ทส.เดินหน้าเฝ้าระวังปัญหาไฟป่าหมอกควันภาคเหนือ เปิดเวทีความร่วมมือดอยสุเทพ-ปุย

ปลัดทส.ยันลุยปัญหาไฟป่า หมอกควัน และปัญหาค่าฝุ่นละอองมลพิษทางอากาศ 17 จังหวัดภาคเหนือเต็มที่ ชูความสำเร็จพื้นที่บูรณาการดอยสุเทพ-ปุย ขณะที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมภาคเครือข่ายเปิดเวทีบูรณาการความร่วมมือ เพื่อเดินหน้าต่อเนื่อง 

นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ปัญหาไฟป่าหมอกควัน เป็นปัญหาระดับโลก และเป็นวาระสำคัญของชาติที่ต้องเร่งดำเนินการแก้ไข ดังนั้นกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และปัญหาค่าฝุ่นละออง มลพิษทางอากาศในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ โดยขับเคลื่อนวาระของชาติไปยังเครือข่ายภาคประชาชน มุ่งเน้นมาตรการป้องกัน มากกว่าการแก้ไขปัญหา และให้ความสำคัญกับการสื่อสารเชิงรุกสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องให้ประชาชน

“ ทั้งนี้ พื้นที่ดอยสุเทพ-ปุย จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นตัวอย่างของพื้นที่ปฏิบัติการที่มีความเข้มแข็งจากทุกภาคส่วน ด้วยเป็นพื้นที่สำคัญเชิงยุทธศาสตร์ จึงกำหนดให้เป็นพื้นที่บูรณาการความร่วมมือ เฝ้าระวังไฟป่า ลดหมอกควันของทุกภาคส่วน ทั้งในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย พื้นที่นอกเขตอุทยาน เขตชุมชนเมืองและชุมชนโดยรอบ เน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายภาคประชาชน ให้เกิดการขับเคลื่อนพลวัตการจัดการ รวมทั้งส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในภาคพลเมือง อีกทั้งมีการจัดทำแผนจัดการระดับชุมชนและเครือข่าย ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเกื้อหนุนและเป็นกำลังเสริมที่สำคัญในการขับเคลื่อนการทำงาน”

ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า  การที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมเปิดเวทีบูรณาการความร่วมมือในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเฝ้าระวังไฟป่า ลดหมอกควัน พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย และพื้นที่โดยรอบขึ้นในวันที่ 21 ธันวาคม  2564 ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญ เพราะเป็นการต่อยอดและยกระดับการทำงานเพื่อขับเคลื่อนงาน บูรณาการความร่วมมือระหว่างเครือข่ายอาสาสมัคร หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการเฝ้าระวังไฟป่า และลดหมอกควันในพื้นที่

ขณะที่ นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวต่ออีกว่า ปัญหาไฟป่า หมอกควันและค่าฝุ่นละอองเกินค่ามาตรฐาน ไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องไฟป่าอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับการจัดการฐานทรัพยากรต่าง ๆ ด้วย ดังนั้น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้เข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบเครือข่ายอาสาสมัคร สร้างแนวร่วมภาคประชาชนเฝ้าระวังไฟป่า ลดหมอกควัน มีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนเอง และบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนแบบไร้รอยต่อ

รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อไปว่า สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ – ปุย และดอยอินทนนท์ พื้นที่โดยรอบ ได้กำหนดเป็นพื้นที่บูรณาการความร่วมมือมาตั้งแต่ปี 2559 ปัจจุบันสามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างเป็นรูปธรรม  เช่น การขับเคลื่อนเครือข่ายภาคประชาชนในรูปแบบสภาลมหายใจเชียงใหม่ การบริหารจัดการเชิงพื้นที่และบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนขับเคลื่อนพลวัตการจัดการไฟป่าหมอกควัน พร้อมส่งเสริมชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในภาคพลเมือง การจัดทำแผนไฟป่าระดับชุมชนและเครือข่าย ที่สำคัญ เครือข่าย ทสม.ในพื้นที่ตำบลสุเทพและตำบลแม่เหียะ ยังได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเครือข่าย ทสม. ในการจัดการปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เป็นต้น ซึ่งการดำเนินการทั้งหมดสอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล และภารกิจหลักด้านการอนุรักษ์ ฟื้นฟูและบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

“ สำหรับการจัดเวทีบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยมีประชาชนและตัวแทนหน่วยงานจากทุกภาคส่วนเข้าร่วมถึง 100 คน มีกิจกรรมทั้งการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์ นโยบาย มาตรการ บริบทที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการทบทวนแผนและบทเรียนในการเฝ้าระวัง พร้อมทั้งร่วมระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการทำงาน กระบวนการจัดทำแผนงบประมาณประจำปี การขับเคลื่อนงานบูรณาการทุกภาคส่วน และการส่งเสริมบทบาทเครือข่ายอาสาสมัครเฝ้าระวังไฟป่าลดหมอกควันที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงานในพื้นที่” นางภาวินี กล่าวในที่สุด

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ดร.เฉลิมชัย” ชูโครงการธรรมจักรสีเขียว สร้าง “วัดต้นแบบ” - เพิ่มพื้นที่ป่าให้ประเทศ

ป่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญต่อชีวิตมนุษย์และสรรพสิ่งทั้งปวง รวมถึง “พระพุทธศาสนา” ที่มีความสัมพันธ์กับป่าไม้อย่างลึกซึ้ง

'ประเสริฐ' แจงม็อบพีมูฟ ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ. 2 ฉบับ แก้ที่ทำกินให้คนอยู่กับป่าได้

ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) นำโดย นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานและที่ปรึกษาพีมูฟ รวมตัวจัดกิจกรรมคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

ครม. ไฟเขียวร่างพ.ร.ฎ. 2 ฉบับ แก้ปัญหาที่ดินทำกินในเขตป่าอนุรักษ์ ยันไม่ได้จำกัดสิทธิเสรีภาพ

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบทบทวนร่างพระราชกฤษฎีกา โครงการอนุรักษ์ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ มาตรา 64