ถอดบทเรียนสร้างสุขภาวะผู้สูงวัย พร้อมรับ Aging Society ระดับสุดยอด

ในการขับเคลื่อนพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับประชากรทุกกลุ่มวัย ภาคีเครือข่ายต่างๆ ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ร่วมกับโครงการจุฬาอารี บูรณาการคนและบูรณาการงาน สังเคราะห์ บทเรียนจากโครงการต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนของ กทม. ตามหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” และแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

ล่าสุด เพิ่งมีการประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินงานพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระดับชุมชนพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ โดยมี สสส. หน่วยงานภายใต้ กทม. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และชุมชนในพื้นที่ต้นแบบ ร่วมถอดบทเรียนการทำงานบนโจทย์ความท้าทาย โอกาส เตรียมความพร้อมรับสังคมสูงวัย นอกจากนี้ยังมีเวทีเสวนา สรุปบทเรียนสู่แนวทางการขับเคลื่อนงานผู้สูงอายุด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง ปี 2564 กทม.เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แบบ มีผู้สูงอายุ 1.2 ล้านคน หรือ 20.6% ขณะเดียวกันยังมีประชากรที่อยู่ภูมิภาครอบนอกเข้ามาทำงานใน กทม.หลักแสนคน ในขณะที่คน กทม.ตามทะเบียนบ้าน 7.5 ล้านคน คนที่มีภูมิลำเนาจากที่อื่นเข้ามาอยู่ กทม. 2 ล้านคน แต่ละวันมีคนอยู่ใน กทม.เกือบ 10 ล้านคน

รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า เป็นความท้าทายต่อการทำงานและนโยบาย โดยแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุกรุงเทพฯ มีโรงพยาบาลในสังกัด กทม. 12 แห่งรองรับ และยังมีโรงพยาบาลของรัฐและมหาวิทยาลัย อาทิ รพ.จุฬาฯ, ศิริราช, รามาธิบดี, เลิดสิน, ภูมิพล, ธรรมศาสตร์ ฯ มีโรงพยาบาลเอกชนอีก 19 แห่ง และโรงพยาบาลเฉพาะทางที่เป็นทุติยภูมิรองรับ เป็นการทำงานเชื่อมโยงและส่งต่อการรักษาได้กำกับมาตรฐานปฐมภูมิที่อยู่ใกล้ประชาชนมากที่สุด

พ.ศ. 2576 สังคมไทยจะเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) ระดับสุดยอด คือมีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ในอัตราร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษโดยเฉพาะโภชนาการ ทั้งนี้ แผนงานกรุงเทพมหานครระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2570) คือผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตดี มีหลักประกันมั่นคง พึ่งพาตนเองได้ เป็นพลังพัฒนาสังคม  แบ่งเป็น 3 แผนย่อย คือ 1.เตรียมความพร้อมก่อนวัยสูงอายุ 2.ยกระดับชีวิตผู้สูงอายุ 3.ระบบรองรับสังคมสูงวัย  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กทม. อาทิ ชมรมผู้สูงอายุ (Active Aging) สอนเทคโนโลยี นโยบายสวน 15นาที โครงการขยายเตียงในบ้านไม่ใช่ในโรงพยาบาล การถอดบทเรียนครั้งนี้ชุมชนมีส่วนสำคัญ ที่เป็นต้นแบบให้หน่วยงานเข้าใจการดูแลผู้สูงอายุ โดยจะนำข้อเสนอครั้งนี้ ไปพิจารณา กำหนดเป็นแนวทางขับเคลื่อนแผนฯ ระยะที่ 3 ให้มีประสิทธิภาพ

“เราต้องวางรากฐานเตรียมการก่อนที่กลุ่มคนจะเข้าถึงวัยผู้สูงอายุ บางคนอายุ 70 ปีดูแลสุขภาพยังไฉไลสดใสมากกว่าคนอายุ 40 ปีที่มีโรคประจำตัว สุขภาพจิตไม่ดีเพราะร่างกายไม่แข็งแรง เราต้องการให้ผู้สูงวัยติดเพื่อนมากกว่าติดบ้านติดเตียง ออกมาทำกิจกรรม ไม่มีห่วงอยู่ที่บ้าน ขณะนี้คนไทยแก่ไล่หลังคนญี่ปุ่นแล้ว”

รศ.ดร.ทวิดาแจกแจงว่า การทำงานเห็นผลตรวจ Telemedicine Health ผู้ป่วยติดเตียงเข้าถึงทุกบ้าน เข้ารับบริการร้านขายยา สภาเภสัช ศูนย์บริการสาธารณสุขแบ่งเป็นโซน ด้วยมาตรฐานการรักษาพบแพทย์ได้ง่ายขึ้น ใช้แอป หรือจะเลือกเข้ารับการรักษาใน รพ.เครือข่าย ขณะนี้ กทม.อยากทำอาสาสมัครสาธารณสุขเชิงรุกเข้าไปในชุมชน เข้าถึงผู้สูงอายุ มีผู้ดูแล มีกิจกรรม ส่วนกลุ่มวัย 50 ปีขึ้นไปเป็นผู้นำกลุ่มได้ ให้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการสร้างศักดิ์ศรีให้แก่ผู้สูงวัย ทำสินค้า BK Brand สร้างคุณค่าของงานในเชิงเศรษฐกิจ

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. ชี้แจงว่า สสส.สนับสนุนภาคประชาสังคมร่วมกับภาคีเครือข่าย สนับสนุนระบบรองรับและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในพื้นที่ชุมชนและเขตเมือง กทม.อยู่ในลำดับต้นๆ ดึงแกนนำใช้ฐานข้อมูลชี้นำ ตั้งแต่ปี 2559 มีพื้นที่ต้นแบบ 11 ชุมชน อาทิ เขตภาษีเจริญ, เขตห้วยขวาง, วังทองหลาง ฯลฯ ด้วยกระบวนการกลไกพลเมือง (Civic Groups) พัฒนารูปแบบกิจกรรมสุขภาวะเกิดองค์กรสาธารณประโยชน์ ชมรมเครือข่ายผู้สูงอายุ จัดตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุเพื่อการเรียนรู้ความรอบรู้ทางด้านสุขภาพ (Health Literacy) ใน 11 ชุมชน สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายคนสามวัย ธนาคารเวลาเพื่อคนสามวัย การทำงานร่วมกับคน 3 วัย แกนนำเยาวชน ผู้สูงอายุ และวัยทำงานสร้างสุขภาวะร่วมกัน

“การบูรณาการทุกมิติพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุใน กทม.ที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายทั้งปัญหา จำนวนผู้สูงอายุ รวมถึงโครงสร้างการดำเนินงานของ กทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องอาศัยการบูรณาการ ทำงานเชิงรุก รวมทั้งประสานความร่วมมือ ที่ผ่านมา สสส.สนับสนุนงานวิชาการ องค์ความรู้ พัฒนาระบบข้อมูลกับโครงการจุฬาอารี รวมถึงทำงานร่วมกับ กทม.ผ่านสำนักอนามัย สำนักพัฒนาสังคม สำนักงานเขต ศูนย์บริการสาธารณสุข เวทีวิชาการวันนี้จึงมีความสำคัญ ที่ทุกภาคส่วนมาร่วมถอดบทเรียน สอดคล้องตามแผนฯ ระยะที่ 3 ที่ต้องบูรณาการ ทำงานเชิงรุกระหว่างภาคส่วนต่างๆ โดยทั้งนี้จะมอบข้อเสนอแนะต่อ กทม.ที่เกิดจากทุกภาคส่วนร่วมกันถอดบทเรียน อันจะเป็นทิศทางพัฒนาระบบรองรับคุณภาพชีวิตสังคมสูงวัย ให้สอดคล้องตามแผนฯ กทม.ต่อไป” นางภรณีเปิดเผย

การสนับสนุนให้ผู้สูงอายุในเมืองหลวง กทม. 50 เขต และชุมชนได้มีกิจกรรมทางสังคม เข้าถึงบริการทางสุขภาพ โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการออกแบบตามความต้องการของผู้สูงอายุ ด้วยการสำรวจความคิดเห็น ความสนใจสนับสนุนภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วม ในสังคมไทยเราเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบควรมีทางเลือกในการใช้บริการ ปัญหาที่พบผู้ป่วยติดเตียงมีจำนวนไม่มากนัก ไม่สามารถออกไปไหนได้สะดวก ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่ยังแข็งแรงแต่ไม่อยากออกจากบ้าน เพราะไม่มีแรงจูงใจออกมาทำกิจกรรม ถอดบทเรียนการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับชุมชน การดูแลผู้สูงอายุในชุมชนทำโดย กทม. ส่วนภาคประชาสังคมทีมงานวิชาการของจุฬาลงกรณ์ฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมชนน่าอยู่ เพื่อให้เกิดความตื่นตัว.

โครงการจุฬาอารี..เพื่อผู้สูงวัย

ศ.ดร.วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาฯ เปิดเผยว่า โครงการจุฬาอารีให้ความสำคัญกับการป้องกันและดูแลสุขภาพให้ผู้สูงอายุทั่วไปที่ยังมีสุขภาพดี และมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ของสังคม การสร้างความรอบรู้ให้แก่ผู้ดูแล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้ดูแลที่เป็นบุตร ญาติหรือสมาชิกในครัวเรือนผู้สูงอายุ จัดทำคู่มือเอกสาร สิ่งพิมพ์ แผ่นพับ  โปสเตอร์ คลิปวิดีโอ อบรมเชิงปฏิบัติการ

1.ด้านเนื้อหาสาระวิธีการสื่อสาร มุ่งให้ผู้สูงอายุตระหนัก เข้าใจ และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ถ่ายทอดให้กลุ่มเพื่อนผู้สูงอายุ การสื่อสารที่ดีที่สุดคือประธานชมรม หรือแกนนำผู้สูงอายุ เมื่อผู้สูงอายุปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนสุขภาพดีขึ้น กลายเป็นต้นแบบหรือเป็นผู้ที่ไปถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ให้กลุ่มเพื่อนผู้สูงอายุตระหนักและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เป็นอย่างดี

2.พฤติกรรมการรับประทานอาหารตามหลักโภชนาการ และออกกำลังกายให้ถูกต้องและเหมาะสม จะทำให้ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

3.การตรวจสุขภาพทั่วไป เป็นมาตรการป้องกันเชิงรุก แต่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ในชุมชนไม่ได้ตรวจสุขภาพประจำปี ส่วนใหญ่ที่ไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโรคเรื้อรัง ไม่ใช่เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป โครงการจุฬาอารีจัดตรวจสุขภาพทั่วไป ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต จัดทำรายงานแจ้งผลตรวจสุขภาพผู้สูงอายุเป็นรายบุคคล

4.ระบบการดูแลระยะยาว สำหรับผู้สูงอายุติดบ้านและติดเตียง โครงการจุฬาอารีให้ความสำคัญกับการดูและระยะยาว การดูแลเยี่ยมบ้าน เน้นเรื่องการดูแลสุขภาวะของประชาชนในเชิงรุก สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีภาระพึ่งพิง ติดบ้าน ติดเตียง ต้องให้ความสำคัญกับระบบการเยี่ยมบ้านในชุมชนเชิงรุก การดูแลระยะยาว ทั้งนี้ยังมีช่างชุมชนลักษณะจิตอาสาปรับบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย การนำนวัตกรรมหุ่นยนต์ให้แต่ละครัวเรือนในชุมชนแออัดใช้งานได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โชว์ต้นแบบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง ลดฝุ่นอากาศสะอาดทุกลมหายใจ

"อากาศบริสุทธิ์ใน กทม.เป็นจริงได้ ด้วยจุดเปลี่ยนร่วมมือร่วมใจ ให้เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนต้องได้" ด้วยแนวคิดข้างต้น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ทำความรู้จัก “เชื้อดื้อยา” จากผลงานประกวดภาพวาดการ์ตูนคอมมิค

การสื่อสารในประเด็น “เชื้อดื้อยา”เพื่อให้คนส่วนใหญ่ รับรู้ เข้าใจ ถึงผลกระทบ และร่วมกันป้องกัน เป็นเรื่องที่องค์กรที่ทำงานด้านนี้ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง

โฟกัสเชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ งดขายเหล้าเทศกาลพร้อมเป็นตาสับปะรด

เชียงใหม่ต้นแบบความสำเร็จ ทุกเทศกาลประกาศงดขายงดดื่มเหล้า ทราบล่วงหน้า 15 วัน ประชุมหน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือ ภาคประชาสังคมพร้อมใจเป็นตาสับปะรดร้องเรียน

'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน

‘สมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 17’ ปิดฉากชื่นมื่น บรรลุ 2 นโยบายฯ สร้างเศรษฐกิจยุคใหม่

สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17 ปิดฉากลงอย่างชื่นมื่น สมาชิกกว่า 3,000 ชีวิต ให้การรับรอง 2 ระเบียบวาระ “พลิกโฉมกำลังคนเพื่อสังคมสุขภาวะ - การท่องเที่ยวแนวใหม่ สู่สุขภาวะและเศรษฐกิจ

จับตาปลดล็อก..ควบคุมเหล้าเบียร์ กฎหมายใหม่เปิดช่องขายได้ทั่วถึง

รายงานองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2567 ชี้ว่าแนวโน้มการบริโภคแอลกอฮอล์/หัวประชากร และผลกระทบต่อสุขภาพมีความซับซ้อนและแตกต่างกันตามภูมิภาคต่างๆ ที่น่ากังวลคือ ในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีแนวโน้มจะมีการดื่มที่สูงขึ้น