พม.-พอช. มอบของขวัญปีใหม่ ‘ชาวบ้านไผ่ จ.ขอนแก่น’ สร้างบ้านใหม่ 300 หลัง ร่วมมือภาคเอกชน-ท้องถิ่น-ชุมชน มอบบ้านเฟสแรก 120 หลัง “คุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อทุกคน”

พิธีขึ้นบ้านใหม่ ‘บ้านมั่นคง สหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่’ อ.บ้านไผ่  จ.ขอนแก่น  โดยมีนายนายยุทธพร  พิรุณสาร  รอง ผวจ.ขอนแก่น เป็นประธาน  ผู้ร่วมงานทำสัญลักษณ์‘บ้านมั่นคง’

จ.ขอนแก่น / กระทรวง พม.-พอช. มอบของขวัญปีใหม่ให้ชาวเมืองบ้านไผ่  จ.ขอนแก่น  สร้างบ้านสร้างชุมชนใหม่ 300 หลัง  โดยร่วมมือกับภาคเอกชน  ท้องถิ่นและชาวชุมชน  มอบบ้านเฟสแรกรวม 120 หลัง  โดยมีพิธีขึ้นบ้านใหม่ ‘บ้านมั่นคงสหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่’ ในวันนี้  ส่วนที่เหลือจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2568  พร้อมทั้งเตรียมสร้างงาน  สร้างอาชีพให้ชาวชุมชน  โดย กรอ.บ้านไผ่สนับสนุนชุมชนสร้างโรงงานผลิตน้ำดื่มจำหน่าย

วันนี้ (29 ธันวาคม)  ตั้งแต่เวลา 8.00 น. ที่สหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่ จำกัด ตำบลหนองน้ำใส อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น  มีพิธีขึ้นบ้านใหม่บ้านมั่นคง “บ้านที่มากกว่าคำว่าบ้าน”  โดยมีนายยุทธพร  พิรุณสาร  รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานในพิธี      มีผู้แทนหน่วยงานต่างๆ  ภาคธุรกิจเอกชน  คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนฯ อ.บ้านไผ่ (กรอ.บ้านไผ่) ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ผู้แทนขบวนองค์กรชุมชน  เครือข่ายบ้านมั่นคง  และชาวชุมชนประมาณ  200 คนร่วมงาน

ร่วมทำบุญขึ้นบ้านใหม่

พม.มอบของขวัญปีใหม่ชาวบ้านไผ่ “คุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อทุกคน”

 นายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวแสดงความยินดีกับชาวชุมชน   โดยกล่าวว่า งานนี้เป็นแรกในฐานะรองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น   ตนโชคดีที่ผู้ว่าฯ ได้มอบหมาย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี หลังจากอ่านเอกสารโครงการแล้วทำให้ตนสงสัยว่าทำได้อย่างไร? และการก่อสร้างไม่ใช่ 1 หลัง 2 หลัง แต่สำเร็จแล้ว 120 หลังคาเรือน จาก 300 หลังคาเรือน และจะสำเร็จตามมาอีก  ถือเป็นโครงการที่เยี่ยมยอด เพราะบ้านเป็นเรื่องที่สำคัญต่อชีวิต เป็นปัจจัย 4 เพราะเมื่อไม่มีบ้านคนเราจะหาความสุข  ความมั่นคงในชีวิตลำบาก การมีบ้านที่มั่นคงจะเป็นจุดเริ่มที่สำคัญในการเดินต่อไปข้างหน้า

นายยุทธพร  รอง ผวจ.ขอนแก่น  ตีฆ้องเปิดงาน

“สิ่งที่เกิดขึ้นในโครงการบ้านมั่นคงเมืองไผ่ นอกจากได้บ้านที่เป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีคุณค่าที่ซ่อนไว้ข้างหลัง จากรูปธรรมความสำเร็จนั้น  ก็เพราะชุมชนมีความสามัคคี จะสำเร็จทุกเรื่องถ้าชุมชนมีความรักความสามัคคี   ความสุจริตและจริงใจ จนเกิดพลังความร่วมมือที่ยิ่งใหญ่จากภาคการเมือง ภาคราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำเภอบ้านไผ่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และยังมีภาคประชาสังคม และ พอช.ที่เป็นสถาบันของภาคประชาชน และที่นี่มี กรอ.บ้านไผ่ ภาคเอกชนที่เข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน เป็นพลังความร่วมมือ เป็นต้นแบบ รักสามัคคี สุจริต จริงใจ”  รองผู้ว่าฯ ขอนแก่นกล่าว  และว่าโครงการนี้จะเป็นต้นแบบให้กับอีกหลายจังหวัด และเป็นจิ๊กซอว์ต่อไปทั่วประเทศไทย

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง พอช. กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วชุมชนนี้เพิ่งลงเสาเอก เพียงปีเดียวเห็นความสำเร็จ โครงการนี้นับว่าพิเศษมากๆ เมื่อเทียบกับการอยู่อาศัยเดิมของชาวบ้านที่ทนอยู่อาศัยมา วันนี้เป็นการเปลี่ยนชีวิตใหม่ โครงการบ้านมั่นคงเป็นโครงการ “บ้านที่มากกว่าบ้าน” เพราะเป็นการสร้างระบบสังคม การช่วยเหลือ เป็นความร่ำรวยในด้านต่างๆ โครงการนี้ทำให้เห็นความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน เป็นความพิเศษที่คนยากจนจะมีบ้านที่ดี มีชุมชนที่ดี มีระบบที่ดี นั่นเพราะความร่วมมือร่วมใจ ทำให้ครอบครัวเกิดความเข้มแข็งรักสามัคคี ทำให้ขอนแก่นมีเมืองที่เป็นตัวอย่างของความร่วมมือร่วมใจ มีรูปธรรมที่ชัดเจน  ความร่วมมือร่วมใจทำให้เกิดโครงการบ้านมั่นคง ความจนจากไป ความเจริญรุ่งเรืองเข้ามา ถือเป็นความภาคภูมิใจของโครงการบ้านมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง  

“หลังจากมีบ้านแล้ว ต้องมีระบบที่ดี มีระบบการอยู่ร่วมกัน การมีชุมชน มีการปรึกษาหารือช่วยกันคิด ทุกคนเข้าสู่ระบบที่เราจะช่วยเหลือดูแลกัน และจะพัฒนาลูกหลานให้เขามาร่วมการพัฒนาชุมชน สร้างอนาคตของลูกหลาน และคนบ้านไผ่กันอย่างไร ? เรามีชุมชน มีมือที่จับกัน แต่ยังไม่พอ   ต้องมีการวางแผนอาชีพ ลูกหลาน เพื่อร่วมกันเป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมือง ต้องพัฒนาคน พัฒนาธุรกิจ ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเศรษฐกิจที่ดี วิธีนี้เป็นวิธีการพัฒนาที่เกิดจากคนข้างล่างซึ่งเป็นทางที่ถูก ซึ่งบ้านไผ่ ต้องร่วมกันคิด ช่วยกันวางแผน และมีผู้ใหญ่มาร่วมคิด สร้างระบบที่เข้มแข็งมั่นคงยิ่งขึ้นไป เช่น   เรื่องอาหาร ต่อยอดสร้างสัญลักษณ์ สร้างคุณภาพของกินอร่อยในแบบบ้านไผ่ ทำโดยชุมชน มี กรอ.คอยสนับสนุน” 

นางสาวสมสุขกล่าว และทิ้งท้ายว่า โจทย์ต่อไปคือ ชาวบ้าน ชุมชน มีพร้อมไหม ? ที่จะทำให้เป็นระบบต่อเนื่อง สมาชิกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ช่วยกันทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น การศึกษาดีขึ้น ชาวบ้านวางกันไว้อย่างไร โครงการบ้านมั่นคงคือจุดเริ่มต้น ชุมชนพร้อมหรือยังที่จะวางแผนการพัฒนาเพื่อวางอนาคตไว้ให้ลูกหลาน  ?

นางสาวสมสุข (ซ้ายสุด) และนายปิติ  (ถือไมค์)

นายปิติ ติยาเดซาชัย ประธาน กรอ.บ้านไผ่  กล่าวว่า โครงการบ้านมั่นคง 4 ชุมชน  เป็นโมเดลการพัฒนา  เป็นแห่งแรกที่ภาคธุรกิจ กรอ.มาร่วมพัฒนาเมือง พื้นเพเดิมตนก็มาจากครอบครัวชาวจีน เป็นคนยากจน ไม่ใช่ลูกเศรษฐี ทำไมเราไม่สู้กับความจน แทนที่จะไปสู้กับคนจน ความจนต้องแพ้เรา ถ้าพี่น้องร่วมแรงร่วมใจสำเร็จแน่นอน โดย กรอ.มาร่วมพัฒนา ทางอำเภอมีความยินดี ให้ทาง กรอ.เข้ามาร่วมสนับสนุนการดำเนินการก่อสร้าง โดยตั้งเป้าหมายว่า 300 หลังคาเรือนสำเร็จในปี 2568 เมื่อเรามีบ้าน 1 ในปัจจัย 4 แล้ว ต่อไปเราต้องมีจุดยืน มีอาชีพ มีรายได้ เป็นการต่อยอดการทำงาน

“ที่ผ่านมาได้ช่วยเหลือชุมชน  อันดับแรกคือชุมชนต้องมีเครื่องกรองน้ำ และสามารถผลิตน้ำดื่มไว้บริโภคเองและนำไปจำหน่ายให้กับคนบ้านไผ่เพื่อให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และจะสนับสนุนรถมอเตอร์ไซค์ในการขนส่งน้ำดื่มไปจำหน่ายให้กับสหกรณ์ นอกจากนั้นได้บริจาคที่ดิน และแนะนำช่วยเหลือเรื่องการถมดิน จากการซื้อที่ในระยะใกล้นำดินมาถม ได้ทั้งที่ดิน ได้ทั้งบ่อน้ำ ที่สามารถต่อยอดสร้างอาชีพ  ให้พี่น้องเลี้ยงเป็ดไก่ปลาได้อีก และอย่าออกนอกลู่นอกทาง ให้ยึดหลัก ขยัน ซื่อสัตย์ อดทน สามัคคี เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จ”  นายปิติกล่าว

การจัดงานขึ้นบ้านใหม่ของสหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่ จำกัด  ในวันนี้  ถือเป็นนโยบายของนายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดมอบของขวัญปีใหม่ 2567 ให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั่วประเทศ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ มีแผนงานจะมอบที่อยู่อาศัยให้แก่ประชาชนเนื่องในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2567 นี้  โดยเริ่มที่สหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่  อ.บ้านไผ่  จ.ขอนแก่น  เป็นแห่งแรก มีเป้าหมายเพื่อ  “คุณภาพชีวิตที่ดีเพื่อทุกคน”

รวมพลังคนจนบ้านไผ่ 4 ชุมชนสร้างบ้านสร้างชุมชนใหม่

นางสาวเพลิน  ภูแล่นกี่  ประธานสหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่ จำกัด  เล่าความเป็นมาของโครงการบ้านมั่นคงเมืองบ้านไผ่ว่า  คนจนในอำเภอเมืองบ้านไผ่  จ.ขอนแก่น  มีหลายชุมชน  หลายร้อยครอบครัว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย  ที่ดินธรณีสงฆ์  ที่ดินกรมเจ้าท่า  ที่ดินกรมธนารักษ์  ไม่มีความมั่นคงในการอยู่อาศัย  สภาพบ้านเรือนทรุดโทรม  มีรายได้น้อย มีอาชีพรับจ้าง  ขายพวงมาลัยบริเวณสี่แยกไฟแดงถนนมิตรภาพ  เก็บของเก่าขาย  ฯลฯ

ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2562  เกิดพายุ ‘โพดุล’ พัดกระหน่ำในภาคอีสาน  ที่อำเภอบ้านไผ่  จ.ขอนแก่น  ได้รับผลกระทบหนัก  ทำให้บ้านเรือนหลายชุมชนเกิดน้ำท่วม  บ้านเรือนเสียหายจำนวนกว่า 1 ,000 ครัวเรือน  หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติ  หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือชาวบ้านเบื้องต้น  เช่น  สนับสนุนการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย 

นายไมตรี  อินทุสุต  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ในขณะนั้น (เสื้อเหลือง) เป็นประธานมอบบ้านที่ซ่อมแซมแล้วรวม 461 หลัง ใช้งบประมาณกว่า 8 ล้านบาทให้ชาวบ้านไผ่  ในเดือนตุลาคม 2562

นอกจากนี้ยังได้จัดประชุมผู้เดือดร้อนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในระยะต่อไป  เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของหน่วยงานต่างๆ  ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  สภาพบ้านเรือนแออัด  ทรุดโทรม  รวมทั้งยังเกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากด้วย  เจ้าหน้าที่ พอช.จึงสนับสนุนให้ชาวบ้านรวมตัว  รวมกลุ่ม  เพื่อร่วมกันออมทรัพย์เป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เตรียมจัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ขึ้นมา โดยมีชาวบ้าน 4 ชุมชนเข้าร่วม  คือ  ชุมชนขนมจีน 2000   ชุมชนไผ่เก่า  ชุมชนมิตรภาพซอย 4  และชุมชนสุขอนามัย  รวมประมาณ 300 ครอบครัว

หลังจากชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  โดยการออมเงินเป็นรายเดือน  อย่างน้อยเดือนละ 100 บาท ใครมีมากก็ออมมาก  ต่อมาในเดือนมิถุนายน 2563 จึงได้จดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถาน  เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลใช้ชื่อว่า ‘สหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่ จำกัด’ เพื่อเตรียมทำโครงการบ้านมั่นคงที่ พอช.ให้การสนับสนุน

การประชุมคณะทำงานพัฒนาเมืองบ้านไผ่ที่ว่าการอำเภอบ้านไผ่

ภาครัฐ-เอกชนหนุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั้งเมือง

ขณะเดียวกัน  การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในอำเภอบ้านไผ่  ได้รับการสนับสนุนจากส่วนราชการและภาคธุรกิจ  โดยนายอำเภอบ้านไผ่ได้แต่งตั้ง ‘คณะทำงานพัฒนาเมืองบ้านไผ่’ ขึ้นมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563  โดยมีนายอำเภอบ้านไผ่เป็นประธาน  มีผู้แทนหน่วยงานราชการ  ภาคเอกชน  และชุมชน  จำนวน 18 หน่วยงาน/องค์กร  เป็นคณะกรรมการ  มีผู้แทนชาวชุมชน    4 คนร่วมเป็นคณะทำงาน  เพื่อเดินหน้าและขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย

ทั้งนี้โดยมีภาคีพัฒนาที่สำคัญประกอบด้วย กรอ.บ้านไผ่ หรือ ‘คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจอำเภอบ้านไผ่’   เครือข่าย สอช.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   เครือข่ายชุมชนเมืองบ้านไผ่  เทศบาลเมืองบ้านไผ่   สมาคมนักธุรกิจเมืองบ้านไผ่   มูลนิธิชุมชนขอนแก่นทศวรรษหน้า  อำเภอบ้านไผ่  พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ

ต่อมาชาวชุมชนที่เดือดร้อนในนาม ‘สหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่ จำกัด’  ได้ร่วมกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  และร่วมกันจัดหาที่ดินเพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่  โดยการหนุนเสริมของ กรอ.บ้านไผ่  ได้ที่ดินบริเวณตำบลหนองน้ำใส  อ.บ้านไผ่  เป็นที่ดินเอกชน  เนื้อที่  30 ไร่  2 งานเศษ  ราคา 20 ล้านบาท (ราคาตารางวาละ 1,637 บาท) โดยชุมชนใช้เงินออมจำนวน 2 ล้านบาท  และขอใช้สินสินเชื่อจาก พอช. จำนวน 18 ล้านบาท  แบ่งแปลงที่ดินได้จำนวน 300 แปลง  ขนาดแปลงละ 20-22 ตารางวา

ขณะที่ กรอ.บ้านไผ่  โดยนายปิติ  ติยาเดชาชัย ประธาน กรอ.บ้านไผ่  นักธุรกิจใจบุญได้ร่วมบริจาคเงินจำนวน 3 ล้านบาท แบ่งเป็นสมทบซื้อที่ดินจำนวน 2 ล้านบาท และมอบที่ดิน จำนวน 2 แปลง รวม 7 ไร่ 50 ตารางวา เพื่อให้ชุมชนประกอบอาชีพและขยายเส้นทางเข้า-ออกชุมชน และสนับสนุนงบประมาณจำนวน 1 ล้านบาท  เพื่อสร้างอาคาร โรงน้ำดื่มชุมชน

ยกเสาเอกสร้างบ้านใหม่เมื่อ 15 พ.ค. 2565

ในวันที่ 15 พฤษภาคม  2565  เป็นฤกษ์ดี  มีชัย  ชาวชุมชนร่วมกับภาคีพัฒนา  และคณะทำงานพัฒนาเมืองบ้านไผ่  ทำพิธียกเสาเอกสร้างบ้านมั่นคง ‘สหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่ จำกัด’  เฟสแรกจำนวน 120 หลังคาเรือน  โดยมีนายจารึก เหล่าประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานในพิธี  มีนายประเสริฐ พงษ์ธีรมิตร นายเทศมนตรีเทศบาลเมืองบ้านไผ่ พร้อมคณะผู้บริหาร นายปิติ ติยาเดชาชัย ประธาน กรอ.บ้านไผ่ นายสุภวัฒน์ หนูพริก พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดขอนแก่น นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง พอช.  นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. เครือข่ายบ้านมั่นคง 4 ภาค สมาชิกสหกรณ์เคหสถานบ้านมั่นคง 4 ชุมชนเมืองไผ่ร่วมงาน

โครงการบ้านมั่นคงสหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่ จำกัด  ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อจาก พอช.  ซื้อที่ดินจำนวน 18 ล้านบาท  งบอุดหนุนการก่อสร้างสาธารณูปโภค  ถมดิน  ระบบประปา  ไฟฟ้า  ท่อระบาบน้ำ  บ่อน้ำ ถนน  ฯลฯ จาก พอช. 13.5 ล้านบาท  สินเชื่อก่อสร้างบ้านรวม  26.4 ล้านบาทเศษ  ชุมชนสมทบ 2 ล้านบาท  กรอ.บ้านไผ่  โดยนายปิติ  ร่วมบริจาค  จำนวน 3 ล้านบาท  รวมมูลค่าโครงการประมาณ 62.9 ล้านบาท

โดยมีแบบบ้านทั้งหมด 3 แบบ  คือ 1.บ้านชั้นเดียวขนาด 6x8 ตารางเมตร 323,500 บาท ผ่อนชำระค่าที่ดินและสร้างบ้านเดือนละ 3,055 บาท  2.บ้านชั้นเดียวขนาด 6x6 ตารางเมตร 266,500 บาท ผ่อนชำระค่าที่ดินและสร้างบ้านเดือนละ 2,555 บาท  และ 3.บ้านชั้นเดียว  ขนาด 4x6 ตารางเมตร  ราคา 198,800 บาท  ผ่อนชำระค่าที่ดินและสร้างบ้านเดือนละ 2,010 บาท

โรงงานผลิตน้ำดื่มกำลังก่อสร้าง  โดย กรอ.บ้านไผ่สนับสนุน 1 ล้านบาท  เมื่อแล้วเสร็จจะสร้างรายได้ให้ชุมชน

เตรียมสร้างเฟส 2 อีก 80 หลัง

นางสาวเพลิน  ภูแล่นกี่  ประธานสหกรณ์เคหสถาน 4 ชุมชนเมืองไผ่ จำกัด  บอกถึงแผนงานบ้านมั่นคงต่อไปว่า โครงการบ้านมั่นคงมีทั้งหมด 300 ครัวเรือน  หลังจากสร้างบ้านเฟสแรก 120 ครัวเรือนเสร็จแล้ว  ยังเหลือการก่อสร้างอีก 180 ครัวเรือน  ขณะนี้กำลังก่อสร้างงานฐานราก 80 ครัวเรือน  ตามเป้าหมายจะก่อสร้างให้แล้วเสร็จทั้งหมดภายในปี 2568

“นอกจากเรื่องบ้านแล้ว  เราทำเรื่องสวัสดิการ  การพัฒนาอาชีพ ทำโรงงานน้ำดื่ม และมีแผนจะสร้างตลาดเพื่อให้สมาชิกประกอบอาชีพ โดยทุกเรื่องจะมีคนมาร่วมบริหารจัดการ นอกจากนั้นจะมีการสำรวจข้อมูลสมาชิกถึงความต้องการในการพัฒนาอาชีพ และคณะกรรมการจะจัดอบรมอาชีพให้ตรงกับความต้องการของชาวชุมชน”  ประธานสหกรณ์บอก

เธอบอกด้วยว่า  ที่สำคัญ...ชุมชนนี้จะเป็นชุมชนในฝันที่ปลอดยาเสพติดและการพนัน หากสมาชิกคนใดกระทำผิด  ประธานชุมชนจะแจ้งตำรวจให้ออกจากชุมชน...การที่หน่วยงานและภาคธุรกิจเข้ามาช่วยเหลือถือเป็นบุญของชุมชนที่มีคนมาโอบอุ้ม คณะกรรมการทุกคนยอมเหน็ดเหนื่อย...ยอมทุ่มเท  เป็นการให้อย่างมีคุณค่า และพวกเราก็จะรับอย่างมีศักดิ์ศรี...!!

เรื่องและภาพ :  สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วราวุธ เดือด! พม.ยืนยัน แบงค์ เลสเตอร์ ถือบัตรคนพิการแต่กำเนิด ชี้เป็นเหยื่อพวกทำคอนเทนต์หากิน ขอเป็นรายสุดท้าย สั่งช่วยเหลือเยียวยาคุณยาย ทุกช่องทาง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแบงค์ เลสเตอร์ อินฟลูเอนเซอร์ดังเสียชีวิต

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

"วราวุธ" ย้ำ พม. ห่วงใย เหตุน้ำท่วมใต้ กำชับเยียวยากลุ่มเปราะบาง

วันที่ 21 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวง พม. ดำเนินการขับเคลื่อนศูนย์บริหารการดูแลกลุ่มเปราะบางจากภัยพิบัติ

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต