เส้นทางสู่บ้านมั่นคงของคนเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี “6 ปี....ความหวังที่ยังรอคอยของคนอยากมีบ้าน”

เขตเทศบาลตำบลเวียงสระ  อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี  มีประชาชนมีรายได้น้อยที่ยังขาดแคลนที่อยู่อาศัยจำนวนมาก

“เมื่อก่อนผมอาศัยอยู่ในที่ดินรถไฟ...อยู่มาตั้งแต่ปี 2540...ช่วงปี 2560 เจ้าหน้าที่มาบอกว่าจะมีการขยายทางรถไฟ  ให้รื้อย้ายออกไป  ชาวบ้านยังไม่ได้เตรียมตัว  เพราะไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน อยู่ๆ เจ้าหน้าที่ก็เอารถแบ็คโฮเข้ามารื้อบ้าน  ทั้งชุมชนโดนรื้อไปเกือบ 20 หลัง  ผมกับครอบครัวต้องขนข้าวของออกมาหาเช่าบ้านอยู่...พอรู้ว่าจะมีโครงการบ้านมั่นคง  เพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง  ผมก็เข้าร่วมกลุ่มตั้งแต่ปีแรก ต้องออมเงินทุกเดือนเพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน  ตอนนี้ออมเงินได้ 6 ปีแล้ว  กำลังรอสร้างบ้านในปีนี้...แม้จะช้าแต่ผมก็เชื่อว่าโครงการนี้จะสำเร็จ”

สมชาติ  จีนาสุข  อายุ 48 ปี ชาวอำเภอเวียงสระ  จังหวัดสุราษฎร์ธานี อาชีพรับจ้างทั่วไป  ซึ่งเคยอาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ก่อนจะโดนรื้อบ้านในปี 2560   และเป็น 1 ในกลุ่มคนจนในอำเภอเวียงสระที่เข้าร่วมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อจะสร้าง บ้านมั่นคง’  จากทั้งหมด 182 ครอบครัว  บอกถึงความหวัง...

ส่วนหนึ่งของบ้านเรือนที่โดนรื้อย้าย

บ้านมั่นคงของคนเวียงสระ

ย้อนกลับไปในปี 2546 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช’ มีโครงการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ โดย พอช.สนับสนุนกระบวนการรวมกลุ่มคนในชุมชนที่มีความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย  เช่น  อยู่อาศัยในที่ดินบุกรุก  ที่ดินเช่า  เช่าบ้านอยู่อาศัย  ถูกไล่ที่  ฯลฯ ให้รวมตัวกันเพื่อแก้ไขปัญหา  เพื่อให้มีที่ดินที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

เช่น  ร่วมกันจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ  สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน  ร่วมกันออมทรัพย์เป็นรายเดือนเพื่อเป็นทุนสร้างบ้าน  ซื้อหรือเช่าที่ดิน  ฯลฯ  โดย พอช.จะสนับสนุนสินเชื่อระยะยาว  ดอกเบี้ยต่ำ  และอุดหนุนงบประมาณบางส่วนเพื่อก่อสร้างบ้าน  สร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง  โดยมี 10 ชุมชนนำร่องทำโครงการบ้านมั่นคงในปี 2546  เช่น  กรุงเทพฯ  ระยอง  อุตรดิถต์  สงขลา  ฯลฯ

จังหวัดสุราษฎร์ธานี  ในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ  อำเภอเวียงสระ  เป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด  เป็นที่ตั้งของธนาคาร  ห้างร้าน  ร้านทอง  วัสดุก่อสร้าง  ตลาดสด  สถานีรถไฟ  รถโดยสาร   ฯลฯ  จึงมีผู้คนจากทั่วสารทิศเข้ามาอยู่อาศัยและทำกิน  ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้าง ลูกจ้างร้านค้า  รับจ้างทำสวน  กรีดยางพารา  ค้าขายรายย่อย  ขายอาหาร  ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  ส่วนใหญ่จะสร้างบ้านบุกรุกที่ดินรัฐ  โดยเฉพาะที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เพราะมีเส้นทางรถไฟสายใต้ผ่านอำเภอเวียงสระ จึงเสี่ยงต่อการถูกไล่ที่  บ้างเช่าบ้านอยู่  ไม่มีความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย  มีผู้ที่เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยหลายร้อยครอบครัว

ชาติชาย  กิจธิคุณ  กรรมการเครือข่ายที่อยู่อาศัยเมืองเวียงสระ  เล่าว่า  ราวปี 2549  เจ้าหน้าที่ พอช. ได้เข้ามาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในอำเภอเวียงสระ  โดยให้ชุมชนที่เดือดร้อนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  เพื่อจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  ซึ่งครอบครัวของตนเป็นครอบครัวหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง เพราะไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เริ่มรวมกลุ่มกันตั้งแต่ปี 2549-2550  โดยเจ้าหน้าที่ พอช. เข้ามาให้คำแนะนำ  รวบรวมผู้ที่เดือดร้อน  อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง  ส่วนใหญ่อยู่ในที่ดิน รฟท. รวม 5 ชุมชน   ร่วมกันออมทรัพย์รายเดือนเพื่อเป็นทุน  ครอบครัวหนึ่งอย่างต่ำเดือนละ 500-600 บาท  ใครมีมากก็ออมมาก  และจดทะเบียนเป็นสหกรณ์ เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคลเพื่อทำนิติกรรมต่างๆ เช่น  ซื้อที่ดิน  ขอสินเชื่อจาก พอช.

ต่อมาได้ร่วมกันหาซื้อที่ดินเอกชนในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระ  เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่  2 งาน  รองรับผู้เดือดร้อนได้  44 ครอบครัว  จัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา  ถือเป็นโครงการแรกในอำเภอเวียงสระ  โดยจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อบริหารจัดการโครงการ  ใช้ชื่อว่า ‘สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเวียงสระ จำกัด’   โดย พอช.สนับสนุนสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้าน  รวมประมาณ 10 ล้านบาท  สนับสนุนระบบสาธารณูปโภค  ถนน  น้ำประปา  ไฟฟ้า  ฯลฯ ประมาณ 1.5 ล้านบาทเศษ 

สร้างบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 5X9 ตารางเมตร  ราคาประมาณหลังละ 210,000 บาท  ผ่อนประมาณเดือนละ 2,100 บาท  สร้างเสร็จ 44 หลังในปี 2553  โดยนายสุเทพ  เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี  และนายอิสสระ  สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในขณะนั้น  เป็นประธานการมอบบ้านในเดือนมกราคม 2553  (ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ชำระสินเชื่อซื้อที่ดินและสร้างบ้านให้ พอช.หมดแล้ว)

หลังจากนั้นจึงมีโครงการบ้านมั่นคง  โครงการที่ 2  เพราะในเขตเทศบาลตำบลเวียงสระยังมีผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยอีกมาก  โดยโครงการที่ 2 มีชาวบ้านที่เดือดร้อนจำนวน 86 ครอบครัว  ได้รวมตัวกันจัดทำโครงการบ้านมั่นคงใช้ชื่อ ‘สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงเปี่ยมสุขเวียงสระ  จำกัด’ เริ่มรวมตัวออมทรัพย์ในปี 2551

ต่ออมาได้จัดซื้อที่ดินในเขตเทศบาลเวียงสระ  เนื้อที่ประมาณ 6 ไร่เศษ  ราคาประมาณ 5.4 ล้านบาท  เริ่มก่อสร้างบ้านในปี 2555  ขนาดที่ดินครอบครัวละ 4.20 เมตร x  9 เมตร  ส่วนใหญ่เป็นบ้านแถวแบบทาวน์เฮ้าส์  ขนาด 2 ชั้น  โดยเทศบาลตำบลเวียงสระและ พอช.สนับสนุนงบประมาณด้านสาธารณูปโภค  และ พอช.ให้สินเชื่อเพื่อซื้อที่ดินและก่อสร้างบ้าน  ผ่อนชำระประมาณเดือนละ 2,200 บาท  สร้างบ้านเสร็จทั้งหมดในปี 2560

บ้านมั่นคงโครงการ 2 จำนวน 86 ครอบครัว  สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2560

บ้านมั่นคงโครงการ 3 รองรับ 182 ครอบครัว

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยในอำเภอเวียงสระทั้ง 2 โครงการตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’   สร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในชุมชนอื่นๆ เพราะเห็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นจริง  และทำให้เห็นว่า  หากคนจนรวมตัวกันแก้ไขปัญหา  โดยมีหน่วยงานรัฐร่วมสนับสนุนก็จะทำให้คนจน  คนที่หาเช้ากินค่ำ  สามารถเก็บออมเงินเพื่อสร้างบ้านได้ 

ดังที่ ‘อดุลย์  ทองด้วง’  แกนนำบ้านมั่นคงโครงการ 2 บอกว่า  “คนจนสามารถรวมตัวกันแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยได้จริง โดยมีหน่วยงานรัฐหรือ พอช.  รวมทั้งหน่วยงานในท้องถิ่น  เช่น  เทศบาลร่วมสนับสนุน” 

ด้วยรูปธรรมบ้านมั่นคงในอำเภอเวียงสระทั้ง 2 โครงการ  จึงทำให้เกิดบ้านมั่นคงโครงการที่ 3 ตามขึ้นมา  โดยเฉพาะชาวชุมชนที่ถูกขับไล่ออกจากแนวทางการพัฒนารางรถไฟในปี 2560  เช่น  ครอบครัวของสมชาติ  จีนาสุข  และเพื่อนร่วมชะตากรรมกว่า 20 ครอบครัวที่โดนรื้อบ้านไปแล้ว

พันธัช  จันทร์แจ่มศรี  แกนนำบ้านมั่นคงโครงการ 3 ในฐานะ ‘ประธานสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ จำกัด’  บอกว่า  โครงการบ้านมั่นคงทั้ง 2 โครงการ  ทำให้คนจนในเมืองเวียงสระมีที่อยู่อาศัยมั่นคงเป็นของตัวเอง  จำนวน 130 ครอบครัว  แต่ในอำเภอเวียงสระยังมีคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองมีจำนวนมาก มีทั้งคนที่อยู่บ้านเช่า  ครอบครัวขยาย  บ้านเรือนแออัด  สร้างบ้านในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย

ประกอบกับในปี 2560 มีชุมชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟฯ ในอำเภอเวียงสระ  ถูกไล่ที่  โดนรื้อบ้าน      ในเดือนมีนาคมปีนั้น  จึงได้สำรวจข้อมูลและรวมกลุ่มคนที่เดือดร้อนเพื่อจะจัดทำโครงการบ้านมั่นคงขึ้นมา  เป็นโครงการที่ 3   ซึ่งตอนแรกมีคนที่เดือดร้อนแจ้งความต้องการจะเข้าร่วมประมาณ 350 ครอบครัว  โดยให้ครอบครัวที่เข้าร่วมๆ กันจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  ออมเงินเป็นรายเดือนๆ ละ 600 บาท  เพื่อเป็นทุนในการดำเนินงาน  เริ่มออมในเดือนกันยายน 2560

นอกจากนี้ในการจัดทำโครงการบ้านมั่นคง  ตามเงื่อนไขของ พอช.  ชาวบ้านจะต้องร่วมกันออมเงินให้ได้อย่างน้อย 10 เปอร์เซ็นต์ของสินเชื่อที่จะขอใช้ในการซื้อที่ดินหรือก่อสร้างบ้าน  เช่น  หากจะใช้สินเชื่อจาก พอช. เพื่อก่อสร้างบ้านและซื้อที่ดินรายละ 300,000 บาท  สมาชิกที่เข้าร่วมจะต้องออมทรัพย์ให้ได้รายละ 30,000 บาท  หากมีสมาชิกเข้าร่วม 100 ราย  จะต้องมีเงินออมร่วมกันจำนวน 3 ล้านบาท

พันธัช  แกนนำบ้านมั่นคงโครงการ (ที่ 2 จากขวา) สำรวจข้อมูลผู้เดือดร้อน

พันธัช  แกนนำบ้านมั่นคงโครงการ 3  บอกว่า  การออมทรัพย์ของสมาชิกที่จะทำโครงการบ้านมั่นคงซึ่งในตอนแรกมีผู้เดือดร้อนและสนใจอยากจะมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองประมาณ 350 ครอบครัว  แต่เมื่อต้องใช้ระยะเวลาในการออมเงินนาน 3-4 ปี  จึงทำให้เหลือผู้เข้าร่วมและออมทรัพย์อย่างสม่ำเสมอจำนวน 182 ครอบครัว

ในปี 2564  แกนนำโครงการบ้านมั่นคงร่วมกันตระเวนดูแปลงที่ดินที่เหมาะสมในอำเภอเวียงสระ  พบที่ดินเป็นสวนยางพาราอยู่ในเขตเทศบาลตำบลบ้านส้อง  เนื้อที่ 16 ไร่  3 งานเศษ สามารถรองรับสมาชิกได้ทั้ง 182 ครอบครัว อยู่ห่างจากย่านธุรกิจการค้าในอำเภอเวียงสระเพียง 1 กิโลเมตรเศษ  ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสม  เพราะสมาชิกที่เข้าร่วมส่วนใหญ่ต่างทำมาหากินอยู่ในตัวเมือง  ราคาขายทั้งแปลง 6.5 ล้านบาท  (ไร่ละประมาณ  386,000 บาท) จึงทำสัญญาจะซื้อจะขาย 

หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 2565  แกนนำจึงร่วมกันจดทะเบียนเป็นสหกรณ์เพื่อเตรียมทำนิติกรรมซื้อที่ดินในนามสหกรณ์  ใช้ชื่อว่า “สหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ  จำกัด” มีคณะกรรมการสหกรณ์จำนวน 11 คน  โดยมีพันธัช  จันทร์แจ่มศรี เป็นประธานสหกรณ์  และซื้อที่ดินในเดือนธันวาคมปีเดียวกันเพื่อเตรียมทำโครงการบ้านมั่นคง  โดยใช้เงินของสหกรณ์ที่สมาชิกร่วมกันออมทรัพย์มาเป็นเวลานานกว่า 5 ปี  จำนวน 650,000 บาท  (เงินออมรวมกันปัจจุบันประมาณ 11 ล้านบาท) และสินเชื่อซื้อที่ดินจาก พอช. จำนวน 5,850,000 บาท

ผังโครงการบ้านมั่นคงโครงการ 3 ‘บ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ’

6 ปี...ความหวังที่รอคอย”

‘โครงการบ้านมั่นคงสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ  จำกัด’  จัดสรรแบ่งแปลงที่ดินออกเป็น 182 แปลง/ครอบครัว  ขนาดที่ดินตามความต้องการของสมาชิกและความสามารถในการผ่อนชำระ  ที่ดินมีขนาดตั้งแต่ 15.75 – 52 ตารางวา  เป็นที่อยู่อาศัยทั้งหมดประมาณ  4,000 ตารางวา  พื้นที่ส่วนกลางประมาณ 2,600 ตารางวา  (เฉลี่ยตารางวาละ 966 บาท) เพื่อก่อสร้างถนน  สาธารณูปโภค  อาคารเอนกประสงค์  สวนหย่อม  สนามเด็กเล่น  และแปลงปลูกผักรวม

ตามผังโครงการจะมีการก่อสร้างบ้านแฝดชั้นเดียว  ขนาด 6X7 ตารางเมตร จำนวน 28 หลัง  ราคาก่อสร้างหลังละ 255,840  บาท  บ้านแฝด 2 ชั้น  ขนาด 4X8 ตารางเมตร  จำนวน 144 หลัง  ราคาก่อสร้างหลังละ  387,200 บาท  และบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4X8 ตารางเมตร  จำนวน 40 หลัง  ราคาหลังละ  374,170 บาท  โดยสหกรณ์จัดทำโครงการบ้านมั่นคงเพื่อเสนอขอใช้สินเชื่อก่อสร้างบ้านจาก พอช. ในเดือนธันวาคม 2565  จำนวน 60 ล้านบาทเศษ  และได้รับอนุมัติในหลักการในช่วงต้นปี 2566  พร้อมทั้งงบอุดหนุนและงบก่อสร้างสาธารณูปโภคทั้งหมดประมาณ  19 ล้านบาทเศษ   (รวมมูลค่าโครงการทั้งหมดประมาณ  86.7 ล้านบาทเศษ)

หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 2566  จึงมีพิธียกเสาเอกเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยตามความเชื่อและเพื่อความเป็นสิริมงคลของสมาชิกโครงการบ้านมั่นคง   ส่วนการก่อสร้างบ้านเฟสแรกจำนวน 100 หลัง  ตามแผนงานจะเริ่มได้ภายในเดือนธันวาคมนี้

พิธียกเสาเอกเพื่อเอาฤกษ์ชัย  เมื่อ 17 สิงหาคม 2566

“ตอนนี้ชาวบ้านกำลังรอแบบแปลนเพื่อขออนุญาตก่อสร้างบ้านจากเจ้าหน้าที่ พอช.  หลังจากนั้นจึงจะเปิดประมูลโครงการหาผู้รับเหมาเพื่อก่อสร้างบ้าน  โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนพฤศจิกายนนี้  เพื่อก่อสร้างบ้านให้ได้ตามแผนงานในเดือนธันวาคม  เพราะหากล่าช้าออกไปก็ยิ่งจะทำให้ค่าวัสดุก่อสร้างขึ้นราคาไปอีก  งบประมาณค่าก่อสร้างที่ขอสินเชื่อและงบสนับสนุนจาก พอช.คงจะไม่พอ  ก็ต้องคุยกับผู้รับเหมาและทาง พอช.ว่าจะหาทางออกอย่างไร  เพราะงบประมาณมีจำกัด”

พันธัช  จันทร์แจ่มศรี   ในฐานะประธานสหกรณ์บริการบ้านมั่นคง ฯ บอกถึงแผนงาน  และขยายความว่า  โครงการบ้านมั่นคงที่ล่าช้าออกไปเกือบ 1 ปี  ทำให้ต้นทุนวัสดุค่าก่อสร้างสูงขึ้นจากเดิมที่เคยคำนวณเอาไว้ในช่วงปลายปี 2565 และทำให้อัตราค่าผ่อนชำระสินเชื่อจาก พอช.ทั้งบ้านและที่ดินที่เคยประมาณการเอาไว้ตั้งแต่หลังละ 2,000 -3,000 บาทเศษ (ระยะเวลา 15 ปี) ต้องขยับสูงขึ้นอีก

ขณะที่ สารภี  คุณทวี  อายุ 47 ปี  อาชีพลูกจ้างทำความสะอาดสำนักงานเทศบาลตำบลเวียงสระ  บอกว่า  ตอนนี้ครอบครัวอาศัยอยู่ในที่ดินการรถไฟฯ ที่เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ  เพราะโครงการรถไฟทางคู่จากกรุงเทพฯ-หาดใหญ่  ตอนนี้ก่อสร้างมาถึงจังหวัดชุมพรแล้ว  (ห่างจากอำเภอเวียงสระประมาณ 100 กิโลเมตรเศษ)

“อยากให้โครงการบ้านมั่นคงสร้างเร็วๆ เพราะตอนนี้ที่บ้านอยู่กัน 7 คน  เป็นบ้านชั้นเดียว  หลังเล็ก  อยู่กันแออัดมาก   ทางรถไฟรางคู่ก็กำลังจะมา  ถ้าโดนไล่ก็ยังไม่รู้ว่าจะไปอยู่ที่ไหน  ส่วนบ้านที่เลือกเอาไว้เป็นบ้านแถว 2 ชั้น  ขนาด 4 คูณ 8 เมตร   ถ้ามีบ้านเป็นของตัวเองก็จะได้อยู่กันสบาย  ไม่ต้องกลัวโดนไล่”  สารภีบอก

สมาชิกบ้านมั่นคงร่วมประชุมชี้แจงความคืบหน้าโครงการ

สมชาติ  จีนาสุข  สมาชิกบ้านมั่นคงที่เคยโดนเจ้าหน้าที่รื้อบ้านออกจากแนวขยายทางรถไฟ  และรอคอยบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2560 จนถึงวันนี้เป็นเวลานานกว่า 6 ปี  บอกว่า  เลือกแบบบ้านแถว 2 ชั้นเหมือนกัน  เมื่อก่อนเคยออมเงินเดือนละ 600 บาท  ตอนนี้ชยับเพิ่มเป็น 2,900 บาท  เพื่อเตรียมผ่อนทั้งที่ดินและบ้าน

“ใครๆ ก็อยากจะมีบ้านเป็นของตัวเองทั้งนั้นแหละ ผมเคยโดนเจ้าหน้าที่รื้อบ้านมาก่อน  จึงไม่อยากจะโดนไล่อีก  ตอนนี้เช่าบ้านอยู่เดือนละ 3 พันบาท  อยู่กัน 4 คน  ถ้าสร้างบ้านเสร็จจะได้ไม่เสียค่าเช่าบ้าน  แต่ต้องผ่อนบ้านและที่ดินเดือนละ 2,900 บาท  จะได้เป็นของตัวเอง  ดีกว่าเช่าเขาอยู่  แต่ที่ผ่านมามันเกิดความล่าช้า  รอมา 6 ปีแล้ว...แต่ผมก็เชื่อว่า  โครงการนี้จะสำเร็จแน่”   สมชาติ  คนอยากมีบ้านบอก

บ้านในฝัน...6 ปีที่รอคอย

ขณะที่ พันธัช  จันทร์แจ่มศรี  ประธานสหกรณ์บริการบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระ จำกัด บอกว่า  6 ปีที่ผ่านมา  สมาชิกที่เข้าร่วมโครงการบ้านมั่นคง 182 ครอบครัวยังมีความเหนียวแน่น  ร่วมกันออมเงินอย่างสม่ำเสมอ  เพราะอยากจะมีบ้านเป็นของตัวเอง  เพื่อให้ครอบครัวและลูกหลานได้อยู่อาศัย  ส่วนคณะกรรมการก็ช่วยกันทำงานด้วยความเสียสละ  เข้มแข็ง  ไม่มีค่าจ้าง  หรือค่าตอบแทน  ทำไปเพราะอยากจะเห็นคนจนด้วยกันมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง

“ถึงวันนี้  พวกเรากำลังจะมีบ้านมั่นคงเป็นของตัวเองแล้ว  แต่ในเวียงสระยังมีคนที่หาเช้ากินค่ำ  ยังมีคนจนที่ไม่มีรายได้เพียงพอ  ไม่มีเงินออมที่จะซื้อที่ดินเอามาสร้างบ้าน  ต้องบุกรุกที่ดินรัฐ  ที่ดินรถไฟอีกมาก  จึงอยากจะให้หน่วยงานรัฐในพื้นที่  เอาพื้นที่ว่างมาให้ประชาชนได้ทำที่อยู่อาศัย  และมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาสนับสนุน  เพื่อให้คนจน  คนที่เดือดร้อนจะได้มีที่อยู่อาศัยทั่วกัน”  แกนนำบ้านมั่นคงโครงการ 3 อำเภอเวียงสระ  บอกถึงความหวังทิ้งท้าย

ส่วนหนึ่งของแกนนำบ้านมั่นคงทวีสุขเวียงสระกับที่ดินที่กำลังจะสร้างบ้านมั่นคง

***************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา