‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม.ร่วมงาน ‘23 ปี พอช.’ “ชุมชนเข้มแข็งจากฐานราก...สู่ความมั่นคงของมนุษย์ที่ยั่งยืน”

นายวราวุธ รมว.พม.  ผู้บริหาร พอช. ผู้แทนหน่วยงานภาคี  และผู้แทนชุมชนที่มาร่วมงาน 23 ปี พอช.

พอช. / ‘วราวุธ  ศิลปอาชา’  รมว.พม. ร่วมงาน ‘23 ปี พอช.’ และปาฐกถาหัวข้อ “ชุมชนเข้มแข็งจากฐานราก...สู่ความมั่นคงของมนุษย์ที่ยั่งยืน” ย้ำต้องสร้างครอบครัว-ชุมชน-สังคมให้เข้มแข็ง  โดยกระทรวง พม.ต้องมีความเป็นหนึ่งเดียวและทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นทั้งรัฐและเอกชน  ด้าน พอช.ก้าวสู่ปีที่ 24 พร้อมเดินหน้าสู่เป้าหมายภายในปี 2579 “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ.2543 ปัจจุบัน พอช. ดำเนินงานครบ 23 ปี

วราวุธ รมว.พม.ร่วมงาน 23 ปี พอช. 

โดยวันนี้ (26 ตุลาคม) ที่สำนักงาน พอช. ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการจัดงาน ‘23 ปี พอช.’ โดยมีนายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายนิกร  จำนงที่ปรึกษา รมว.   นายกันตพงศ์  รังสีสว่าง  รองปลัดกระทรวง พม.  นางปรีดา  คงแป้น  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ  พลเอกสุรินทร์  พิกุลทอง อดีตประธานกรรมการ พอช. นายทวีพงษ์  วิชัยดิษฐ์  ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ  ผู้แทนหน่วยงานภาคี  ผู้แทนเครือข่ายองค์กรชุมชนทั่วประเทศ บริษัททิพยประกันภัย   บริษัท Royce Universal ฯลฯ  เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช. เข้าร่วมงานประมาณ 400 คน

นายวราวุธ  รมว.พม. เยี่ยมชมนิทรรศการ โดยมีนายกอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการ พอช. (ซ้าย) และนายกฤษดา สมประสงค์  ผอ.พอช. (ขวา) ร่วมอธิบาย

นายกอบศักดิ์  ภูตระกูล  ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวเปิดงาน  มีใจความสำคัญว่า   พอช.จัดตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลพี่น้องประชาชน มีองค์กรที่เข้มแข็ง  มีโครงการบ้านมั่นคง  สวัสดิการชุมชน  ป่าชุมชน การพัฒนาศูนย์เด็กเล็ก  เป็นต้น

“หัวใจที่สำคัญคือ เป็นโครงการที่ตั้งใจให้พี่น้องลุกขึ้นมาโดยไม่รอใคร ผมเห็นว่าทำได้ เห็นพี่น้องชุมชนทำได้ ผมเจอครูชบ (ชบ  ยอดแก้ว อดีตผู้ก่อตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์  จ.สงขลา) บอกว่าชาวบ้านเก็บออมไม่ได้ ซื้อหวย ซื้อเหล้า แต่การทำกองทุนฯ  เก็บเงินได้ 20-30 ล้านบาท  เช่น  ที่ จ.ตราด  พระอาจารย์สุบิน (เครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์   จ.ตราด) เก็บเงินได้ 2 พันล้านบาท  จุดเริ่มต้นการสร้างที่อยู่อาศัย ความมั่นคงของชีวิต ผมมั่นใจว่าภายใต้การนำของท่านรัฐมนตรีจะช่วยหนุนงานของ พอช.ให้ไปได้”  นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  พอช.ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 25 43 โดยอาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม  ผู้ก่อตั้ง  และคณะรัฐบาลในขณะนั้นเชื่อว่าชุมชนสามารถเข้มแข็งได้ การสร้างบ้าน เริ่มจากนายอนุรักษ์ จุรีมาศ   รมว.พม. (ในขณะนั้น) ผลักดันโครงการบ้านมั่นคง แตกออกเป็นบ้านพอเพียง บ้านริมคลอง บ้านสำหรับผู้ยากไร้  ผู้ประสบภัยพิบัติ  บ้านเช่าราคาถูกตามนโยบายรัฐมนตรีวราวุธ  เป็นที่อยู่อาศัยให้ผู้ที่ตั้งตัว

กองทุนสวัสดิการชุมชนมีสมาชิก 8 ล้านคนทั่วประเทศ เป็นเงินของประชาชน 14,000  ล้านบาท มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชน 7,792 สภาฯ  มีสมาชิก 15,900 องค์กรทั่วประเทศ  ภาคีของเรา  มีกระทรวงการคลัง มหาดไทย ทรัพยากรฯ  สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์  ฯลฯ  ที่สนับสนุนที่ดินให้พี่น้องได้อยู่

“พอช. จะเดินไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนอยู่ที่พี่น้องขบวนองค์กรชุมชนและภาคประชาสังคม”  นายกฤษดา ผอ.พอช. กล่าว

นายวราวุธ  รมว.พม.กล่าวปาฐกถา 

“สร้างครอบครัว-ชุมชน-สังคมเข้มแข็ง” โดย พม.เป็นหนึ่งเดียว 

นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.  กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “ชุมชนเข้มแข็งจากฐานราก   สู่ความมั่นคงของมนุษย์ที่ยั่งยืน”  มีใจความสำคัญว่า สังคมไทยวันนี้เผชิญกับความท้าทายมากมาย สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การมาดูถึงความเข้มแข็งของรากฐานประเทศของเรา ได้เห็นการทำงานของ พอช. การสร้างบ้าน การซ่อมแซมที่อยู่อาศัย

“สิ่งเหล่านี้เป็นของนอกกาย แต่ความสำคัญของชุมชนคือครอบครัว ปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน ในการทำงานของผม เราจะคืนลูกหลานให้ครอบครัว คืนครอบครัวให้ชุมชน คืนชุมชนให้สังคมไทย ชุมชนจะเข้มแข็งต้องย่อยให้ลึก ถึงเส้นด้ายที่เล็กที่สุดคือความสัมพันธ์ของคนในบ้าน เราอยู่กันมาแบบโอบอ้อมอารี กาลเวลาเปลี่ยน ทำให้เราเหมือนสังคมโลก สังคมก้มหน้า นั่งกินข้าวด้วยกันแต่ต่างคนเล่นมือถือ อิ่มแล้วแยกย้ายกันไป”  รมว.พม.กล่าวถึงสภาพสังคมไทยยุคปัจจุบัน

นายวราวุธ   รมว.พม. ปาฐกถาโดยมีล่ามภาษามือถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กไลฟ์

รมว.พม.กล่าวต่อไปว่า  เชือกจะเป็นเส้นใหญ่ได้จะต้องมาจากเส้นเล็กๆ เราต้องไปทำให้เชือกเส้นเล็กๆ มีความเข้มแข็งใหม่  การทำให้ครอบครัวแข็งแรงไม่ง่าย  การที่หน่วยราชการ พอช. ทำความเข้าใจให้ความรู้ ความตระหนักของสถาบันครอบครัวเพื่อสร้างมาเป็นชุมชนไม่ง่าย แต่ขอฝากเป็นการบ้านให้ประธาน ผู้บริหาร พอช.ว่าเราจะทำอย่างไรให้คืนจิตวิญญาณให้ทั่วประเทศ เพราะวันนี้สังคมเราเปราะบางมาก

“วันนี้ดีใจที่ได้มาทำงานกับ พอช. ป่าชุมชนจะให้พี่น้องช่วยกันดูแลอย่างไร ?  สร้างความตระหนักรับรู้อย่างไร ?เรื่องโลกเปลี่ยน ภูมิอากาศเปลี่ยน ร้อน แล้ง น้ำท่วม จะปรับอย่างไร ? ให้พี่น้องชุมชนเข้าใจ  เพราะถ้าปรับตัวไม่ได้ปัญหาต่างๆ จะตามมามากมาย เรื่องที่อยู่อาศัยสำคัญที่สุด แต่สิ่งที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันคือการสร้างจิตวิญญาณแต่ละสังคมขึ้นมา ถ้าเรามีสังคมเข้มแข็ง มีครอบครัวที่พ่อแม่ลูกพูดคุยกันจริงๆ กินข้าวด้วยกัน มองหน้ากัน  ถามว่าวันนี้เป็นอะไร  ทำอะไรมา สิ่งนี้สำคัญในการสร้างพื้นฐานครอบครัวชุมชน”  รมว.พม.กล่าว

รมว.พม.กล่าวด้วยว่า  พอช. 23 ปี  มีอะไรเปลี่ยนไปมากมาย  แต่จากนี้ไปจะท้าทายมากกว่า 23 ปีที่ผ่านมา ต้องก้าวให้ทันสังคมโลก ทำอย่างไรให้ชุมชนเรารู้จักคาร์บอนเครดิต น้ำท่วม  น้ำแล้ง เอลนีโญ ลานีญา  คืออะไร ?  กระทบอย่างไร ?  ต้องทำให้พี่น้องตระหนักและรับรู้

นอกจากนี้ต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ พอช. - พม.ทำงานคนเดียวไม่ได้ เราต้องทำร่วมกับหลายกระทรวง เอกชน และรัฐ  แต่เราต้องทำในกระทรวงของเราให้ได้ก่อน  ก่อนจะไปประสานกับกระทรวงอื่น เราต้องยืดมั่นว่า พม.หนึ่งเดียว  และจะขับเคลื่อนกันไปอย่างไร ?  และตนขอให้คำมั่นว่าจะใช้เวลาทุกวินาทีที่ได้ทำงานใน พม. ทำงานให้ทุกครอบครัวมีความเข้มแข็ง

“ผมเองไม่ได้เรียนทางชุมชน  ผมเรียนทางวิศวกร  วันนี้จะเป็นวิศวกรสังคมจะมาซ่อม สนับสนุนการทำงาน  เอาจิ๊กซอว์ต่างๆ มารวมเข้าด้วยกัน พวกเราจะเป็นกำแพงให้พี่น้องประชาชน  ปกป้องสิทธิต่างๆ  สุดท้ายนี้การก้าวเข้าสู่ปีที่ 24 มีไฟมีแรง ขอเป็นกำลังใจให้ทุกๆ ท่าน หวังจะได้เห็นความก้าวหน้า มีสุขของพี่น้องทุกชุมชน  ด้วยการทำงานของพวกเรา  กระทรวง พม.หนึ่งเดียว”  นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.พม. กล่าวทิ้งท้าย

รมว.พม.ถ่ายรูปกับผู้บริหารหน่วยงานรัฐและเอกชนที่มาร่วมงาน  พร้อมทั้งเจ้าหน้าที่ พอช.ที่ได้รับรางวัล ‘คนดีศรี พอช.’

ย้อนเส้นทาง 23 ปี พอช...สู่ปี 2579 “ชุมชนเข้มแข็งเต็มแผ่นดิน”

ในเดือนกรกฎาคม 2543  มี ‘พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)’ โดยโอนภารกิจของสำนักงานพัฒนาชุมชนเมือง (พชม.) และสำนักงานกองทุนพัฒนาชนบทเข้าด้วยกัน   ต่อมาในวันที่  26  ตุลาคม 2543  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ  โดยในช่วงแรก พอช. สังกัดกระทรวงการคลัง  ต่อมาเปลี่ยนมาสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จนถึงปัจจุบัน 

พอช. เป็นหน่วยงานรัฐรูปแบบ ‘องค์การมหาชน’  โดยมี ‘พ.ร.บ. องค์การมหาชน พ.ศ. 2542’ รองรับ  (ปัจจุบันมีองค์การมหาชนรวม 45 แห่ง) ทำหน้าที่ให้บริการสาธารณะหรือพัฒนาด้านต่างๆ  เพื่อการบริหารงานที่คล่องตัวแตกต่างจากส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ 

พอช. มีภารกิจต่างๆ ดังนี้  คือ 1.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ  การพัฒนาอาชีพ  การเพิ่มรายได้  การพัฒนาที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อม  และการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุมชนทั้งในเมืองและชนบท  โดยยึดหลักการพัฒนาแบบองค์รวมหรือบูรณาการ  และหลักการพัฒนาที่สมาชิกชุมชนมีส่วนร่วมเป็นแนวทางสําคัญ   เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนและประชาสังคม

2.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน  3.สนับสนุนและให้การช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาองค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชน   ตลอดจนประสานงานการสนับสนุนและให้การช่วยเหลือดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน   และ 4. ส่งเสริมและสนับสนุนและสร้างความร่วมมือขององค์กรชุมชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่น  จังหวัด  และระดับประเทศ

ส่วนโครงการที่ พอช. ดำเนินการสนับสนุนองค์กรชุมชน  เช่น  ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อย   โครงการบ้านมั่นคงทั้งในเมืองและชนบท  โครงการบ้านพอเพียง  โครงการพัฒนาชุมชนริมคลองลาดพร้าว-คลองเปรมประชากร   คลองแม่ข่า จ.เชียงใหม่  (กำลังจะเริ่ม)

การพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนเมืองและชนบท  การพัฒนาเศรษฐกิจและทุนชุมชน  การจัดสวัสดิการชุมชน  ส่งเสริมการจัดตั้งและพัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชนตำบล  การดูแลสิ่งแวดล้อม  การป้องกันและจัดการภัยพิบัติ  ฯลฯ

ผู้แทน พอช. รับรางวัลเลิศรัฐปี 2566 (แถวยืนที่ 9 จากซ้าย) จากคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) โดย พอช.ได้รางวัลประเภทการบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ‘ระดับดี’  ประเภท ‘ร่วมใจแก้จน’  จากผลงานการสนับสนุนการพัฒนา ‘บ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ’  อ.ชุมแพ  จ.ขอนแก่น  ทำให้ชาวบ้านที่มีรายได้น้อยมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง 13 ชุมชน  รวม 1,052 ครอบครัว

แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยแล้วเกือบ 270,000 ครัวเรือน

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อย  ถือเป็นผลงานสำคัญด้านหนึ่งของ พอช.  โดยเฉพาะ ‘โครงการบ้านมั่นคง’ ทำให้ชาวชุมชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  เปลี่ยนจากชุมชนบุกรุกที่ดิน  เป็นชุมชนเช่าหรือซื้อที่ดินปลูกสร้างบ้านอย่างถูกกฎหมาย  หรือปรับปรุงซ่อม  สร้างบ้านใหม่ในที่ดินเดิม  โดย พอช. สนับสนุนให้ชาวชุมชนที่มีความเดือดร้อนรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา

นับแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน พอช. สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ  ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตไปแล้ว  รวมกว่า 3,000 โครงการ  จำนวน  269,524 ครัวเรือน  (บ้านมั่นคง  132,557 ครัวเรือน  บ้านพอเพียง 129,434 ครัวเรือน  กรณีไฟไหม้ไล่รื้อ 7,533 ครัวเรือน  ฯลฯ)

บ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากร  กรุงเทพฯ  ทำให้ชุมชนเดิมที่เคยบุกรุกที่ดินราชพัสดุริมคลองได้เช่าที่ดินและปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยถูกกฎหมาย  มีบ้านใหม่ที่สวยงาม  สภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม  ขณะนี้ก่อสร้างแล้วใน 17 ชุมชน  จำนวน 1,500 ครัวเรือน  จากเป้าหมายทั้งหมด 38 ชุมชน  รวม 6,386 หลัง  ส่วนคลองลาดพร้าว  สร้างบ้านเสร็จแล้วประมาณ 3,500 ครัวเรือนใน 35 ชุมชน

นอกจากนี้ พอช. ยังมีโครงการส่งเสริมการจัดตั้ง ‘กองทุนสวัสดิการชุมชน’  เพื่อเป็นกองทุนสำหรับชาวชุมชนช่วยเหลือดูแลกันตามข้อตกลง  เช่น  เจ็บไข้ได้ป่วย  เสียชีวิต ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส  ส่งเสริมการประกอบอาชีพ  ฯลฯ

ปัจจุบันมีกองทุนสวัสดิการชุมชนทั่วประเทศมากกว่า 5,900 กองทุน  สมาชิกประมาณ 8 ล้านคน  มีเงินสะสมรวมกันประมาณ 20,000 ล้านบาท  เป็นเงินของพี่น้องประชาชนประมาณ 14,000 ล้านบาท หรือประมาณ 75 เปอร์เซ็นต์  ส่วนเงินที่รัฐบาลสมทบมีประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์

การส่งเสริมการจัดตั้ง ‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ ตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551 เพื่อเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น  รวมทั้งนำข้อเสนอจากภาคประชาชนผ่านเวทีสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัดสู่การแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย  ปัจจุบันมีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล  เทศบาล  และระดับเขต (ในกรุงเทพฯ) รวมทั้งหมด 7,792  พื้นที่/แห่ง

นอกจากนี้ พอช.ยังสนับสนุนให้สภาองค์กรชุมชนตำบลมีบทบาทในการส่งเสริมให้ประชาชนและองค์กรชุมชนร่วมกันป้องกันและต่อต้านการทุจริตตามแผนการปฏิรูปประเทศ  โดยขณะนี้เกิดเครือข่ายภาคประชาชนในการป้องกันและต่อต้านการทุจริตแล้วในพื้นที่ 383 ตำบล  ใน 33 จังหวัด

ชาวชุมชนตำบลเสวียด  อ.ท่าฉาง  จ.สุราษฎร์ธานี  1 ในป่าชุมชนนำร่อง  15 แห่ง  ร่วมกันดูแลป่าชุมชนเนื้อที่หลายร้อยไร่

โครงการส่งเสริม ‘ป่าชุมชนและฝายมีชีวิต’ เริ่มดำเนินการในปีนี้  โดย พอช.ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่งเสริมให้ชุมชนบริหารจัดการ  ดูแลป่าชุมชน  สร้างแหล่งน้ำ  สร้างเศรษฐกิจ อาชีพ  รายได้จากฐานทรัพยากรป่าชุมชน  นำร่อง 15 แห่งทั่วประเทศ

‘การสร้างชุมชนเข้มแข็งผ่านการพัฒนาคน  โดยใช้ศูนย์เด็กเล็กในชุมชนเป็นฐานการพัฒนา’ เริ่มดำเนินการในปีนี้  นำร่อง 60 แห่งทั่วประเทศ  โดย พอช. สนับสนุนให้ชุมชน  องค์กรปกครองท้องถิ่น  เช่น  อบต. และภาคเอกชน  ร่วมกันพัฒนาการจัดการเรียนสอน  เริ่มตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็ก  ช่วงอายุระหว่าง 3-6 ขวบ  เพื่อให้เด็กๆ เติบโตเป็นเยาวชนที่มีคุณภาพ  และเป็นผู้ใหญ่  เป็นผู้นำชุมชนที่จะเป็นพลังสำคัญในการสร้างชุมชนและสังคมเข้มแข็งต่อไป..!!

นี่คือตัวอย่างบทบาทของ พอช.ตลอดช่วง 23 ปีที่ผ่านมา  และเตรียมก้าวย่างสู่ปีที่ 24  โดยมีวิสัยทัศน์ ภายในปี 2579 “ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งเต็มพื้นที่ประเทศไทย”  โดยยึดหลัก “องค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก  และพื้นที่เป็นตัวตั้งในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น” (ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์และเพจสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ codi.or.th)

ผู้ร่วมงานทำสัญลักษณ์ที่อยู่อาศัย ‘บ้าน’ ภารกิจสำคัญด้านหนึ่งของ พอช.

*****************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เครือข่ายพัฒนาที่อยู่อาศัย 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ผนึกพลังทุกภาคส่วนสร้างบ้านเพื่อทุกคน เสนอรัฐหนุนเสริมบ้านโดยชุมชน ปลดล๊อกสิทธิที่ดินและระบบการเงิน สู่ความยั่งยืนมั่นคง

กทม. : วันที่ 4 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนจาก 17 ประเทศในระดับเอเชียและนานาประเทศ ร่วมเสนอแนวทางการการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ

ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน เปิดวงแลกเปลี่ยนบทเรียนการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนในระดับเอเชียและนานาประเทศ

วันที่ 2-3 กรกฎาคม 2567 ภาคีขับเคลื่อนและพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยชุมชน หน่วยงานภาครัฐและท้องถิ่น ภาคธุรกิจเอกชน ประชาสังคม นักวิชาการ สถาบันการศึกษา ผู้ทรงคุณวุฒิ

'วราวุธ' แจงเหตุแต่งตั้งโยกย้ายล็อตใหญ่ 5 อธิบดี กระทรวง พม.

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมครม.สัญจร ถึงการโยกย้ายอธิบดี 5 กรม ว่า ที่ประชุมครม.เห็นชอบการโยกย้าย

วราวุธ รมว.พม. เยี่ยมบ้านมั่นคงเมืองย่าโม ย้ำนอกจากมีบ้านแล้วต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีทุกครัวเรือน

วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการบ้านมั่นคง