คนราชบุรีร่วมดูแลป่าชุมชน-สร้างเครือข่าย 119 ป่า ด้าน พอช.-หน่วยงานภาคีหนุนชุมชนทั่วประเทศสร้าง “ป่าที่กินได้”

ป่าชุมชนบ้านสระสี่มุมต้นแบบการบริหารจัดการป่าชุมชนในจังหวัดราชบุรี

ราชบุรี / จัดประชุมผู้แทนเครือข่ายป่าชุมชนในจังหวัดราชบุรี 7 อำเภอ  เพื่อสร้างความเข้าใจ ‘พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562’  นำมาสู่การจัดทำแผนปฏิบัติการดูแลบริหารจัดการป่า และสร้างเครือข่ายป่าชุมชนเพื่อเสริมความเข้มแข็ง  พร้อมขยายการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มอีกกว่า 10 แห่ง  เพื่อให้ชุมชนช่วยกันดูแลรักษาและใช้ประโยชย์ได้อย่างยั่งยืน  เช่น  เป็นแหล่งอาหาร  สมุนไพร  ไม้ใช้สอย  เป็นแหล่งพักผ่อน  ท่องเที่ยว-ศึกษาธรรมชาติ  สร้างความชุ่มชื้น  สร้างแหล่งน้ำ  สร้างสมดุลให้สิ่งแวดล้อม  ฯลฯ  ขณะที่ พอช.และภาคีเครือข่ายหนุนเสริมชุมชนบริหารจัดการป่าชุมชนทั่วประเทศให้เป็น “ป่าที่กินได้”

ป่าชุมชน...ประโยชน์ที่ยั่งยืนของชุมชน !

พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562  ประกาศใช้เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม   เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ  “โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมให้ชุมชน ได้ร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนในรูปแบบของป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนสามารถจัดการป่าชุมชนและได้ประโยชน์จากป่าชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศให้มีความสมบูรณ์และยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

ผลจากการมี พ.ร.บ.ฉบับนี้  จะทำให้ประชาชนสามารถดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย  เช่น  สร้างกฎระเบียบในการดูแลรักษาป่า  จับปรับผู้กระทำผิด  จัดตั้งกองทุนในการดูแลรักษาป่า  สามารถเก็บหาของป่า  ตัดไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในครัวเรือน  เพื่อประโยชน์สาธารณะ  (ยกเว้นไม้ทรงคุณค่าที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ) ปลูกต้นไม้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์  สร้างฝายกักเก็บหรือชะลอน้ำเพื่อสร้างความชุ่มชื้น  เป็นแหล่งเก็บน้ำใต้ดิน  ทำประปาภูเขา นำน้ำมาใช้ในการเกษตร  จัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์  ฯลฯ

ทั้งนี้ป่าชุมชนตามความหมายของ พ.ร.บ.ฉบับนี้  คือ  “ป่านอกเขตป่าอนุรักษ์หรือพื้นที่อื่นของรัฐนอกเขตป่าอนุรักษ์ที่ได้อนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน  โดยชุมชนร่วมกับรัฐในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู  จัดการ  บำรุงรักษา  ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพในป่าชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืนตามพระราชบัญญัตินี้”

ข้อมูลจากกรมป่าไม้เปิดเผยว่า  ปัจจุบันกรมป่าไม้ได้ส่งเสริมการจัดตั้งป่าชุมชนทั่วประเทศแล้วจำนวน 12,117 แห่ง  ชุมชนมีส่วนร่วม 13,855 หมู่บ้าน  เนื้อที่รวม 6.64 ล้านไร่

จากการประเมินของกรมป่าไม้  มีประชาชนได้รับประโยชน์จากป่า 3,948,675  ครัวเรือน  เกิดมูลค่าการพึ่งพิงป่าชุมชน  ลดรายจ่าย  เพิ่มรายได้  จำนวน 4,907 ล้านบาท  การกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ในป่าชุมชนเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน  รวม 42 ล้านตันคาร์บอน  การกักเก็บน้ำในดินและการปล่อยน้ำท่า  4.562  ล้านลูกบาศก์เมตร  และการประเมินมูลค่าของระบบนิเวศน์ของป่า  595,857 ล้านบาท

นอกจากนี้ภายในปี 2570  กรมป่าไม้ตั้งเป้าสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มเป็น 15,000 แห่งทั่วประเทศ  ชุมชนมีส่วนร่วม 18,000 หมู่บ้าน  เนื้อที่รวม 10 ล้านไร่

ป่าชุมชนตำบลเสวียด  อ.ท่าฉาง  จ.สุราษฎร์ธานี  เป็น 1 ในป่าชุมชนนำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศที่ พอช.และหน่วยงานภาคีร่วมสนับสนุน

ราชบุรีจัดตั้งป่าชุมชนแล้ว 119 แห่ง

ในจังหวัดราชบุรี  7 อำเภอ (จากทั้งหมด 10 อำเภอ) มีป่าชุมชนที่จัดตั้งขึ้นตาม ‘พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ.2562’ จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมด 119 แห่ง  คือ  อำเภอเมือง 18 แห่ง,  อ.ปากท่อ 26 แห่ง, อ.บ้านคา 20 แห่ง, อ.สวนผึ้ง  8 แห่ง,   อ.จอมบึง 18 แห่ง,   อ.โพธาราม 24 แห่ง  และ อ.บ้านโป่ง 5 แห่ง  รวมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 52,671 ไร่  (ประมาณ 5 % ของพื้นที่ป่าไม้ทั้งจังหวัด จำนวน 1,116,000 ไร่)

แต่อย่างไรก็ตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฯ ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับชุมชน  ดังนั้นหน่วยงานภาคีทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลางจึงได้ร่วมกันจัดทำ ‘โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดราชบุรีในการพัฒนาแผนการจัดการป่าตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562’ ขึ้นมา  เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562  และจัดทำแผนการบริหารจัดการป่าชุมชน   การดูแลรักษา  การใช้ประโยชน์  ฯลฯ

โดยมีหน่วยงานที่สนับสนุนโครงการฯ ประกอบด้วย 1.ศูนย์ป่าไม้จังหวัดราชบุรี  2.สำนักงานป่าไม้เขต 10 (ราชบุรี)  3.ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า(รีคอฟ) 4.สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน)  5.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อบต.)  6.องค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี  และ 7.มูลนิธิประชาคมราชบุรี

การจัดประชุมขับเคลื่อนป่าชุมชนจังหวัดราชบุรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

รวมพลังขับเคลื่อนเครือข่ายป่าชุมชน จ.ราชบุรี

โดยเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี (อบจ.) มีการจัดประชุม ‘ภาคีร่วมขับเคลื่อนเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดราชบุรี’ โดยมีนายอังกูร  ศีลาเทวากูล  รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี  เป็นประธานกล่าวเปิดงาน  มีผู้แทนเครือข่ายป่าชุมชนใน 7 อำเภอ  ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล  ผู้แทน อบจ.  ป่าไม้จังหวัดราชบุรี  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมประมาณ  70 คน

นายสมบัติ เทพรส  ประธานป่าชุมชนจังหวัดราชบุรี  กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดประชุมในครั้งนี้ว่า  เพื่อให้ผู้แทนคณะกรรมการป่าชุมชนทั้ง 7 อำเภอ  ได้เรียนรู้และเข้าใจในข้อกฎหมายเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562 รับรู้บทบาทหน้าที่ของ ‘คณะกรรมการจัดการป่าชุมชน’ ตามภารกิจ พ.ร.บ.ป่าชุมชนฉบับนี้  เพื่อให้สามารถบริหารจัดการป่าชุมชน ดูแลป่าชุมชนอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ  โดยการจัดทำเแผนปฏิบัติการจัดการป่าชุมชน 5 ด้าน  ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการดูแลทรัพยากรป่าไม้ การบำรุงรักษา การดูแลป่า การสร้างพื้นที่สีเขียวในจังหวัดราชบุรีให้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ป่าชุมชน กระบวนการต่างๆ ต้องเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพให้กับคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน  และเชื่อมร้อยสานเครือข่ายป่าเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเชื่อมประสานแลกเปลี่ยนการทำงานป่าร่วมกันบนฐานของการมีส่วนร่วมและความตื่นตัวของคนในชุมชน และนำไปสู่การประสานให้เกิดกลไกในการเชื่อมร้อยเครือข่ายในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับตำบล-อำเภอ-จังหวัด  เกิดกลไกร่วมกันในการผลักดันงานเครือข่ายป่าชุมชนจังหวัดราชบุรีให้มีความก้าวหน้าและร่วมมือกันอย่างมีพลังมากยิ่งขึ้น

นายพัฒนะ  ศิริมัย  ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้จังหวัดราชบุรี 

นายพัฒนะ  ศิริมัย  ผู้อำนวยการศูนย์ป่าไม้จังหวัดราชบุรี  กล่าวว่า  การจัดตั้งป่าชุมชนประโยชน์จะตกอยู่กับชุมชน  โดยชุมชนช่วยกันดูแลรักษาและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนได้หลายอย่าง  เช่น  จัดทำเป็นสวนสาธารณะ  แหล่งพักผ่อน  แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ  เป็นแหล่งอาหาร  แหล่งสมุนไพรใช้รักษาโรค  ซึ่งการใช้ประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้  ไม่ต้องเสียเงินซื้อ  และยังทำให้เกิดรายได้แก่ชุมชน

“ป่าชุมชนส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 หรืออยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ  ซึ่งในอดีตหากชุมชนจะขอใช้ประโยชน์จากป่าจะมีขั้นตอนยุ่งยากมากและต้องทำเรื่องขออนุญาตจากอธิบดีกรมป่าไม้  บางกรณีอาจต้องทำเรื่องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ  ซึ่งการจะพิจารณาอนุมัติค่อนข้างยาก  แต่เมื่อมี พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ออกมา  การขออนุญาตจัดตั้งป่าชุมชนและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนเป็นเรื่องง่าย  เพราะสามารถขออนุญาตจากคณะกรรมการป่าชุมชนระดับจังหวัดให้อนุมัติได้โดยไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก”  ผอ.ศูนย์ป่าไม้จังหวัดราชบุรีกล่าว

อย่างไรก็ตาม  การใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนยังมีข้อห้ามบางประการ  เช่น  ห้ามบุกรุกแผ้วถางป่า เพื่อทำไร่  ทำนา ห้ามใช้เป็นที่อยู่อาศัย  สร้างสถานที่พักแรม  สร้างคอกเลี้ยงสัตว์  ฯลฯ  แต่สามารถทำลานกางเต๊นท์  นำสัตว์เข้าไปเลี้ยงได้  ปลูกพืชหรือสมุนไพรได้  สร้างฝายกั้นน้ำ  ทำแนวป้องกันไฟป่าได้  เป็นต้น

นอกจากนี้ในการประชุมครั้งนี้  ผู้แทนป่าชุมชนได้ร่วมกันจัดทำแผนการพัฒนาป่าชุมชนในประเด็นต่างๆ  เช่น  การจัดเวทีประชุม เพื่อให้ชาวชุมชนและอบต. มีความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาของ พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2562  โดยเฉพาะเพื่อให้ผู้บริหาร อบต.สนับสนุนงบประมาณในการดูแลป่าชุมชน  สนับสนุนการแปรรูป  สร้างอาชีพ  สร้างรายได้จากป่าชุมชน  เช่น  สร้างโรงตากสมุนไพรเพื่อนำมาแปรรูป  หรือขายสมุนไพรแห้ง  ฯลฯ

สภาพป่าเขาขลุง  อ.บ้านโป่ง  จ.ราชบุรี  เมื่อหลายสิบปีก่อนถูกตัดเอาไปทำฟืนเผาถ่านก่อนจะได้รับการฟื้นฟูจากชุมชน

‘บ้านสระสี่มุม’ ต้นแบบป่าชุมชนราชบุรี

แม้ว่าชุมชนส่วนใหญ่จะจัดตั้งป่าชุมชนตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯ ตั้งแต่ปี 2562  แต่ก่อนหน้านั้นหลายปีมีป่าชุมชนที่ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งและดูแล  รวมทั้งใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนมาก่อน  เช่น  ป่าชุมชนบ้านสระสี่มุม ต.เขาขลุง  อ.บ้านโป่ง  จ.ราชบุรี 

นายมานพ  วรรณเครือ  ผู้ใหญ่บ้านและประธานป่าชุมชนบ้านสระสี่มุม  เล่าว่า  ป่าชุมชนบ้านสระสี่มุมเป็นผืนป่าด้านหนึ่งของเขาขลุง  (เป็นพื้นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ .2484) เป็นป่าเต็งรัง เนื้อที่ประมาณ 108 ไร่ มีหมู่บ้านต่างๆ ล้อมรอบเขาขลุงรวม 5   หมู่บ้าน  ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่  ปลูกมันสำปะหลัง  ปลูกอ้อย  ทำนา  และรับจ้างทั่วไป   ชาวบ้านทั้ง 5 หมู่บ้านได้ใช้ประโยชน์จากป่าเขาขลุงมาช้านาน  เช่น  เก็บเห็ด  หน่อไม้  กระเจียว  กลอย  มัน  ผักป่าต่างๆ เป็นอาหาร  สมุนไพรนำมาทำยารักษาโรค   ไม้แห้งนำมาเผาถ่าน  ทำฟืน  ฯลฯ

“เมื่อก่อนพ่อผมทำไร่และเป็นหมอยาพื้นบ้านด้วย  แกเพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา  ตอนพ่อยังมีชีวิตอยู่จะเก็บสมุนไพรจากป่าเขาขลุงเอามาทำยารักษาชาวบ้าน  รักษาโรคต่างๆ  เช่น  โรคอัมพฤกษ์  อัมพาต  โรคตับ  หัวใจโต  ผมก็จะช่วยพ่อเก็บสมุนไพรต่างๆ เอามาใช้  จึงทำให้ผมมีความรู้ด้านสมุนไพรอยู่บ้าง  จึงอยากรักษาป่าและสมุนไพรเอาไว้”  ผู้ใหญ่มานพบอกถึงประโยชน์จากสมุนไพรในป่าและเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาลุกขึ้นมาเป็นแกนนำในการดูแลรักษาป่าและอนุรักษ์สมุนไพรที่มีค่า

ผู้ใหญ่มานพกับสมุนไพรที่เขาและชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์  ติดป้ายบอกลักษณะและสรรพคุณ  เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีนักเรียน  นักศึกษามาเรียนรู้ตลอดทั้งปี

เขาเล่าว่า  ในอดีตป่าเขาขลุงมีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่ของโขลงช้างป่า จึงเป็นที่มาของการตั้งชื่อชุมชนว่า  “บ้านเขาโขลง”  ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น “เขาขลุง”  และเป็นชื่อตำบลเขาขลุงในเวลาต่อมา

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา  ชาวบ้านได้ตัดไม้เพื่อนำมาเผาถ่านจำนวนมากและมีการจับจองพื้นที่รอบภูเขาเพื่อทำไร่ ทำให้ผืนป่าลดลง  ป่าเขาขลุงจึงเปลี่ยนสภาพจากป่าที่มีความสมบูรณ์เป็นป่าเสื่อมโทรม  ภูเขาหัวโล้น  สัตว์ป่าหนีหาย  ทั่วทั้งเขามีแต่ซากตอไม้

ปี 2530 เป็นจุดเริ่มต้นการฟื้นฟูป่าเขาขลุง โดยชาวบ้านหมู่ 2 บ้านสระสี่มุม ได้ร่วมกันทำประชาคมหมู่บ้าน  ชี้ให้เห็นปัญหาของการสูญเสียพื้นที่ป่าจากการตัดไม้เผาถ่านและการบุกรุกป่า  ชาวบ้านจึงมีข้อตกลงร่วมกันในการหยุดตัดไม้ทำลายป่า และปล่อยให้ป่าฟื้นตัวตามธรรมชาติ

ปี 2548 ‘วันแม่แห่งชาติ’ 12 สิงหาคม  ผู้ใหญ่มานพร่วมกับชาวบ้าน นักเรียนโรงเรียนวัดสระสี่มุม   นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง   มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครเหนือ และเจ้าหน้าที่ป่าไม้บ้านโป่งกว่า 300 คน  ร่วมกันปลูกต้นไม้เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  พันธุ์ไม้ที่ปลูกมีไผ่รวก  ไผ่ป่า  สะเดา  ตะเคียน สักทอง ประดู่ โมกมัน เหียง พลวง เต็งรัง แดง ฯลฯ

ปี 2549 ชาวบ้านร่วมกับนักศึกษานอกระบบอำเภอบ้านโป่งปลูกป่าไผ่อีกครั้ง  และมีกิจกรรมฟื้นฟูดูแลป่าเรื่อยมา ทำให้ป่าเริ่มฟื้นตัว  เป็นแหล่งอาหารให้กับชุมชน  เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า เช่น ไก่ป่า กระรอก แย้ อีเห็น นกนานาชนิด

ปี 2551 ชาวบ้านร่วมกันปลูกต้นไม้ที่เป็นพืชอาหารในป่าประมาณ 3,000 ต้น  เช่น   ไผ่รวก 2,000 ต้น ไผ่ป่า 500 ต้น ไผ่นวล 500 ต้น   นอกจากนี้ยังมีพืชอาหารที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ  เช่น  ผักหวานป่า หวาย อีรอก  อีนูน  เปราะหอม และสมุนไพรต่างๆ

ปี 2550-2560  คณะกรรมการหมู่บ้านได้จัดตั้ง ‘คณะทำงานดูแลป่า’ มีคณะกรรมการจำนวน 15 คน  มีกิจกรรมปลูกป่าเพิ่มขึ้นทุกปี    ทำให้ป่าที่เคยเหลือแต่ซากตอไม้ ผืนดินแห้งแล้ง  กลายเป็นป่าสีเขียว  ความอุดมสมบูรณ์กลับคืนมา

ปี 2561-2566 สภาป่าไม้ภาคกลางตะวันตก ร่วมกับศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า(รีคอฟ) เข้าร่วมกับคณะทำงานป่าบ้านสระสี่มุม หมู่ 2 พัฒนาสร้างการเรียนรู้ให้แกนนำคณะทำงานเรื่องกฎหมายป่าชุมชน ตาม พ.ร.บ. ป่าชุมชน พ.ศ.2562 จนนำไปสู่การขึ้นทะเบียนป่าชุมชน และการเตรียมความพร้อมในการจัดทำแหล่งเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ป่าภายใต้ชื่อ “โรงเรียนป่าชุมชน”

ผู้ใหญ่มานพ บอกในตอนท้ายว่า  นอกจากการดูแลรักษาป่าชุมชนบ้านสระสี่มุมดังที่กล่าวไปแล้ว  คณะกรรมการป่าชุมชนบ้านสระสี่มุมยังมีแผนดำเนินการ 5 ปี  คือตั้งแต่ปี 2567-2571 โดยมีแผนจะส่งเสริมการสร้างอาชีพ  ทำให้ชาวบ้านมีรายได้จากป่าชุมชน   โดยการแปรรูปสมุนไพร  นำสมุนไพรมาตากแห้ง  เช่น  ไพล  นำมาทำน้ำมันเขียว  น้ำมันไพล  แก้ปวด6เมื่อย  ฯลฯ  โดยจะเสนอขอรับการสนับสนุนการสร้างโรงตากสมุนไพรจาก อบต.เขาขลุง 

พอช.หนุนป่าชุมชนนำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศ-เตรียมขยายเพิ่มปีหน้า

แม้ว่า พ.ร.บ.ป่าชุมชนจะประกาศใช้เป็นเวลา 4 ปีแล้ว  แต่ยังมีขั้นตอนรายละเอียดในการดำเนินการอีกมาก  เช่น  การจัดตั้งคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัด  (ทำหน้าที่พิจารณาคำขอจัดตั้งป่าชุมชน  อนุมัติแผนการจัดการป่า  ควบคุมดูแลการจัดการป่า  ฯลฯ)  ชุมชนที่ต้องการจัดตั้งป่าชุมชนจะต้องยื่นคำขอจัดตั้ง  ต้องมีแผนการจัดการป่าชุมชน  แผนการอนุรักษ์  ฟื้นฟู  พัฒนา  การใช้ประโยชน์  การตรวจสอบรังวัดพื้นที่ป่าชุมชนที่ขอจัดตั้งโดยกรมป่าไม้  การจัดทำแผนที่ป่าชุมชน ฯลฯ

ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จึงร่วมกับกรมป่าไม้และภาคีเครือข่าย  เช่น  ศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า(รีคอฟ) มูลนิธิสืบนาคะเสถียร  มูลนิธิชุมชนไท  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฯลฯ จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนโครงการป่าชุมชนและฝายมีชีวิต  เช่น  ให้ความรู้เรื่อง พ.ร.บ.ป่าชุมชน   การจัดตั้งป่าชุมชน  การจัดทำแผนจัดการป่าชุมชน  ฯลฯ

นายสถาพร  สมศักดิ์  หัวหน้าสำนักประสานเครือข่ายประชาสังคม พอช. ซึ่งมีบทบาทในการประสานงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนป่าชุมชน  บอกว่า  ในปี 2566 นี้ พอช. ได้นำร่องสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนนำร่องจำนวน 15 แห่งทั่วประเทศ  เช่น  ป่าชุมชนตำบลอมก๋อย อ.อมก๋อย  จ.เชียงใหม่  ป่าชุมชนตำบลโป่ง  อ.ด่านซ้าย จ.เลย  ป่าชุมชนตำบลเสวียด  อ.ท่าฉาง  จ.สุราษฎร์ธานี  ป่าชุมชนตำบลเขาขลุง  อ.บ้านโป่ง  จ.ราชบุรี  ฯลฯ

ทั้งนี้ป่าชุมชนนำร่องทั้ง 15 แห่งจะเสนอโครงการมายัง พอช. เพื่อบริหารดูแลรักษาป่าและใช้ประโยชน์จากป่า  เช่น  การปลูกป่าเพิ่มเติม  การป้องกันไฟป่า  การทำแนวกันไฟ  ทำฝายชะลอน้ำ  ทำเรื่องท่องเที่ยวป่าชุมชน  เส้นทางการศึกษาธรรมชาติ  การสร้างอาชีพ  รายได้จากป่าชุมชน  แปรรูปผลผลิตจากป่าชุมชน  ฯลฯ  หลังจากนั้น พอช.จะสนับสนุนงบประมาณการจัดทำโครงการตามความเหมาะสม  เพื่อให้ชุมชนนำไปดำเนินการ  ส่วนในปีหน้า  พอช. มีแผนจะสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชนเพิ่มเติมอีกประมาณภาคละ 10 แห่ง

“นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมา  พอช. ได้พูดคุยกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือ BOI. และบริษัทธุรกิจเอกชน  โดยบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI.  หากจะสนับสนุนการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ  รวมทั้งส่งเสริมการดูแลป่าชุมชน  บริษัทจะสามารถนำเงินที่สนับสนุนชุมชนนำมาลดหย่อนภาษีได้ถึง 200 เปอร์เซ็นต์” 

นายสถาพรบอกถึงช่องทางหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนการดูแลป่าชุมชน ซึ่งจะส่งผลทำให้การบริหารจัดการป่าชุมชนขยายกว้างออกไปทั่วประเทศ  ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม  รวมทั้งทำให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากป่า  ทั้งในด้านเศรษฐกิจ  อาชีพ  แหล่งอาหาร  เป็นป่าชุมชนที่กินได้ !!

ชาวบ้านที่อำเภอหนองฉาง  จ.อุทัยธานี  ช่วยกันดูแลต้นยางนา  เป็นไม้เศรษฐกิจ  และสร้างความชุ่มชื้น  สร้างอากาศบริสุทธิ์ให้แก่ชุมชน

********************

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

ประชุม คนช. นัดแรก ไฟเขียวกฎหมายป่าชุมชน 2 ฉบับ

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าชุมชน (คนช.) ครั้งที่ 1/2567 โดยมีนาย

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ