"15 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” บทบาทการพัฒนาชุมชนเข้มแข็ง...รูปธรรมที่ จ.สุราษฎร์ธานี (1)

ทุกปีจะมีการจัดประชุมสภาองค์กรชุมชนตำบลระดับชาติ  เพื่อสรุปปัญหาที่ประชาชนในจังหวัดต่าง ๆ ประสบ และข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาสั่งการ  ในภาพเป็นการประชุมครั้งที่ 14 พ.ศ.2565

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ เป็นเวทีประชาธิปไตยของชาวบ้านจากชุมชนฐานราก  ถือกำเนิดมาจาก ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์   จุลานนท์  ที่ภาคประชาชนช่วยกันผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้  เพื่อให้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนงานพัฒนาและแก้ไขปัญหาในชุมชนท้องถิ่นของตน เอง  รวมทั้งยกระดับไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย  เช่น  การแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน  ที่อยู่อาศัย  การกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่น  การลดความเหลื่อมล้ำ  การสร้างความมั่นคงทางอาหาร  การสร้างระบบเศรษฐกิจที่เกื้อกูลกับชุมชน  การจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน  ฯลฯ

ดังเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ว่า...“ด้วยชุมชนเป็นสังคมฐานรากที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ มีวิถีชีวิต วัฒนธรรมแตกต่างหลากหลายตามภูมินิเวศ การพัฒนาประเทศที่ผ่านมาก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ชุมชนอ่อนแอประสบปัญหาความยากจน เกิดปัญหาสังคมมากขึ้น ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชุมชนถูกทำลายจนเสื่อมโทรม เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ การสร้างระบอบประชาธิปไตย และระบบธรรมาภิบาลซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิชุมชนและประชาชนให้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาท้องถิ่นตามความหลากหลายของวิถีชีวิต วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของท้องถิ่น จึงเห็น สมควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

การขาดแคลนที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยเป็นประเด็นที่เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนเรียกร้องให้มีการแก้ไขมาตลอด

15 ปีสภาองค์กรชุมชนจัดตั้งทั่วประเทศแล้ว 7,795 แห่ง

สุวัฒน์  คงแป้น  นายกสมาคมสภาองค์กรชุมชนพัทลุง  ซึ่งมีส่วนร่วมในการผลักดัน พ.ร.บ.ฉบับนี้    บอกว่า   พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551  ถือเป็น พ.ร.บ.ฉบับหนึ่งที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการเสนอและผลักดันให้ออกมาเป็นกฎหมาย   โดยก่อนหน้านั้นมีกลุ่มและองค์กรที่ประชาชนจัดตั้งขึ้นทั่วประเทศ   เช่น  กลุ่มออมทรัพย์ สัจจะสะสมทรัพย์  กลุ่มเกษตรกร   กลุ่มเกษตรอินทรีย์  กลุ่มแก้ไขปัญหาที่ดิน-ป่าไม้  กลุ่มประมงพื้นบ้าน  กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มอาชีพ  กลุ่มฌาปนกิจ  กองทุนหมู่บ้าน ฯลฯ  กลุ่มต่างๆ เหล่านี้กระจายอยู่ทั่วประเทศมากกว่า 1 แสนกลุ่ม

แต่กลุ่มต่างๆ  เหล่านี้  ต่างทำงานไปตามเป้าหมายของตัวเอง  หรือตามเป้าหมายขององค์กรที่สนับสนุนทั้งภาครัฐและเอกชน  ไม่ได้มีการเชื่อมโยงกันเพื่อให้เกิดพลัง  หรือแม้แต่กลุ่มต่างๆ ที่จัดตั้งขึ้นภายในหมู่บ้านหรือตำบลบางแห่งก็ไม่ได้มีการเชื่อมโยงเพื่อช่วยเหลือสนับสนุนกัน  เรียกว่าต่างกลุ่มต่างทำ  สร้างดาวกันคนละดวง  ไม่ได้มองเห็นปัญหาหรือมองเป้าหมายการพัฒนาร่วมกันทั้งตำบล  

“หรือหากจะมีแผนพัฒนาก็เป็นแผนงานที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม  เป็นแผนงานที่มาจากข้างนอก  หากชาวบ้านจะนำแผนของตนเองไปเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  หน่วยงานก็มักจะมองว่า  กลุ่มองค์กรของชาวบ้านเป็นกลุ่มเถื่อน  เพราะไม่ได้มีการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง  หรือไม่มีกฎหมายรองรับ”  สุวัฒน์บอกถึงอุปสรรคของภาคประชาชนในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นก่อนจะมี พ.ร.บ. สภาองค์กรชุมชนฯ

นึ่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แกนนำภาคประชาชน  เช่น  ครูสน รูปสูง (ปัจจุบันเสียชีวิต) ผู้นำจากตำบลท่านางแนว  อ.แวงน้อย  จ.ขอนแก่น  จินดา บุญจันทร์  ผู้นำจาก  อ.พะโต๊ะ  จ.ชุมพร  และเครือข่ายภาคประชาชนทั่วประเทศ  ร่วมกันผลักดันแนวคิด ‘สภาองค์ชุมชนตำบล’ ขึ้นมาในช่วงปี 2549 - 2551 ในสมัยรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์  จุลานนท์  ซึ่งสอดคล้องกับกระแสการปฏิรูปประเทศไทยในขณะนั้น  ทำให้ได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่าย  จนประผลสำเร็จเป็น พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551  ออกมา

ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 กำหนดให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล    โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

หลังจากที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551   พอช. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น  กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น  ได้สนับสนุนให้ประชาชนในชุมชน  หมู่บ้าน  ตำบล  และเทศบาล  (ในกรุงเทพฯเป็นเขต) รวบรวมกลุ่มต่างๆ ในท้องถิ่นของตน  เช่น  กลุ่มออมทรัพย์  สหกรณ์  กลุ่มอาชีพ  กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  กลุ่มแม่บ้าน  กลุ่มผู้สูงอายุ  ฯลฯ  จดแจ้งจัดตั้งเป็น ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ ขึ้นมา (ดูรายละเอียดการจัดตั้งและ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนที่ http://web.krisdika.go.th/data/law/law2/% CA77/%CA77-20-2551-a0001.htm)

ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 15 ปี  มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลทั่วประเทศแล้ว  7,795 แห่ง  มีสมาชิกที่เป็นองค์กรชุมชนทั้งสิ้น 157,623 องค์กร !!

สภาองค์กรชุมชนตำบลทำอะไรบ้าง ?

สุวัฒน์  คงแป้น  ในฐานะผู้ที่ทำงานคลุกคลีกับสภาองค์กรชุมชนตำบลมาตั้งแต่เริ่มต้น  บอกถึงการใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในท้องถิ่นว่า  สภาองค์กรชุมชนตำบลจะมีตัวแทนแต่ละกลุ่มที่ร่วมกันจัดตั้งเข้ามาเป็นสมาชิก  มีปราชญ์ชุมชน  เช่น  ครู  พระ  หมออนามัย  รพ.สต. ฯลฯ   ร่วมเป็นสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ  มีประธานสภา  รองประธานสภา  ที่มาจากการคัดเลือกของสมาชิก  บางสภาอาจจะมีสมาชิกตั้งแต่ 15-20 คน  บางสภาอาจมีสมาชิก 30-50 คน  ขึ้นอยู่กับจำนวนกลุ่มที่ร่วมจัดตั้ง

สภาองค์กรชุมชนตำบลแต่ละแห่งจะต้องจัดให้มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง  บางแห่งอาจจัดประชุมทุกเดือนตามความสำคัญของปัญหา  เพื่อนำปัญหาหรือแนวทางการพัฒนาในตำบลมาประชุมร่วมกัน   ปรึกษาหารือ  เสนอความเห็น  หรือหาทางแก้ไข  และต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกทั้งหมดจึงนับเป็นองค์ประชุม  การลงมติใช้เสียงข้างมาก  สมาชิกหนึ่งคนมีหนึ่งเสียงในการลงคะแนน

สภาองค์กรชุมชนตำบลส่วนใหญ่ไม่มีที่ทำการหรือห้องประชุมเป็นของตนเอง  บ้างอาศัยที่ทำการหมู่บ้าน  ศาลาวัด  โรงเรียน ฯลฯ เป็นที่จัดประชุม

ส่วนภารกิจของสภาองค์กรชุมชนตำบลนั้น  สุวัฒน์บอกว่า  ตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 กำหนดภารกิจของสภาไว้กว่า 10 ด้าน  เช่น  ส่งเสริมและสนับสนุนให้สมาชิกองค์กรชุมชนอนุรักษ์หรือฟื้นฟูจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะหรือวัฒนธรรมอันดีของชุมชนและของชาติ  ร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐในการจัดการ  บำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่จะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน

เผยแพร่และให้ความรู้ความเข้าใจแก่สมาชิกองค์กรชุมชน   ร่วมมือกันในการคุ้มครองคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน   เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขและการพัฒนาต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไข หรือความต้องการของประชาชนอันเกี่ยวกับการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จัดให้มีเวทีการปรึกษาหารือกันของประชาชนเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการให้ความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่มีผลหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมหรือทรัพยากรธรรมชาติ สุขภาพอนามัย คุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชน    โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้ดำเนินการหรือเป็นผู้อนุญาตให้ภาคเอกชนดำเนินการต้องนำความเห็นดังกล่าวมาประกอบการพิจารณาด้วย

ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรชุมชนในตำบลเกิดความเข้มแข็งและสมาชิกองค์กรชุมชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปในตำบลสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน   ประสานและร่วมมือกับสภาองค์กรชุมชนตำบลอื่น   รายงานปัญหาและผลที่เกิดขึ้นในตำบลอันเนื่องจากการดำเนินงานใด ๆ ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือหน่วยงานของรัฐ โดยรายงานต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง  เป็นต้น

สภาองค์กรชุมชนตำบลสรอย  อ.วังชิ้น  จ.แพร่  ช่วยกันทำฝายชะลอน้ำ  ป้องกันน้ำท่วมและกักเก็บน้ำ

บทบาทสภาองค์กรชุมชนที่ตำบลตะกุกเหนือ-ใต้  จ.สุราษฏร์ธานี

หากดูภารกิจของสภาองค์กรชุมชนตำบลตามมาตรา 21 จะเห็นได้ว่า  สภาองค์กรชุมชนตำบลมีภารกิจครอบจักรวาล ตั้งแต่เรื่องปากท้อง  คุณภาพชีวิต  ความเป็นอยู่  ดูแลสิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ  รวมทั้งยังสามารถเสนอแผนงานพัฒนาหรือความเห็นจากชุมชนไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  ทั้ง อบต.หรือเทศบาลได้  ไม่ต้องรอรับผลจากพัฒนาเหมือนดังแต่ก่อน  ปัจจุบันมีสภาองค์กรชุมชนตำบลหลายแห่งเป็นต้นแบบ  เช่น  ที่สภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือ  และสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกใต้   อ.วิภาวดี  จ.สุราษฎร์ธานี

 ไอรดา  ม่วงพานิช  ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือและตะกุกใต้  บอกว่า  อำเภอวิภาวดี  พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่าเขา  ชาวบ้านเกือบทั้งหมดมีอาชีพทำเกษตร  ในอำเภอมีเพียง 2 ตำบล  คือตำบลตะกุกเหนือ  และตำบลตะกุกใต้  ดังนั้นการทำงานพัฒนาชุมชนตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาทั้ง 2 ตำบลจึงมีการเชื่อมประสานงานกันตลอด  เมื่อมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลโดยการหนุนเสริมของเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน  จ.สุราษฎร์ธานี ทั้ง 2 ตำบลจึงจัดตั้งสภาฯ ขึ้นมาพร้อมกันในเดือนมิถุนายน  2558 (สภาฯ ตะกุกใต้มีคณะกรรมการ 46  คน / สภาฯ ตะกุกเหนือ 37 คน)

“ในช่วงแรกๆ ที่มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนฯ ขึ้นมา  ผู้นำท้องถิ่นบางคนก็ยังไม่รู้จักสภาฯ  บางคนก็ว่าเป็น ‘สภาเถื่อน’ แต่เราก็ได้ชี้แจง  สร้างความเข้าใจว่าสภาองค์กรชุมชนคืออะไร  จะมาช่วยหนุนเสริมชุมชนอย่างไร  และต้องใช้เวลานานหลายปี  จนผู้นำและชาวบ้านเห็นว่าสภาฯ เป็นเวทีหรือเป็นเครื่องมือที่จะมาช่วยพัฒนาและแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านได้จริง”  ไอรดาบอก

ไอรดา  ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือ-ใต้

เธอยกตัวอย่างว่า  ในช่วงปี 2558 - 2559 รัฐบาล คสช. มีนโยบายจัดสรรที่ดินให้ชาวบ้านที่ไม่มีที่ดินทำกิน  หรือมีที่ดินทับซ้อนกับเขตป่าและอุทยานฯ ทั่วประเทศ  ซึ่งสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือและตะกุกใต้ได้เข้าร่วมโครงการนี้ด้วย  เพราะชาวบ้านหลายหมู่บ้านมีที่อยู่อาศัยและทำกินทับซ้อนกับเขตป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติ  จึงใช้สภาฯ เป็นเวทีประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจ  มีเจ้าหน้าที่จากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ (พอช.)  อบต. เจ้าหน้าที่ป่าไม้  มาให้ความรู้  ฝึกอบรมการสำรวจข้อมูลที่ดินรายแปลง  การรังวัด  ใช้เครื่องมือ GPS จับพิกัดแปลงที่ดิน  ใช้เวลานนานหลายเดือน  จนได้ข้อมูลเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา

“ข้อมูลการถือครองที่ดินรายแปลงจากชาวบ้านที่ได้ร่วมกันสำรวจในนามของสภาองค์กรชุมชนตำบล  และได้รับการรับรองจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้  อำเภอ  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน  ว่าชาวบ้านได้เข้าอยู่อาศัยและทำกินจริง  ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด  เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะกันพื้นที่ที่ทับซ้อนนั้น  เพื่อให้ชาวบ้านได้อยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกกฎหมาย  ช่วงนั้นมีชาวบ้านทั้ง 2 ตำบล  หลายร้อยครอบได้รับสิทธิ์ทำกิน  บทบาทของสภาองค์กรชุมชนทั้ง 2 ตำบลจึงได้รับการเชื่อถือ ยอมรับว่าเป็นที่พึ่ง  แก้ไขปัญหาของชาวบ้านได้”  ผู้ประสานงานสภาฯ 2 ตำบลบอก

นอกจากนี้  ในช่วงปี 2561-2565  สภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 2 แห่งยังได้จัดทำโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย ‘โครงการบ้านพอเพียงชนบท’ ซึ่งเป็นการสนับสนุนการซ่อมสร้างบ้านเรือนให้กับครอบครัวที่มีฐานะยากจนในตำบล  ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก พอช. ครอบครัวละ 20,500 บาท  รวมประมาณ  130 ครอบครัว 

โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 2 แห่งจะเป็นแกนกลาง  มีชาวบ้านแต่ละหมู่เป็นคณะทำงาน  ร่วมกันสำรวจครอบครัวที่มีความเดือดร้อนว่าจะซ่อมสร้างส่วนใด  ใช้วัสดุ  อุปกรณ์ใดบ้าง   จากนั้นนำข้อมูลมาสู่เวทีประชาคมหมู่บ้าน  เพื่อให้ชาวบ้านช่วยกันยืนยันรับรองว่าเป็นครอบครัวที่สมควรได้รับการช่วยเหลือ  หลังจากนั้นจะนำงบประมาณมาซื้อวัสดุ  อุปกรณ์ซ่อมแซมบ้าน   ใช้แรงงานจากช่างชุมชนและจิตอาสาช่วยกันซ่อมแซม  หากเกินงบประมาณเจ้าของบ้านจะต้องออกเงินสมทบ

ชาวบ้านที่โดนน้ำป่าพัดพาบ้านเรือนเสียหายได้รับการช่วยเหลือจากสภาฯ และหน่วยงานต่างๆ

“นอกจากนี้เรายังสร้างกองทุนเพื่อใช้เป็นทุนในการพัฒนาชุมชน  โดยให้ชาวบ้านที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโครงการบ้านพอเพียงคืนงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์  เพื่อนำมาตั้งเป็นกองทุนเอาไปพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  เช่น  ช่วยเหลือครอบครัวอื่นที่เดือดร้อนจากภัยพิบัติ  น้ำท่วม  หรือเอาไปใช้ส่งเสริมอาชีพ   เช่น  หากครอบครัวใดได้รับงบสนับสนุนซ่อมบ้าน 1 หมื่นบาท  จะต้องทยอยคืนเงินเข้ากองทุน 3 พันบาท  โดยทยอยคืนเป็นรายเดือนตามกำลัง  จนกว่าจะครบ  ยกเว้นครอบครัวที่ยากจน  เดือดร้อน  ไม่มีรายได้  ไม่ต้องคืนเงิน”  ไอรดาบอก  และว่า  ปัจจุบันตำบลตะกุกเหนือมีเงินกองทุนดังกล่าวประมาณ 6 หมื่นบาท  และตำบลตะกุกใต้มีเงินกองทุนประมาณ 1 หมื่นบาท

ไม่เพียงเท่านี้  สภาองค์กรชุมชนตำบลทั้ง 2 แห่ง  ยังเป็นแกนนำในการดูแลช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่บ้านเรือนเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2565  ส่งเสริมการดูแลป่าชุมชน  สมุนไพรในป่า  มีกฎกติกาในการรักษาป่า  มีการบวชป่า  ดูแลสายน้ำคลองยัน  ซึ่งผลจากการดูแลทรัพยากรธรรมชาติ  นำไปสู่การเชื่อมโยงส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน 

เช่น  การเลี้ยงผึ้งโพรงในป่าชุมชนหรือในสวน   โดยเชื่อมโยงกับกลุ่มชาวบ้านตำบลปากฉลุย  อ.ท่าฉาง  จ.สุราษฎร์ธานีที่อยู่ติดกัน  แต่เมื่อเลี้ยงผึ้งกันมาก  มีผลผลิตมาก  เกิดปัญหาขายน้ำผึ้งไม่ได้  จึงใช้เวทีสภาองค์กรชุมชนมานั่งพูดคุยวิเคราะห์ปัญหาและหาทางออก  จนนำมาสู่การแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ  ร่วมกัน

ส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์จากน้ำผึ้งโพรง

เช่น   น้ำผึ้งธรรมชาติ  ขนาดกระปุกละ 250 มิลลิลิตร (มล.)  ราคา 120 บาท  สบู่น้ำผึ้งก้อนละ 40 บาท   สบู่เหลวหรือครีมอาบน้ำผึ้ง  ขนาด 250 มล. ราคา  180 บาท สารฟีโรโมนใช้ฉีดล่อผึ้งให้เข้ามาทำรัง ขนาด 100 มล. ราคา 150 บาท  ฯลฯ  ปัจจุบันมีคนเลี้ยงผึ้งทั้ง 3 ตำบล  ประมาณ 130 ราย  รังผึ้งรวมกันกว่า 1,000 รัง  สมาชิกที่มีรายได้จากการแปรรูปน้ำผึ้งจะหักรายได้เข้าสู่กองกลางและพัฒนาหมู่บ้านจำนวน 15 %

รวมทั้งยังนำต้นทุนทางธรรมชาติมาจัดการท่องเที่ยวชุมชน  มีเส้นทางท่องเที่ยวหลัก  คือการล่องแก่งในคลองยัน  ระยะทางประมาณ 2-3 กิโลเมตร  เป็นช่วงที่ลำคลองมีความสวยงาม ไม่มีอันตราย  โดยมีเรือแจวประมาณ 10 ลำ  เรือหางยาว 10 ลำ  รองรับได้ลำละประมาณ 5 คน  คิดราคาต่อหัวต่อ 1 ชั่วโมงประมาณ 200 บาท  หรือเหมาลำประมาณ 1,200 บาท  มีเส้นทางท่องเที่ยวน้ำตก  ชมถ้ำ  ป่าไม้  ภูเขา  จุดชมวิว  ‘ม่านฟ้าผาขี้ลม’ ในป่าที่อุดมสมบูรณ์

การล่องแก่งที่คลองยัน

ไอรดา  ผู้ประสานงานสภาองค์กรชุมชนตำบลตะกุกเหนือและตะกุกใต้  บอกว่า  ปัจจุบันเป็นเวลา 8 ปีที่คนตะกุกเหนือและตะกุกใต้ได้จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลขึ้นมา  ด้วยบทบาทของสภาฯ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงทำให้ได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับอำเภอและจังหวัด  รวมทั้งยังมีพี่น้องเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน  กลุ่มองค์กรชุมชนจากจังหวัดต่างๆเดินทางมาศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความรู้งานพัฒนาชุมชนที่ตำบลตะกุกอย่างต่อเนื่อง

“สภาองค์กรชุมชนไม่ได้สังกัดหน่วยงานไหน  แต่เราสามารถทำงานประสาน  เชื่อมโยงกับทุกหน่วยงานได้  และที่สำคัญก็คือ...สภาองค์กรชุมชน  คือพื้นที่กลางให้ชาวบ้านได้มานั่งพูดคุย  ปรึกษาหารือ  แก้ไขปัญหาของพวกเราได้  โดยไม่ต้องรอให้ใครมาสั่ง  เป็นการแก้ไขจากคนข้างล่าง  และหากชาวบ้านไม่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรชุมชนขึ้นมา  ลำพังชาวบ้านเพียงคนเดียวจะไปบอกเล่าความเดือดร้อน  บอกให้ใครมาช่วยเหลือ...จะมีใครฟังเราหรือเปล่า ?” ไอรดาบอกทิ้งท้าย

ชาวตะกุกช่วยกันดูแลป่าชุมชน

นี่คือตัวอย่างบทบาทและภารกิจของสภาองค์กรชุมชนตำบลในระดับพื้นที่...ติดตามอ่านบทบาทของสภาฯ ในระดับชาติหรือนโยบายที่จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงของประเทศได้ในตอนต่อไป !!

***************

(เรื่องและภาพ :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต

โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’

กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567

พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล