ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเมืองไทยสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก ปีละ 2 หมื่นคน หรือชั่วโมงละ 2 คน สสส.-กทม.จึงหนุนเครือข่าย “เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม” ใช้พฤติกรรมเชิงบวกเพื่อสื่อสาร สร้างวัฒนธรรมใหม่ เพื่อความปลอดภัยทางถนน โดยเมื่อเร็วๆ นี้เปิดแคมเปญ “ระวังหมดอายุ” ชวนสะกิดเตือนกันด้วยรักและห่วงใย กลับบ้านปลอดภัย และจัดกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนปลูกจิตสำนึก สร้างผู้นำเยาวชนขับเคลื่อนความปลอดภัยบนท้องถนน
นายธนันท์ชัย เมฆประเสริฐวนิช ผู้อำนวยการกองนโยบายแผนงาน สำนักงานการจราจรและขนส่ง กรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยผู้บริหารเขตสาทร ผู้อำนวยการเขตบางรัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายอภิภพ พึ่งชาญชัยกุล รองเลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และผู้ก่อการดีเครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม จากทุกภาคส่วน ร่วมกันแถลงข่าวเปิดกิจกรรมเชิงรุกและมาสคอต ผึ้งน้อยเป็นหู เป็นตา เพื่อสังคม เพื่อชวนคนไทยมีส่วนร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน พร้อมเปิดตัวแคมเปญ “ระวังหมดอายุ STAY SAFE" มุ่งปลุกกระตุ้นทุกคนที่ใช้ถนนสาทร เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาถนนสาทร ให้เป็นถนนปลอดอุบัติเหตุต้นแบบ สะกิดเตือนกันด้วยความรัก ความปลอดภัย ให้ทุกคนระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนนเพื่อกลับถึงบ้านอย่างปลอดภัยทุกวัน และทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนเพื่อสร้างจิตสำนึก และผู้นำเยาวชนขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน
"กทม.จัดตั้งศูนย์ความปลอดภัยบนท้องถนนระดับอำเภอ แต่ละเขตต้องแก้ไขจุดเสี่ยงเพื่อเป็นการลดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ เขตสาทร เขตบางรักทำงานร่วมกัน เนื่องจากเป็นพื้นที่มีอาคารสูงจำนวนมาก จัดให้มีเลนจักรยานยนต์โดยเฉพาะเพื่อความเร่งด่วนในการเดินทางด้วยรถสาธารณะ ผู้สูงอายุไม่สะดวกที่จะเดินข้ามสะพานลอย ต้องจัดทางข้ามที่ปลอดภัยสำหรับคนเดินเท้าบริเวณทางแยก โครงการ STAY SAFE จะช่วยเป็นหูเป็นตาให้สังคม เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ผลักดันให้เป็นโครงการ Sand Box ต่อไปผู้ว่าฯ กทม.สั่งการเป็นนโยบายทั้ง 50 สำนักงานเขตรับผิดชอบ เท่ากับฝากเป็นหูเป็นตาได้ด้วย" นายธนันท์ชัยกล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. เปิดเผยว่า ความปลอดภัยบนท้องถนนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ควรให้มีการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร มีเป็นหมื่นคนที่หมดอายุก่อนเวลา “ผมขับรถผ่านถนนสาทรแทบทุกวัน เราไม่อยากให้ใครสูญเสียชีวิต จึงต้องสร้างมาตรการให้หน่วยงานทำงานอย่างเป็นระบบ เพื่อให้คนมีสุขภาพดีและเกิดความปลอดภัยบนท้องถนน สร้างความตระหนักรู้”
สสส.มุ่งขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ของสังคมสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในสังคม หวังที่จะเห็นงานความปลอดภัยทางถนน เป็นงานที่มีความสำคัญและเกี่ยวข้องกับทุกคน การจะทำให้ถนนบ้านเรามีความปลอดภัย เพื่อเราทุกคน มีหลากหลายองค์ประกอบ ทั้งด้านคน-รถ-ถนน-สภาพแวดล้อมและบริบทต่างๆ ต้องแก้ทุกองค์ประกอบจึงจะทำให้เกิดความปลอดภัย ทำให้วัฒนธรรมของความปลอดภัยทางถนน เกิดเป็นวิถีและวัฒนธรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน กิจกรรมและแคมเปญระวังหมดอายุ จึงเป็นจุดสตาร์ทที่ดี ที่แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือของทุกคน ในการช่วยกันเป็นหูเป็นตา เพื่อร่วมสร้างถนนสาทรให้เป็นถนนปลอดอุบัติเหตุต้นแบบ
“ข้อมูลจากสถานีตำรวจนครบาลยานนาวา และทุ่งมหาเมฆ เบื้องต้นพบว่าในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา เกิดอุบัติเหตุบนถนนสาทรไปแล้วถึง 335 ครั้ง และเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุ 10 คน โดยส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ และผู้เสียชีวิตอยู่ในวัยหนุ่มสาวและคนทำงาน ถนนสาทรเป็นถนนที่มีความสำคัญ ตั้งอยู่ใจกลางของ กทม. มีการเดินทางสัญจรและมีความหนาแน่นของประชากรค่อนข้างมาก และมุ่งหวังที่จะทำให้พื้นที่ถนนสาทร กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ทั้งผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ ไรเดอร์ รถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนผู้ใช้ทางเดินเท้า หากสามารถร่วมกันทำให้ปลอดอุบัติเหตุได้ ก็จะส่งแรงกระเพื่อมขยายผลพื้นที่ไปยังถนนเส้นอื่นและเขตอื่นๆ ใน กทม. และขยายผลต่อในหัวเมืองสำคัญทั่วประเทศต่อไป” ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้ก่อตั้งห้องปฏิบัติการทางสังคมประเทศไทย และประธานเครือข่าย เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม เปิดเผยว่า จากสถิติจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย ที่ยังคงสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก คือปีละ 2หมื่นคน หรือเฉลี่ยวันละ 6 คน หรือชั่วโมงละ 2 คน โดยกว่าครึ่งเป็นเยาวชนไทย และมีผู้บาดเจ็บพิการจากอุบัติเหตุปีละประมาณ 500,000 ราย สร้างผลกระทบต่อทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยเฉพาะครอบครัวที่ต้องสูญเสียคนที่รักไปอย่างไม่มีวันกลับ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องตระหนักและเข้ามามีส่วนร่วม โดยควบคู่ไปกับการรณรงค์ของภาคส่วนต่างๆ หัวใจสำคัญคือ การสร้างความตระหนักให้ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก
“ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เครือข่ายเป็นหู เป็นตา เพื่อสังคม มุ่งสร้างวัฒนธรรมใหม่ในการใช้รถใช้ถนน (Co-Creating Road Safety Culture) มีการเตือนตนเอง เตือนคนที่เรารัก และรักเรา ด้วยความปรารถนาดี ห่วงใย เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยอยู่เสมอ การเปิดตัวแคมเปญระวังหมดอายุ เพื่อพัฒนาให้ถนนสาทรเป็นถนนปลอดอุบัติเหตุครั้งนี้ ได้เปิดตัวมาสคอต ผึ้งน้อยเป็นหู เป็นตา เพื่อสังคม ที่จะช่วยย้ำเตือนให้ทุกคนระมัดระวังในการขับขี่ และมีการเปิดตัวเพลงฮิตติดหูในการรณรงค์ “เพลงระวังหมดอายุ” เพื่อย้ำเตือน และสะกิดให้ทุกคนระมัดระวัง และใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยตลอดเวลา ด้วย 4 เตือนคือ ระวังความเร็ว ระวังทางข้าม ระวังทางแยก และระวังน็อก คือให้สวมหมวกกันน็อกทุกครั้งที่ขับขี่ หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์" ดร.อุดมชี้แจง
ดร.อุดมเปิดเผยว่า เครือข่ายเป็นหู เป็นตา เพื่อสังคม และแคมเปญ “ระวังหมดอายุ STAY SAFE" ได้รับการตอบรับจากกรุงเทพมหานครและหลายภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป มีแผนที่จะจัดกิจกรรมเชิงรุกในเขตพื้นที่สาทรและบางรักอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยไฮไลต์คือ การเชิญชวนทุกคนมาร่วมแสดงความคิดเห็นใน Mini Exhibition ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2566 ณ สกายวอล์กช่องนนทรี และในวันที่ 19 พฤศจิกายน เป็นวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางท้องถนน นอกจากนี้จะมีกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร การถอดบทเรียน และพัฒนากิจกรรม แคมเปญ ให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง เพื่อสร้างให้เกิดวัฒนธรรมความปลอดภัยในโรงเรียนและสังคมในวงกว้างได้อย่างแท้จริง
เครือข่ายเป็นหู เป็นตา เพื่อสร้างสังคม เพื่อสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน สนับสนุนโดย สสส. ประกอบด้วยผู้ก่อการดีทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และภาคประชาชน ที่ต่างเห็นความสำคัญของการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้น รวมถึงหน่วยงานที่ขับเคลื่อนความปลอดภัยมาอย่างยาวนาน เช่น มูลนิธิเมาไม่ขับ องค์กรสนับสนุนป้องกันอุบัติเหตุจราจร ขอเชิญชวนประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ มามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ โดยติดต่อได้ที่ Facebook เป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม.
มนตรี สวัสดิ์เอื้อ
พี่วิน.. บนถนนสาทร
บริเวณนี้มี office building เป็นจำนวนมาก บางกอกซิตี้ สาทรสแควร์ เอ็มไพร์ทาวเวอร์ อาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ ในชั่วโมงเร่งด่วนลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการให้ขับไปส่งถึงที่ทำงานโดยรวดเร็ว บ่อยครั้งที่ต้องวิ่งถึง 100 กม./ชั่วโมง โดยผู้โดยสารก็ไม่ยอมที่จะสวมหมวกกันน็อก ทั้งๆ ที่วินมอเตอร์ไซค์ก็ส่งหมวกกันน็อกให้สวมเพื่อความปลอดภัย
“การใช้รถใช้ถนนให้เกิดความปลอดภัย ภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องร่วมมือกันเพื่อให้เกิดความปลอดภัยด้วยกันทุกฝ่าย ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำงานคนเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องมีหลายองค์กรเฝ้าระวังผู้ใช้รถใช้ถนนให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ทำให้เกิดอุบัติเหตุน้อยที่สุด ปกติผมขับด้วยความเร็ว 60-80 กม./ชั่วโมง สสส.ให้ข้อมูลกับวินมอเตอร์ไซค์และนำมาปฏิบัติกับผู้โดยสาร ทุกครั้งที่ขึ้นรถจะบอกผู้โดยสารว่างดใช้โทรศัพท์มือถือ เพราะบางครั้งมีการเบรกกะทันหันรถเสียหลักเป็นอันตรายได้ และขอให้สวมหมวกกันน็อก แต่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ไม่ยอมสวมหมวก อ้างว่าไปใกล้ๆ แค่นี้เอง รพ.เซนต์หลุยส์ แต่บางครั้งรถคันอื่นขับรถแบบฉวัดเฉวียน มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้ถ้าไม่ระมัดระวัง ผู้โดยสารต่างชาติมีความระมัดระวังกว่าผู้โดยสารคนไทย จะบอกว่า slowly ในขณะที่คนไทยจะบอกให้วิ่งเร็วๆ ผมเคยเกิดอุบัติเหตุเมื่อปี 2533 รถแท็กซี่พุ่งเข้ามาชน ก็ต้องชดใช้ผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ”.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง
โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด
เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน
'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน
‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่
สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ
จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง
รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น