การปรับปรุงแนวทางการกำหนดค่าธรรมเนียมในกฎหมาย

คนไทยเราเคยชินกับการเสียค่าธรรมเนียมมาช้านาน ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับภาครัฐหรือภาคเอกชน โดยมีความรู้สึกว่าเป็นสิ่งที่ต้องเสียถ้าประสงค์จะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง และโดยมากมักไม่ค่อยโต้แย้งการจัดเก็บหรืออัตราที่เรียกเก็บเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชนมีหลักสำคัญบางประการที่ต้องยึดถือ เช่น อำนาจในการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต้องมีกฎหมายแม่บทให้อำนาจเนื่องจากการบังคับจัดเก็บกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จึงต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนของปวงชน  นอกจากนั้น รัฐไม่ควรจัดเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่สูงเกินควรจนถึงขั้นแสวงหากำไร เพราะการดำเนินงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนเป็นภารกิจหลักของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระวังไม่จัดเก็บในอัตราที่ต่ำเกินไป เพราะอาจส่งผลเป็นการแทรกแซงกลไกตลาดและก่อภาระแก่งบประมาณแผ่นดินจากการอุดหนุนกิจกรรมเช่นว่านั้น

หลักการกำหนดค่าธรรมเนียมในกฎหมายจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม รวมทั้งไม่เป็นอุปสรรคต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการบัญญัติหรือกำหนดหลักการ      ดังกล่าวไว้อย่างชัดเจน ส่งผลให้การกำหนดค่าธรรมเนียมในกฎหมายไทยประสบปัญหา
บางประการ เช่น

  • การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมที่ไม่ควรเรียกเก็บ โดยเฉพาะกรณีที่ให้ประชาชนแจ้งข้อมูล
    แก่ภาครัฐตามกฎหมาย เช่น การแจ้งเกิด แจ้งตาย เพื่อประโยชน์ในการจัดทำข้อมูลภาครัฐ
  • การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไปจนสร้างภาระแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ
    เกินสมควร หรือการกำหนดต่ำเกินไปจนไม่สอดคล้องกับต้นทุนค่าใช้จ่ายของภาครัฐ
  • อัตราค่าธรรมเนียมจำนวนมากกำหนดไว้เป็นเวลานานหลายสิบปี ทำให้อัตราที่กำหนด
    ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ทางเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ

คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้จัดทำ         “หลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการ” ขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เกี่ยวกับการกำหนดค่าธรรมเนียมในกฎหมายไทย โดยมีสาระสำคัญดังนี้

๑. กำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมให้ชัดเจนว่า ค่าธรรมเนียมเป็นการบังคับจัดเก็บจึงต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจไว้ และต้องกำหนดอัตราขั้นสูงไว้ในกฎหมาย

๒. แยกค่าบริการออกจากค่าธรรมเนียม เนื่องจากเป็นการจ่ายเงินที่ประชาชนจ่ายเพื่อตอบแทนการให้บริการในทำนองเดียวกับการรับบริการจากภาคเอกชน ค่าใช้จ่ายนี้เป็นทางเลือกของประชาชนที่จะใช้บริการหรือไม่ก็ได้ การเรียกเก็บเป็นไปตามข้อเท็จจริงจึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้อำนาจ เช่น การเรียกเก็บค่าถ่ายเอกสาร การเรียกเก็บค่าทางด่วน

๓. กำหนดกรณีที่รัฐไม่พึงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากประชาชนให้ชัดเจน อาทิ กรณีที่ประชาชนปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อให้ภาครัฐได้ข้อมูล เช่น การแจ้งเกิด แจ้งตาย การจดทะเบียนพาณิชย์

๔. กำหนดปัจจัยที่หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาในการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียม เช่น ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของรัฐ ประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับ และอัตราเงินเฟ้อที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้อัตราที่กำหนดมีที่ไปที่มาที่ชัดเจน

๕. กำหนดหลักเกณฑ์การคิดค่าบริการ เพื่อมิให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากการคิดค่าบริการที่สูงหรือต่ำเกินไป เช่น ค่าบริการของกิจการของรัฐต้องไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรสูงสุด ค่าบริการสำหรับกิจการของรัฐที่มีลักษณะเป็นการผูกขาดต้องไม่สูงเกินสมควร แต่ค่าบริการของรัฐสำหรับกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกันโดยเสรีต้องไม่ต่ำเกินสมควร เป็นต้น

๖. กำหนดกระบวนการให้หน่วยงานของรัฐต้องรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องในการกำหนดค่าธรรมเนียม และทบทวนอัตราค่าธรรมเนียมทุกครั้งที่ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

ปัจจุบัน คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการดังกล่าวแล้วตั้งแต่วันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๔ และให้หน่วยงานของรัฐถือปฏิบัติโดยทั่วกัน ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายหรือกฎที่มีการกำหนดค่าธรรมเนียม มีหน้าที่แก้ไขเพิ่มเติมการกำหนดใด ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวในโอกาสแรก เช่น การยกเลิกการจัดเก็บค่าธรรมเนียมกรณีประชาชนแจ้งข้อมูลแก่รัฐ การปรับปรุงอัตรา           ค่าธรรมเนียมให้สอดคล้องกับสภาวะ  ทางเศรษฐกิจ  ดังนั้น จึงคาดหมายได้ว่า ภายในไม่กี่ปีนี้ การกำหนด         ค่าธรรมเนียมในกฎหมายไทยจะมีความเหมาะสมและเป็นธรรมยิ่งขึ้น และเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ  ทั้งนี้ สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่กำหนดให้รัฐพึงปรับปรุงกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ และพึงจัดให้มีกลไกสำหรับการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ ไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (มาตรา ๗๗ และมาตรา ๒๕๘ ค. (๑))

ศึกษารายละเอียดของหลักเกณฑ์ว่าด้วยการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการได้ที่ https://cdn.me-qr.com/pdf/2209819.pdf

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17

Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย

ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ

ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น

กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม

นายกฯ นัดถก ก.ตร. หารือปมกฤษฎีกาตีความคำสั่ง 'บิ๊กโจ๊ก' ออกจากราชการ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ นัดประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.)ครั้งที่ 4/2567 ณ ห้องประชุมศรียานนท์ ชั้น 2 อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในบทบาทผู้ขับเคลื่อนการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

การมีกฎหมายที่ดี มีคุณภาพและได้มาตรฐาน รวมทั้งสอดคล้องกับบริบทการพัฒนาประเทศซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่จะส่งเสริมและยกระดับการพัฒนา ให้สามารถขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ