เหล้าทำพัง!! ทั้งสุขภาพและครอบครัว เสนอนโยบายปกป้องสุขภาวะคนไม่ดื่ม

ยังคงเป็นโจทย์ปัญหาด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของสังคมไทย สำหรับการสร้างความรู้ความเข้าใจ และกระตุ้นเตือนถึงภัยร้ายจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จัดเป็นสารเสพติดให้โทษชนิดหนึ่งที่มีผลกระทบทางสุขภาพและทางสังคมอย่างกว้างขวาง

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน เป็นสาเหตุก่อให้เกิดโรคมากกว่า 230 ชนิด สำหรับประเทศไทยนั้น มีข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบแนวโน้มคนไทยอายุ15ปีขึ้นไป 57ล้านคน ดื่มแอลกอฮอล์ลดลงจาก 28.40% ในปี 2560 เหลือ 28% โดยเพศชายดื่ม 46.4% เพศหญิงดื่ม 10.8%  คนไทย 57 ล้านคน จำนวน 1 ใน 3 หรือ 20 ล้านคนดื่มสุรา

ในจำนวนนี้มี 5.73 ล้านคนเคยดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็น 10.05% แบ่งเป็นดื่มหนักประจำ 1.37ล้านคน คิดเป็น 2.40% และดื่มหนักครั้งคราว 4.36 ล้านคน คิดเป็น 7.65% ทั้งนี้ ผู้ดื่มหนักมีแนวโน้มลดลงจาก 11.9% ใน ปี 2560 เหลือ 10.05% ในปี 2564 

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยในการจัดกิจกรรมเสวนาร่วมกับเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว เครือข่ายเหยื่อเมาแล้วขับ และเครือข่ายชุมชนลดปัจจัยเสี่ยง   ในหัวข้อ “เครื่องดื่มแอลกอฮอล์กับสมอง ...ความจริงของนักดื่ม” เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาไว้อย่างน่าคิดว่า 

กลุ่มผู้ดื่มสุราอย่างหนักมีอายุ 30-50 ปี  คนกลุ่มนี้ถึงจะเมาแล้วก็ยังขับรถ บางครั้งโชคดีไม่เกิดอุบัติเหตุ แต่บางครั้งก็โชคร้ายเกิดอุบัติเหตุ เกิดปัญหาสมอง ดังนั้นเราต้องช่วยกันสร้างค่านิยมใหม่ด้วยการให้ความรู้ให้คนเมารู้จักการป้องกันตัวเอง ให้รู้เท่าทัน ให้รู้จักห่างไกลสิ่งเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน ทั้งนี้ คนในครอบครัวมีส่วนช่วยให้คนติดเหล้าเลิกได้ด้วยการให้กำลังใจ มีสติ

ทั้งนี้ ขอฝากถึงรัฐบาลด้วยว่า ควรมีนโยบายปกป้องสุขภาวะคนที่ไม่ดื่ม ไม่ต้องตกเป็นเหยื่อของคนเมาแล้วขับ ด้วยการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดด้วย กระตุ้นสังคมป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นจากคนเมาแล้วขับ เพราะความสูญเสียสูงถึง 1.6แสนล้านบาท ในการรักษาพยาบาลคนพิการที่ตกเป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุ สมาชิกในครอบครัวลาออกจากงานมาช่วยดูแล สิ่งเหล่านี้พึงระวังก่อนที่จะเกิดเหตุในครอบครัว โดยเฉพาะเหยื่อบางคนต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

คนที่ดื่มเหล้าแรกๆ จะกล้าแสดงออก กล้าพูดความในใจ สติจะเริ่มลดลง แต่เมื่อดื่มต่อไปเรื่อยๆ เป็นการทำร้ายร่างกายในระยะยาว อีกทั้งยังอาละวาดทำร้ายร่างกายคนอื่นด้วย ดังนั้นถ้าอยากจะกล้าแสดงออกต้องฝึกฝนตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพายาเสพติด”

นพ.พงศ์เทพเปิดเผยว่า จากการวิจัยต้นทุนผลกระทบทางสังคมจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยปี 2564 ได้ประมาณการความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 165,450.5 ล้านบาท หรือ 1.02% ของ GDP และคิดเป็น 2,500 บาทต่อหัวประชากร และต้นทุนทางอ้อมจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร 159,358.8 ล้านบาท เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดผลกระทบ

1.ด้านสุขภาพ เช่น ป่วยโรคตับ โรคหัวใจขาดเลือด แอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลัน 2.ด้านสังคมและวัฒนธรรม เช่น เกิดความรุนแรงในครอบครัว ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุทางถนน 3.ด้านเศรษฐกิจและพัฒนาประเทศ เช่น สูญเสียค่ารักษา หน้าที่การงานมีปัญหา ทรัพย์สินเสียหาย ขาดโอกาสเติบโตทางเศรษฐกิจ การที่ผู้ชายไทยอายุคาดเฉลี่ยในปี 2564 เท่ากับ 73.5 ปี ต่ำกว่าผู้หญิงถึง 7 ปี ส่วนหนึ่งมาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

“สสส.ร่วมกับเครือข่ายขับเคลื่อนงานควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ วางยุทธศาสตร์ทั้งด้านนโยบาย ด้านวิชาการ ภาคประชาสังคม และการทำงานเชิงพื้นที่ เพื่อทำให้เกิดสังคมไทยห่างไกลจากภัยสุรา เพราะร่างกายเรามีร่างเดียว เปลี่ยนไม่ได้ ต้องดูแลให้ดีเพื่อให้ใช้ได้ยาวนาน จนถึงวัยชรา จึงอยากเชิญชวนให้ใช้โอกาสนี้งดเหล้าเข้าพรรษา หรือหาช่วงเวลาพักตับ ลดการทำลายสมอง พักการดื่มให้จริงจัง หรืองดดื่มได้จะดีที่สุด” นพ.พงศ์เทพกล่าว

นพ.ประชา กัญญาประสิทธิ์ ศัลยแพทย์ระบบประสาทและหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม หรือฉายานาม "หมอประชาผ่าตัดสมอง" เปิดเผยว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อสมองทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผลทางตรง ทำให้สมองมีอายุสั้นลง สมองฝ่อก่อนวัยอันควร เป็นอัลไซเมอร์เร็วกว่าที่ควรจะเป็น เช่น บางคนอาจจะเริ่มเลอะเลือนตอนอายุ 90 ปี แต่แค่ 50 ปี ก็เริ่มจำใครไม่ได้แล้ว ส่วนผลกระทบโดยอ้อม จะส่งผ่านระบบอื่นๆ ของร่างกาย เช่น

 1.ระบบหลอดเลือด หลอดเลือดหัวใจ ระบบการเผาผลาญของตับ แอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดอักเสบ เสื่อมสภาพ เกิดการอุดตัน หรือเปราะแตก สามารถเกิดสโตรกได้มากกว่าคนที่ไม่ดื่ม 2.ทำให้หน้าที่ในการผลิตสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวของตับทำงานได้น้อยลง ทำให้เกล็ดเลือดน้อยลง 3.ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงขณะดื่ม เส้นเลือดรับแรงดันไม่ได้ก็แตก เส้นเลือดในสมองแตก 4.เกิดอุบัติเหตุ จะทำให้เลือดออกมาก หยุดไหลช้า หรือเลือดไหลไม่หยุด ผ่าตัดยาก เพราะห้ามเลือดยาก เพิ่มความเสี่ยงในการพิการและเสียชีวิตมากกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ดังนั้นสิ่งสำคัญคือดื่มต้องไม่ขับ

“เมื่อเริ่มดื่มเหล้าในช่วงแรกจะสดชื่น สนุก เพลิดเพลิน เมื่อปริมาณแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นจะขาดสติ ขาดความยับยั้งชั่งใจ ทำผิดศีลธรรม การตัดสินใจไม่ดี หากขับรถโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง ยิ่งดื่มหนักมากขึ้นย่อมมีโอกาสสมองเสื่อมเป็นอัลไซเมอร์มากถึง 3 เท่า ยิ่งคนที่ดื่มเหล้ามากกว่า 5 ปี อีกทั้งมีโอกาสที่หลอดเลือดสมองแตก ตีบ ตันมากกว่าคนปกติที่ไม่ดื่มเหล้า รวมทั้งปัญหาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เส้นเลือดอุดในสมองมีโอกาสเป็นอัมพาตได้ แต่ถ้าตัดสินใจหยุดเหล้าแบบหักดิบโอกาสที่สมองจะได้รับการฟื้นฟูมากขึ้น”

คนที่ดื่มหนัก 7-21 drink/สัปดาห์  ผู้ชายที่ดื่มมากกว่า 21 drink/สัปดาห์ ถ้าเป็นหญิงมากกว่า 14 drink/สัปดาห์ หากดื่มต่อเนื่องโอกาสที่หลอดเลือดสมองตีบ ตัน  แตกได้มากกว่าคนปกติถึง 8-16% หากปล่อยให้ดื่มหนักโอกาสทำให้สมองฝ่อกว่าคนปกติถึง 3 เท่า เพราะฉะนั้นขอเตือนนักดื่มให้หยุดดื่มดีกว่าดื่มต่อไป เพราะร่างกายจะได้มีโอกาสฟื้นฟูตัวเอง ยิ่งถ้ามีการออกกำลังกายก็จะดีขึ้น เหมือนกับสายยางเมื่อตากแดดนานๆ จะเสื่อมสภาพ สายยางแตกเมื่อถูกแรงดันน้ำ เทียบกับสมองโอกาสที่เส้นเลือดแตกได้

นายจิรัฐติกร บรรจงกิจ ผู้ควบคุมหน่วยกู้ชีพป่อเต็กตึ๊ง เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ให้การช่วยเหลือการบาดเจ็บ พบว่าช่วงหลัง 4 ทุ่ม 80% ของจำนวนอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมีสาเหตุจากความเมา และวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หรือหยุดเทศกาล จะเพิ่มเป็นกว่า 90% ซึ่งการช่วยเหลือทำได้ยากลำบาก เพราะคนเมาครองสติไม่ได้ สับสน ให้ข้อมูลวกวน บางครั้งทำร้ายเจ้าหน้าที่ ทำลายของบนรถพยาบาล จึงขอเสนอให้มีการตั้งด่านตรวจมากขึ้น ผับ บาร์ต้องร่วมรณรงค์ให้คนที่ดื่มไม่ขับรถ ใช้บริการรถสาธารณะ หรือบริการคนขับรถแทน ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีโครงการเมาไม่ขับกลับกับป่อเต็กตึ๊ง โทร.ไปที่สายด่วน 1418 ขอให้เจ้าหน้าที่ป่อเต็กตึ๊งช่วยขับรถกลับบ้านได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ในฐานะคนทำงานปลายน้ำ ไม่อยากให้ภาครัฐมีนโยบายขยายเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะทุกวันนี้ปัญหาที่เราแบกรับก็หนักมากพอแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเครียด..ภัยเงียบของสังคมไทย! ห้ามไม่ได้..แต่รู้เท่าทันอยู่ให้เป็นได้

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีการประชุม Forum สุขภาพคนไทย 2567 เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2567 ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ

ครั้งแรก!! สสส.สานพลังภาคีเครือข่าย สร้าง“สังคมปลอดคุกคามทางเพศ”

ปัญหาสังคมในสถานที่ทำงาน อย่างการคุกคามทางเพศ ไปจนถึงการบูลลี่ด้วยสายตาและวาจา เป็นเรื่องจริงที่หลายคนเลือกที่จะนิ่งเฉย และมองข้าม

เครือข่ายเป็นหูเป็นตาฯ ร่วมกับสสส. ระดมสมองกว่า 20 ภาคี ร่วมจัดทำแผนจัดการความปลอดภัยทางถนนปี 2568

เครือข่ายเป็นหูเป็นตาเพื่อสังคม เดินหน้าขับเคลื่อนสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ปอด..คนไทยไม่ปลอดภัย "PM2.5-บุหรี่ไฟฟ้า"ตัวร้าย!!

อันตรายที่มองไม่เห็นอย่างฝุ่น PM2.5 กำลังคร่าชีวิตและบ่อนทำลายสุขภาพของคนในสังคมไทยอย่างเงียบเชียบ ด้วยตัวเลขที่มีการยืนยันว่า คนไทยกำลังเผชิญปัญหาฝุ่น PM2.5

'ปลัดอำเภอ' ปลอมตัว จับพ่อค้าลอบขายเหล้าชายหาดพัทยา

นายพรชัย สังข์เอียด ปลัดอำเภอบางละมุง จ.ชลบุรี พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ ฝ่ายปกครองอำเภอบางละมุง เจ้าหน้าที่เทศกิจเมืองพัทยา

ต้อนรับเทศกาลPride Month รู้ให้จริง..กม.รับรองเพศสภาพ

องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศถอนภาวะการมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ออกจากหมวดความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมในบัญชีจำแนกโรคสากลฉบับที่ 10 (ICD-10)