ผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาคร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การทำงานบ้านมั่นคงแนวใหม่
พอช. / ครบรอบ ‘บ้านมั่นคง 20 ปี’ เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาคร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การทำงานแนวใหม่ โดยเครือข่ายบ้านมั่นคงเป็นแกนหลัก เป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนและเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ดิน ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิตทุกมิติ ทั้งเชิงพื้นที่และประเด็นงานอย่างเป็นขบวนการ เช่น ชุมชนริมคลอง ชุมชนชายฝั่ง ชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ พื้นที่ในเขตป่า ลุ่มน้ำ ฯลฯ
‘20 ปีบ้านมั่นคง’แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยแล้วเกือบ 270,000 ครัวเรือน
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มีภารกิจสำคัญประการหนึ่ง คือการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศ โดยยึดหลักให้ชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลัก พอช.และภาคีเครือข่ายมีบทบาทเป็นฝ่ายสนับสนุน มีโครงการที่สำคัญคือ ‘บ้านมั่นคง’ เริ่มดำเนินการในปี 2546 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 20 ปี สามารถแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศแล้ว รวมกว่า 3,000 โครงการ จำนวน 269,524 ครัวเรือน
เนื่องในวาระการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงครบ 20 ปี ระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคมนี้ เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกันจัดงาน ‘รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์ เขตบางกะปิ กรุงเทพฯ โดยมีผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช. เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน
ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ การนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทตลอดช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน การสรุปบทเรียนการทำงาน การระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทิศทางการทำงานแนวใหม่ การแสดงวัฒนธรรมของเครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค ฯลฯ
พิธีบายศรีสู่ขวัญเมื่อค่ำวันที่ 24 ตุลาคม
ทิศทางการทำงานที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงแนวใหม่
โดยในวันนี้ (25 ตุลาคม) มีการเสวนาแลกเปลี่ยนระหว่างผู้บริหารสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่งคง 5 ภาค เพื่อออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และทิศทางการทำงานบ้านมั่นคงแนวใหม่ โดยมีผู้บริหารสถาบันฯ เช่น นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาสถาบันฯ และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันฯ ร่วมงาน
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา ที่ปรึกษาคณะกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ และประธานคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคงและที่ดิน กล่าวถึงทิศทางการทำงานด้านที่อยู่อาศัยแนวใหม่ มีสาระสำคัญว่า การทำงานด้านที่อยู่อาศัยต้องคิดการณ์ใหม่ คือ คนในพื้นที่และชุมชนต้องลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของโครงการ ต้องตื่น ต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย ต้องมีพันธมิตรมาช่วยเหลือกัน เชื่อมโยงกับท้องถิ่น เช่น เทศบาล ต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งเมือง เพราะโครงการที่โดดเดี่ยวจะเกิดปัญหาได้ง่าย
นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา
ตัวอย่างที่จังหวัดนครสวรรค์ ชุมชนในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ที่มีปัญหาที่อยู่อาศัยลุกขึ้นมาแก้ปัญหา เชื่อมโยงหน่วยงานในท้องถิ่น เช่น เทศบาลนครนครสวรรค์ ธนารักษ์ ที่ดิน ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ มีการจัดตั้ง ‘คณะกรรมการเมือง’ ขึ้นมาเป็นกลไกในการแก้ไขปัญหา โดย พอช. ร่วมสนับสนุน ปัจจุบันแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยแล้วกว่า 60 ชุมชน ประมาณ 3,600 ครัวเรือน
“โครงการบ้านมั่นคงต้องอยู่ในแสงสว่าง ต้องทำให้ทุกคนภาคภูมิใจ ต้องเปิดพื้นที่ วางแผน วางจังหวะก้าวร่วมกับหน่วยงานภาคีพัฒนา เมืองทุกเมือง จังหวัดทุกจังหวัด ต้องทำแผนที่อยู่อาศัยอย่างน้อย 3 ปี ทำให้เห็นว่าไม่ได้มีแค่แผนงบประมาณ (แผนระดับเมือง-จังหวัด) ต้องมีฐานข้อมูลแต่ละเขต ท้องถิ่น โดยการสำรวจข้อมูล (ระบบโคครีเอท-Co Create Thailand) ต้องให้ชุมชนเป็นเจ้าภาพ โดยเครือข่ายเมือง/จังหวัด/ภาค ต้องลุกขึ้นมาขับเคลื่อนและเป็นพี่เลี้ยง” นางสาวสมสุขกล่าว
บ้านมั่นคงชุมชนสวรรค์เมืองใหม่ ในเขตเทศบาลนครนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ชุมชนเช่าที่ดิน 16 ไร่เศษจากธนารักษ์จังหวัด 30 ปี สร้างบ้านเสร็จและเข้าอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2561รวม 102 ครัวเรือน โดยเทศบาล หน่วยงานท้องถิ่น พอช.ร่วมสนับสนุน นอกจากนี้ชุมชนยังร่วมกับเครือข่ายบ้านมั่นคงทำเรื่องกองทุนสวัสดิการชุมชน ส่งเสริมเรื่องอาชีพ รายได้ พัฒนาคุณภาพชีวิต ฯลฯ
นอกจากนี้จะต้องออกแบบวิธีการทำงาน โดยให้ชุมชนที่มีปัญหาเป็นผู้ขับเคลื่อนอย่างมีเป้าหมาย มีผลต่อการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนระบบ (ราชการ ที่ดิน สาธารณูปโภค กฎกติกา การพัฒนาคุณภาพชีวิต) เปลี่ยนแนวทาง
ต้องสร้างทุน 2 ชั้น คือ มีระบบการออมทรัพย์ มีกองทุนระดับชุมชน ระดับเมือง มีระบบสวัสดิการทั้งระดับชุมชนและเมือง ต้องมีทีมประสานงานแต่ละด้าน เป็นเครือข่ายที่มีโครงสร้างการกระจายอำนาจ สร้างระบบกลุ่มย่อย ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่วนโครงการบ้านมั่นคงที่ยังไม่แล้วเสร็จต้องฟื้นฟูระบบความมั่นใจ หาวิธีการแก้ไขปัญหา
ต้องสร้างกลไกบ้านมั่นคงที่สำคัญ คือ “คณะกรรมการเครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัด” (กรุงเทพฯ เป็นคณะกรรมการระดับเขต) เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั้งจังหวัด นอกจากนี้คณะกรรมการเครือข่ายบ้านมั่นคงจังหวัดสามารถเชื่อมโยงการทำงานกับเครือข่ายต่างๆ ได้ เช่น เครือข่ายกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นต้น
“โครงการบ้านมั่นคง ไม่ได้สร้างบ้าน ได้บ้านแล้วจบ แต่ควรจะนำไปสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป เช่น เรื่องการพัฒนาเด็ก กองทุนสวัสดิการ พัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไป” นางสาวสมสุขกล่าวทิ้งท้าย
บทบาทการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโดยเครือข่ายบ้านมั่นคงเป็นแกนหลัก
นอกจากนี้ผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่น 5 ภาค ได้ระดมสมองแลกเปลี่ยนและออกแบบแนวทางการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยร่วมกับ พอช. เพื่อให้เห็นทิศทางการทางานแนวใหม่ โดยเครือข่ายบ้านมั่นคงเป็นแกนหลัก โดยผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคงเสนอความเห็นในประเด็นต่างๆ เช่น
ทิศทางการทำงาน ที่อยู่อาศัยเป็นของทุกคน ผู้เดือดร้อนเป็นผู้แก้ปัญหาของตนเอง จัดทำแผนการแก้ไขปัญหาทั้งระบบ (ชุมชน เมือง จังหวัด) พัฒนาคน เพิ่มองค์ความรู้ สร้างการทำงานร่วมระดับเมือง สร้างเครือข่ายที่อยู่อาศัยระดับชุมชนเมืองที่เป็นจริง สร้างคนรุ่นใหม่ในการทำงาน ฯลฯ
การปรับโครงสร้างการทำงานระดับจังหวัด ต้องมีการสำรวจข้อมูลชุมชน สภาพปัญหา ความเดือดร้อนต่างๆ เพื่อนำมาสู่การวางแผนพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องบ้านหรือที่อยู่อาศัย เช่น เรื่องหนี้สิน อาชีพ รายได้ ฯลฯ และนำข้อมูลมาเผยแพร่ สร้างการรับรู้ร่วมกัน มีกลไกระดับจังหวัด “เครือข่ายบ้านมั่นคงระดับจังหวัด” มีการทำแผนงานเรื่องที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน เช่น เรื่องการขอใช้ที่ดินจากหน่วยงานรัฐเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย การเชื่อมโยงงบประมาณมาสนับสนุนชุมชน แผนการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับชุมชนและตำบล
ระดับกลุ่มจังหวัด รวบรวมปัญหาจากระดับจังหวัด วิเคราะห์ จำแนก และวางแผนทิศทางการทำงาน การผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย ผู้แทนกลุ่มจังหวัดต้องมาจากทุกจังหวัด ทุกประเด็นงาน ฯลฯ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวให้ความเห็นเพิ่มเติมการทำงานบ้านมั่นคงแนวใหม่ มีใจความสำคัญว่า 1.จะต้องทำงานทางกว้าง คือ การขยายพื้นที่ทำงานบ้านมั่นคง
ออกไปอีก กระจายการทำงานไปทั่วประเทศ เพราะในประเทศไทยยังมีคนเดือดร้อนเรื่องบ้าน เรื่องที่อยู่อาศัยอีกมากมาย โดยใช้โครงการบ้านมั่นคงนำไปขยายผล เป็นต้นแบบ ขยายจากร้อยเป็นพัน ฯลฯ
2.การทำงานเชิงลึก นอกจากทำเรื่องบ้านให้ขยายออกไปแล้ว ยังสามารถทำเรื่องสวัสดิการชุมชน ทำเรื่องการออมทรัพย์ ทำเรื่องการพัฒนาคนโดยใช้ศูนย์เด็กเล็กเป็นฐาน (ขณะนี้ พอช.มีพื้นที่นำร่อง 60 ศูนย์ทั่วประเทศ) ทำเรื่องผู้สูงอายุ ทำเรื่องนักบริบาลชุมชน เรื่องสุขภาพชุมชน เพราะถ้าไม่ทำจะมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพมาก นอกจากนี้ยังทำเรื่องป่าชุมชน (พอช.มีพื้นที่นำร่องป่าชุมชน 15 แห่งทั่วประเทศ เป้าหมายเพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม สร้างแหล่งน้ำ สร้างเศรษฐกิจชุมชนจากป่า) เรื่องเศรษฐกิจชุมชน การค้าชุมชน สินค้าชุมชน
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล
ร่วมประกาศเจตนารมณ์บริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่
ในช่วงท้ายของการจัดงาน ‘20 ปีบ้านมั่นคง’ ผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคงทั้ง 5 ภาคได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์การแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย จำนวน 10 ข้อ มีเนื้อหาว่า...
“เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองและชนบท เครือข่ายประชาสังคม ซึ่งร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และคุณภาพชีวิตในชุมชนเมืองและชนบท ขอร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ต่อการบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่ โดยเราจะร่วมกัน
1.สร้างและยกระดับการพัฒนาองค์กรชุมชน เครือข่ายองค์กรชุมชน ให้มีความเข้มแข็ง สมดุล มีกระบวนการการมีส่วนร่วมของสมาชิก
2.สำรวจข้อมูลชุมชนทั้งเมือง ตำบลทุกเรื่อง และยกระดับการจัดระบบฐานข้อมูลสู่การวางแผน วางผังการพัฒนาทุกมิติ โดยใช้เครื่องมือ CO CREATE THAILAND
3.ฟื้นฟูและจัดตั้งกองทุนชุมชน เมือง ตำบล โดยส่งเสริมการเงินครัวเรือน ยกระดับให้เป็นสถาบันการเงินของชุมชนที่เข้มแข็ง สร้างชุมชนสวัสดิการเพื่อการอยู่ร่วมกัน
4.ใช้กองทุนรักษาดิน รักษาบ้าน เป็นต้นทุนประสานกับหน่วยงาน ให้เข้ามาดูแลตามภารกิจของหน่วยงาน และสมทบร่วมกับกองทุนตามความเหมาะสมให้สมาชิกกองทุนฯ เราสร้างบ้านมั่นคงภายใต้สโลแกน " บ้านที่มากกว่าบ้าน" ได้ชุมชนมั่นคง ได้สุขภาพของสมาชิกมั่นคง ดูแลตั้งแต่ "ก่อนป่วย ขณะป่วย และเสียชีวิต"
5.ใช้โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิตชุมชน เมือง ตำบล เป็นเครื่องมือในการฟื้นฟู พัฒนาการตั้งถิ่นฐานชุมชนทั้งเมืองและชนบทที่สอดคล้องกับวิถี วัฒนธรรม ชุมชน ภายใต้บริบทพื้นที่ที่หลากหลาย
6.สร้างระบบการบริหารจัดการโครงการและงบประมาณที่มีธรรมาภิบาล เปิดเผยโปร่งใส มีระบบการรายงานผล ติดตาม ระบบการหนุนเสริมระหว่างกัน
7.สนับสนุนการสร้างคนทำงานรุ่นใหม่ให้มีบทบาทในการพัฒนา เพื่อเป็นกำลังในการสร้างนวัตกรรมงานพัฒนาในพื้นที่ทุกระดับ
8.ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงการแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่ดิน ที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิตทุกมิติ ทั้งเชิงพื้นที่ และประเด็นงานอย่างเป็นขบวนการ เช่น ชุมชนริมคลอง ชุมชนชายฝั่ง ชุมชนในที่ดินการรถไฟฯ พื้นที่ในเขตป่า ลุ่มน้ำ เป็นต้น
9.สร้างกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การจัดการองค์ความรู้ โรงเรียน ชุมชน ท้องถิ่น งานพัฒนาที่หลากหลายร่วมกัน
10. การทำงานร่วมกันตามแนวทางการปรับโครงสร้างใหม่ของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน โดยเครือข่ายองค์กรชุมชนและเจ้าหน้าที่”
ทั้งนี้ พอช.ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยทั่วประเทศตาม ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี’ (พ.ศ.2560-2579) มีเป้าหมายประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน โครงการที่สำคัญ เช่น การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร ขณะนี้ดำเนินการแล้วใน 50 ชุมชน สร้างบ้านแล้วเสร็จทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคงแล้วประมาณ 4,500 ครัวเรือน
นอกจากนี้ยังมีแผนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศประมาณ 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณทั้งหมด 7,718 ล้านบาทเศษ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (2566-2570) โดยคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเมื่อ 14 มีนาคม 2566 โดยในปีนี้จะเริ่มดำเนินการใน 14 ชุมชน รวม 912 ครัวเรือน ใช้งบประมาณ 123 ล้านบาทเศษ
ผู้ร่วมงานประกาศเจตนารมณ์และแสดงสัญลักษณ์ ‘บ้าน’
*****************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)
พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน
ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต