หลายท่านอาจไม่ทราบว่า นอกจากภารกิจด้านการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายและการให้ความเห็นทางกฎหมายแล้ว สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกายังมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาคุณภาพกฎหมายของประเทศด้วยการขับเคลื่อนการนำแนวปฏิบัติด้านกฎหมายที่ดี (Good Regulatory Practices หรือ GRP) มาปรับใช้กับระบบกฎหมายของประเทศไทย
หนึ่งในแนวปฏิบัติ GRP สำคัญที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (หรือที่รู้จักกันในนาม “OECD”) แนะนำให้นานาประเทศยึดถือคือ การสร้างกลไกหรือการมีหน่วยงานกลางที่มีบทบาทการเป็น “ผู้คุมกฎ” หรือ “Oversight Body” ซึ่งสำนักงานฯ ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ดังกล่าวในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 กล่าวคือ เป็นหน่วยงานกำหนดขั้นตอนและวิธีการ รวมทั้งตรวจสอบการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย รับฟังความคิดเห็นผู้ที่เกี่ยวข้อง และประเมินผลการบังคับใช้กฎหมายที่จัดทำโดยหน่วยงานของรัฐที่ต้องการเสนอร่างกฎหมายใหม่หรือแก้ไขตัวบทกฎหมายที่มีอยู่เดิม เพื่อให้กฎหมายที่บังคับใช้อยู่แก่ประชาชนคนไทยไม่เป็นภาระหรืออุปสรรคต่อการดำรงชีวิตเกินสมควรและเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศในระดับนานาชาติ
ในบทบาทการเป็น “Oversight Body” ทางกฎหมายดังกล่าว ทำให้สำนักงานฯ ต้องทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะ OECD เพื่อปรับปรุงแนวปฏิบัติในเรื่องนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยในปัจจุบัน สำนักงานฯ มีความร่วมมือในการจัดทำบทประเมินคุณภาพกฎหมายไทย (Regulatory Policy Review) ร่วมกับ OECD ตามมาตรฐานของประเทศสมาชิก OECD ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและ OECD (Country Programme) ระยะที่สอง นอกจากนั้น ยังมีความร่วมมือในการปรับปรุงแก้ไขแนวทางการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย (หรือที่ในวงการรู้จักกันในนามรายงาน RIA (Regulatory Impact Assessment)) เพื่อลดภาระของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่เสนอกฎหมายโดยการกำหนดความเข้มข้นของการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมายให้สอดคล้องกับผลกระทบของกฎหมายต่อประชาชนและสังคมในวงกว้าง ซึ่งภารกิจดังกล่าวคาดว่าจะสำเร็จลุล่วงภายในปลายปี 2567 ที่จะถึงนี้
แม้ว่าการพัฒนากฎหมายจะดูเหมือนเป็นเรื่องภายในเฉพาะของแต่ละประเทศ แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับมีบทบาททั้งในทางการเจรจาข้อตกลงระหว่างประเทศที่เป็น “hard power” ที่ประเทศคู่เจรจาต้องปฏิบัติตาม และในการสร้างการยอมรับและผูกมิตรไมตรีกับประเทศต่าง ๆ หรือ “soft power” ด้วย สำหรับบทบาทในลักษณะ hard power นั้น จะเห็นได้ชัดเจนจากการเจรจาในกรอบความร่วมมือเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework หรือ IPEF) ที่กำหนดให้การพัฒนากฎหมายเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญสำหรับประเทศที่สนใจเข้าร่วมในกรอบเศรษฐกิจดังกล่าวต้องร่วมกันตกลงและปฏิบัติตาม ในเรื่องนี้มีเจ้าหน้าที่สำนักงานฯ เข้าร่วมเป็นคณะผู้แทนหน่วยงานไทยในการเข้าร่วมเจรจาเพื่อให้การยกร่างความตกลงสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนากฎหมายที่ไทยกำลังดำเนินการอยู่ข้างต้น
นอกจากนั้น การพัฒนากฎหมายยังมีส่วนในการสร้าง soft power ให้แก่ประเทศไทยในฐานะผู้นำในภูมิภาคด้านการพัฒนากฎหมายให้เป็นไปตามหลักสากล สำนักงานฯ ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้เป็นหน่วยงานหลักเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสำเร็จ และบทเรียนที่ได้จากการพัฒนากฎหมายผ่านเครือข่ายการมีกฎหมายที่ดีของภูมิภาคอาเซียนและประเทศสมาชิก OECD หรือที่เรียกว่า ASEAN-OECD Good Regulatory Practice Network (GRPN) ซึ่งสำนักงานฯ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเครือข่ายดังกล่าวมาแล้วเมื่อการประชุมครั้งที่ 5 ในปี 2562 และจะได้รับเชิญเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งที่ 8 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ที่จะถึงนี้ การได้รับเชิญให้มีส่วนร่วมในฐานะเจ้าภาพและบอร์ดบริหารเครือข่าย แสดงให้เห็นว่า ประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิก OECD ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ให้การยอมรับความเป็นผู้นำในเรื่องนี้ของประเทศไทย
Soft power ทางกฎหมายอาจจะเป็นเรื่องใหม่ที่หลายคนไม่เคยได้ยิน แต่จะกลายเป็นพลังเงียบที่ช่วยเสริมสร้างอำนาจทางการต่อรองทางการค้าและเศรษฐกิจต่อไปในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
๙๑ ปี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา “พัฒนากฎหมายที่ดี เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรา “พระราชบัญญัติเคาน์ซิลออฟสเตด คือ ที่ปฤกษาราชการแผ่นดิน” ขึ้น เพื่อเป็นองค์กรถวายคำปรึกษาแก่พระองค์ในการบริหารราชการแผ่นดิน
“สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา Better Regulation for Better Life : โอกาสและความท้าทายในยุคเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)”
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของประชาชนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กับบทบาทในเวทีการประชุม APEC Good Regulatory Practice Conference ครั้งที่ 17
Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ APEC เป็นการประชุมความร่วมมือของเขตเศรษฐกิจซึ่งจัดขึ้นในทุกปี มีเนื้อหาครอบคลุมเกือบทุกมิติในทางความร่วมมือทางเศรษฐกิจ
ความเห็นของคณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยที่น่าสนใจ เรื่อง การแจ้งคำสั่งปรับเป็นพินัย กรณีผู้กระทำความผิดปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ของรัฐและยินยอมชำระค่าปรับเป็นพินัย
ตั้งแต่พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ๒๕๖๕ มีผลใช้บังคับ คณะกรรมการว่าด้วยการปรับเป็นพินัยซึ่งมีหน้าที่ให้คำแนะนำและคำปรึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัยฯ
บทบาทภารกิจของกองกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
กองกฎหมายต่างประเทศเป็นหน่วยงานภายในสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ดำเนินภารกิจภายใต้วิสัยทัศน์ Better Regulation for Better Life
ภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในการยกเลิกกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น
กฎหมายคือเครื่องมือของรัฐในการกำหนดกฎเกณฑ์และแนวทางในการอยู่ร่วมกันของบุคคลในสังคม เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยภายในสังคม