ป่าจากและคลองร้อยสายเป็นวิถีชีวิตและเส้นเลือดใหญ่ของคนบางไทร
ตำบลบางไทร อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานีประมาณ 8 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 7,800 ไร่ สภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม มีลำคลองไหลผ่านมากถึง 14 สาย ชาวบ้านจึงเรียกติดปากว่า “คลองร้อยสาย”
ตำบลบางไทรอุดมสมบูรณ์ไปด้วยข้าวปลาอาหาร เพราะบนฝั่งมีสวนมะพร้าว มีต้นจากยืนเบียดกันแน่นขนัดเป็น ‘ป่าจาก’ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ถัดไปเป็นไร่ข้าว สวนผลไม้ กล้วย กระท้อน มะม่วง ฯลฯ
ส่วนในคลองมีกุ้งและปลาหลายชนิด เช่น ‘กุ้งหลวง’ หรือกุ้งแม่น้ำ ตัวใหญ่ ‘ขนาด 3-4 ตัวโล’ มีปลากระบอกปลาขี้ตัง ปลากะพง ช่อน ชะโด ฯลฯ
ชาวบ้านใช้คลองเป็นเส้นทางสัญจรเชื่อมกับแม่น้ำตาปีเข้าไปในเมืองสุราษฎร์ เพื่อไปเรียนหนังสือ ทำงาน บรรทุกพืชผลไปขาย และใช้คลองเป็นเส้นทางล่องเรือออกสู่ทะเลอ่าวบ้านดอนเพื่อทำประมงชายฝั่ง คลองจึงเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนบางไทรมาเนิ่นนาน !!
แต่นั่นเป็นภาพบางไทรในอดีต....เพราะราวปี 2540 มีการตัดถนนเข้ามาสู่บางไทรและตำบลใกล้เคียง คลองและเรือจึงลดความสำคัญลง เพราะรถยนต์และมอเตอร์ไซค์สะดวกรวดเร็วกว่า นอกจากนี้ถนนยังนำความเจริญมาสู่บางไทร มีร้านรวง ตึกแถว อาคารพาณิชย์ผุดขึ้นมา ไร่ข้าว สวนมะพร้าวเริ่มเปลี่ยนเป็นสวนปาล์มน้ำมัน...
ใบจากแก่นำมาทำ ‘ตับจาก’ ใช้มุงหลังคา และ ‘ป้าเดือน’ (ซ้าย) แกนนำพัฒนาตำบลบางไทร
ใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลฟื้นวิถีคนบางไทร
ตำบลบางไทรมี 4 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีประชากรประมาณ 1,800 คน (มีผู้สูงวัยประมาณ 400 คน) ส่วนใหญ่มี อาชีพปลูกปาล์มน้ำมัน ทำสวนมะพร้าว ประมงพื้นบ้าน ค้าขาย รับจ้างทั่วไป และใช้เวลาว่างทำอาชีพเสริม โดยนำต้นจากมาผลิตเป็นสินค้าต่างๆ เช่น นำใบจากมาเย็บทำ ‘ตับจาก’ สำหรับใช้มุงหลังคา ใบจากมวนบุหรี่ ก้านจากทำเครื่องใช้ในครัวเรือน ฯลฯ
สินีนาฎ กษิดิ วัย 64 ปี แกนนำการพัฒนาชุมชนในฐานะ ‘ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบางไทร’ บอกว่า ในอดีตคนบางไทรมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับลำคลองและธรรมชาติ จับกุ้ง ปู ปลาในคลองนำมาเป็นอาหาร ใช้ ‘คลอง ร้อยสาย’ สัญจรไปมาหาสู่กัน และปลูกข้าวไร่เอาไว้กิน
มีมะพร้าว มีต้นจากเอามาทำขนม ทำอาหาร ใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง มีสมุนไพรพื้นบ้านนำมาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ เรียกง่ายๆ ว่า “ข้าวยาปลามี” เป็นแนวคิดในการพึ่งพาตนเองและเป็นวิถีชีวิตของคนบางไทรมาเนิ่นนาน เพราะมีทั้งข้าวปลาอาหารและสมุนไพรรักษาโรค แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป วิถีคนบางไทรก็เริ่มเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเมื่อมีถนนตัดเข้ามา มีปาล์มน้ำมันเข้ามาในช่วงปี 2540 ไร่ข้าวเริ่มหมดไป สวนมะพร้าวลดน้อยลง เพราะชาวบ้านหันมาปลูกปาล์มเพราะทำรายได้เป็นกอบเป็นกำมากกว่า
ขณะเดียวกัน ชาวบ้านในตำบลบางไทรมีการรวมกลุ่มกันพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ เช่น มีกองทุนหมู่บ้านหรือ ‘กองทุนเงินล้าน’ เพื่อกู้ยืมประกอบอาชีพ (ก่อตั้งในปี 2544) มีชมรมผู้สูงอายุเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ (ก่อตั้งปี 2545) มีกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลบางไทรเพื่อช่วยเหลือดูแลสมาชิกตั้งแต่เกิดจนตาย (ก่อตั้งปี 2550) และสภาองค์กรชุมชนตำบล (ก่อตั้งในปี 2553 ตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 ดูรายละเอียดได้ที่ http://web.krisdika.go.th/data/law/ law2/%CA77/%CA77-20-2551-a0001.htm) ที่สนับสนุนการจัดตั้งโดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)เพื่อเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชน
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอาชีพต่างๆ และกลุ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยในปี 2561 กลุ่มส่งเสริมการท่องเที่ยวฯ ร่วมกับ อบต.บางไทร กองทุนสวัสดิการฯ และสภาองค์กรชุมชนฯ จัดงาน ‘ย้อนรอยไร่ข้าวชาวบางไทร’ ขึ้นมาในเดือนสิงหาคมปีนั้น เพื่อฟื้นฟูการทำไร่ข้าว และส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน
สิรินาฎ หรือ ‘ป้าเดือน’ ในฐานะประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบางไทร บอกว่า การฟื้นฟูการทำไร่ข้าวในตำบลบางไทรขึ้นมาในปี 2561 ถือเป็นการเริ่มต้นของการฟื้นฟูวิถีชีวิตแบบ ‘ข้าวยาปลามี’ เพื่อนำความอุดมสมบูรณ์และวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนบางไทรกลับคืนมา โดยใช้บทบาทของสภาองค์กรชุมชนตำบลเชื่อมประสาน ร้อยเรียงกลุ่มต่างๆ ในตำบลมาทำงานร่วมกัน
ส่วนการทำไร่ข้าว จะปลูกข้าวพันธุ์ ‘สังข์หยดน้ำลึก โดยนำพันธุ์ข้าวมาจากพัทลุง เป็นพันธุ์ข้าวที่เหมาะกับสภาพพื้นที่ เพราะในช่วงที่ข้าวออกรวงจนเติบโต น้ำเค็มจากทะเลอ่าวบ้านดอนจะหนุนเข้ามาในคลองและเอ่อท่วมไร่ข้าว ข้าวสังข์หยดน้ำลึกทนต่อสภาพน้ำเค็มและน้ำท่วมได้ดีจึงยืนต้นอยู่ได้ จนถึงช่วงเก็บเกี่ยวในช่วงต้นปี
ป้าเดือนบอกว่า การปลูกข้าวของคนบางไทรจะแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เพราะปลูกแบบ ‘ไร่ข้าว’ โดยเตรียมที่นาที่ถางหญ้าและเอาวัชพืชออก ใช้ไม้ปลายแหลมแทงผืนนาให้เป็นหลุมตื้นเล็กๆ เรียกว่า “แทงสัก” แล้วหยอดข้าวเปลือกลงไปจากนั้นจึงกลบปิดหลุม เพื่อเพาะต้นกล้า หรือ “หนากกล้า”
เมื่อต้นกล้างอกจะถอนเอาไปปลูกในหลุมเล็กที่ใช้ไม้ “ทุ้งข้าว” แทงให้เป็นหลุมๆ ละ 4-5 ต้นแล้วปิดหลุม รอให้ต้นข้าวเติบโต เมื่อข้าวสุกพร้อมเก็บเกี่ยวจะขอแรงเพื่อนบ้านมาช่วยกัน “ซอแรง” เก็บข้าว โดยใช้ “แกะ” (เครื่องมือพื้นบ้านของชาวนาภาคใต้) เก็บข้าวทีละรวง
การทำไร่ข้าวของคนบางไทร
ในปี 2563 ไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดทั่วประเทศ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อย’ โดยสนับสนุนงบประมาณจำนวน 144 ล้านบาทเศษให้ชุมชนที่มีรายได้น้อยทั้งในเมืองและชนบททั่วประเทศจำนวน 1,800 ชุมชน (เฉลี่ยชุมชน/ตำบลละ 50,000-100,000 บาท) นำไปจัดทำโครงการป้องกันโควิด แก้ไขปัญหาปากท้อง ส่งเสริมอาชีพ สร้างแหล่งอาหาร เพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจจากโควิด-19
‘ป้าเดือน’ ประธานสภาองค์กรชุมชนตำบลบางไทร บอกว่า ตำบลบางไทรได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกัน แม้จะไม่มากนัก แต่ก็ถือเอาโอกาสนี้ ‘สร้างความมั่นคงทางอาหาร เพื่อรากฐานการอยู่รอด’ เพราะเมื่อเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติคนในตำบลก็จะมีข้าวปลาอาหาร มียารักษาโรคจากสมุนไพร เป็นการต่อยอดแนวคิด ‘ข้าวยาปลามี’ ที่ทำมาก่อนในปี 2561
โดยใช้ ‘สภาองค์กรชุมชนตำบลบางไทร’ จัดทำโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิต ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก พอช. 55,000 บาท นำมาปลูกข้าว ส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจสมุนไพร อนุรักษ์และแพร่พันธุ์สัตว์น้ำในคลอง โดยทำไร่ข้าวในช่วงกลางปี 2563 ในพื้นที่ประมาณ 15 ไร่ เก็บเกี่ยวในช่วงต้นปี 2564 ได้ข้าวเปลือกประมาณ 2 ตันเศษ
การเก็บข้าวโดยใช้ ‘แกะ’ เก็บข้าวทีละรวง
จากสมุนไพรพื้นบ้านสู่ ‘บางไทรอโรคยา’
ตำบลบางไทรมีสมุนไพรในท้องถิ่นหลายชนิด เช่น ‘เหงือกปลาหมอ’ ที่ขึ้นอยู่มากมายตามป่าชายเลน มีสรรพคุณในการแก้ผดผื่นคัน รักษาโรคผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน ฯลฯ ซึ่งในตำบลบางไทรมีคลองมากถึง 14 สาย ในแต่ละปีจะมีช่วงที่น้ำในคลองเอ่อท่วมพื้นที่นานประมาณ 3 เดือน ชาวบ้านต้องเดินย่ำน้ำทุกวัน ทำให้เกิดโรคผิวหนัง โรคน้ำกัดเท้า หมอยาพื้นบ้านจะนำต้นเหงือกปลาหมอมาใช้อาบหรือชะล้างแผล แก้โรคผิวหนัง
เรณู แขอุดม พยาบาลวิชาชีพ ประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) บางไทร และที่ปรึกษา ‘วิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพรตำบลบางไทร’ บอกว่า ตั้งแต่อดีตชาวบ้านตำบลบางไทรได้นำสมุนไพรมาใช้ประโยชน์อยู่แล้ว รพ.สต.บางไทรจึงต่อยอดภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยนำสมุนไพรท้องถิ่นมาผลิตเป็นยารักษาโรคและผลิตภัณฑ์ต่างๆ และสนับสนุนให้ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้ง ‘ชมรมรักษ์สมุนไพรตำบลบางไทร’ ขึ้นมาในปี 2559
จากนั้นในปี 2560 ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพร และจัดตั้งเป็น ‘วิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพรตำบลบางไทร’ ในปี 2561 มีสมาชิกเริ่มแรกประมาณ 20 คน ส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)และครอบครัว และปราชญ์ชุมชนที่มีความรู้ด้านสมุนไพร เพื่อร่วมกันปลูกและแปรรูปสมุนไพร
“เราเอาเหงือกปลาหมอมาทำ ‘สบู่เหลว 3 สมุนไพร’ ผสมกับสำมะงา และขมิ้นชัน เป็นผลิตภัณฑ์ตัวแรกในปี 2560 แก้โรคผิวหนังเรื้อรัง สะเก็ดเงิน ผดผื่นคัน ได้ผลการรักษาที่ดี จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าโอทอป 5 ดาวของจังหวัดสุราษฎร์ธานี นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรอื่นๆ เช่น ไพล นำมาทำน้ำมันไพล ยาหม่อง แก้ปวดเมื่อย ฟกช้ำ เอามะพร้าวที่มีมากในตำบลมาสกัดเย็น เป็นน้ำมันมะพร้าว เอามาทำ ‘น้ำมันเย็นใส่แผล’ รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก อุบัติเหตุต่างๆ ใส่แผล ใช้ในห้องฉุกเฉินของ รพ.สต.ด้วย” ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพรบอก
ต้นเหงือกปลาหมอและผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของเหงือกปลาหมอ
นอกจากนี้ยังนำ ‘ใบขลู่’ ที่มีมากมายในตำบลมาทำ ‘ชาสามมิตร’ ผสมกับใบเตย ใบมะยม ผลิตเป็นชาถุง ใช้ชงน้ำร้อนดื่ม มีสรรพคุณลดความดันโลหิต ลดเบาหวาน ขับปัสสาวะ กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย และ ‘ชาจตุรมิตร’ โดยเพิ่มใบชะมวงเข้าไป มีสรรพคุณคล้ายชาสามมิตร แต่ใบชะมวงจะช่วยปรับความสมดุลความดันโลหิตและช่วยลดไขมันในเลือดด้วย ทำให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด มีสุขภาพดีขึ้น
“เราใช้สมุนไพรในตำบลบางไทรเป็นหลัก เป็นการเพิ่มมูลค่าและใช้ในชุมชนก่อน เมื่อเห็นผลดีจึงขยายไปสู่ผู้ป่วยและผู้มารับบริการที่ รพ.สต. รวมทั้งจำหน่ายในเพจ ‘วิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพรตำบลบางไทร’ และในตลาดออนไลน์ ‘ช้อปปี้’ เป็นการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของท้องถิ่น และยังช่วยสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนด้วย” เรณู ที่ปรึกษาวิสาหกิจชุมชนฯ บอก
ป้าเดือน เสริมว่า เรื่องยาสมุนไพร ชาวบางไทรใช้กันมานานแล้ว เช่น เอาเหงือกปลาหมอ ขมิ้น และสำมะงา (แก้โรคผิวหนัง พุพอง น้ำเหลืองเสีย) มาใช้แก้โรคผิวหนัง และพัฒนามาเป็น ‘สบู่เหลวสามมิตร’ เอาน้ำมันมะพร้าวมาเคี่ยวไฟ ผสมน้ำปูนใสใช้รักษาแผลพุพอง ไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ทำให้แผลหายเร็ว ไม่มีรอยแผลเป็น ซึ่ง รพ.สต.และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ได้พัฒนาเป็น ‘น้ำมันเย็นใส่แผล’
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพรตำบลบางไทรมีมากกว่า 20 ชนิด เช่น สบู่เหลวสามมิตร (ขนาด 60 มิลลิลิตร ราคา 80 บาท) ชาสามมิตร และชาจตุรมิตร (1 ถุง 10 ซอง ราคา 70 บาท) แชมพูสมุนไพรสำหรับสุนัขและแมว ผลิตจากสารสกัดน้ำมันสะเดา เหงือกปลาหมอ และสำมะงา (ขนาด 250 มล. ราคา 180 บาท) นอกจากนี้ยังมีน้ำมันเย็นใส่แผล ยาหม่อง น้ำมันไพล น้ำมันเขียว น้ำยาบ้วนปากสมุนไพร ฯลฯ (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ facebook วิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพรตำบลบางไทร)
ส่วนการดำเนินการผลิตของวิสาหกิจชุมชนฯ จะใช้เงินทุนจากการลงหุ้นของสมาชิกในชุมชน จำนวน 500 หุ้นๆ ละ 100 บาท (ค่าสมัครสมาชิกคนละ 50 บาท เมื่อซื้อผลิตภัณฑ์จะได้รับส่วนลด และมีเงินปันผลปลายปี ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 70 ราย) และหุ้นของ รพ.สต.บางไทร จำนวน 500 หุ้น โดยจะมีสมาชิกมาช่วยกันผลิตสมุนไพรครั้งละประมาณ 10 คน
นอกจากการสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพรตำบลบางไทรดังกล่าวแล้ว รพ.สต.บางไทรยังมีบริการแพทย์แผนไทย ‘อโรคยาบางไทร’ เพื่อดูแลและให้บริการทางแพทย์แผนไทยแก่ชาวตำบลบางไทรและประชาชนทั่วไป เปิดบริการในปี 2563 โดยใช้ศาสตร์การแพทย์แผนไทย การตรวจชีพจรตรีธาตุ การรักษาโรคด้วยวิธีปรับสมดุลตรีธาตุ การใช้ยาต้มสมุนไพร การนวดกดจุดรักษาโรคตามภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน นอกจากนี้ยังมีคลินิกกัญชาทางการแพทย์ให้บริการประชาชน ฯลฯ และใช้อโรคยาเป็นสถานที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพรตำบลบางไทรด้วย
เรณู รพ.สต.บางไทร (ซ้าย) ป้าเดือน (ขวา) และสมาชิกวิสาหกิจชุมชนรักษ์สมุนไพร
สร้างบ้านปลา-สืบสานตำนานจาก
คลองในตำบลบางไทรมีมากถึง 14 สาย จนชาวบ้านเรียกติดปากว่า “คลองร้อยสาย” เช่น คลองขวาง คลองบางเบิด คลองบางกล้วยใหญ่ คลองบางกราย คลองดอนตะโก ฯลฯ ในอดีตก่อนปี 2540 เมื่อยังไม่มีการตัดถนนจากตัวเมืองสุราษฎร์ธานีเข้ามาถึงตำบล ชาวบ้านจะใช้คลองเป็นเส้นทางคมนาคม และเป็นแหล่งอาหารที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีป่าจากขึ้นหนาแน่นอยู่ตลอดสองฝั่งคลอง เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน แต่เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป กุ้ง หอย ปู ปลาเริ่มหายาก
“กุ้ง ปลาก็เริ่มหายาก ชาวบ้านต้องออกเรือไปหาปลาไกลมากขึ้น ต้องออกไปไกลถึงทะเล เมื่อฟื้นฟูไร่ข้าวแล้วเราจึงช่วยกันฟื้นฟูคลอง ช่วยกันดูแลรักษาป่าจาก ขยายพันธุ์ต้นจากที่ขึ้นอยู่ตามป่าชายเลนและริมคลอง เพราะเป็นแหล่งอยู่อาศัยและแพร่พันธุ์กุ้ง หอย ปู ปลา” ป้าเดือนบอกความเป็นมาในการฟื้นฟูคลองร้อยสาย โดยเริ่มสร้างบ้านให้ปลาในช่วงกลางปี 2563
‘บ้านปลา’ หรือ ‘ซั้งปลา’ เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านที่ทำกันมานาน โดยใช้ไม้ไผ่นำมาปักในคลองและใช้กิ่งไม้แห้ง เช่น ลำพู จาก เอามาสุมเพิ่มเติมเพื่อให้ปลาเข้ามาอยู่อาศัยและวางไข่ขยายพันธุ์ เป็นแหล่งอาหารในคลองหน้าบ้าน ว่ากันว่า เมื่อก่อนกุ้งปลายังชุม เวลาจะทำกับข้าวก็ให้แม่บ้านตำพริกแกงรอได้เลย ใช้เวลาไม่นานก็สามารถจับปลาหรืองมกุ้งเอาขึ้นมาต้มยำทำแกงได้สารพัด
ป้าเดือน บอกว่า โครงการบ้านปลาเริ่มทำในเดือนกรกฎาคมปี 2563 โดยสภาองค์กรชุมชนตำบลบางไทรได้รับการสนับสนุนงบประมาณตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 จาก พอช. (โครงการ ‘ข้าวยาปลามี) รวมทั้ง อบต.บางไทร และสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 4 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมสนับสนุน โดยชาวบ้านช่วยกันลงแรง นอกจากนี้ยังมีพี่น้องจากสภาองค์กรชุมชนตำบลที่อยู่ในภูมินิเวศน์เดียวกัน เช่น เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนอ่าวบ้านดอน เครือข่ายประมงพื้นบ้าน ฯลฯ มาร่วมสร้างบ้านปลาด้วย
“เราจะเอาไม้ไผ่ยาวประมาณ 5 เมตรมาปักในคลองเพื่อให้เป็นเสาหลัก ปักเป็นแนวยาวประมาณ 60 เมตร แล้วเอาทางจาก กิ่งลำพูมาปักเสริม เพื่อให้เป็นแหล่งอยู่อาศัยและเป็นที่วางไข่ของกุ้ง ปู ปลา ทำทั้งหมด 3 จุดในคลองสายหลัก เมื่อกุ้งปูปลาแพร่ขยายพันธุ์ ชาวบ้านก็ไม่ต้องออกเรือหาปลาไปไกล เพราะหากินอยู่ในคลองได้ แต่ก็ต้องช่วยกันดูแล ไม่ทำประมงผิดกฎหมาย และถ้าไม้ไผ่หรือซั้งปลาผุพัง ก็จะช่วยกันเอาไม้มาเปลี่ยนหรือปักเสริมเข้าไป”
ป้าเดือนบอกถึงการอนุรักษ์และแพร่พันธุ์สัตว์น้ำในคลองร้อยสาย และว่า ตอนนี้ชาวบ้านไม่ต้องออกไปหากินไกล เพราะมีปลากะพง ปลากระบอก ปลาขี้ตัง ปลาช่อน ชะโด ฯลฯ รวมทั้ง ‘กุ้งหลวง’ หรือกุ้งแม่น้ำตัวใหญ่ขนาด 3-4 ตัวโลฯ ให้จับกิน
สร้างบ้านปลา
สองฝั่งคลองร้อยสายเป็นป่าจากที่ขึ้นอยู่ตามธรรมชาติ แม้ว่าป่าจากบนฝั่งจะถูกรุกล้ำหรือโค่นทิ้งเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันและปรับถางเป็นที่ดินเพื่อรอการขาย แต่ชาวบางไทรยังมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับต้นจากที่ใช้ประโยชน์สารพัดมาเนิ่นนาน ตั้งแต่รากถึงใบ และเป็นเสมือนเขื่อนธรรมชาติที่มีชีวิต เพราะป่าจากที่ขึ้นตามตลิ่งคลองหรือป่าชายเลนจะมีรากที่ช่วยยึดตลิ่งไม่ให้พังทลาย เป็นแหล่งอยู่อาศัยของสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแนวบังลมให้ชุมชน และนำต้นจากมาทำประโยชน์ต่างๆ เช่น
นกจาก คือดอกจากใช้ทำอาหาร นำมายำใส่กุ้งแห้ง แกงกะทิ โหม่งจาก คือ ดอกจากที่บานรวมตัวเป็นช่อ ลูกอ่อนใช้ทำอาหาร ทลายจาก คือลูกจากที่สุก นำผลสดมากิน คล้ายลูกชิด นำมาเชื่อม หรือทำลูกจากลอยแก้ว งวงจาก คือท่อน้ำเลี้ยงของลูกจาก ให้น้ำหวาน นำมาเคี่ยวทำน้ำตาลจากหรือ ‘น้ำผึ้งจาก’ หรือหมักทำน้ำส้ม ใช้ปรุงอาหารให้รสเปรี้ยว
ใบจากอ่อน นำมาห่อขนม ห่อข้าวต้มมัด ใบตากแห้ง ทำใบจากมวนยาสูบ สานเป็นภาชนะตักน้ำ (หมาน้ำ) ใบจากแก่ นำมาเย็บทำตับจากมุงหลังคา กั้นฝาบ้าน ทำหมวก ห่อขนมจาก ก้านจาก นำมาสานทำ ‘เสวียน’ ใช้รองหม้อข้าว ทำถาดใส่ผลไม้ ทางจาก เมื่อตัดใบจากใช้แล้ว จะเหลือทางจาก นำมาตากแห้งทำฟืน ทำรั้ว คอกสัตว์เลี้ยง ฯลฯ
ป้าเอียดกับตับจาก / ป่าจากเป็นเสมือนเขื่อนธรรมชาติ
เสาวคนธ์ ยี่หว่า หรือ ‘ป้าเอียด’ อายุ 67 ปี อาชีพทำตับจาก บอกว่า ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เพราะต้องช่วยผู้ใหญ่ทำเวลาว่างจากการเรียน ส่วนวิธีการทำ จะตัดเอาทางจากแก่ ความยาวประมาณ 120 เซนติเมตร นำมาเย็บด้วยต้นคล้าให้ติดกับไม้ไผ่ วันหนึ่งๆ จะทำได้ประมาณ 100 ตับ จะมีพ่อค้ามารับซื้อราคาตับละ 3 บาท 50 สตางค์ หากไม่มีธุระอื่นจะทำได้เยอะ หรือคนที่ทำเก่งๆ วันหนึ่งจะทำได้ประมาณ 200 ตับ
“ตอนนี้ไม่มีใครใช้ตับจากมุงหลังคาบ้านแล้ว ส่วนใหญ่จะเอาไปทำหลังคาสำหรับทำกระต๊อบ ทำร้านอาหาร หรือทำรีสอร์ท ก็ยังขายได้เรื่อยๆ เพราะตับจากจะอยู่ได้ 2-3 ปีก็ต้องเปลี่ยนใหม่ เราก็ไม่ต้องลงทุนมาก ลงแต่แรง เพราะต้นจากขึ้นอยู่รอบๆ บ้าน ต้นคล้าก็ปลูกเอง เอามาใช้เย็บจาก ที่ต้องซื้อก็คือไม้ไผ่”
ป้าเอียดบอกและว่า ป้ายังมีรายได้จากการตัดใบจากอ่อนมาตากแดด ขายให้คนที่จะนำใบจากไปลอกเพื่อทำใบจากมวนสูบยาเส้น ราคากิโลกรัมละ 60 บาท หากมีเวลาป้าก็จะลอกมวนใบจากเอง ขายราคากิโลกรัมละ 250 บาท พ่อค้าจะรับซื้อไปแบ่งใส่ถุงเล็กๆ ขายให้คนสูบยามวนใบจากที่ยังมีอยู่มาก
ป้าเดือน เสริมในตอนท้ายว่า สภาองค์กรชุมชนตำบลบางไทรได้ส่งเสริมการสืบสานตำนานจาก เพื่อให้ผู้สูงอายุ หรือคนที่มีเวลาว่างในตำบลได้มีอาชีพจากต้นจากสืบต่อไป โดยได้รับงบสนับสนุนจาก พอช. ในปี 2566 จำนวน 45,000 บาท เพื่อนำมาส่งเสริมอาชีพและสืบสานตำนานจาก เช่น การทำตับจาก รังนกจาก ลูกจากลอยแก้ว ฯลฯ
ถือเป็นการสืบสาน ‘วิถีคน-วิถีจาก’ เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงทางอาหาร ตามแนวทาง ‘ข้าวยาปลามี’ ให้ยั่งยืนสืบต่อไป...เหมือนกับต้นจากที่ไม่เคยพรากไปจากคนบางไทร !!
ลูกจากที่แก่จะร่วงหล่นและเติบโตเป็นจากกอใหม่ไม่มีที่สิ้นสุด / กลุ่มผู้สูงอายุช่วยกันทำขนมจาก
***************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
“วราวุธ” มอบ "ปลัด พม." ร่วมคณะนายกฯ “แพทองธาร” ลุยน้ำท่วมนครศรีฯ - สุราษฎร์ฯ ช่วยผู้ประสบภัย
เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.)
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา