งานประเพณีแข่งเรือวันออกพรรษา ตานก๋วยสลากวัดบุญยืนพระอารามหลวง อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เป็นประเพณีท้องถิ่นที่สืบทอดกันมานานนับหลายร้อยปี ที่คงเอกลักษณ์เดิมไว้มากที่สุด ใช้เรือขุดจากไม้ท่อนตะเคียนแกะสลักหัวและหางเรือเป็นรูปพญานาคอ้าปากชูคอ มีเขี้ยวโง้งงอนสง่างาม ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนหมู่บ้านต่างๆ ที่มีส่วนร่วมในการส่งเรือเข้าร่วมแข่งขัน มีเรือใหญ่เอกลักษณ์น่านใส่ชุดม่อฮ่อม เรือตีกลองตีฆ้อง ปาน เป่าแน ฟ้อนล่องน่าน เรือสวยงาม
ที่น่าสนใจคือ นอกจากการสืบสานประเพณีท้องถิ่นจากอดีตจนถึงปัจจุบันแล้ว งานประเพณีแข่งเรือวันออกพรรษาตานก๋วยสลากวัดบุญยืน ยังยึดถือแนวทางประเพณีแข่งเรือปลอดเหล้าปลอดเบียร์ ให้เป็นต้นแบบสืบต่อกันมายาวนานถึง 16 ปีแล้ว
สำหรับปี 2566 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีเปิดประเพณีแข่งเรือออกพรรษาตานก๋วยสลากวัดบุญยืน พระอารามหลวง ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ 28 ต.ค. ที่บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำน่าน (ท่าน้ำบ้านป่ากล้วย) อ.เวียงสา จ.น่าน
โอกาสนี้ รมว.สาธารณสุขเปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายเรื่องเศรษฐกิจสุขภาพ โดยจะผลักดันเมืองสุขภาพดี วิถีชุมชน คนอายุยืน โดยจัดทำ Blue Zone ซึ่งจะมีการผลักดันการดำเนินงานที่ จ.น่าน หรือที่เรียกว่า “น่านโมเดล”
จังหวัดน่าน มีความพร้อมในทุกด้านที่จะขับเคลื่อนมิติการดูแลสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจไปพร้อมกัน และมีต้นทุนด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญมีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่หลากหลาย เช่น เครือข่ายประชาคมงดเหล้า เครือข่ายคนน่านจัดการตนเอง เครือข่ายมูลนิธิฮักเมืองน่าน เครือข่ายป่าชุมชน สภาเด็กและเยาวชนจังหวัดน่าน เครือข่ายชาติพันธุ์ สภาองค์กรชุมชนตำบล ชมรมเรือแข่ง และเครือข่ายด้านการศึกษา เพื่อพัฒนาประชากรทุกช่วงวัยให้มีสุขภาวะที่ดี มีความรอบรู้ด้านสุขภาวะ สามารถดูแลสุขภาพ มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์และคุณภาพชีวิตที่ดี ตามแผนพัฒนาจังหวัดน่าน
น่านโมเดลให้เป็นเมืองแห่งความสุขในพื้นที่ 13 เขต นำร่องวิถีน่านวิถีชุมชน มีผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีมากกว่า 20% ก้าวสู่ความเป็นผู้สูงอายุสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะมีผู้สูงอายุในเมือง 48% เทศบาลอีก 30% การมีสุขภาพที่ดีต้องปลอดเหล้า บุหรี่ จะลดโรคได้อีก เพราะโรคที่เกิดจากโรค NCDs นั้นเป็นพฤติกรรมการกินการอยู่การใช้ชีวิต “การมีสุขภาพหรือสุขภาวะที่ดีต้องดีทั้ง 4 มิติ คือ กาย จิต ปัญญา และสังคม"
"งานประเพณีแข่งเรือยาวถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเชิงสังคมที่กำหนดสุขภาพ การสร้างสุขภาวะทางสังคม อย่างสมัยอดีตการจัดงานจะมีเรื่องของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดเหตุการณ์ทั้งเรื่องของการเมา การทะเลาะวิวาทหรืออุบัติเหตุ ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบทางสุขภาพตามมา แต่จากการดำเนินงานของ สสส.และภาคีเครือข่าย ทำให้เกิดงานบุญประเพณีปลอดเหล้าขึ้น โดยเฉพาะงานประเพณีแข่งเรือปลอดเหล้าในครั้งนี้ ถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ในพื้นที่ที่ควรอนุรักษ์ให้คงอยู่สืบไป ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่ โดยไม่ต้องมีแอลกอฮอล์เข้ามาเกี่ยวข้อง” นพ.ชลน่านชี้แจง
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. ชี้แจงว่า สสส.และสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) สนับสนุนการรณรงค์ให้จัดแข่งเรือยาวประเพณีปลอดเหล้า ปลอดเบียร์ มาต่อเนื่อง 15 ปี โดยสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของงานประเพณีวัฒนธรรมที่มีความปลอดภัย หนุนให้เกิดบรรทัดฐานทางสังคม วิถีชุมชน จารีตประเพณี และการสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมสนับสนุนเยาวชนให้เข้ามามีบทบาทร่วมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยง ซึ่งได้รับการตอบรับด้วยดีจากผู้จัดงานทั่วประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวมีความปลอดภัยจากผลกระทบที่เกิดจากคนเมา ทั้งอุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาทลดลง
เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว งานแข่งเรือที่น่านเกิดอุบัติเหตุกว่าร้อยครั้ง ปัจจุบันเหลือเพียงสิบกว่าครั้ง ลดการเสียชีวิต บาดเจ็บ รวมถึงสูญเสียทรัพย์สินได้อย่างมหาศาล ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการขยายผลส่งเสริมนักพากย์เรือเยาวชนรุ่นใหม่ทุกภูมิภาค และจัดเวทีประกวดนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 สอดแทรกการปลูกฝังค่านิยมที่ดีปลอดเหล้า บุหรี่ และอบายมุข และเป็นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่
ปัจจัยแห่งความสำเร็จคือความร่วมมือของคนน่าน เมืองน่านเป็นเมืองปิด คนส่วนใหญ่เป็นคนน่านและเป็นเครือญาติกัน เมื่อเห็นสิ่งใดดีก็พร้อมที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน เกิดเป็นความร่วมมือกันทุกภาคส่วน จึงเป็นเสน่ห์ของคนน่าน จากเดิมที่ จ.น่านเป็นแชมป์เมาเหล้าอันดับ 1 ของประเทศ นำไปสู่การขับเคลื่อนเพื่อสุขภาพที่ดี จำนวนคนไข้ลดน้อยลง อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุลดลง การรณรงค์จึงเป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
การสนับสนุนให้จังหวัดน่านเป็นเมืองแห่งความสุข และสร้างสรรค์ด้วยการจัดกิจกรรมส่งเสริมให้คนเลิกเหล้าได้ มีอาชีพและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง มีการจัดตั้งชุมชนคนสู้เหล้า และแหล่งเรียนรู้คนสู้เหล้า การจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จังหวัดน่านมีชุมชนคนสู้เหล้า 4 ชุมชน บ้านพญาวัด ต.คู่ใต้ จ.น่าน ชุมชนมิ่งเมือง ต.ในเวียง อ.เมืองน่าน ชุมชนเขาน้อย หมู่ที่ 11 ต.คู่ใต้ อ.เมืองน่าน ชุมชนสบกอน 2 หมู่ที่ 11 ต.เชียงกลาง แหล่งเรียนรู้ชุมชนคนสู้เหล้า 2 พื้นที่ บ้านพญาวัด ต.คู่ใต้ ชุมชนมิ่งเมือง ต.ในเวียง งานขับเคลื่อนลดปัจจัยเสี่ยงจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ นายนพพร เรืองสว่าง นายอำเภอเวียงสา จ.น่าน นายชิน พัฒนา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านส้าน อ.เวียงสา ฯลฯ
จากสถิติภาคเหนือมีประชากรดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 33.1 มากกว่าภาคอื่นๆ น่านเป็นจังหวัดที่มีประชากรดื่มแอลกอฮอล์มากที่สุดในประเทศไทย หรือร้อยละ 43.3 อันดับสองคือ จ.แพร่ ร้อยละ 42.9 อันดับ 3 คือ จ.เชียงราย ร้อยละ 41.4 ขณะนี้สถิติผู้ดื่มแอลกอฮอล์ใน จ.น่านเป็นตัวเลขคงที่ มีผู้ดื่มแล้วขับที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันรณรงค์เพื่อลดจำนวนนักดื่มรวมถึงเมาแล้วขับด้วย.
นักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข
"ตัวช่วย"สกัดนักดื่มหน้าใหม่
จังหวัดน่านมีการแข่งขันพากย์เรือมากถึง 11 สนาม มีเรือใหญ่ที่สุดในประเทศไทยมากถึง 200 ลำเป็นคาราวานเรือ ผู้ใหญ่ให้การสนับสนุนสร้างนักพากย์แข่งเรือรุ่นใหม่ นักพากย์เรือเยาวชนจังหวัดน่านได้รับรางวัลชนะเลิศประเภททีม 5 คน จากการแข่งขันนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ กิจกรรมพากย์เรือเป็นการป้องกันเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เป็นโครงการปลุกพลังบวก สร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันปัจจัยเสี่ยงสำหรับเด็กปฐมวัย จังหวัดน่านได้รับการยกย่องและถูกเลือกให้เป็นต้นแบบ นักพากย์เรือ เป็นใบเบิกทางสำคัญในการสร้างเส้นทางสู่การเป็นผู้นำเยาวชน การเป็นพิธีกร การเป็น youtuber การเป็นดีเจนักจัดรายการวิทยุ ได้เป็นอย่างดี
นายพัชร (มิก) กันทะวงศ์ อายุ 18 ปี เรียนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีล้านนา (มทร.น่าน) คณะวิศวกรรมศาสตร์ไฟฟ้า ปีที่ 1 มีความสนใจในการพากย์แข่งเรือตั้งแต่ยังเรียนที่โรงเรียนน่านคริสเตียนศึกษา เพราะชื่นชอบครูธนวัต โสภาสิริโชติวรกุล ครูสอนที่เป็นนักพากย์การแข่งเรือ จึงฝึกฝนเข้าร่วมทีมตั้งแต่อายุ 17 ปี เกิดความภาคภูมิใจที่ได้ทำในสิ่งที่ชอบและยึดเป็นอาชีพได้ อีกทั้งห่างไกลจากแอลกอฮอล์ บุหรี่ ด้วยการนำเสนอข้อมูลให้แก่ประชาชนในระหว่างที่มีการพากย์แข่งเรือ เพื่อให้ จ.น่านเป็นต้นแบบน่านโมเดล เมืองแห่งความสุขที่ปลอดเหล้าเบียร์
ด.ช.ณัฐประวุฒิ ชุมนันท์ (น้องโฟร์ )อายุ 15 ปี รางวัลชนะเลิศนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข ถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สนามท่าน้ำนนท์ ประเภททีม เปิดเผยว่า การเป็นนักพากย์เรือเยาวชนสร้างสุข นอกจากจะเป็นโอกาสที่ได้ร่วมสืบสานคุณค่าความหมายของงานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามแล้ว ยังสามารถนำประสบการณ์ดีๆ จากการพากย์เรือพัฒนาตนเองไปสู่เส้นทางอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้ เช่น นักจัดรายการวิทยุ ยูทูบเบอร์ รวมทั้งพิธีกรในงานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องท้าทาย นำไปสู่การสร้างสรรค์และการพัฒนาศักยภาพตนเองในแง่มุมต่างๆ แทนการใช้เวลาไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาเสพติดที่กำลังเป็นปัญหาของเยาวชนในปัจจุบัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"สิทธิในอาหาร..เพื่อชีวิตที่ดี" ทุกภาคส่วนต้องร่วมผลักดัน
องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 16 ต.ค.ของทุกปี เป็นวันอาหารโลก (World Food Day) เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิในอาหาร
สสส. ทำถึง กวาด 14 รางวัลสื่อสาร จากแอด พีเพิล อวอร์ส 2567 ผ่าน 5 ผลงาน สื่อสารการตลาดเพื่อสังคม “Walk Stadium” “หมวกกันน็อกคืนชีพ” “แอร์ล้างได้ปอดล้างไม่ได้” “พวงเครื่องปรุงจิ๋ว” “การเดินทางของบุหรี่”
น.ส.สุพัฒนุช สอนดำริห์ ผู้อำนวยการสำนักอาวุโส สำนักสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ผลงานโฆษณาและการสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สสส. ได้รับรางวัลแอด พีเพิล อวอร์ส 2567
ต่อยอด! ติดอาวุธสมองป้องกัน ความเสี่ยงภัยบนโลกไซเบอร์
ผลสำรวจปี 2567 คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตมากถึง 88% ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่ใช้งานนานเกือบ 8 ชั่วโมงต่อวัน แสดงให้เห็นว่าเราใช้เวลาเกือบ 1 ใน 3 ท่องโลกอินเทอร์เน็ต
โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ
"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค
การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง