ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ‘พีมูฟ’ ประกาศยุติการชุมนุมวันนี้ (17 ตุลาคม) หลังมีการเจรจากับรัฐบาลและมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง
ถนนราชดำเนินนอก / ‘พีมูฟ’ ยุติการชุมนุมเรียกร้องวันนี้ หลังจากรัฐบาลรับข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย 10 ข้อ และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา 7 คณะ เช่น การแก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ ผลกระทบจากการพัฒนาภาครัฐ สวัสดิการโดยรัฐ สิทธิที่อยู่อาศัย ฯลฯ โดยจะประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาครั้งแรกภายในเดือนตุลาคมนี้ ย้ำหากรัฐบาลไม่ทำตามข้อตกลงจะกลับมาชุมนุมใหม่ ด้าน ‘วราวุธ ศิลปอาชา’ รมว.พม. เป็นประธานอนุกรรมการแก้ปัญหาสิทธิที่อยู่อาศัย
ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ปัญหา 7 ด้าน
ตามที่เครือข่ายภาคประชาชนในนาม ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ (ขปส.) หรือ ‘P-Move’ (People Movement) ได้ชุมนุมตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา บริเวณประตู 5 (หลังทำเนียบรัฐบาล ตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ) เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวมทั้งหมด 10 ข้อ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ การคุ้มครองวิถีชีวิตสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ การแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน การคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม นโยบายรัฐสวัสดิการ ปัญหาที่อยู่อาศัย ฯลฯ โดยตัวแทนกลุ่มพีมูฟได้ประชุมร่วมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และมีการเจรจาเพื่อจัดตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหารวม 7 ด้าน จนได้ข้อยุติเบื้องต้นแล้วนั้น
วันนี้ (17 ตุลาคม) เวลาประมาณ 12.40 น. บริเวณที่ชุมนุมประตู 5 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้แถลงข่าวยุติการชุมนุม หลังจากปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา รวมเวลา 15 วัน โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟ รวม 7 คณะ มีนายภูมิธรรม รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการ ประกอบด้วย
1.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ 2.คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ 4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ
5.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะและบุคคล 6.คณะอนุกรรมการสิทธิที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และ 7.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
เริ่มประชุมแก้ปัญหา 7 ด้านภายในเดือนตุลาคมนี้
นายประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ ‘พีมูฟ’ กล่าวว่า พีมูฟได้เจรจากับรัฐบาลอย่างไม่เป็นทางการ 2 ครั้ง โดยประชุมร่วมกับคณะกรรมการ ซึ่งมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม และได้นำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี 2 ครั้ง คือ วันที่ 10 และ 16 ตุลาคมที่ผ่านมา
หลังจากมีมติ ครม.วันที่ 16 ตุลาคม ได้มีการประสานงานฝ่ายเลขานุการ คือส่วนราชการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาทำความเข้าใจ และกำหนดแผนการทำงานร่วมกัน ในวันนี้ (17 ตุลาคม) โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานในระดับกรมที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทั้ง 10 เรื่อง เพื่อทำข้อตกลงร่วมกันที่ตึก ก.พ.ร. โดยจะใช้อนุกรรมการแก้ไขปัญหาในการทำงานภายใต้หลักประกันทั้งหมด 4 เรื่อง ดังนี้
นายภูมิธรรม รองนายกฯ (สวมสูท/กลาง) ประชุมร่วมกับผู้แทนพีมูฟครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ทำเนียบรัฐบาล
1.การเจรจาหลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหา 6 ข้อ 2. เมื่อได้หลักการร่วมกัน ได้เสนอปัญหาให้รัฐบาลในรูปแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 เรื่อง และปัญหารายกรณี 266 กรณี 3. ต้องมีการเจรจารายปัญหา ขณะนี้ได้เจรจาข้อเรียกร้องทั้ง 10 เรื่อง และต้องกระจายปัญหารายกรณีไปสู่กลไกเร่งรัดการแก้ไขปัญหา และ 4. พีมูฟต้องการได้รับการยืนยันจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ตลอดระยะเวลาการชุมนุม 15 วัน ได้มีกระบวนการต่าง ๆ เกิดขึ้น และจะดำเนินการอย่างไรหลังจากนี้ รวมถึงบันทึกเอกสารทั้งหมดแจ้งมายังประธานกรรมการบริหารพีมูฟอย่างเป็นทางการ
“การประชุมอนุกรรมการทั้ง 7 คณะ จะเริ่มประชุมครั้งแรกภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อพิจารณาการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของอนุกรรมการ บางเรื่องที่สามารถสั่งการได้ในทันทีต้องมีข้อยุติภายใน 30 วัน เรื่องระยะกลางให้เวลาดำเนินการ 90 วัน และเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย นโยบาย และมติ ครม. ต้องแก้ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี” นายประยงค์กล่าว
ส่วนกรณีเร่งด่วน 3 กรณี คือหลีเป๊ะ จ.สตูล, บางกลอย จ.เพชรบุรี และโฉนดชุมชนคลองโยง จ.นครปฐม ได้เจรจาให้สำนักงานสำนักนายกรัฐมนตรีจัดทำหนังสือแจ้งหน่วยงานรับทราบโดยด่วน และต้องยุติภายใน 30 วัน
นอกจากนี้นายประยงค์ได้กล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรมีแนวโน้มสนับสนุนนโยบายของพีมูฟ หากมีการยกร่างกฎหมายต่าง ๆ ขึ้นมา พีมูฟจะไปรณรงค์กับพรรคการเมืองเพื่อให้สนับสนุน นอกจากนั้นพีมูฟยังคงขับเคลื่อนกับฝ่ายตุลาการ เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ศาลต้องเปลี่ยนระบบการพิจารณาจากระบบกล่าวหาเป็นระบบไต่สวน เพื่อให้คนจนสามารถหยิบยกข้อเท็จจริงมาต่อสู้คดีได้อย่างเป็นธรรม
“ครั้งนี้พีมูฟไม่ได้เรียกร้องแก้ปัญหารายกรณีเป็นหลัก แต่เราสรุปบทเรียนการต่อสู้ 13 ปี เห็นว่าต้องแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างเพื่อไม่ให้ปัญหาวนเวียน จึงขมวดเรื่องทั้งหมดแยกเป็นกลุ่มปัญหา และเสนอนโยบาย 10 ด้าน และเรายืนยันว่าหากประสบความสำเร็จ ผู้ได้ประโยชน์จะไม่ใช่แค่พีมูฟ เราไม่ได้เรียกร้องปัญหาส่วนตัว แต่เรียกร้องสังคมที่เป็นธรรม ส่วนรายกรณีต้องแก้ไปด้วยอยู่แล้ว ซึ่งเราคงต้องทำงานร่วมกับฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายนโยบาย ฝ่ายการเมือง เช่น การจัดทำกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทวงคืนผืนป่า จะมีผู้ได้รับประโยชน์อย่างน้อย 48,000 คดี ซึ่งเราต้องอาศัยฝ่ายค้านด้วย” นายประยงค์ย้ำ
นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานกรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม กล่าวว่า พีมูฟยังคงยืนยันว่าหากการดำเนินการไม่เป็นไปตามที่เจรจากันไว้ พีมูฟพร้อมเคลื่อนไหวใหญ่แน่นอน ซึ่งครั้งหน้าอาจขอชุมนุมในระยะเวลาที่ยาวกว่าเดิม เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปในระดับนโยบาย ไม่ใช่เพียงแค่รายกรณี
ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ รองประธานแก้ไขปัญหาพีมูฟพบปะผู้ชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม
แถลงยุติการชุมนุม
นัฐาพันธ์ แสงทับ รองประธานกรรมการบริหารขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ได้อ่านแถลงการณ์ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เรื่อง “ประกาศยุติการชุมนุมพีมูฟทวงสิทธิ เดินติดตาม กำกับ ตรวจสอบ การทำงานของรัฐบาล” เนื่องจากได้บรรลุข้อเรียกร้องทั้งหมดตามเจตนารมณ์ โดยผ่านการประชุม ครม. 2 ครั้ง มีแนวทางในการผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้านอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วนและกรณีอื่นๆ อีกรวม 266 กรณี และมีกลไกให้ติดตามเร่งรัดดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งพีมูฟขอขอบคุณรัฐบาลที่เร่งดำเนินการตามข้อเรียกร้องด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
“เรายืนยันจะยังใช้การเมืองบนท้องถนนของเราติดตาม ตรวจสอบ การทำงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง และจะยังใช้ทุกกลไก ทั้งฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ ผลักดันข้อเรียกร้องของเราอย่างถึงที่สุด หากภายหลังรัฐบาลแสดงท่าทีไม่จริงใจต่อการแก้ไขปัญหา หรือจะสร้างผลกระทบด้วยการผลักดันนโยบายที่เอื้อพวกพ้องตนและกลุ่มทุน ทิ้งประชาชนไว้ข้างหลัง เราก็พร้อมจะกลับมาชุมนุมเคลื่อนไหวทุกเมื่อ ตามสิทธิ เสรีภาพ ในการชุมนุมที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และหลักการสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ” ผู้แทนพีมูฟกล่าวก่อนจะยุติการชุมนุม
ผู้แทนพีมูฟแถลงยุติการชุมนุม
ย้อนดูข้อเรียกร้อง 10 ด้าน
กลุ่มพีมูฟมีข้อเรียกร้องเชิงนโยบายรวมทั้งหมด 10 ข้อ ดังนี้ 1. ด้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ ขอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการทุกขั้นตอน
2.ด้านการกระจายอำนาจ ขอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3.ด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ขอให้เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
4.ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ขอให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า
5.ด้านนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขอให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด คุกคามชีวิตทรัพย์สินและส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ
6.ด้านการป้องกันภัยพิบัติ ขอให้มีคณะกรรมการส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ
7.การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนและชาติพันธุ์ในทุก ๆ ด้าน ขอให้เร่งลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ....
8.ด้านสิทธิของคนไร้สถานะ แต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มีผู้ทรงคุณวุฒิมีภาคประชาชนที่มีประสบการณ์เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน
9.ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยเสนอนโยบายและสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ
10.ด้านที่อยู่อาศัย โดยให้รัฐจัดสรรที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัย จัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย หยุดใช้มาตรการไล่รื้อชุมชน
รมว.พม. เป็นประธานแก้ปัญหาด้านสิทธิที่อยู่อาศัย
อย่างไรก็ตาม ข้อเรียกร้องทั้ง 10 ด้าน รัฐบาลได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหารวมทั้งหมด 7 ด้าน ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ 2.คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 3.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ 4.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนสวัสดิการโดยรัฐ
5.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะและบุคคล 6.คณะอนุกรรมการสิทธิที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และ 7.คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ในส่วนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม.ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการสิทธิที่อยู่อาศัยและการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน โดยมี นายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เป็นเลขานุการคณะอนุกรรมการชุดนี้
นายวราวุธ รมว.พม. (ที่ 6 จากซ้าย) มอบบ้านที่ซ่อมใหม่ให้แก่ผู้ประสบวาตภัยที่ จ.สุพรรณบุรีเมื่อเร็วๆ นี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รวมพลังคนจนเมืองทั่วประเทศ เปลี่ยนสลัม สู่บ้านมั่นคง บ้านแห่งศักดิ์ศรีที่ทุกคนร่วมสร้าง!
เมื่อความฝันของคนจนไม่บ้านกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ วันนี้พร้อมที่จะก้าวข้ามขีดจำกัด เปลี่ยนแปลงสลัมให้เป็น "บ้านมั่นคง" ที่เต็มไปด้วยศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์
ประกาศผล 8 กองทุน เข้ารับรางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนดีเด่น ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี พ.ศ. 2567
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567 จัดเวทีพิจารณา รางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชน
ชุมชนทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาให้รัฐ ในการประชุม ‘ระดับชาติสภาองค์กรชุมชนตำบล’ ครั้งที่ 16 ปี 2567 เชื่อมั่น “พลังชุมชน พลังประชาชน สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศได้”
การประชุมในระดับชาติของสภาองค์กรชุมชนตำบลครั้งที่ 16’ ปี 2567 ผู้แทนสภาองค์กรชุมชน ทั่วประเทศ ระดมข้อเสนอเชิงนโยบายให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ
“16 ปี สภาองค์กรชุมชนตำบล” “พัฒนาประชาธิปไตยฐานราก สร้างพลังชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเอง”
‘สภาองค์กรชุมชนตำบล’ จัดตั้งขึ้นมาตาม ‘พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2551’ ปัจจุบันเป็นระยะเวลา 16 ปี มีการจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนในระดับตำบล เทศบาล และเขต
โค้งสุดท้าย 26 กองทุนฯทั่วไทย ลุ้นรางวัลกองทุนสวัสดิการชุมชนดีเด่น ‘ป๋วย อึ๊งภากรณ์’
กรุงทพฯ/(16 ธ.ค. 67) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหารชน) หรือ พอช. ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย คณะทำงานพิจารณารางวัลองค์กรสวัสดิการชุมชนประจำปี 2567
พอช. หนุน “ศูนย์กระจายสินค้าชุมชน” โมเดลสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชุมชนฐานราก ที่กาญจนบุรี
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. ร่วมกับ เครือข่ายองค์กรชุมชนจังหวัดกาญจนบุรี จัดพิธีเปิดศูนย์กระจายสินค้าชุมชนตำบลหนองตากยา