บางส่วนวางจำหน่ายในที่ทำการกลุ่มฯ

ส่วนด้านการตลาดนั้น  กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วใช้ช่องทางเจาะตลาดคนรักสุขภาพ  นำพืชผัก  ผลไม้  ไข่ไก่  ไข่เป็ด  ข้าวอินทรีย์  น้ำตาลอ้อยอินทรีย์  ฯลฯ  ไปขายที่โรงพยาบาลกบินทร์บุรี  เลม่อนฟาร์ม  ตลาดนัดชุมชน  และออกร้านตามงานประชุม  งานนิทรรศการต่างๆ  ทำรายได้ให้สมาชิกทุกสัปดาห์ๆ หนึ่งไม่ต่ำกว่า  2,000-3,000 บาท  หรือมากกว่านั้น !!

เราสร้างระบบอาหารที่ปลอดภัย  ตลาดที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค   โดยควบคุมการผลิตอย่างประณีตทุกขั้นตอน  ผู้ซื้อสามารถตรวจสอบวิธีการผลิต  และเข้ามาดูการผลิตในแปลงได้ตลอดเวลา  มีการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์   เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นว่าจะได้ผลิตผลอินทรีย์อย่างแท้จริง  และเรายังสนับสนุนให้เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ ขยายการผลิตผักอินทรีย์ให้มากขึ้น  เมื่อมีผู้ผลิตมากขึ้น  ราคาการจำหน่ายก็จะไม่สูง  คนทุกระดับสามารถซื้อผักและผลไม้ไปบริโภคได้  เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนได้กินอาหารที่ปลอดภัย  ในราคาที่เป็นธรรม และเกษตรกรก็สามารถอยู่ได้”  สุนทรบอก

 ผลิตสมุนไพร-กัญชาทางการแพทย์

จากการร่วมกันผลิตพืชผักและอาหารที่ปลอดภัย  ในปี 2560  โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภับภูเบศร  จ.ปราจีนบุรี  ได้ทำสัญญารับซื้อผลผลิตจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว  เพื่อนำไปทำอาหารให้แก่ผู้ป่วย  เช่น  ผักกาด  คะน้า  กวางตุ้ง  มะเขือ  ผักชี  ผักกูด  ฯลฯ

นอกจากนี้ รพ.ฯ ยังส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรอินทรีย์ฯ ปลูกสมุนไพรป้อนให้แก่ รพ.เพื่อนำไปผลิตเป็นยาแผนไทย  เช่น  ต้นกระดูกไก่ดำ  มีสรรพคุณแก้ปวดเมื่อย  ฟกช้ำ  ข้อต่อและกล้ามเนื้ออักเสบ  โดย รพ.นำสมุนไพรกระดูกไก่ดำไปสกัดเอาสารสำคัญไปผสมตัวยาอื่นๆ  ใช้เป็นสเปรย์ฉีดพ่น,  รวมทั้งปลูกฟ้าทะลายโจร  ขมิ้นชัน  อัญชัญ  กระเจี๊ยบแดง  บัวบก  ฯลฯ  นำไปผลิตเป็นยาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ต่างๆ

โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19  ตั้งแต่ปี 2563  รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้สั่งซื้อสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเพื่อนำไปผลิตยารักษาผู้ป่วยจากกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วจำนวน 10 ตัน  ราคาตันละ 250,000 บาท  หรือ 2.5 ล้านบาท  แต่กลุ่มฯ สามารถผลิตและส่งป้อนได้เพียง  3 ตัน

กัญชาทางการแพทย์  หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายปลดล็อกกัญชาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์  รวมทั้งนำสารสกัดจากกัญชามาใช้เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ  เช่น  ทำเครื่องสำอาง  ส่วนผสมในอาหาร  เครื่องดื่ม  ฯลฯ  รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรได้สนับสนุนให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เพาะปลูกกัญชา  โดย รพ.เป็นฝ่ายจัดหาต้นพันธุ์กัญชา  และรับซื้อผลผลิตเพื่อนำมาใช้ประโยชน์

ทั้งนี้กัญชามีสารประกอบ Cannabinoids จำนวนมาก โดยมีตัวหลัก คือ THC (Tetrahydrocannabidiol) และ CBD (Cannabidiol)  ฤทธิ์ของ THC มีผลต่อจิตประสาท  ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย  นอนหลับ  ลดอาการคลื่นไส้  อาเจียน  และกระตุ้นให้อยากอาหาร  ส่วน CBD มีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ  ลดอาการชักเกร็ง  และมีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้องอกหลายชนิดในหลอดทดลอง

ผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาจาก รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

สุนทร  คมคาย  บอกว่า  กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว  ได้ลงนามข้อตกลง (MoU) กับรพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเพื่อเพาะปลูกกัญชาสายพันธุ์ไทย พันธุ์หางกระรอกภูพานจำนวน 1,000 ต้น  โดยปลูกในโรงเรือน  ระบบปิด  จำนวน 4 โรง   เป็นการปลูกแบบอินทรีย์  เริ่มปลูกเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา  ใช้เวลาปลูกประมาณ  5-6 เดือนจึงเริ่มเก็บเกี่ยวได้  โดยจะเก็บเกี่ยวเฉพาะใบ (ดอกกัญชายังไม่ปลอดล็อก  ยังถือว่าเป็นยาเสพติด) นำใบมาอบแห้งเพื่อไล่ความชื้นและป้องกันเชื้อราแล้วส่งมอบให้แก่ รพ.  ที่ผ่านมาส่งมอบกัญชาอบแห้งไปแล้วจำนวน 85 กิโลกรัม  ราคากิโลกรัมละ 5,500 บาท

นอกจากนี้กลุ่มยังร่วมมือกับ รพ.สต. เขาไม้แก้ว  ปลูกกัญชาเพื่อการแพทย์อีกจำนวน 50  ต้น  เริ่มปลูกในช่วงปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  ตามแผนงานจะสามารถเก็บเกี่ยวได้ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2565   โดยสมาชิกกลุ่มเกษตรอินทรีย์ร่วมกันลงหุ้นๆ ละ 500 บาท  คนหนึ่งไม่เกิน 20 หุ้น  เพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกกัญชา  เช่น  ค่าโรงเรือน  แรงงาน  เมล็ดพันธุ์  ฯลฯ

กัญชาถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ  เป็นพืชทางเลือกที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้  แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องปลดล็อกเพื่อให้นำดอกกัญชามาใช้ประโยชน์ได้  เช่น  นำมาเป็นเครื่องปรุงรส  หรือผงนัว  ใส่ในอาหาร  แกงเผ็ด  ผัดเผ็ด  ต้มยำ  เพราะดอกกัญชามีคุณสมบัติทำให้อยากอาหาร  เมื่อใส่แล้วจะทำให้อาหารมีรสชาติอร่อย  ทำให้ใช้ประโยชน์จากกัญชาได้หลายอย่าง  ไม่ใช่เฉพาะทางการแพทย์เท่านั้น  สุนทรเสนอความเห็น  และว่า  กลุ่มฯ มีแผนที่จะนำผลผลิตจากกัญชามาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ  เช่น  คุ๊กกี้กัญชา   ชาชงดื่ม  น้ำกัญชาสด  ผงนัวหรือผงชูรสที่ผลิตจากกัญชา  ลูกประคบกัญชา  ฯลฯ

ใบกัญชาอบแห้ง กก.ละ 5,500 บาท  พร้อมส่งมอบให้ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร

10 ปีเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้ว...ย่างก้าวสู่ความเปลี่ยนแปลง

หากนับก้าวแรกนับจากการรวมกลุ่มกันทำเกษตรอินทรีย์ในปี 2555  ปัจจุบันกลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วมีอายุย่างเข้า 10  ปี  และเป็น 10 ปีที่มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาตลอด  เช่น  ในปี 2562  กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วได้ร่วมกับเกษตรกรผู้ผลิตผักและผลไม้อินทรีย์ตำบลต่างๆ  ในจังหวัดปราจีนบุรี  จัดตั้ง กลุ่มสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี’  เพื่อร่วมกันขยายพื้นที่และพัฒนาตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้หลากหลาย  ได้มาตรฐาน  ตามแนวคิดของสุนทรที่ว่า...

เมื่อมีผู้ผลิตมากขึ้น  ราคาจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ก็จะไม่สูง  คนทุกระดับสามารถซื้อผักและผลไม้ไปบริโภคได้  เพื่อส่งเสริมให้ทุกคนได้กินอาหารที่ปลอดภัย  ในราคาที่เป็นธรรม และเกษตรกรก็สามารถอยู่ได้” 

นอกจากนี้สหกรณ์ฯ ยังได้รับการรับรองมาตรฐานตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงระดับสากล  เช่น  PGS  (Participatory Guarantee  Systems = PGS  หรือ “ระบบประกันคุณภาพในระดับท้องถิ่นที่ให้การรับรองผู้ผลิต  โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง  พัฒนาระบบนี้โดย IFOAM) , IFOAM (ระบบรับรองเกษตรอินทรีย์พัฒนาโดยสหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ International Federation of  Organic  Agriculture  Movements), organicthailand,  EU, CANADA  ฯลฯ  ปัจจุบันสหกรณ์เกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี  มีสมาชิกเกือบ 200 ราย  ในแต่ละปีสามารถส่งพืชผัก  ผลไม้  อาหาร  ข้าวอินทรีย์  จำหน่ายได้ปีละกว่า 2 ล้านบาท

บรรจุผักส่งลูกค้า

ขณะเดียวกัน  กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในเพาะปลูก  โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ในปี 2563  นำระบบเกษตรอัจฉริยะใช้ในโรงเรือนเพาะปลูก   เพื่อควบคุมการปลูกพืชเกษตรอินทรีย์ในระบบปิดด้วยเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) ควบคุมระบบเปิด-ปิดน้ำ และจ่ายปุ๋ยอัตโนมัติ  

โดยสั่งการผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ  พร้อมติดตามการทำงานของระบบ  และการเจริญเติบโตของพืชผักผ่านกล้องวงจรปิด  ทำให้การดูแลแปลงเพาะปลูกมีความแม่นยำ  โดยเฉพาะผักใบ  เช่น  กวางตุ้ง  ผักบุ้ง  คะน้า  ผักกาด  ฯลฯ ที่ต้องการน้ำในปริมาณที่เหมาะสม  ไม่มากหรือน้อยเกินไป   ทำให้เกษตรกรสามารถจัดการน้ำได้อย่างคุ้มค่า   มีประสิทธิภาพ  ประหยัดเวลา  ลดค่าใช้จ่ายด้านแรงงาน   ผลผลิตมีคุณภาพ  ตลาดมีความต้องการ  ขายได้ราคาดี

นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา  กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วได้เพิ่มช่องการขายสินค้าทางออนไลน์ผ่านเพจ ‘รวมพลคนวิถีเกษตรอินทรีย์ บ้านเขาไม้แก้วเพจ ‘ตลาดทางเลือกตลาดเกษตรอินทรีย์ปราจีนบุรี’ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้า   ผู้ซื้อสามารถสั่งสินค้าล่วงหน้าและนัดจุดรับส่งสินค้าได้  รวมทั้งส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน  ชมสวนเกษตรอินทรีย์  ไร่องุ่น  ชิมไวน์  ฟาร์มควาย  การทำน้ำอ้อย-ไซรัปอินทรีย์  ฟาร์มสเตย์  ฯลฯ

ส่วนการต่อสู้เพื่อ ‘คัดค้านการจัดตั้งโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าชีวมวล’ นั้น  ชาวเขาไม้แก้วได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้เพิกถอนใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานฯ ตั้งแต่ปี 2557  ต่อมาในปี 2559  ศาลปกครองชั้นต้นได้พิพากษาให้ชาวบ้านเป็นฝ่ายแพ้คดี  ต่อมาชาวบ้านได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด  โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2564  ที่ผ่านมา  ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตการจัดตั้งโรงงานไฟฟ้าฯ  เนื่องจากพื้นที่ที่ตั้งโรงงานในตำบลเขาแก้วถูกกำหนดให้เป็นที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม  ไม่สามารถจัดตั้งโรงงานทุกประเภทได้ 

ถือเป็นการสิ้นสุดการต่อสู้ที่ยาวนานกว่า 10 ปี…!!  โดยสุนทร  คมคาย  ได้เดินเท้าแก้บนจากศาลปกครองสูงสุด  ถนนแจ้งวัฒนะ  กรุงเทพฯ  ในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา  ระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร  ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์จนถึงเขาไม้แก้ว  แผ่นดินแม่...

...แต่การต่อสู้และการเดินทางของสุนทรและคนเขาไม้แก้วยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้  ยังมีภัยคุกคามใหม่ๆ ทั้งจากโรงงานขยะอุตสาหกรรมที่จ้องจะเข้ามา  รวมทั้งภารกิจในการอนุรักษ์ป่าชุมชน  แหล่งน้ำ  การสร้างความมั่นคงด้านอาหารในโรงเรียน  การปรับเปลี่ยนเกษตรกรคนอื่นๆ มาสู่เกษตรอินทรีย์  เพื่อสร้างอาหารที่ปลอดภัยและเกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง  !!

กลุ่มเกษตรอินทรีย์เขาไม้แก้วขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมงาน ‘มาโฮมกัน’ วันที่ 25 ธันวาคมนี้ ภายในงานมีเวทีเสวนาเรื่องการสร้างความเข้มแข็งชุมชน ด้วยเกษตรอินทรีย์ งานบญกินข้าวใหม่ อาหารพื้นบ้าน จำหน่ายพืชผัก อาหารอินทรีย์ ติดตามรายละเอียดที่เฟสบุ๊คส์ ‘รวมพลคนวิถีเกษตรอินทรีย์ บ้านเขาไม้แก้ว’

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ