อำเภอแม่แจ่มโอบล้อมไปด้วยขุนเขา อยู่ไม่ไกลจากดอยอินทนนท์ มีพื้นที่เกือบ 1.7 ล้านไร่ กว่า 98 % เป็นป่าสงวนฯ และป่าอนุรักษ์ ชาวบ้านเกือบทั้งหมดมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน
การสร้างบ้านแปงเมืองหลังภัยพิบัติที่บ้านยางหลวง โดยชาวบ้านอพยพหนีภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปี 2545 มาอยู่ที่ม่อนบ่อเฮาะเพื่อสร้างบ้านสร้างชุมชนใหม่ ทำให้ชาวบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้พวกเขายังจัดตั้งกองทุนต่างๆ เอาไว้ช่วยเหลือดูแลกัน ถือเป็นต้นแบบแห่งหนึ่งในการพัฒนาเมืองแม่แจ่ม (อ่านตอนที่ 2 จากภัยพิบัติ ‘บ้านยางหลวง’ สู่ยุค ‘สร้างบ้านแปงเมือง’ www.thaipost.net/public-relations-news/508869/)
แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหารากเหง้าของชาวแม่แจ่ม ทั้งปัญหาที่ดินทำกินที่ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ครอบครองที่ดิน ปัญหาการปลูก‘ข้าวโพด’ พืชเชิงเดี่ยวที่ทำลายหน้าดิน แหล่งน้ำ สร้างปัญหาฝุ่นควันจากการเผาซากไร่ และสร้างหนี้สิน ฯลฯ ยังไม่ได้รับการแก้ไข...ปมปัญหาเหล่านี้จึงนำไปสู่การวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาอยางเป็นระบบและครบวงจร...นั่นคือแนวทาง...’แม่แจ่มโมเดลพลัส’ !!
ปัญหาที่ดินทำกิน ขาดแคลนแหล่งน้ำ และหนี้ข้าวโพด
อำเภอแม่แจ่มมี 7 ตำบล มีพื้นที่ทั้งหมด 1,692,698 ไร่ ประชากรประมาณ 60,000 คน ประกอบด้วย คนเมือง ลัวะ ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ม้ง ลีซู ฯลฯ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพปลูกข้าวโพด หอมแดง กะหล่ำปลี ถั่วเหลือง ทำนา เลี้ยงสัตว์ รับจ้าง
แม่แจ่มเป็นเมืองเก่าแก่ มีหลักฐานเป็นวัดที่ก่อสร้างมานานนับพันปี เช่น วัดช่างเคิ่ง หรือ ‘วัดหลวง’ ส่วนวัดที่ก่อสร้างรุ่นหลัง เช่น วัดบุปผาราม สร้างในปี พ.ศ.2469 ซึ่งแสดงว่ามีชุมชนอยู่อาศัยต่อเนื่องกันมายาวนาน แต่เมื่อมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และ พ.ร.บ.ป่าสงวนฯ พ.ศ.2507 ทำให้ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกลายเป็นผู้บุกรุก ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย เมื่อเกิดปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถจัดสร้างแหล่งน้ำให้แก่ชาวบ้านได้ โดยให้เหตุผลว่าเป็นพื้นที่บุกรุกหรืออยู่ในเขตป่าสงวนฯ
พื้นที่ส่วนใหญ่ของอำเภอแม่แจ่ม คือ 1,668,883 ไร่ หรือประมาณ 98.60 % อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม พื้นที่ป่าต้นน้ำ ป่าอนุรักษ์ และเขตอุทยานแห่งชาติ ส่วนพื้นที่ที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ เช่น โฉนด, นส.3, นส.3 ก, สปก. ฯลฯ มีพื้นที่รวมกันเพียง 23,815 ไร่ หรือ 1.40 % ของพื้นที่ทั้งหมด ทำให้ประชาชนมีปัญหาเรื่องสิทธิในที่ดินทำกิน เกิดผลกระทบต่อเนื่องไปถึงปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ปัญหาหนี้สินจากการปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะข้าวโพด (ทำอาหารสัตว์) ยิ่งปลูกยิ่งเป็นหนี้ และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เกิดภัยแล้ง แหล่งน้ำตื้นเขิน ฝุ่นควันจากการเผาซากพืชไร่ ผลกระทบจากการใช้สารเคมี ฯลฯ
จากปัญหาต่างๆ ดังกล่าว ชาวแม่แจ่ม ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน องค์กรปกครองท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยราชการ สถาบันการศึกษา ฯลฯ จึงได้ร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อนำไปสู่หนทางแก้ไข โดยจัดทำโครงการต้นแบบการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาตั้งแต่ปี 2552 ในช่วงแรกเน้นไปที่การจัดระเบียบควบคุมที่ดินทำกิน เพื่อยับยั้งการบุกรุกพื้นที่ป่า ลดปัญหาฝุ่นควันจากการเผาเศษซากพืชไร่ ฯลฯ เรียกโครงการนี้ว่า ‘แม่แจ่มโมเดล’
ต่อมาในปี 2559 จึงได้ยกระดับจากการจัดการปัญหาการบุกรุกป่าและฝุ่นควันไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งระบบ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน เรียกโครงการนี้ว่า ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ (Mae Chaem Model Pluss)
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังเป็นอาชีพหลักของชาวแม่แจ่ม แม้จะมีผลกระทบหลายด้าน รวมทั้งสร้างหนี้สิน แต่เป็นพืชที่ไม่ต้องอาศัยระบบชลประทาน รอเพียงน้ำฝน ปลูกแล้วขายได้แน่นอน ทำให้เกษตรกรมีเงินก้อนเอาไปใช้จ่ายหมุนเวียน ต่อวงจรชีวิตให้ยืดยาวออกไป
สมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส ขยายความว่า ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา อัตราขยายตัวของพื้นที่ทำกินในป่าต้นน้ำแม่แจ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะช่วงปี พ.ศ.2552-2559 พื้นที่ในเขตป่าสงวนฯ แม่แจ่มกลายเป็นไร่ข้าวโพดเพื่อส่งโรงงานผลิตอาหารสัตว์อย่างรวดเร็ว จาก 86,104 ไร่ในปี 2552 ในปี 2554 เพิ่มเป็น 105,465 ไร่ และปี 2559 เพิ่มเป็น 123,229 ไร่
“ผลกระทบจากการขยายตัวของไร่ข้าวโพดบนพื้นที่สูง คือ เกิดปัญหาภัยแล้งจากการบุกรุกพื้นที่ป่า พอถึงช่วงฤดูฝนเกิดปัญหาหน้าดินถูกชะล้าง ดินทรายไหลลงไปในแหล่งน้ำ ทำให้แม่น้ำลำห้วยตื้นเขิน เกิดปัญหาน้ำแล้งตามมา ผลกระทบจากการใช้สารเคมี การเผาไร่ซากข้าวโพดที่มีปริมาณประมาณปีละ 95,000 ตัน ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาระบบทางเดินหายใจ เฉพาะในอำเภอแม่แจ่มมีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสูดดมฝุ่นควันประมาณปีละ 5,000 ราย” สมเกียรติบอก
แต่ที่สำคัญคือปัญหาหนี้สินจากการทำไร่ข้าวโพด เนื่องจากในช่วงหลายปีปีที่ผ่านมา รัฐบาลมีนโยบายไม่ให้บริษัทเอกชนรับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทำให้ชาวแม่แจ่มส่วนใหญ่ซึ่งปลูกข้าวโพดในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์หรือพื้นที่ป่าสงวนฯ ประมาณ 115,000 ไร่ ไม่มีตลาดรองรับ หรือต้องขายในราคาต่ำกว่าทุน ทำให้มีหนี้สินสะสม โดยในปี 2560 เกษตรกรในอำเภอแม่แจ่มเป็นหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมกันประมาณ 1,400 ล้านบาท และหนี้กองทุนหมู่บ้านอีกประมาณ 300 ล้านบาท (ไม่รวมหนี้อื่นๆ และหนี้นอกระบบ)
“ดังนั้นการก้าวให้พ้นจากวงจรปัญหาหนี้สิน การสร้างระบบการเกษตรที่จะมาทดแทนการปลูกข้าวโพด เช่น ไม้ไผ่ กาแฟ ไม้ผล เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ การแก้ปัญหาระบบนิเวศน์ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการต่างๆ มาสนับสนุน เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร การเชื่อมโยงระบบการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้เกษตรกรในอำเภอแม่แจ่มหลุดพ้นออกจากเขาวงกตสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้ตลอดไป” ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสกล่าวถึงแนวทางแก้ปัญหา
สมชาติ ภาระสุวรรณ (แถวหน้าที่ 6 จากซ้าย) ผอ.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในขณะนั้น ร่วมปลูกไผ่ในโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสช่วงปี 2561
แม่แจ่มโมเดลพลัส ‘ไผ่-กาแฟ’ รูปธรรมในการหลุดพ้นจากเขาวงกต
โครงการ ‘แม่แจ่มโมเดลพลัส’ เริ่มเป็นรูปเป็นร่างอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2559 และต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีหน่วยงานภาคีทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมสนับสนุน เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บริษัทประชารัฐรักสามัคคีเชียงใหม่ บริษัทในเครือซีพี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ) มูลนิธิฮักเมืองแจ๋ม มูลนิธิไทยรักษ์ป่า สถาบันอ้อผะหญา อำเภอแม่แจ่ม อบต. เทศบาลในอำเภอแม่แจ่ม รวมทั้งผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ฯลฯ
เช่น ลดการปลูกข้าวโพด พืชเชิงเดี่ยว ลดการใช้สารเคมี ส่งเสริมการปลูกไผ่ กาแฟ ผลไม้ เสาวรส อโวคาโด ผักอินทรีย์ ให้เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยนำกล้าพันธุ์ต่างๆ แจกจ่ายให้เกษตรกรปลูก เพื่อพลิกฟื้นดอยหัวโล้นให้เป็นสีเขียว สร้างเมืองแม่แจ่มให้เป็น ‘เมืองป่าไม้’
พิพัฒน์ ธนรวิทยา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยยางส้าน ต.ท่าผา อ.แม่แจ่ม ชาวปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) บอกว่า ชาวปกาเกอะญอในอำเภอแม่แจ่มอยู่อาศัยในพื้นที่มานานกว่า 100 ปี ตั้งแต่สมัยรุ่นปู่ ปัจจุบันส่วนใหญ่ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ปลูกหอมแดงหอมกระเทียม ฟักทอง และปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากราคาข้าวโพดตกต่ำ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลประกาศไม่ให้พ่อค้ารับซื้อข้าวโพดที่ปลูกในพื้นที่สูงหรือป่าสงวนฯ
“เมื่อก่อนข้าวโพดราคาดี ใครๆ ก็ปลูกแต่ข้าวโพด เพราะไม่ต้องดูแลมาก มีพ่อค้ามารับซื้อถึงที่ พอปลูกเยอะๆ ราคาก็ต่ำ เมื่อปลูกนานหลายปีก็ต้องใช้ปุ๋ยเคมีบำรุงดิน เมล็ดพันธุ์ก็ต้องซื้อทุกปี เพราะข้าวโพดพวกนี้เก็บเอาไว้ทำพันธุ์ไม่ได้ พอจะปลูกใหม่ก็ต้องเผาหญ้า เผาตอข้าวโพด ทำให้เกิดควันไฟ ชาวบ้านเป็นโรคหอบหืดกันมาก อยากจะปลูกพืชอื่นที่มีราคาดีกว่า ปลอดภัยกว่า ตอนนี้ในหมู่บ้านผมเริ่มปลูกไผ่กันเยอะแล้ว ถ้าปลูกไผ่แล้วได้ผลดีกว่า คนอื่นๆ ก็จะปลูกกันอีกเยอะ” ผู้ใหญ่พิพัฒน์บอก
ผู้ใหญ่พิพัฒน์กับดอยหัวโล้น
การพลิกฟื้นผืนป่าเพื่อสร้างเศรษฐกิจชุมชนตามโครงการ “แม่แจ่มโมเดลพลัส” นั้น สมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงานโครงการ บอกว่า จะเน้นการปลูกไผ่เพื่อแปรรูป เพราะใช้เวลาปลูกไม่กี่ปี เป้าหมายเพื่อยกระดับให้เกษตรกรมีอำนาจในการต่อรอง ซึ่งจะต่างจากการปลูกข้าวโพดที่เกษตรกรกำหนดราคาขายไม่ได้ โดยเกษตรกรจะเป็นคนปลูก แปรรูป และเป็นเจ้าของร่วมในลักษณะของวิสาหกิจชุมชน ใช้พื้นที่ปลูก 1 ไร่ต่อ70 ต้น การปลูกไผ่ช่วงแรกจะปลูกแบบผสมผสานหรือแทรกไปในแปลงข้าวโพด เมื่อไผ่โตและสามารถตัดขายได้แล้ว เกษตรกรจะค่อยๆ ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด เพื่อปลูกไผ่เพียงอย่างเดียว
ไผ่ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกเป็นไผ่พันธุ์ ‘ซางหม่น’ และ ‘ฟ้าหม่น’ ซึ่งเป็นไผ่ตระกูลเดียวกัน มีลักษณะเด่น คือ ลำไม้ไผ่โตเร็ว ลำตรง เนื้อไม้หนา เหมาะนำไปแปรรูป ทำฟอร์นิเจอร์ หน่อกินได้ ฯลฯ ใช้เวลาปลูก 2-3 ปีสามารถนำไปใช้ได้ อายุ 4 ปีใช้ทำเฟอร์นิเจอร์หรือสร้างบ้านได้ เป้าหมายผลผลิต 10-30 ตัน/ ไร่ / ปี ราคาไผ่ดิบประมาณตันละ 1,000 บาท
นอกจากนี้การปลูกไผ่บนพื้นที่สูงหรือบนดอยจะช่วยป้องกันดินถล่มและช่วยอุ้มน้ำ เพราะไผ่มีรากฝอยแผ่กว้างและหนาแน่นช่วยยึดหน้าดิน สร้างความชุ่มชื้นให้แก่ผืนป่า ใบไผ่ที่ร่วงจะกลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์บำรุงดิน ไม่ต้องใช้สารเคมี ไม่ต้องเผาซากไร่เหมือนปลูกข้าวโพด เมื่อไผ่ที่ปลูกแล้วเริ่มโต ต้นไผ่ก็จะแตกหน่อแทงยอดขึ้นมาอีก เมื่อตัดไผ่รุ่นแรกไปแล้วก็จะมีไผ่ที่เติบโตตามมาหมุนเวียนให้ตัดได้ตลอดทั้งปี
ในปี 2562 มีการจัดตั้งโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์จากไม้ไผ่ ดำเนินการในรูปแบบของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ใช้ชื่อว่า ‘วิสาหกิจชุมชนแปรรูปและผลิตภัณฑ์ไผ่แม่แจ่ม’ งบประมาณมาจากการระดมทุนของชาวบ้านและองค์กรต่างๆ รวมทั้งการสมทบเงินจากบริษัทเอกชน รวมทั้งหมดประมาณ 2 ล้านบาทเศษ เพื่อก่อสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักรแปรรูปไม้ ตัดไม้ ฉลุลายไม้ สร้างบ่อแช่ไม้ไผ่ด้วยน้ำยากันมอดแมลงกินเนื้อไม้
โรงงานแปรรูปไม้ไผ่แห่งนี้มีชาวบ้านมาทำงานประจำ 5 คน ช่วยกันแปรรูปไม้ไผ่เพื่อผลิตเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ซุ้มนั่งพักผ่อนกลางแจ้ง เก้าอี้ชิงช้า ฉากกั้นห้อง แผ่นบังแดด (facade) แผ่นไม้ไผ่อัด หลังคา ฯลฯ โดยโรงงานจะรับซื้อไม้ไผ่จากชาวบ้าน ราคาตามขนาด ตั้งแต่ลำละ 60-70 บาท จนถึงไผ่ยักษ์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8-10 นิ้ว ราคารับซื้อลำละ 200 บาทขึ้นไป
โรงงานแปรรูปไม้ไผ่ โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส
ส่วนด้านการตลาดหรือห่วงโซ่ ‘ปลายน้ำ’ นั้น ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งว่าจ้างให้ผลิตหลังคาไม้ไผ่ ราคาไพ (แผ่น) ละ 45/60 บาท (ไม่แช่น้ำยา/แช่น้ำยากันมอด) เดือนหนึ่งประมาณ 2,000 ไพ
หลังจากนั้นทางบริษัทจะนำหลังคาไม้ไผ่ไปอบน้ำยากันปลวกและผสมผงโลหะบางชนิดเพื่อให้หลังคาไม้ไผ่มีความทนทาน ทนแดด ทนฝน ทนปลวก มีอายุใช้งานประมาณ 15 ปี ที่สำคัญคือมีความสวยงาม แปลกตา เป็นที่ต้องการของธุรกิจท่องเที่ยว เช่น รีสอร์ท โรงแรม ฯลฯ
ไม้ไผ่นำมาประดับตกแต่งรีสอร์ท ห้องพัก ได้หลากหลายสไตล์
‘ฟ้าแจ่ม-แจ่มจริง’ กาแฟแก้เผาป่า
นอกจากการส่งเสริมการปลูกไผ่ โดยการสร้างธุรกิจ ‘ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ’ ตั้งแต่การส่งเสริมการปลูก การแปรรูป หาตลาดรองรับแล้ว ‘กาแฟ’ ก็เป็นพืชเศรษฐกิจอีกชนิดหนึ่งที่โครงการแม่แจ่มโมเดลพลัสส่งเสริมให้เกษตรกรปลูก มีทั้งพันธุ์โรบัสต้าและอราบิก้า เพราะอำเภอแม่แจ่มมีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเฉลี่ยตั้งแต่ 460-1,200 เมตร จึงปลูกกาแฟได้ทั้ง 2 สายพันธุ์ (อราบิก้าจะชอบพื้นที่ที่มีความสูงประมาณ 1,000 เมตรขึ้นไป)
สมเกียรติ มีธรรม ผู้ประสานงานโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส บอกว่า ปัจจุบันในอำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่ปลูกกาแฟและให้ผลผลิตแล้วประมาณ 3,000 ไร่ มีผลผลิตเป็นเมล็ดกาแฟสุกประมาณปีละ 200 ตัน ส่วนใหญ่จะนำมาแปรรูปขายเป็นเมล็ดกาแฟคั่วบรรจุถุงจำหน่าย รวมแล้วเกือบ 10 แบรนด์ เช่น กาแฟเมืองแจ๋ม, วิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกาแฟบ้านกองกาย, กาแฟพยัคฆ์. กาแฟม่อนจานบิน. กาแฟฟ้าแจ่ม ฯลฯ ซึ่งเกษตรกรผู้ปลูกจะต้องดูแลต้นกาแฟเป็นอย่างดี นิยมปลูกแซมกับพืชอื่นเพื่อให้กาแฟได้อาศัยร่มเงา ไม่มีการเผาซากพืชไร่ และต้องป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าหรือไฟจากไร่นาลุกลามไร่กาแฟ ถือเป็น “กาแฟแก้เผาป่า”
สมเกียรติบอกว่า กาแฟเหล่านี้ มีทั้งชาวบ้านผลิตเอง คั่วเอง บรรจุถุงขายเองทางออนไลน์ บางรายมีบริษัทเอกชนเข้ามาส่งเสริมขยายตลาด เช่น กาแฟบ้านกองกาย กลุ่มซีพีเข้ามาสนับสนุน
ส่วนกาแฟ ‘ฟ้าแจ่ม’ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส โดยเปิดร้าน ‘แจ่มจริง’ ขึ้นมารองรับ เพื่อเป็นศูนย์จำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากชุมชนและโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส ดำเนินการในลักษณะวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันจำหน่ายกาแฟสด เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ข้าวซอย ฯลฯ
“การปลูกกาแฟจะช่วยลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดได้ ลดปัญหาฝุ่นควันจากการเผาซากไร่ ตอนนี้ในแม่แจ่มมีพื้นที่ปลูกกาแฟประมาณ 3 พันไร่ และยังสามารถเพิ่มพื้นที่ปลูกได้อีก ที่ผ่านมากาแฟและไม้ผล ไม้ยืนต้นอื่นๆ ที่โครงการส่งเสริมให้ปลูกช่วยลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดได้ประมาณ 1 หมื่นไร่” สมเกียรติบอก และอธิบายว่า ในปี 2565 อำเภอแม่แจ่มมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดประมาณ 120,000 ไร่ แต่ในปี 2566 เหลือประมาณ 110,000 ไร่
สมเกียรติกับกาแฟ ‘ฟ้าแจ่ม’ ที่ร้านแจ่มจริง กาแฟคั่วไม่บด ราคาจำหน่ายขนาด 200 กรัม ถุงละ 180 บาท
‘ตำบลท่าผา’ หนุนปลูกกาแฟ ผลไม้ ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด
อุทัย บุญเทียม นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม บอกว่า ตำบลท่าผามีทั้งหมด 10 หมู่บ้าน รวม 1,800 ครัวเรือน ประชากรประมาณ 5,000 คน ส่วนใหญ่เป็นคนเมือง (80 %) และปกาเกอะญอ มีอาชีพปลูกข้าวโพด ข้าว หอมแดง ถั่วเหลือง กะหล่ำปลี เลี้ยงวัว ฯลฯ เนื้อที่ทั้งตำบลประมาณ 115 ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่ม และเขตอุทยานแห่งชาติแม่โถ ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิ์ ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน นอกจากนี้ยังมีปัญหาฝุ่นควัน ปัญหาหนี้สินจากการทำเกษตร การปลูกข้าวโพด น้ำท่วม น้ำแล้ง ฯลฯ
อุทัยบอกว่า ตำบลท่าผาเป็นส่วนหนึ่งของโครงการแม่แจ่มโมเดลพลัส โดยร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน ร่วมกันแก้ไขปัญหาฝุ่นควันและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนตั้งแต่ปี 2561 เช่น ลดการปลูกข้าวโพด ส่งเสริมการปลูกไผ่ กาแฟ ผักสลัด ผักอินทรีย์ต่างๆ ไม้ผล เสาวรส อโวคาโด้ เงาะ และไม้ยืนต้น เช่น ไม้สัก โดยนำไม้ไผ่มาทำเฟอร์นิเจอร์ โต๊ะ เก้าอี้ แคร่ ถ้วย ฯลฯ มีโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ในตำบลรองรับ ส่วนกาแฟมีบริษัทอเมซอน มาช่วยส่งเสริมการปลูกและจะรับซื้อผลผลิต มีชาวบ้านเข้าร่วมประมาณ 40 ราย
ถ้วยจากไม้ไผ่
“เมื่อก่อนชาวบ้านท่าผาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพหลักเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ตอนนี้เหลือพื้นที่ปลูกประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์ เพราะชาวบ้านปลูกกาแฟ ปลูกไผ่ ปลูกผลไม้เพิ่ม เราตั้งเป้าว่าจะลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดอย่างน้อยปีละ 200-300 ไร่ ส่วนคนที่ยังปลูก เราส่งเสริมให้นำซังข้าวโพด ต้นข้าวโพดที่เก็บฝักแล้วมาใช้ประโยชน์ นำมาเป็นอาหารสัตว์ ทั้งอาหารสดและเป็นอาหารหมักให้แก่วัว ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงสัตว์ เอาซังข้าวโพดมาใช้เพาะเห็ด ทำให้ไม่ต้องเผา คนที่ป่วยจากฝุ่นควัน จากการเผาไร่ก็ลดน้อยลง”
อุทัย นายกเทศมนตรีบอกถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นรอบด้าน และขยายความว่า ในตำบลท่าผายังมีอาสาสมัครหมู่บ้านละ 7-10 คน ช่วยกันเฝ้าระวัง ทำแนวกันไฟ ลาดตระเวน ดับไฟป่า ไฟจากไร่นา ฯลฯ ทำให้เทศบาลท่าผาได้รับเกียรติบัตรจากจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ในฐานะหน่วยงานที่มีผลงานดีเด่นด้านการป้องกัน แก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันดีเด่น ประจำปี 2566 !!
(ติดตามอ่าน....รูปธรรมการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย...สร้างแม่แจ่มให้เป็นเมืองสีเขียว)
นำต้นข้าวโพดที่เก็บเกี่ยวแล้วมาตากแห้งอัดเป็นก้อนใช้เป็นอาหารเลี้ยงวัวควาย ลดการเผา
***************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โฆษกศปช. เผยกรณี 'น้ำผุด' อ.เชียงดาว มอบหน่วยงานลงพื้นที่ศึกษาแนวทางใช้ประโยชน์
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) เปิดเผยว่า ตามที่ ศปช. ได้เคยประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เฝ้าระวังฝนตกหนักในพื้นที่ระหว่างวันที่ 20-24 พ.ย.ไปแล้วก่อนหน้านี้
สาวไทยแพ็คกระเป๋า แอ่วเหนือไปพร้อมกับเจ้าของรอยยิ้มพิฆาต 'คิม ซอน โฮ'
ทรูวิชั่นส์ นาว เอาใจสาวไทย ที่หลงรักในรอยยิ้มกระชากใจของเขยไทยอย่าง “คิม ซอน โฮ” ที่ครั้งนี้จะรับบทแขกรับเชิญพิเศษ พาสาว ๆ ไปออกเดท ท่องเที่ยวกันแบบชุ่มปอดที่ภาคเหนือของประเทศไทย ในรายการ “Brothers who eat and watch S2” (คู่หูตะลุยพาชิม ปี 2) ที่มีพิธีกรหลักดำเนินรายการอย่าง “คิมจุนฮยอน” และ “มุนเชยุน”
ทะเลหมอก! ยอดดอยอินทนนท์ หนาวสะท้าน อุณหภูมิต่ำสุด 6 องศาฯ
จังหวัดเชียงใหม่อากาศหนาวเย็นต่อเนื่องโดยเฉพาะที่ยอดดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง เช้าวันนี้อุณหภูมิเป็นเลขตัวเดียว