เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค-พอช. จัดงาน ‘บ้านมั่นคง’ ครบ 20 ปี “รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่”

การจัดงานบ้านมั่นคงครบ 20 ปีที่ พอช.  ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ ผู้ร่วมงานแสดงสัญลักษณ์ ‘บ้าน’

พอช. / เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค-พอช. จัดงาน บ้านมั่นคง ครบ 20 ปี รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่’ เพื่อนำเสนอผลงาน  สรุปบทเรียนการทำงานตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา  ตั้งแต่ปี 2546 ถึงปัจจุบัน ระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  เสนอทิศทางการทำงานแนวใหม่  ฯลฯ  จนถึงปัจจุบัน พอช.  ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตไปแล้ว  รวมกว่า 3,000 โครงการ  จำนวน  269,524 ครัวเรือน  

ระหว่างวันที่ 24-25 ตุลาคมนี้   เครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค  และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’  ร่วมกันจัดงาน ‘รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่’ ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  โดยมีผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค  เจ้าหน้าที่และผู้บริหาร พอช.  เข้าร่วมงานประมาณ 200 คน 

ภายในงานมีการแสดงนิทรรศการ   การนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทตลอดช่วงระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา  ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน   การสรุปบทเรียนการทำงาน  การระดมความคิดเห็นเพื่อออกแบบแนวทางการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน  ทิศทางการทำงานแนวใหม่ การแสดงวัฒนธรรมของเครือข่ายบ้านมั่นคง 5 ภาค  ฯลฯ

บ้านมั่นคง “สายสัมพันธ์กว้างไกล”  เชื่อมทั้งภาครัฐ-อปท.-ภาคธุรกิจ

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวเปิดงาน  มีใจความสำคัญว่า  พอช.มีวิสัยทัศน์ในระยะ 20 ปีว่าภายในปี 2579   พอช. จะสร้างชุมชนให้เข้มแข็งเต็มทั้งแผ่นดิน  เพราะฉะนั้นเรื่องบ้านจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะหล่อหลอมคนเข้าหากัน  มาทำงานร่วมกัน  มาคิด มาออกแบบในการสร้างสังคมที่มีความสุขในการอยู่ร่วมกัน

“หากจะสร้างเอาบ้าน  แค่ได้บ้านไม่ต้องมาให้ พอช.ทำ ไปจ้างผู้รับเหมาทำก็ได้  แต่กระบวนการของพวกเราเริ่มตั้งแต่การสร้างการรวมกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การสร้างการออมทรัพย์ ไปหาที่ดินร่วมกัน  ไปหาที่ที่เหมาะสมร่วมกัน ไปออกแบบการใช้แปลงประโยชน์ที่ดินร่วมกัน   ออกแบบบ้านร่วมกัน  สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้เกิดการพูดคุยกัน  ปรึกษาหารือกัน  การรวมกลุ่มกัน  นำไปสู่ความเข้มแข็งในการจัดการตนเอง”  ผอ.พอช. กล่าวถึงกระบวนการบ้านมั่นคง

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผอ.พอช.

นอกจากนี้กระบวนการบ้านมั่นคง  พอช.ไม่ได้ทำคนเดียว  พอช.ใช้บ้านเป็นเครื่องมือ  ทำงานร่วมกับพี่น้องภาคีเครือข่าย  ไม่ว่าจะเป็นบ้านมั่นคงเมือง  บ้านมั่นคงชนบท  บ้านมั่นคงริมคลอง   บ้านพอเพียง  รวมทั้งบ้านคนไร้บ้าน  พอช.ทำงานร่วมกับภาคีพัฒนาอื่นๆ  จึงเป็นที่มาของคำว่า “สานสัมพันธ์กว้างไกล”  และวันนี้เราจะขยายขอบเขตของความสัมพันธ์เหล่านี้ต่อไป  ไปเชื่อมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เชื่อมกับเทศบาล  เชื่อมมือกับองค์กรบริหารส่วนตำบล เชื่อมกับผู้ว่าราชการจังหวัด  ฯลฯ

“ทิศทางต่อไปภายหน้า  เราจะต้องขยายความร่วมมือกับภาคธุรกิจ  เพื่อดึงภาคธุรกิจมาสนับสนุนชุมชน  ล่าสุด พอช.ได้ไปคุยกับ BOI. (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) ซึ่ง BOI. มีข้อกำหนดข้อหนึ่งว่า  ถ้าหากบริษัทธุรกิจเอกชนมีการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนจะสามารถลดภาษีได้ 200 เปอร์เซ็นต์  นี่คือก้อนเงินมหาศาลที่จะมาสนับสนุนชุมชนได้”  ผอ.พอช.ยกตัวอย่างความร่วมมือกับภาคธุรกิจที่ พอช.กำลังดำเนินการ

ผอ.พอช. กล่าวด้วยว่า  นอกจาก พอช.จะส่งเสริมอาชีพ  สร้างรายได้ให้แก่ชาวชุมชนบ้านมั่นคงแล้ว  จากการพูดคุยกับภาคธุรกิจ  มีข้อแนะนำว่า  โครงการบ้านมั่นคงของ พอช.กระจายอยู่ทั่วประเทศ บางแห่งใกล้แหล่งท่องเที่ยว  บางแห่งใกล้จุดคมนาคม  หากชุมชนใดมีที่ว่าง  มีห้องว่าง  หากนำมาปรับปรุงเป็นที่พักรองรับนักท่องเที่ยวหรือเซลล์แมน  ทำให้สะอาด  มาตรฐาน  ราคาไม่แพงก็จะเป็นทางเลือกสำหรับคนเหล่านี้  ซึ่งจะทำให้ชุมชนมีรายได้  และภาคเอกชนก็พร้อมที่จะให้การสนับสนุน

บ้านมั่นคง “ทุกคนร่วมสร้าง”

การจัดงาน ‘รำลึกอุดมการณ์ สานสัมพันธ์กว้างไกล การบริหารบ้านมั่นคงแนวใหม่’ วันแรก (24 ตุลาคม) มีการนำเสนอผลการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงเมืองและชนบทในช่วง 20ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2546-2566) โดยนางสาวจิราภรณ์ เขียวพิมพา ผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคงเมือง  และนายละอองดาว สีลาน้ำเที่ยง  ผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคงชนบท  นำเสนอมีเนื้อหาสำคัญว่า

การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยตามโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ของ พอช. เริ่มต้นในปี 2546  โดยรัฐบาลจัดสรรงบประมาณจำนวน 146 ล้านบาทเศษ  เพื่อให้ พอช.จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาชุมชนที่มีรายได้น้อย  ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน-ที่อยู่อาศัย นำร่องจำนวน 10 โครงการทั่วประเทศ  เช่น  ชุมชนบ่อนไก่  ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  กรุงเทพฯ  ชุมชนแหลมรุ่งเรือง  จ.ระยอง  ชุมชนบุ่งคุก จ.อุตรดิตถ์  ชุมชนเก้าเส้ง  จ.สงขลา  ฯลฯ

ลำดับช่วงเวลาการดำเนินโครงการบ้านมั่นคงตั้งแต่ปี 2546-2566

หลักคิดสำคัญของโครงการบ้านมั่นคง  คือ  1.องค์กรชุมชนเป็นแกนหลักดำเนินการโดยองค์กรชุมชนและท้องถิ่น ทำให้ชุมชนเป็นตัวตั้งในการดำเนินการในทุกขั้นตอน  2.สร้างสังคมมั่นคงในเรื่องที่ดินอยู่อาศัย  เน้นการใช้ที่ดินของรัฐ ที่ดินของเอกชนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์  รวมทั้งการหาที่ดินใหม่ในกรณีที่ต้องมีการรื้อย้าย

3.สร้างชุมชนให้เข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การสร้างความมั่นคงของชีวิตด้านสังคมและเศรษฐกิจเป็นสังคมที่มีความเอื้ออาทรต่อกันและมีการจัดการร่วมกัน   4.วางแผนการแก้ไขปัญหาทั้งเมืองโดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งให้เกิดแนวทางและแผนการแก้ปัญหาที่ครอบคลุมทุกชุมชนที่ไม่มีความมั่นคงในเรื่องที่อยู่อาศัยทั้งเมือง  5.ความหลากหลายของรูปแบบและแนวทางการปรับปรุงที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่กับความต้องการ ความสามารถในการจ่ายของชุมชนผู้เดือดร้อน เงื่อนไขที่ดินและความเห็นร่วมของคณะกรรมการการเมือง ฯลฯ

โดย พอช. จะสนับสนุนให้ชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย  เช่น  อยู่ในที่ดินบุกรุกทั้งของรัฐและเอกชน  ที่ดินเช่า  บ้านเช่า  เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ  ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  ฯลฯ  รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เช่น  จัดหาที่ดินใหม่  โดยเช่าหรือซื้อที่ดิน  เพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่ หรือซ่อม  สร้าง  ปรับปรุงบ้านใหม่ในที่ดินเดิม ฯลฯ

ขณะที่ชุมชนที่เดือดร้อนจะต้องรวมกลุ่มกัน  หรือลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยโดยชุมชนเป็นแกนหลัก  เช่น  จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการ  เริ่มตั้งแต่สำรวจข้อมูลความเดือดร้อน  ข้อมูลครัวเรือน  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย  รวมทั้งยังเป็นฝึกการบริหารเงิน-บริหารคน  ฯลฯ

ทั้งนี้ พอช. จะส่งเจ้าหน้าที่  สถาปนิกชุมชน  เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน  เช่น  สนับสนุนการรวมกลุ่ม  จัดตั้งคณะทำงานจากชุมชนขึ้นมาเพื่อดำเนินการ  ร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย  ร่วมกันออกแบบบ้าน  ออกแบบผังชุมชน ในลักษณะ “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่”  ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน  และจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  สำหรับทำนิติกรรมสัญญา  ซื้อ-เช่าที่ดิน  ขอใช้สินเชื่อจาก พอช. และบริหารโครงการ-ก่อสร้างบ้าน

นอกจากนี้ พอช.ยังมีหน้าที่สนับสนุนทางด้านการเงินแก่ชุมชน  เช่น  ให้สินเชื่อซื้อที่ดิน-ก่อสร้างบ้าน  (ดอกเบี้ยต่ำ  ผ่อนระยะยาว)  อุดหนุนงบประมาณการสร้างบ้าน  สร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง  ฯลฯ  โดย พอช.จะอนุมัติงบประมาณผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นมา  (ไม่ได้อนุมัติเป็นรายบุคคล) และคณะกรรมการสหกรณ์ฯ จะร่วมกันบริหารโครงการ-ก่อสร้างบ้าน

บ้านมั่นคงทุกคนร่วมสร้าง

20 ปีบ้านมั่นคงแก้ปัญหาแล้ว 269,524 ครัวเรือน

นอกจากนี้ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  พอช. ได้สนับสนุนให้เครือข่ายบ้านมั่นคงทั่วประเทศ  จัดทำ ‘โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชนผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมืองและชนบทที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19’  เช่น  ในปี 2563  ดำเนินการใน 228 เครือข่าย/เมือง  2,846 ชุมชน  1,546 ตำบล  รวม 529,502 ครัวเรือน

โดยชุมชนต่างๆ ร่วมกันผลิตหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายชาวชุมชนและประชาชนทั่วประเทศ  รวม 1.1 ล้านชิ้น  แจกถุงยังชีพ  ข้าวสาร  อาหารแห้ง  น้ำดื่ม  ฯลฯ มูลค่ารวม 2.25 ล้านบาท  ทำครัวกลางแจกจ่ายอาหาร 49 ครัวหลัก  ใน 540 ชุมชน  รวม  336,930 กล่อง   เกิดอาสาสมัครทำงาน 2,638 คน

บ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากร  ทำให้ชุมชนเดิมที่เคยบุกรุกที่ดินราชพัสดุริมคลองได้เช่าที่ดินและปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยถูกกฎหมาย  มีบ้านใหม่ที่สวยงาม  สภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม (ผ่อนชำระเงินกู้สร้างบ้านจาก พอช.ประมาณเดือนละ 3 พันบาทเศษ  ระยะเวลา 15 ปี)  ขณะนี้ก่อสร้างแล้วใน 17 ชุมชน  จำนวน 1,500 ครัวเรือน  จากเป้าหมายทั้งหมด 38 ชุมชน  รวม 6,386 หลัง  ส่วนคลองลาดพร้าว  สร้างบ้านเสร็จแล้วประมาณ 3,500 ครัวเรือนใน 35 ชุมชน

โครงการที่อยู่ในระหว่างการดำเนินงาน  เช่น  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566  เพื่อให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาระบบรางของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  เช่น  โครงการรถไฟรางคู่ในภาคใต้  รถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน  รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มีที่อยู่อาศัยใหม่ที่มั่นคง  โดยการรื้อย้ายออกจากแนวพัฒนาระบบราง  แล้วหาที่ดินแปลงใหม่รองรับ  เช่น  เช่าที่ดิน รฟท.  เพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่ 

โดย พอช.รับผิดชอบดำเนินการ  ระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ.2560-2570) ใน 300 ชุมชน  35 จังหวัดทั่วประเทศ  รวม 27,084 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณทั้งหมด 7,718 ล้านบาทเศษ  โดยในปี 2566 นี้จะเริ่มดำเนินการใน 14 ชุมชน  รวม  912 ครัวเรือน  ใช้งบประมาณ 123 ล้านบาทเศษ

โครงการนำร่องสวัสดิการที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก  มีรูปแบบการทำงาน  คือ  1.ปรับปรุงสร้างใหม่โดยชุมชนบ้านมั่นคง  นำพื้นที่ว่าง  ห้องว่าง  ปรับปรุงเป็นห้องเช่าราคาถูก  2.พัฒนาปรับปรุงตึกร้าง  อาคารร้างเป็นห้องเช่าราคาถูกโดยพัฒนาอาคารร่วมกับภาคประชาสังคม  หน่วยงานท้องถิ่น  กทม.  และ 3.สร้างใหม่โดยใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐ  เช่น  ที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ 

ขณะนี้มีชุมชนนำร่องแล้ว  เช่น  ศูนย์พักคนไร้บ้าน  บ้านพูนสุข  อ.รังสิต จ.ปทุมธานี   ชุมชนใหม่คนไร้บ้าน  ซอยเลียบวารี 79 เขตหนองจอก  กรุงเทพฯ  และอาคารย่านแยกแม้นศรี  กรุงเทพฯ  ดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร  ฯลฯ

จนถึงปัจจุบัน (ตุลาคม 2566) เป็นเวลา 20 ปี   พอช. ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ  ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตไปแล้ว  รวมกว่า 3,000 โครงการ  จำนวน  269,524 ครัวเรือน

*****************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ซีพี ออลล์ หารือ พอช. ขับเคลื่อน 4 project ใหญ่ เสริมศักยภาพความเข้มแข็งของชุมชนไทย

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. หารือ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในการประชุมหารือความร่วมมือครั้งสำคัญ โดยมี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสถาบัน เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการ พอช. และ คุณชลิกา แสงอุดมเลิศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ และคณะอนุกรรมการพัฒนาความยั่งยืน ซีพี ออลล์ ณ ห้องประชุมชั้น3 Joy of Life (สีลม ซอย 3)

พอช.: พลังแห่งการเปลี่ยนแปลง สู่ชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ถือเป็นกุญแจสำคัญที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืนของสังคมไทย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน

รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!

เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567

สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน

ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”

การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ

“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”

‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต