‘ส.ป.ก.-พอช.จับมือเดินหน้าพัฒนาชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.เริ่มปี 2567 ช่วยเกษตรกรยากไร้อีกกว่า 2,700 ครัวเรือน

งานสัมมนา “การพัฒนาที่อยู่อาศัยฯ ในที่ดิน ส.ป.ก.” วันสุดท้าย (28 ตุลาคม)

ระนครศรีอยุธยา /  ส.ป.ก.-พอช.-เครือข่ายขบวนบ้านมั่นคงชนบทในที่ดิน ส.ป.ก. เตรียมนำผลจากการจัดสัมมนา “การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตในที่ดิน ส.ป.ก.” ไปขับเคลื่อนต่อ  เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน   ร่วมกำหนด ออกแบบผัง และแผนการพัฒนาพื้นที่ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน   โดย ส.ป.ก.จะขยายพื้นที่เพิ่มเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินอีก 2,771 ครอบครัว  เริ่มปี 2567 อย่างน้อย 600  ครอบครัว

“บ้านใหม่  ชีวิตใหม่ในที่ดิน ส.ป.ก.”

ในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายนำที่ดิน ส.ป.ก.ที่มีผู้ครอบครองไม่ถูกต้อง  เช่น  นายทุน  ผู้มีอิทธิพล  เพื่อนำมาจัดสรรให้แก่เกษตรกรที่ยากไร้  ขาดแคลนที่ดินทำกิน  โดยมีคำสั่ง คสช.ที่ 39/2559 เพื่อยึดคืนที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประเทศ  และนำมาจัดสรรให้เกษตรกรยากไร้ที่ลงทะเบียนต้องการที่ดินทำกินในลักษณะ ‘ที่ดินแปลงรวม’  คือให้เข้าอยู่อาศัยและทำกิน  แต่ไม่ให้กรรมสิทธิ์เพื่อป้องกันการซื้อขาย  เปลี่ยนมือ

ขณะเดียวกัน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ได้สนับสนุนการสร้างบ้านพักอาศัยสำหรับเกษตรกรที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ตามโครงการ ‘บ้านมั่นคงชนบท’ ของ พอช. (พอช.สนับสนุนงบสร้างที่อยู่อาศัยเฉลี่ยครัวเรือนละ 40,000 บาท) รวมทั้งการพัฒนาสาธารณูปโภค  แหล่งน้ำ  ส่งเสริมอาชีพ  ฯลฯ  โดยเกษตรกรจะต้องรวมตัวกันในรูปแบบ ‘สหกรณ์’ เพื่อพัฒนาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย ส่งเสริมอาชีพ  และพัฒนาคุณภาพชีวิต

ทั้งนี้นับแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน พอช.และ ส.ป.ก. รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ได้สนับสนุนการสร้างที่อยู่อาศัย  พัฒนาอาชีพ  แหล่งน้ำ  สาธารณูปโภค  ฯลฯ  ในที่ดิน ส.ป.ก. จำนวน 12 จังหวัด  เช่น  อุทัยธานี  ลพบุรี   กาญจนบุรี  นครราชสีมา  กาฬสินธุ์  ชุมพร   ฯลฯ  รวม  25 ตำบล 33 โครงการ  จำนวน  2,510 ครัวเรือน  งบประมาณสนับสนุนรวม 132 ล้านบาทเศษ  ปัจจุบันสร้างบ้านมั่นคงชนบทและพัฒนาคุณภาพชีวิตในที่ดิน ส.ป.ก.ไปแล้วจำนวน 1,834 หลังคาเรือน

เช่น  ที่จังหวัดกาฬสินธุ์  เกษตรกรยากไร้ที่ได้รับการจัดสรรที่ดิน  ได้รวมตัวกันเป็น ‘สหกรณ์การเกษตรบ้านดงกล้วย จำกัด’ แปลงที่ดิน ส.ป.ก.อยู่ที่ ต.นาจำปา อ.ดอนจาน จังหวัดกาฬสินธุ์  เนื้อที่  881 ไร่  จัดสรรให้เกษตรจำนวน 75 ครัวเรือน  แบ่งเป็นที่อยู่อาศัย จำนวน 225 ไร่  ครอบครัวละ 2.5 ไร่  ทำให้เกษตรกรยากไร้มีบ้านใหม่  ชีวิตใหม่

พื้นที่แปลงรวม 413 ไร่  ใช้ในการปลูกหญ้า เลี้ยงสัตว์ และไม้ยืนต้น  พื้นที่ 100 ไร่ เป็นพื้นที่ส่วนกลางแปลงปลูกหม่อนเพื่อเลี้ยงไหม พื้นที่ 63 ไร่ เป็นพื้นที่แปลงรวมใช้ปลูกมันหวาน  ผักปลอดสารพิษ  เพาะเห็ด  แหล่งน้ำ  ฯลฯ  ทำให้เกษตรกรที่ยากไร้มีที่ดินทำกิน  มีอาชีพ  มีรายได้จากการทำเกษตรแบบผสมผสาน  เกษตรอินทรีย์  โดยทำปุ๋ยใช้เอง  เพื่อลดต้นทุน  ทำให้มีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ชาวบ้านในที่ดิน ส.ป.ก. จังหวัดกาฬสินธุ์ร่วมกันทำปุ๋ยอินทรีย์เอาไว้ใช้

เดินหน้าพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตในที่ดิน  ส.ป.ก.

อย่างไรก็ตาม  การบุกเบิกที่ดินทำกินและการพัฒนาอาชีพในที่ดิน ส.ป.ก. ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง  เช่น  ปัญหาเรื่องสาธารณูปโภค  การพัฒนาอาชีพ  ฯลฯ  ดังนั้นในช่วงระหว่างการจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2566’ ในเดือนตุลาคมนี้  พอช.และขบวนองค์กรชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.จึงได้จัดกิจกรรมเพื่อสรุปบทเรียนและหาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในที่ดิน  ส.ป.ก. ทั่วประเทศ

โดยระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้  มีการจัดงานสัมมนา “การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตในที่ดิน ส.ป.ก.”  ที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร)  อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  มีผู้แทนชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.ทั่วประมาณประมาณ 400 คนเข้าร่วม  โดยร้อยเอกธรรมนัส  พรหมเผ่า  รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้เดินทางมาร่วมงานเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม

การจัดเสวนาวันนี้ (28 ตุลาคม)

ส่วนในวันนี้ (28 ตุลาคม) มีการเสวนา  หัวข้อ “การขับเคลื่อนงานและทิศทางการพัฒนาชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.” โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และผู้แทนชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก.เข้าร่วมเสวนาและรับฟังประมาณ 200 คน

นายกันตพงศ์ รังสีสว่าง  รองปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  กล่าวว่า  การพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์ทั้ง 5 มิติ ได้แก่ การศึกษา สุขภาพ อาชีพรายได้ ที่อยู่อาศัย-ที่ดินทำกิน และการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการรัฐ (ตั้งแต่เกิดจนตาย) ให้มีความมั่นคง มีปัจจัย 4 ครบถ้วน ไม่ตกเส้นมาตรฐาน โดยการบูรณาการเชื่อมโยงการทำงานกับ 12 กระทรวงและกรุงเทพมหานคร ในการแก้ไขปัญหา   และการส่งเสริมนโยบายโฉนดที่ดินไม่ควรมีการเปลี่ยนมือ ไม่ให้มีการขายสิทธิ

นายกันตพงศ์  รองปลัดกระทรวง พม.

นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง  ผู้ประสานงานขบวนบ้านมั่นคงชนบทในที่ดิน ส.ป.ก. เครื่องมือสำคัญคือ การเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่  ในการร่วมกำหนด ออกแบบผัง และแผนการพัฒนาพื้นที่ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน  เป็นเครื่องมือกลไกการพัฒนาในระดับพื้นที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในมิติต่างๆ ที่นำไปสู่การสนับสนุน การมองทิศทางความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“กระบวนการสำคัญ จะต้องมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนในชุมชนเพื่อวิเคราะห์พื้นที่ จุดเเข็ง จุดอ่อน  โดยผ่านกระบวนการ ดังนี้ 1. กระบวนการรวมกลุ่มอย่างมีส่วนร่วม ตั้งแต่กระบวนการออกแบบพื้นที่ การจัดกลไกคณะทำงานในพื้นที่ การสร้างความเข้าใจในสิทธิส่วนรวม  2. กระบวนการบริหารการรวมกลุ่มและการพัฒนาพื้นที่ในที่ดิน ส.ป.ก.  3.การสร้างกลไกการการทำงานเพื่อสนับสนุนการบริหาร ด้านสาธารณูปโภค รายได้ อาชีพ คุณภาพชีวิตที่ต่อเนื่อง ที่เมื่อมีการขยายตัวให้เกิดระบบกลุ่มย่อย   4 การสร้างแผนพัฒนาร่วมกันเพื่อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาสนับสนุน”  นายละอองดาวกล่าว

“ระบบการเงินสหกรณ์ เงินต้องไม่หาย ทำให้สมาชิกมีส่วนร่วม”

นางเกศราภรณ์ โพธิ์ศรี ผู้แทนสหกรณ์การเกษตรบ้านดงกล้วย จ.กาฬสินธุ์  กล่าวว่า หัวใจหลักการทำงาน คือ สร้างความเชื่อมั่น และมั่นใจให้มากที่สุด ในการบริหารสหกรณ์ของคณะกรรมการ ระบบการเงิน เงินต้องไม่หาย ทำให้สมาชิกมีส่วนร่วม และเข้าร่วมธุรกิจสหกรณ์ เมื่อสมาชิกเชื่อใจ สหกรณ์จะกระตุ้นการมีส่วนร่วม หาช่องทางตลาด โดยใช้ธุรกิจสหกรณ์ และทำให้สหกรณ์ดำเนินงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งการประสานกลไกร่วมกับ ส.ป.ก. ในเรื่องการขอเช่าที่ดิน 

“ส่วนทิศทางขับเคลื่อนงานในปี 2567 โดยการวิเคราะห์และขับเคลื่อนร่วมกับเกษตรกรในพื้นที่ ส.ป.ก.  พี่น้องเกษตรกรมีความกังวลเรื่องการชำระค่าเช่าที่ดิน เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นผู้มีรายได้น้อย โดยจะส่งเสริมให้มีการวิเคราะห์พื้นที่ สร้างอาชีพให้สอดคล้องกับบริบทและศักยภาพที่มี รวมทั้งส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์และมูลค่าสูงสุด  ส่วนผู้ที่ไม่มีกำลังที่จะแบกภาระในส่วนนี้ได้ สหกรณ์จะบริหารเงินทุนที่มี และช่วยเหลือเกษตรกรในการสำรองเงินบางส่วนให้ก่อน”  ผู้แทนสหกรณ์บ้านดงกล้วยกล่าว

ส่วนหนึ่งของเกษตรกรบ้านดงกล้วย  จ.กาฬสินธุ์

นางสาวกนิษฐา ศรีประทุม  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดกาฬสินธุ์  กล่าวว่า  บริบทพื้นที่บ้านดงกล้วยเดิมเป็นพื้นที่ที่มีความแห้งแล้ง ไม่มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เพียงพอ โดยสำนักงานฯ มีบทบาทในการลงไปพัฒนาเกษตรกรในพื้นที่ ได้แก่ การลงทะเบียนรับสมัครเกษตรกรที่ต้องการที่ดิน ดำเนินการพิจารณาคัดเลือกเกษตรกร ประเมินความพร้อม สร้างความเข้าใจให้แแก่เกษตรกรที่จะเข้ามาอยู่ในพื้นที่ และออกแบบวางแผนการพัฒนาร่วมกับเกษตรกรว่าจะทำอย่างไร ?  เมื่อเข้ามาอยู่อาศัยแล้วจะเกิดอาชีพ รายได้ที่เพียงพอต่อการอยู่อาศัย  ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีการรวมกลุ่มเพื่อช่วยเหลือ ดูแลกัน

“บทบาทของเจ้าหน้าที่เป็นเพียงพี่เลี้ยงที่จะอยู่ห่างๆ เข้าไปดูแลเป็นระยะๆ ต้องบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วน และยกระดับการทำงานในการพัฒนาเกษตรกร เกษตรกรรม ดูแลพัฒนาส่งเสริมในทุกรูปแบบ”  ผู้แทนสำนักงานปฏิรูปที่ดิน จ.กาฬสินธุ์กล่าว

นายสมศักดิ์ เจริญกุลวงศ์  ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพื้นที่ปฏิรูปที่ดิน  กล่าวว่า  การดำเนินงานของ ส.ป.ก.  คือ  1. พื้นที่ คทช. ตามคำสั่ง คสช. ที่  39/2559 ที่ยึดคืนพื้นที่ผิดกฎหมาย เพื่อจัดสรรให้เกษตรกรใช้ประโยชน์ตามระเบียบ ส.ป.ก.   2. กำหนดขอบเขตที่ดินให้ชัดเจน เพื่อยึดคืน ปูผังแบ่งแปลงเบื้องต้น วางโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมตามบริบทพื้นที่ ระบบสาธารณูปโภค แหล่งน้ำ การเกษตร เส้นทางคมนาคม   

  1. กำหนดจำนวนเป้าหมายและรายชื่อผู้รับผลประโยชน์ ร่วมกับ คทช.จังหวัด 4. บูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมที่ดิน กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมปศุสัตว์ กรมประมง ฯลฯ เพื่อวางแผนการพัฒนาที่ดิน ที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต 5. แผนการพัฒนามีการร่วมออกแบบและปรับเปลี่ยนตามบริบทพื้นที่ ความต้องการของชุมชน
  2. ประเด็นสิ่งสำคัญในพื้นที่ส่วนใหญ่ คือ การบริหารจัดการน้ำในแปลง 7. ข้อจำกัดด้านกฎหมาย ระเบียบ การบูรณาการหน่วยงาน ส.ป.ก. จะพยายามคลี่คลายและแก้ไขปัญหา 8. นโยบายการเปลี่ยน ส.ป.ก. 4-01 เป็นโฉนดเพื่อเกษตรกรรม เพื่อให้เป็นทรัพย์สิน เป็นมูลค่าเพิ่มให้กับเกษตรกร โดยมีกระบวนการป้องกันไม่ให้เปลี่ยนมือไปสู่กลุ่มทุน

นายสยาม  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช.

นายสยาม นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. กล่าวว่า

ทิศทางของ พอช. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ดิน ส.ป.ก. มี  2 แนวทาง  คือ  1. ชุมชนเดิมที่ดำเนินการแล้วให้เข้มแข็ง สร้างความเข้มแข็งของกลุ่ม/สหกรณ์ ฟื้นฟูความเป็นชุมชน สร้างกติกาความเข้าใจ หลอมรวมสมาชิกไปในทิศทางเดียวกัน สร้างการรับรู้ ตัดสินใจ เป็นเจ้าของร่วมกัน  สร้างแผนงานกิจกรรมร่วมของชุมชน  บูรณาการการทำงานกับหน่วยงาน ภาคีเครือข่าย  สร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยน หนุนเสริม เชื่อมโยงการทำงานระหว่างชุมชนต่าง ๆ  และ 2. พัฒนาพื้นที่ใหม่ ตามแผนความร่วมมือ และพื้นที่ปฏิบัติการเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

“การรวมพลัง คือทรัพย์อันยิ่งใหญ่”   

นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและการจัดการที่ดิน  พอช.  กล่าวเสริมในประเด็นการพัฒนาชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก. มีใจความสำคัญว่า  “การรวมพลัง คือทรัพย์อันยิ่งใหญ่”   สร้างชุมชน เชื่อมโยงชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง มีที่ดินที่ทำกิน ผ่านโครงการบ้านมั่นคงชนบท โดยคนในชุมชนต้องเป็นแกนหลัก ดึงคนเดือดร้อนขึ้นมา รวมตัวเป็นหนึ่งเดียวเป็นเครือข่าย ขบวนการ มีสวัสดิการที่ช่วยเหลือกันได้ และใช้โจทย์ไม่มีบ้าน มาทำบ้านด้วยกัน สร้างชุมชน สร้างถิ่นฐานร่วมกัน ต้องสร้างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่นามธรรม เป็นชุมชนตัวอย่างในที่ดินส.ป.ก.

“ที่ดินและคน คือทรัพย์ การรวมพลัง คือทรัพย์อันยิ่งใหญ่ ให้ชุมชนเป็นผู้เสนอ  สร้างระบบกลุ่มย่อย เพื่อส่งเสริมอาชีพ รายได้ ตามโซน ร่วมตัดสินใจ ที่ดินส.ป.ก. ให้ความรู้สึกร่วม ระบบร่วม ให้ความมั่นคง ทำให้มีโอกาสฟื้นฟู ออกแบบร่วมกัน เป็นความคุ้มค่าที่ได้รับมา”  นางสาวสมสุขกล่าวปิดท้าย

นางสาวสมสุข  ประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงฯ  พอช.

ขยายพื้นที่ช่วยเกษตรกรยากไร้อีก 2,771 ครอบครัว

ผลจากการจัดงานสัมมนา “การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตในที่ดิน  ส.ป.ก.” ในระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม ดังกล่าวนี้  ชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปขับเคลื่อนต่อไป  โดยมีข้อสรุปและแนวทางการขับเคลื่อนตามนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส  พรหมเผ่า  รมว.เกษตรและสหกรณ์  ในปี 2567 ดังนี้

1.เน้นกระบวนการการมีส่วนร่วม ในการร่วมกำหนด ออกแบบผัง และแผนการพัฒนาพื้นที่ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน

  1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการแผนงานและงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ
  2. การสนับสนุนให้เกิดกระบวนการในติดตามและรายงานผลการดำเนินงาน ปัญหาข้อติดขัดในโครงการที่ได้รับการจัดสรรที่ดินแล้ว พร้อมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกัน
  3. ร่วมสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับขบวนองค์กรชุมชน

และ 5. ให้มีคณะทำงาน ติดตามการทำงาน ในระดับส่วนกลาง/จังหวัด โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงาน ขบวนองค์กรชุมชน และผู้แทนพื้นที่

อย่างไรก็ตาม  นอกจากทิศทางการขับเคลื่อนงานในปี 2567 ดังกล่าวแล้ว  ส.ป.ก.กับ พอช. และหน่วยงานภาคีต่างๆ รวม 16 หน่วยงาน  ยังมีภารกิจร่วมกันตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดิน ส.ป.ก. โดยจะขยายผลและต่อยอดในพื้นที่อนุญาตเดิม สำหรับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่แปลงใหม่อีก 2,771 ครัวเรือน  ระยะเวลา 4 ปี คือ  ตั้งแต่ปี 2567-2570

โดยในปี  2567 จะเริ่มดำเนินเพิ่มในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี เชียงใหม่ เชียงราย อย่างน้อย 600 ครัวเรือน เพื่อสร้างโอกาส  สร้างความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย การพัฒนาอาชีพรายได้  การพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างความยากจนให้แก่เกษตรกรผู้ยากไร้ต่อไป..!!

ร้อยเอกธรรมนัส รมว.เกษตรฯ (ยืนแถวหน้า/ที่ 4 จากซ้าย) ร่วมงานสัมมนาเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เรื่องนี้ 'ทักษิณ' ต้องอ่าน

ใครไม่อ่านวันนี้ ห้ามคุยเป็นแฟนคลับ "เปลว สีเงิน! เนื้อหาทั้งหมด นำมาจาก The room 44 ประทับใจหาดูได้ในช่องยูทูบ

รัฐบาลขีดเส้น 30 วัน เร่งเยียวยาเกษตรกรใต้ 9.4 หมื่นราย

'อนุกูล' เผยรัฐบาลเร่งเยียวยาเกษตรกรชาวใต้หลังน้ำท่วม ตีกรอบสำรวจความเสียหาย 30 วัน รับเงินช่วยเหลือภายใน 10 วัน หลัง ธกส. อนุมัติ