‘ธรรมนัส’ รมว.เกษตรฯ ร่วมงาน “พัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดิน ส.ป.ก.” พร้อมเดินหน้าอีก 4 ปี-เป้าหมายเกษตรกรยากไร้มีที่ดินทำกิน-มีรายได้

ร้อยเอกธรรมนัส  รมว.เกษตรฯ (ที่ 6 จากซ้าย)

พระนครศรีอยุธยา /  ร้อยเอกธรรมนัส รมว.เกษตรฯ ร่วมงานสัมมนา “การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตในที่ดิน ส.ป.ก.”  เพื่อสรุปบทเรียนและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา  โดยที่ผ่านมา ส.ป.ก.ร่วมมือกับ พอช. สนับสนุนแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกรที่ยากไร้  ดำเนินการแล้วใน 12 จังหวัด  รวม 2,510 ครัวเรือน  และเตรียมขยายผลในอีก 4 ปี  รวม 2,771 ครัวเรือน  เพื่อสร้างความมั่นคงในที่ดินที่อยู่อาศัย  พัฒนาคุณภาพชีวิต  สร้างอาชีพ  รายได้  ลดความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ด้านผู้แทนชุมชนยื่น 6 ข้อเสนอแก้ปัญหาในที่ดิน ส.ป.ก.

สร้างบ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก.แล้ว 2,510 ครัวเรือน

 นับแต่ปี 2560-2566 สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. และสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)  ได้สนับสนุนการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงในที่ดิน ส.ป.ก. ในรูปแบบ “แปลงรวม” เพื่อร่วมกันพัฒนาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน คุณภาพชีวิต และสร้างถิ่นฐานชุมชนที่ยั่งยืน โดยใช้แนวทางการขับเคลื่อนงานโดยขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก ประสานความร่วมมือกับเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนที่ขับเคลื่อนงานในเขต ส.ป.ก.ทั่วประเทศไปแล้ว  รวม 12 จังหวัด  เช่น  อุทัยธานี  ลพบุรี   กาญจนบุรี  นครราชสีมา  กาฬสินธุ์  ชุมพร   ฯลฯ  รวม  25 ตำบล 33 โครงการ  จำนวน  2,510 ครัวเรือน  งบประมาณสนับสนุนรวม 132 ล้านบาทเศษ  ปัจจุบันสร้างบ้านมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตในที่ดิน ส.ป.ก.ไปแล้วจำนวน 1,834 หลังคาเรือน

ระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคมนี้  มีการจัดงานสัมมนา “การพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตในที่ดิน ส.ป.ก.”  โดยในวันนี้ (27 ตุลาคม) ร้อยเอกธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนา  โดยมี นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม  นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ นายละอองดาว  สีลาน้ำเที่ยง แกนนำขบวนบ้านมั่นคงชนบทในที่ดิน ส.ป.ก. พร้อมด้วยผู้แทนชุมชนในที่ดิน ส.ป.ก./ คทช. และผู้แทนหน่วยงานภาคีประมาณ 400 คน เข้าร่วมการสัมมนาที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพเสริมนอกภาคการเกษตร (ศูนย์ศิลปาชีพบางไทร)  อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ร้อยเอกธรรมนัส   รมว.เกษตรและสหกรณ์

“ลดความเหลื่อมล้ำ  สร้างความมั่นคงในที่ดิน”

ร้อยเอกธรรมนัส  พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   กล่าวว่า การพัฒนาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิต  ในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน มีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยราชการต่าง ๆ ด้วยความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาชน ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงให้ประชาชนอย่างแท้จริง

“รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย การพัฒนาอาชีพ  รายได้ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ โดยเฉพาะการพัฒนาในพื้นที่เขตปฏิรูปที่ดิน  ผมพร้อมที่จะสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มเกษตรกรที่ถือเป็นรากฐานสำคัญของสังคม” 

ร้อยเอกธรรมนัส  กล่าวต่อไปว่า ทุกโครงการจะสำเร็จลงได้ก็ด้วยความร่วมมือของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ให้ความร่วมมือในการแก้ไขและสนับสนุนการทำงาน ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรมีที่ดินทำกิน  เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย มีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่จะร่วมสนับสนุนและบูรณาการงานของกระทรวง เพื่อให้เกิดความเสมอภาค เป็นธรรม และเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนมีที่อยู่อาศัยร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืน

นายละอองดาว  ผู้แทนขบวนบ้านมั่นคงชนบทในที่ดิน ส.ป.ก. 

นายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง ผู้แทนขบวนบ้านมั่นคงชนบทในที่ดิน ส.ป.ก.  กล่าวว่า ขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคงชนบทให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้เดือดร้อนและไม่มีความมั่นคงในที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้ลุกขึ้นมาเป็นหลักในการแก้ไขปัญหาของตนเอง  ส่งเสริมการสร้างทุนภายในชุมชนโดยการออมทรัพย์เพื่อให้เป็นหลักประกันของชุมชน  มีการออกแบบวางผังการพัฒนาที่อยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ  ด้วยกระบวนการการมีส่วนร่วมของผู้เดือดร้อนและภาคีพัฒนา  สร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีการเกษตรร่วมกัน เชื่อมโยงการเป็นเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชน ขับเคลื่อนการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในที่ดิน ส.ป.ก.

นายนิวัฒน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 

นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร  ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา  กล่าวว่า การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด เป็นไปตามศักยภาพและความต้องการของประชาชนในจังหวัดนั้น ๆ  การดำเนินการเพื่อส่งเสริมให้เกิดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยภาคประชาชน  ให้มีประสิทธิภาพที่ผ่านมา พบว่า มีข้อจำกัดในเรื่องการขาดความเข้าใจร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเข้าถึงที่ดินและระเบียบในการขอใช้ประโยชน์ที่ดิน การสนับสนุนในระดับพื้นที่ และหน่วยงานระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อน รวมถึงการแก้ไขปัญหาของแต่ละหน่วยงานที่ลงสู่พื้นที่เดียวกัน จำเป็นต้องมีกลไกการบูรณาการเชื่อมโยง เพื่อให้เกิดการทำงานในทิศทางเดียวกัน

นายกฤษดา ผู้อำนวยการ พอช.

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนหรือ พอช.  กล่าวว่า ที่ผ่านมาขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคงชนบทร่วมกับ พอช. และหน่วยงานภาคีพัฒนาต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม หนุนเสริมให้เกิดการสร้างความมั่นคงด้านที่ดิน ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต  ในชุมชนผู้มีรายได้น้อยในทุกมิติ ให้เกิดการสร้างถิ่นฐานชุมชนในชนบทที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ 

“จากการร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินงานดังกล่าว  ส่งผลให้เกิดพื้นที่รูปธรรมการพัฒนาด้านที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยในที่ดิน ส.ป.ก. ภายใต้การสนับสนุนโครงการบ้านมั่นคงชนบท ตั้งแต่ปี 2560 – 2566 จำนวน  33 โครงการ  รวม  2,510 ครัวเรือน ใน 12 จังหวัด ส่งผลให้เกิดการแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้าน และสนับสนุนให้เกิดความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย การออกแบบวางผัง การประกอบอาชีพ รายได้ เกษตรกรรมที่ยั่งยืน”     ผอ.พอช. กล่าว

นายวิณะโรจน์    เลขาธิการ ส.ป.ก.

เตรียมขยายพื้นที่ให้เกษตรกรยากไร้มีที่ทำกิน

นายวิณะโรจน์  ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า  สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มีภารกิจในการจัดที่ดินให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน พื้นที่ยึดคืนจากผู้ครอบครองไม่ถูกต้องตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 36/2559 พื้นที่เป้าหมาย 40 แปลง 13 จังหวัด เกษตรกรได้รับการจัดที่ดินแล้วจำนวน 4,768 ราย 41,265 ไร่

นอกจากนี้ยังสนับสนุนบ้านพักอาศัย   โดย ส.ป.ก. ได้ร่วมบูรณาการขับเคลื่อน โดยมี พอช. เข้ามาร่วมบูรณาการขับเคลื่อนภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 9 หน่วยงาน ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2561 โดยสบทบทุนสร้างบ้านให้เกษตรกรไปแล้วกว่า 1,690 หลัง ตอบสนองต่อปัจจัยขั้นพื้นฐานให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดิน สามารถช่วยให้เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินเข้าถึงบริการของรัฐ ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรให้ดีขึ้น เพิ่มความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันภาคการเกษตรต่อไป

อย่างไรก็ตาม  นอกจากความร่วมมือระหว่าง ส.ป.ก.กับ พอช. ดังกล่าวแล้ว  เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2566 ทั้งสองหน่วยงาน   และหน่วยงานภาคีต่างๆ รวม 16 หน่วยงาน  ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยในที่ดิน ส.ป.ก. ขยายผลและต่อยอดในพื้นที่อนุญาตเดิม สำหรับเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่แปลงใหม่อีก 2,771 ครัวเรือน  ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 โดยในปี  2567 จะเริ่มนี้ดำเนินเพิ่มในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี เชียงใหม่ เชียงราย อย่างน้อย 600 ครัวเรือน เพื่อสร้างโอกาสสร้างความมั่นคงในที่ดิน ที่อยู่อาศัย การพัฒนาอาชีพรายได้  การพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ ลดความเหลื่อมล้ำ และช่องว่างความยากจน

ผู้แทนชุมชนยื่นข้อเสนอการพัฒนาและแก้ไขปัญหาในที่ดิน ส.ป.ก.

ยื่น 6 ข้อเสนอแก้ปัญหาในที่ดิน ส.ป.ก.

การจัดสัมมนาในครั้งนี้  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนบ้านมั่นคงชนบทในที่ดิน ส.ป.ก. ได้ทำหนังสือยื่นข้อเสนอต่อร้อยเอกธรรมนัส  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัย  มีเนื้อหาดังต่อไปนี้

1.การอนุญาตที่ดิน ส.ป.ก. ในลักษณะโฉนดแปลงรวมเพื่อจัดสรรให้กับประชาชน เพื่อเป็นหลักประกันที่ดินให้ตกถึงลูกหลานในอนาคต

2.เน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่  ในการร่วมกำหนด ออกแบบผัง และแผนการพัฒนาพื้นที่ ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชน

3.ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   บูรณาการแผนงานและงบประมาณ เพื่อให้สอดคล้องกับการอยู่อาศัย การประกอบอาชีพ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ

4.ส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกระบวนการในติดตามและรายงานผลการดำเนินงานปัญหาข้อติดขัดในโครงการที่ได้รับการจัดสรรที่ดินแล้ว พร้อมทั้งร่วมกันแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกัน

5.ร่วมสนับสนุนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และงานวิชาการ ให้กับขบวนองค์กรชุมชน

6.ให้มีคณะทำงานติดตามการทำงาน ในระดับส่วนกลางและระดับจังหวัด โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงาน  ขบวนองค์กรชุมชน และผู้แทนพื้นที่ดำเนินการ

************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต