ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา ซอยรามคำแหง 39 ชุมชนบนที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ เพิ่งก่อสร้างบ้านเสร็จ 100 หลังสุดท้าย (สร้างทั้งหมด 271 หลัง) เป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนที่กำลังจะดำเนินการเพิ่มอีก 3 ชุมชน รวม 420 ครอบครัว/หลัง
ในยุคที่ที่ดินในกรุงเทพฯ มีราคาแพงระยับ โอกาสที่ผู้ที่มีรายได้น้อยจะมีที่อยู่อาศัยในเมือง มีบ้านเป็นของตัวเองคงจะมีไม่มากนัก แต่ที่ชุมชนย่านซอยรามคำแหง 39 หรือซอยวัดเทพลีลา เขตวังทองหลาง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีทางด่วนเอกมัย-รามอินทราตัดผ่านด้านหลัง มีเรือโดยสารในคลองแสนแสบวิ่งบริการ เรียกว่าการเดินทางสะดวก จะไปทำงานหรือทำมาหากินในเมืองก็ง่าย...โดยที่นี่มีชุมชนผู้มีรายได้น้อยตั้งอยู่จำนวน 7 ชุมชน ประมาณ 1.400 ครอบครัว
ชุมชนเหล่านี้ตั้งอยู่ในที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พวกเขาเช่าที่ดินปลูกสร้าง ‘บ้านมั่นคง’ ร่วมกันพัฒนาชุมชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการสร้างทุน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างแหล่งอาหาร ดูแลช่วยเหลือกันในช่วงโควิด-19 จนผ่านพ้นวิกฤตนั้นมาได้ ถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชาวชุมชนในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์...!!
ย้อนอดีต ‘ทุ่งนาวังทองหลาง’
มหาวิทยาลัยรามคำแหงก่อตั้งในปี 2514 ทำให้ท้องทุ่งในย่านหัวหมาก บางกะปิ และวังทองหลาง ซึ่งในอดีตเป็นทุ่งนากว้างใหญ่เริ่มกลายเป็นเมือง มีตึกรามบ้านช่อง สิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ มีหอพักนักศึกษาเกิดขึ้น จึงมีชาวบ้านทั้งจากต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ เข้ามาบุกเบิกอยู่อาศัยและทำมาหากิน โดยเฉพาะในที่ดินของ ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ (ชื่อในขณะนั้น) ในซอยรามคำแหง 39 มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 273 ไร่เศษ
เช่น ชุมชนรุ่งมณี (ในปัจจุบัน) เริ่มมีชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยรุ่นแรกๆ ในปี 2518 ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างทั่วไป ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ขับแท็กซี่ ปลูกสร้างบ้านในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์โดยไม่ได้เช่า เรียกง่ายๆ ว่าเข้ามา ‘บุกเบิก’ ทุ่งนารกร้างให้กลายเป็นชุมชน เมื่อมีคนมาอยู่อาศัยมากขึ้น จึงกลายเป็นชุมชนแออัด ไม่มีน้ำประปา ไม่มีไฟฟ้าใช้ เพราะไม่มีทะเบียนบ้านที่จะขอใช้น้ำ-ไฟจากหน่วยงานรัฐ ต้องพ่วงจากภายนอกเข้ามาใช้ราคาแพง ถนนหนทางเป็นดินโคลน หน้าฝนก็จะเป็นหลุมเป็นบ่อ
ราวปี 2525 บริษัทเอกชนได้เช่าที่ดิน ‘วังเพชรบูรณ์’ ของสำนักงานทรัพย์สินฯ บริเวณแยกราชประสงค์ เพื่อจะพัฒนาเป็นศูนย์การค้า ‘เวิรลด์เทรดเซ็นเตอร์’ (ปัจจุบันคือเซ็นทรัลเวิรลด์ พลาซา) ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าว มีชาวบ้านทั้งจากกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเข้ามา ‘บุกเบิกจับจอง’ อยู่อาศัยนับร้อยครอบครัว เมื่อจะมีโครงการพัฒนาที่ดิน ชาวบ้านเหล่านี้จึงถูกโยกย้ายให้มาปลูกสร้างบ้านเรือนบริเวณ ‘นาวังทองหลาง’ ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ ในซอยรามคำแหง 39
ซอยรามคำแหง 39 จากเดิมเป็นทุ่งนาวังทองหลาง ปัจจุบันมีชุมชน ร้านค้า อาคารพาณิชย์ขึ้นหนาแน่น เชื่อมต่อกับถนนเลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา
ต่อมาชาวบ้านเหล่านี้ได้ชักชวนพี่น้องจากต่างจังหวัดเข้ามาอยู่อาศัย ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน ภาคเหนือ รวมทั้งในกรุงเทพฯ จากดินแดง ห้วยขวาง ฯลฯ จนขยายกลายเป็นชุมชนต่างๆ ประมาณ 7 ชุมชน เช่น ชุมชนทรัพย์สินเก่า ชุมชนทรัพย์สินใหม่ ชุมชนเก้าพัฒนา ชุมชนเทพลีลา ชุมชนร่วมสามัคคี ชุมชนรุ่งมณี ฯลฯ
ชุมชนร่วมสามัคคี เดิมเรียกว่า ‘ชุมชนสี่แยกน้ำแฉะ’ เพราะตั้งอยู่ใกล้สี่แยก และมีลำรางไหลไปลงคลองแสนแสบ ถนนหนทางขรุขระ มีน้ำท่วมขังเฉอะแฉะ ส่วนใหญ่สร้างบ้านด้วยไม้ มีขยะสะสมอยู่ใต้ถุนบ้าน ซึ่งเมื่อก่อนเป็นลำรางไหลลงคลอง ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง ทำงานก่อสร้าง เข็นรถขายผลไม้ ลูกชิ้นปิ้ง ฯลฯ ต้องพ่วงไฟฟ้ามาใช้ราคาหน่วยละ 10 บาท น้ำประปา 27 บาท
ราวปี 2539 ‘โครงการพัฒนาสภาพแวดล้อมชุมชนเมือง’ มูลนิธิชุมชนไท เข้ามาทำงานสนับสนุนการรวมกลุ่มของชาวชุมชนต่างๆ ในซอยรามคำแหง 39 ซึ่งเป็นที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินฯ เพื่อปรับปรุงสภาพแวดล้อมชุมชน โดยที่ชุมชนร่วมสามัคคี มูลนิธิชุมชนไทได้เข้ามาสนับสนุนการแก้ปัญหาสาธารณูปโภค เพื่อจะติดตั้งน้ำประปา ไฟฟ้าจากหน่วยงานรัฐที่ให้บริการ ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของที่ดิน คือสำนักงานทรัพย์สินฯ
เมื่อได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักงานทรัพย์สินฯ ชุมชนจึงเริ่มมีน้ำประปาใช้เองในปี 2541 ทำให้ชาวชุมชนลดรายจ่าย เหลือค่าน้ำประปาหน่วยละ 12 บาท จากเดิมหน่วยละ 27 บาท
การแก้ไขปัญหาน้ำประปาจากชุมชนร่วมสามัคคีได้ขยายไปยังชุมชนต่างๆ ในซอยรามคำแหง 39 รวมทั้งในเขตวังทองหลาง ทำให้ชุมชนต่างๆ ในเขตวังทองหลางเริ่มรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายเพื่อปรึกษาหารือ แก้ไขปัญหา และร่วมกันพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ช่วงแรกมีประมาณ 10 ชุมชน ใช้ชื่อว่า ‘เครือข่ายวังทองหลาง’
ในปี 2546 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ไม่มีความมั่นคงในที่ดินและที่อยู่อาศัย เช่น ชุมชนบุกรุก ชุมชนเช่าที่ดิน บ้านเช่า ฯลฯ แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โดยเช่าหรือจัดหาที่ดินเพื่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่ให้มีความมั่นคง ไม่ถูกไล่ที่ มี10 โครงการนำร่องทั่วประเทศในปีนั้น
‘ชุมชนร่วมสามัคคี’ เป็นหนึ่งในนั้น เพราะชาวบ้านอยากจะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ไม่ต้องร่อนเร่ หรือโดนขับไล่ไปอยู่ที่ไหนอีก โดยชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นมาดำเนินการ ร่วมกันออมทรัพย์เป็นรายเดือนเพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน รวมทั้งหมด 130 ครอบครัว สำนักงานทรัพย์สินฯ ร่วมสนับสนุน โดยให้ชุมชนเช่าที่ดินปลูกสร้างบ้านอย่างถูกต้องในอัตราผ่อนปรน (ประมาณตารางวาละ 12 บาท/เดือน)
ส่วน พอช.สนับสนุนสินเชื่อระยะยาว (ประมาณ 17 ล้านบาทเศษ) ดอกเบี้ยต่ำ และเงินอุดหนุนสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลางและสร้างบ้านบางส่วน ขณะที่ชุมชนมีเงินทุนจากการออมทรัพย์รวมกันประมาณ 1.7 ล้านบาท (ต้องออมให้ได้ 10 % ของสินเชื่อที่จะขอใช้จาก พอช.) เริ่มสร้างบ้านในเดือนมกราคม 2547 และแล้วเสร็จทั้ง 130 หลังในปี 2548 ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถวและบ้านแฝด 2 ชั้น ขนาดประมาณ 4X8 ตารางเมตร
จากโครงการบ้านมั่นคงชุมชนร่วมสามัคคีที่นำร่องในปี 2547 ในเดือนกุมภาพันธ์ปีนั้น พอช.และสำนักงานทรัพย์สินฯ ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ ตามโครงการบ้านมั่นคง โดยมีหลักการสำคัญก็คือ สำนักงานทรัพย์สินฯ จะอนุญาตให้ชุมชนเช่าที่ดินเพื่อสร้างบ้านในอัตราผ่อนปรน พอช.สนับสนุนกระบวนการสร้างบ้านมั่นคง สินเชื่อ เงินอุดหนุน และร่วมกันสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม ฯลฯ โดยจะดำเนินการเพิ่มในชุมชนในซอยรามคำแหง 39 อีก 6 ชุมชน รวมกว่า 1,000 ครอบครัว
ชุมชนร่วมสามัคคี ปัจจุบันมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง
“บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง...ใต้ร่มพระบารมี” ชุมชนต้นแบบที่ ‘รุ่งมณี’
จากโครงการบ้านมั่นคงในที่ดินของสำนักงานทรัพย์พระมหากษัตริย์ที่นำร่องในปี 2547 ที่ชุมชนร่วมสามัคคี จำนวน 130 ครอบครัว จนถึงปัจจุบันมีชุมชนต่างๆ ในซอยรามคำแหง 39 ดำเนินโครงการบ้านมั่นคงไปแล้ว รวม 4 ชุมชน ประมาณ 843ครอบครัว (จากทั้งหมด 7 ชุมชน รวม 1,380 ครอบครัว) คือ ชุมชนร่วมสามัคคี ชุมชนทรัพย์สินใหม่ ชุมชนเก้าพัฒนา และชุมชนรุ่งมณีพัฒนา
แต่ที่สำคัญก็คือ ไม่ใช่สร้างบ้านเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและถูกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างทุน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างแหล่งอาหาร นำไปสู่ชุมชนเข้มแข็ง ดังตัวอย่างที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา...
นุชจรี พันธ์โสม หญิงแกร่งแกนนำการพัฒนา ‘ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา’ บอกว่า คนในชุมชนรุ่นแรกๆ เข้ามาอยู่ตั้งแต่ปี 2518 สมัยมหาวิทยาลัยรามคำแหงเพิ่งเปิดไม่นาน ส่วนเธอเป็นคนจังหวัดมุกดาหาร เข้ามาเรียนและทำงานในกรุงเทพฯ ต่อมาในปี 2539 ได้เข้ามาอยู่อาศัยที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา และได้ร่วมกับชาวบ้านพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ
เช่น จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพ กู้ยืมไปใช้ในยามจำเป็น จัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน (กองทุนเงินล้าน) ฯลฯ เมื่อ พอช. มีโครงการบ้านมั่นคง โดยมีชุมชนสามัคคีร่วมใจนำร่องในปี 2547 ชุมชนรุ่งมณีจึงเตรียมที่จะเข้าร่วมโครงการด้วย เพื่อจะได้มีที่อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง ไม่ต้องกลัวโดนไล่ที่ โดยชุมชนรุ่งมณีมีบ้านเรือนทั้งหมดประมาณ 525 หลัง ส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ชั้นเดียว สภาพชำรุดทรุดโทรม ปลูกสร้างบ้านในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ เนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 74 ไร่
ในปี 2550 ชาวบ้านที่จะเข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคงได้รวมกลุ่มจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการสร้างที่อยู่อาศัย มีสมาชิกเข้าร่วมในโครงการที่ 1 และ 2 จำนวน 171 ราย โดยออมเงินเป็นรายเดือนๆ ละ 500-1,000 บาท (ตามเงื่อนไขของ พอช. ชุมชนที่จะขอใช้สินเชื่อจะต้องมียอดเงินออมอย่างต่ำ 10 % ของวงเงินสินเชื่อ เช่น หากจะใช้สินเชื่อสร้างบ้านรายละ 1 แสนบาท สมาชิกจะต้องมีเงินออมอย่างน้อย 1 หมื่นบาท)
จากนั้นในปี 2552 จึงทยอยสร้างบ้านเฟสแรก ปี 2556 สร้างบ้านเฟสที่สอง และแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2558 รวม 171 หลัง ทำให้ชาวชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและมีสภาพแวดล้อมดีขึ้น
ในปี 2564 เริ่มสร้างบ้านเฟสที่ 3 จำนวน 100 หลัง แล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา (รวมทั้ง 3 เฟส 271 หลัง) โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างบ้านทั้งหมด 271 หลัง รวมเป็นเงิน 66 ล้านบาทเศษ งบอุดหนุนช่วยสร้างบ้าน รวม 5 ล้านบาทเศษ และงบก่อสร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง รวม 10 ล้านบาทเศษ
ขณะที่สำนักงานทรัพย์สินฯ สนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยให้ชุมชนเช่าที่ดินเพื่อก่อสร้างบ้านในอัตราผ่อนปรน (ประมาณตารางวาละ 12-15 บาท/เดือน ระยะเวลาเช่า 15-20 ปี เมื่อหมดสัญญาสามารถเช่าต่อได้) รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค สิ่งแวดล้อม และพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนที่มีรายได้น้อย เพื่อให้เป็นชุมชนที่มีความเข้มแข็ง ก้าวไปสู่การพัฒนาชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้อย่างยั่งยืน...!!
บ้านมั่นคงที่ชุมชนรุ่งมณีพัฒนา เฟสที่ 3 จำนวน 100 ครอบครัว/หลัง เป็นบ้านแถว 2 ชั้น ขนาด 4 X 7.50 ม. (60 ตรม.) สร้างเสร็จเมื่อกันยายนที่ผ่านมา ราคาก่อสร้างหลังละ 513,497 บาท ผ่อนชำระ พอช.ประมาณเดือนละ 3 พันบาทเศษ ระยะเวลา 20 ปี
สร้างทุน สร้างอาชีพ สร้างแหล่งอาหาร ฝ่าวิกฤติโควิด-19
นอกจากนี้ ชุมชนรุ่งมณีพัฒนายังเป็นชุมชนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันสร้างกองทุนและกลุ่มออมทรัพย์ต่างๆ ขึ้นมาหลายกองทุน เพื่อช่วยเหลือกันในยามเดือดร้อนจำเป็น เช่น กู้ยืมประกอบอาชีพ ใช้จ่ายค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน ไม่ต้องกู้ยืมเงินกู้รายวันหรือดอกเบี้ยนอกระบบราคาแพง โดยมีกลุ่มออมทรัพย์สัจจะ (กลุ่มสัจจะสตรี) กองทุนหมู่บ้านหรือ ‘กองทุนเงินล้าน’ ฯลฯ
กัลยาศรี หมอกมณี ประธานสถาบันกองทุนชุมชนเมืองรุ่งมณีพัฒนา บอกว่า สถาบันกองทุนชุมชนเมืองรุ่งมณีพัฒนาเริ่มมาจากกองทุนหมู่บ้านที่รัฐบาลได้สนับสนุนชุมชน/หมู่บ้านละ 1 ล้านบาททั่วประเทศตั้งแต่ปี 2544 ต่อมาในปี 2555 ชุมชนรุ่งมณีจึงยกระดับและจัดตั้งเป็น ‘สถาบันกองทุนชุมชนเมืองรุ่งมณีพัฒนา’
ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 375 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 11 ล้านบาทเศษ โดยสมาชิกจะต้องถือหุ้นคนละ 1 หุ้นๆ 100 บาท และฝากเงินเข้าสถาบันเป็นรายเดือน ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 100 บาท เมื่อเดือดร้อนจำเป็นสามารถกู้ยืมได้สูงสุด 75,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน ชำระคืนตามความสามารถ แต่ไม่เกิน 2 ปี
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมอาชีพชาวชุมชน แม่บ้านที่มีเวลาว่าง โดยรวมกลุ่มกันนำผ้าขาวม้าที่มีลวดลายสวยงามสีสันเจิดจ้ามาตัดเย็บเป็นเสื้อเชิ้ตแขนสั้น แขนยาว กระเป๋าถือ ถุงผ้า ผ้าพันคอ พวงมาลัยผ้าขาวม้า ฯลฯ เริ่มผลิตขายในปี 2560 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต’ จาก พอช. จำนวน 7 หมื่นบาท มีสมาชิกมาร่วมกันผลิตและขายประมาณ 20 คน ออกจำหน่ายตามงานต่างๆ งานออกบูธ งานของสำนักงานเขตวังทองหลาง ฯลฯ ทำให้สมาชิกมีรายได้ประมาณคนละ 2,000-2,500 บาทต่อเดือน
กลุ่มอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าจากผ้าขาวม้า (นุชจรี / ที่ 4 จากซ้าย)
มีการจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชนเขตวังทองหลาง’ เป็นกองทุนที่มีสมาชิกมาจากชุมชนต่างๆ ในเขตวังทองหลางรวม 20 ชุมชน จัดตั้งขึ้นในปี 2555 โดยสมาชิกจะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนปีละ 365 บาท ช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ เช่น แม่คลอดบุตร เจ็บป่วยนอนโรงพยาบาล ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส คนพิการ กลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ช่วยเหลือยามเสียชีวิต ฯลฯ ปัจจุบันมีสมาชิกรวม 3,796 คน เงินกองทุน 8.6 ล้านบาทเศษ
นอกจากกองทุนสวัสดิการชุมชนที่มีการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือกันในระดับเขตแล้ว ยังมีการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลาง’ ขึ้นมาตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 โดยมีชุมชนต่างๆ ในเขตวังทองหลาง 20 ชุมชนร่วมเป็นสมาชิก มีสมาชิกที่เข้าร่วมรวม 45 กลุ่ม มีคณะทำงานสภาองค์กรชุมชน 47 คน ถือเป็น ‘กลไกกลาง’ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับชุมชนและระดับเขต เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย การพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ รวมทั้งยังเป็นแกนกลางในการดึงความร่วมร่วมมือจากหน่วยงานภาคีต่างๆ เข้ามาสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นด้วย
ช่วงโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 สภาองค์กรชุมชนเขตวังทองหลางมีบทบาทในการป้องกัน ดูแลผู้ติดเชื้อโควิด
นุชจรี พันธ์โสม แกนนำพัฒนาชุมชน เสริมว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 โดยเฉพาะช่วงที่เกิดภาวะวิกฤติโควิด-19 ทำให้ชาวชุมชนได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพทำงานรับจ้าง ทำงานร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า คนขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ เพราะมีรายได้ลดน้อยลง หรือต้องตกงาน
“กลุ่มตัดเย็บผ้าขาวม้าก็ได้รับผลกระทบเพราะไม่มีที่ขาย เราจึงเอาผ้าขาวม้าที่เหลือมาเย็บเป็นหน้ากากป้องกันโควิด แจกจ่ายในชุมชนและพี่น้องเครือข่ายชุมชนต่างๆ นอกจากนี้ยังจัดทำครัวกลางโดยใช้เงินจากกองทุนต่างๆ ที่มี เอาเงินกองทุนสวัสดิการชุมชนมาทำอาหารแจกจ่ายพี่น้องชุมชนที่ได้รับผลกระทบ คนที่ติดเชื้อต้องกักตัว” นุชจรีเสริม
ชุมชนรุ่งมณีถือเป็นชุมชนต้นแบบในการลุกขึ้นมาจัดการกับปัญหาผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีการจัดทำครัวกลางเพื่อแจกจ่ายอาหาร ข้าวกล่อง ถุงยังชีพ หน้ากากผ้า เจลล้างมือ ฯลฯ ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 หลังจากนั้นชุมชนร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ เช่น สำนักงานเขตวังทองหลาง ศูนย์สาธารณสุขเขตวังทองหลาง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พอช. สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ฯลฯ สนับสนุนให้ชุมชนรุ่งมณีฯ เป็น ‘ศูนย์ประสานงานวังทองหลางรวมใจสู้ภัย COVID-19’ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ตรวจ คัดกรอง ให้คำแนะนำ ทำศูนย์พักคอยผู้ติดเชื้อในชุมชน ตรวจเยี่ยมผู้ติดเชื้อ ฯลฯ
ขณะเดียวกัน...ในช่วงโควิด-19 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ได้สนับสนุนให้ชุมชนใช้พื้นที่ว่างหน้าชุมชนเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ ทำแปลงปลูกผักสวนครัว พืชผัก ผลไม้ต่างๆ เพื่อนำมาทำอาหารแจกจ่าย เช่น พริกขี้หนู ข่า ตะไคร้ มะกรูด กะเพรา โหระพา ผักกวางตุ้ง ผักกาดขาว แค กระเจี๊ยบ กล้วยน้ำว้า มะละกอ ฯลฯ รวมกว่า 20 ชนิด รวมทั้งเลี้ยงปลาดุกในบ่อบ่อซีเมนต์ จำนวน 6 บ่อ ใช้เวลาเลี้ยงรุ่นละ 3 เดือน สามารถนำปลาดุกมาทำอาหารได้ครั้งละนับร้อยตัว...!!
สวนผักที่ชุมชนรุ่งมณีประมาณ 1 ไร่ ปลูกพืชผักต่างๆ ประมาณ 20 ชนิด เป็นแหล่งอาหารในช่วงโควิดจนถึงปัจจุบัน
สร้างบ้านมั่นคงอีก 3 ชุมชน 420 ครอบครัว
ในปี 2566 สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์และ พอช. มีแผนงานสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชุมชนในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินฯ ในซอยรามคำแหง 39 อีก 3 ชุมชน คือ 1.ชุมชนทรัพย์สินเก่า 237 ครอบครัว 2.ชุมชนน้อมเกล้า 130 ครอบครัว และ 3.ชุมชนเพิ่มทรัพย์พัฒนา 53 ครอบครัว รวมทั้งหมด 420 ครอบครัว เป็นการสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม
โดยจะมีพิธียกเสาเอกเพื่อก่อสร้างบ้านทั้ง 3 ชุมชนในวันที่ 23 พฤศจิกายนนี้ เนื่องในการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ การพัฒนาที่อยู่อาศัยบนที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ย่านรามคำแหง 39 เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ “บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง ใต้ร่มพระบารมี”
โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามโครงการบ้านมั่นคงทั้ง 3 ชุมชนดังกล่าว มีเป้าหมายเพื่อให้ชาวชุมชนได้อยู่อาศัยอย่างถูกต้อง โดยการเช่าที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ในอัตราผ่อนปรน ระยะเวลาเช่าช่วงแรก 20 ปี เพื่อให้มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย โดยสร้างบ้านใหม่ เนื่องจากสภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ก่อสร้างมานาน มีสภาพชำรุดทรุดโทรม สาธารณูปโภค ถนน สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม
ชุมชนน้อมเกล้า 130 ครอบครัว ขณะนี้รื้อย้ายเพื่อเตรียมสร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิมแล้ว
ขณะที่ชาวชุมชนได้เตรียมความพร้อม โดยการร่วมกันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนสร้างบ้านมานานหลายปี และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารจัดการ เช่น ชุมชนทรัพย์สินเก่า จำนวน 237 ครอบครัว มีเงินออมที่อยู่อาศัยรวม 17,732,146 บาท (เฉลี่ยครอบครัวละ 74,819 บาท) โดย พอช.สนับสนุนการก่อสร้างบ้านและสาธารณูปโภครวม 20,891,550 บาท (เฉลี่ยครอบครัวละ 88,150 บาท) และให้สินเชื่อระยะเวลา 20 ปี เพื่อปลูกสร้างบ้านรวม 84,130,000 บาท (เฉลี่ยครอบครัวละ 354,978 บาท)
โดยขณะนี้ทั้ง 3 ชุมชนเริ่มตอกเสาเข็มแล้ว และจะเริ่มก่อสร้างทันทีลงพิธียกเสาเอก ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถว 2 ชั้น แบบทาวน์เฮ้าส์ ขนาดประมาณ 4X6 - 4x8 ตารางเมตร ตามแผนงานการก่อสร้างทั้ง 3 ชุมชน รวม 420 ครอบครัว/หลัง จะแล้วเสร็จภายในปี 2567
และเมื่อก่อสร้างบ้าน สร้างชุมชนใหม่เสร็จแล้ว ชุมชนต่างๆ ก็จะมีการพัฒนาคุณภาพชีวิต ในด้านต่างๆ เช่น ส่งเสริมอาชีพ สร้างรายได้ จัดการขยะ สิ่งแวดล้อม ดูแลเด็กและเยาวชน ป้องกันยาเสพติด ดูแลผู้สูงอายุ ฯลฯ โดยมีชุมชนรุ่งมณีพัฒนาเป็นต้นแบบ... เป็น “บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง ใต้ร่มพระบารมี” ในที่ดินสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์...!!
พื้นที่ซอยรามคำแหง 39 หมุดสีแดงหมายเลข 2-4 คือ 3 ชุมชนที่รื้อย้ายเพื่อจะสร้างบ้านใหม่ ส่วนหมายเลข 1 คือชุมชนรุ่งมณีพัฒนา
**********
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา