อึ้ง!! ผู้ติดเชื้อ HIV รายใหม่เกือบครึ่ง เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี วันเอดส์โลก ‘66 สสส.-สถาบันยุวทัศน์ฯ สานพลังภาคี ขับเคลื่อนนโยบาย 'พก ซื้อ ใช้' ลดอุปสรรคการเข้าถึงถุงยางอนามัยของเยาวชน ชงข้อเสนอรัฐบาล 'ลดราคาถุงยาง เพิ่มการเข้าถึง'

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 2566 ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ สายด่วน 1663 เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) และเครือข่ายสถานศึกษาในกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายวิถีชีวิตปกติกับถุงยางอนามัย “พก ซื้อ ใช้” ลดอุปสรรคการเข้าถึงถุงยางอนามัยของเยาวชน เนื่องในวันเอดส์โลก ประจำปี 2566 ชงรัฐบาล เร่งเสนอแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการติดเชื้อเอชไอวี

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทย มีผู้อยู่ร่วมกับเอชไอวี 561,578 คน มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากเอดส์ 10,972 คน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 9,230 คน ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ติดเชื้อรายใหม่ เป็นเยาวชนอายุ 15-24 ปี จำนวน 4,379 คน โดยการติดเชื้อรายใหม่ร้อยละ 96 เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกัน และเมื่อพิจารณาสถานการณ์การเกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน กามโรคต่อมน้ำเหลือง ช่วงปี 2560 – 2565 กลุ่มเยาวชนอายุ 15 – 24 ปี ยังเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีอัตราป่วย 99.6 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2560 เป็น 112.3 ราย ต่อประชากรแสนคน ในปี 2565 คาดการณ์ได้ว่าหากสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มเพิ่มสูงมากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งส่งผลต่อสถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี ที่เพิ่มสูงขึ้นได้เช่นเดียวกัน

“ที่ผ่านมา สสส. และภาคีเครือข่าย เร่งกระตุ้นสนับสนุนให้เยาวชนและคนรุ่นใหม่มีความเข้าใจและตระหนักถึงการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยและรับผิดชอบ โดยการใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้น อาทิ การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม การติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอชไอวี ในโอกาสวันเอดส์โลก ประจำปี 2566 ซึ่งองค์การอนามัยโลกกำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันเอดส์โลก (World AIDS Day) เพื่อรณรงค์สร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคเอดส์ ยอมรับและเข้าใจผู้ติดเชื้อเอชไอวี ปีนี้กำหนดแนวคิดการรณรงค์ คือ “Let Communities Lead” ที่เป็นการมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นชุมชน รัฐ เอกชนและเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะเยาวชนที่ต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสร้างสุขภาวะ มีบทบาทสำคัญในการสร้างความตระหนักในการป้องกันตัวเองและคนรอบข้าง และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน ซึ่งจะนำไปสู่การยุติปัญหาเอดส์ต่อไป” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว

นายสมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า “ปัจจุบันสายด่วน 1663 เป็นผู้ให้บริการให้คำปรึกษากับเด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป ซึ่งในปี 2565 พบข้อมูลสำคัญว่าเพศชาย ขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากที่สุด ขณะที่เพศหญิงจะขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์มากกว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีข้อแนะนำมายังคนรุ่นใหม่และผู้ปกครองด้วยว่า หากพบว่าตนเอง หรือบุตรหลานได้รับเชื้อเอชไอวี สิ่งที่ต้องรีบดำเนินการทันทีคือการเข้ากระบวนการรักษา ตามสิทธิ์รักษาพยาบาลของตนเอง เพื่อรับยาและรับประทานยาต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนด จะช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพ สามารถใช้ชีวิตตามปกติแบบคนทั่วไปได้ รวมถึงสามารถแต่งงานมีบุตรได้ โดยที่บุตรจะไม่ได้รับเชื้อจากบิดามารดา ข้อแนะนำสำคัญคือใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือรับประทานยาต้านก่อนการมีเพศสัมพันธ์ เพราะการป้องกันที่ดีมีค่ามากกว่าการรักษาหรือแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”

นายสุรเชษฐ์ โพธิ์แสง รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และเอชไอวี ในกลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อรัฐบาล 2 ข้อ 1. ขอให้กระทรวงพาณิชย์ พิจารณามาตรการปรับลดราคาถุงยางอนามัยที่จำหน่ายในประเทศ แม้ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะให้บริการถุงยางอนามัยสำหรับประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติ เช่น ความไม่สะดวกในการขอรับบริการผ่านแอพพลิเคชั่น ไม่รวดเร็วเท่าการไปร้านสะดวกซื้อ 2. ขอให้กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดกว้างและลดการควบคุมการสื่อสารโฆษณาของถุงยางอนามัย เนื่องจากถุงยางอนามัยจัดเป็นเครื่องมือแพทย์ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ถุงยางอนามัย พ.ศ. 2556 ทำให้การโฆษณาต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาต ซึ่งไม่เอื้อให้เกิดการสื่อสารที่สามารถสร้างแรงจูงใจในการซื้อและการใช้ถุงยางอนามัยเหมือนกับของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวัน หากข้อเสนอทั้ง 2 ข้อ ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล เชื่อว่าจะทำให้แนวโน้มโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ในกลุ่มวัยรุ่น มีแนวโน้มลดลง โดยมี รศ.นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข และ นายเอกฉัตร ศีตวรรัตน์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้แทนรับข้อเสนอจากรองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์ฯ และตัวแทนเยาวชน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง

โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด

เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน

'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ

จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง

รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น