ส่วนหนึ่งของขบวนรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลกภาคอีสานที่ จ.ขอนแก่น (16 ตุลาคม)
ขอนแก่น / เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์รวมพลังคนจน-ชุมชนริมราง-บ้านมั่นคง-คนไร้บ้าน-สลัม 4 ภาค จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องใน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ ที่จังหวัดขอนแก่น โดยส่งตัวแทนร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดร่วมกับ รฟท. เทศบาล พอช. เพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟเส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย ขณะที่ พอช.เดินหน้าสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางนำร่องปีนี้ 14 ชุมชนทั่วประเทศ ใช้งบ 119 ล้านบาท
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’ เริ่มตั้งแต่ปี 2528 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก
วันที่อยู่อาศัยโลกปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม กลุ่ม องค์กร และเครือข่ายที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ฯลฯ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยตลอดช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายนนี้ โดยจัดกิจกรรมขึ้นในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ
ขบวนรณรงค์รอฟังผลการเจรจาแก้ไขปัญหาที่หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น
ประชุมแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดิน รฟท. ขอนแก่น
ล่าสุดวันนี้ (16 ตุลาคม) ที่จังหวัดขอนแก่น เครือข่ายฟื้นฟูประชาสร้างสรรค์ (ขอนแก่น) ร่วมกับพี่น้องเครือข่ายที่อยู่อาศัยในภาคอีสาน เช่น เครือข่ายชุมชนริมราง เครือข่ายบ้านมั่นคง คนไร้บ้าน เครือข่ายสลัม 4 ภาค ฯลฯ จัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกปี 2566 โดยมีตัวแทนกลุ่มต่างๆ ประมาณ 300 คนร่วมเดินรณรงค์จากศาลเจ้าพ่อหลักเมืองขอนแก่นไปยังศาลากลางจังหวัดขอนแก่น และร่วมประชุมกับผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (แขวงการทางรถไฟขอนแก่น) เทศบาลนครขอนแก่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ โดยมีนางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานการประชุม เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนริมรางรถไฟในจังหวัดขอนแก่นที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ
นางสาวธนียา นัยพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องสำคัญ หากพี่น้องไร้ที่อยู่อาศัยที่เป็นหลักแหล่งก็เป็นเรื่องยากที่จะพัฒนาชีวิตให้มีคุณภาพได้ ที่ผ่านมาทางจังหวัดขอนแก่นก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามแก้ปัญหาเรื่องนี้มาโดยตลอด ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของหน่วยงานรัฐอื่น เช่น การรถไฟ กรมธนารักษ์ เป็นต้น ซึ่งในวันนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่รับผิดชอบในแต่ละด้านไปช่วยกันแก้ไขปัญหาให้พี่น้องในชุมชน ไม่ว่าจะเป็น เรื่องระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา เป็นต้น
ส่วนประเด็นที่มีการประชุมเพื่อหารือแก้ไขปัญหา เช่น 1.กรณีที่ดินสาธารณะชุมชนหลักเมือง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานที่ดินจังหวัดขอนแก่น, เทศบาลนครขอนแก่น 2.เรื่องระบบสาธารณูปโภคชุมชนในเขตของการรถไฟฯ ที่มีสัญญาเช่าที่ดิน เช่น ท่อระบายน้ำ, ไฟฟ้า,ประปา , ชุมชนพัฒนาเทพารักษ์โซน1 ชุมชนเทพารักษ์ 5 ชุมชนหนองวัด 2 ริมราง มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ การรถไฟฯ เทศบาลนครขอนแก่น
3.เรื่องทางเข้า-ออกชุมชนหนองแวงใหม่ที่ได้สัญญาเช่าในที่ดินการรถไฟฯ บริเวณย่านสถานีรถไฟสำราญ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เทศบาลตำบลศิลา สำนักงานทางหลวงที่7 กรมทางหลวงขอนแก่น 4.เรื่องการจดจัดตั้งสหกรณ์ในการเช่าที่ดินกับการรถไฟฯ 5.เรื่องการหาที่ดินใหม่รองรับให้กับพี่น้องชุมชนริมรางรถไฟเทศบาลเมืองศิลา ฯลฯ
นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กล่าวว่า แผนงานการแก้ไขปัญหาชุมชนผู้มีรายได้น้อยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง คือ รถไฟความเร็วสูง (กรุงเทพฯ - หนองคาย) ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น-หนองคาย รวม 5 จังหวัด 61 ชุมชน จำนวน 3,899 หลังคาเรือน
โดยที่ผ่านมา พอช.ได้จัดทีมปฏิบัติงานเดินหน้าแก้ไขปัญหาและพัฒนาที่อยู่อาศัยชาวชุมชนริมทางรถไฟนำร่องในพื้นที่ต่างๆ เช่น ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง จ.นครราชสีมา 166 ครอบครัว ชุมชนริมทางรถไฟในเขต อ.เมือง จ.ขอนแก่น 169 ครอบครัว โดย พอช.จะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยให้แก่ชุมชนที่ต้องรื้อย้ายออกจากแนวรางรถไฟตามโครงการบ้านมั่นคง เช่น ส่งเสริมกระบวนการรวมกลุ่มเพื่อแก้ปัญหา การจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเพื่อบริหารโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย อุดหนุนงบประมาณก่อสร้างบ้าน สินเชื่อก่อสร้างบ้าน ฯลฯ ขณะที่ รฟท.จะอนุญาตให้ชาวชุมชนเช่าที่ดินเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ระยะเวลา 30 ปี (เช่าที่ดินผ่าน พอช.)
นางสาวธนียา รอง ผวจ.ขอนแก่น (ที่ 4 จากซ้าย) และนายสยาม ผช.ผอ.พอช. (ที่ 5 จากซ้าย) เจรจากับผู้ชุมนุม
เส้นทางการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.ทั่วประเทศ
ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2561 เช่น โครงการรถไฟรางคู่ในภาคใต้ รถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ฯลฯ ทำให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและประชาชนที่อาศัยอยู่สองข้างทางรถไฟ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และเครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงร่วมกันเจรจาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย จนคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ปัญหา
โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ ในพื้นที่ 35 จังหวัด 300 ชุมชน จำนวน 27,084 ครัวเรือน ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ
โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ พอช. จัดทำแผนงานรองรับ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ส่วน รฟท.จะอนุญาตให้ชุมชนเช่าที่ดิน รฟท. ผ่าน พอช. เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่
ชาวชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี กรุงเทพฯ ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ในระหว่างการเตรียมการเช่าที่ดิน รฟท.ย่านบึงมักกะสันเพื่อสร้างบ้าน-ชุมชนใหม่
ความคืบหน้าและข้อเสนอจากชาวริมทางรถไฟ
โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง พอช.มีแผนดำเนินการภายใน5 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570 ขณะนี้ชุมชนต่างๆ จำนวน 300 ชุมชน 35 จังหวัด จำนวน 27,084 ครัวเรือน (ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ) ขณะนี้ พอช.และภาคีเครือข่ายกำลังเร่งสำรวจข้อมูลชุมชน ครัวเรือน เพื่อจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท. (กรณีอยู่ในที่ดินเดิมได้) หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีอุปสรรคบางประการในการทำงาน เช่น ชาวบ้านบางส่วนยังไม่เชื่อว่าจะมีโครงการพัฒนาระบบรถไฟ ยังไม่เข้าร่วม ฯลฯ ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา เครือข่ายชุมชนริมราง สลัม 4 ภาค จึงเจรจาร่วมกับ รฟท. และ พอช. โดยมีข้อสรุปเพื่อเร่งรัดการดำเนินการ เช่น ให้ รฟท.และ พอช. จัดตั้งคณะทำงานร่วมลงไปในพื้นที่ เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจกับกับชุมชนให้รวดเร็วขึ้น
การจัดเวทีเสวนาแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท. เมื่อกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่ พอช. กรุงเทพฯ
โดย รฟท. และ พอช. จะทำแผนปฏิบัติการ หรือ action plan และเร่งดำเนินการใน 3 ระยะ คือ 1. ให้ชุมชนแจ้งความจำนงค์ว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ 2. ต้องดำเนินการให้เช่าที่ดิน รฟท. ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2571 และ 3.เมื่อสิ้นสุดงบประมาณปี 2570 ต้องวางแผนว่า จากจำนวนครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ 27,084 ครัวเรือน จะเข้าร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยจำนวนเท่าไหร่ ?
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากเครือข่ายชุมชนริมทางรถไฟในประเด็นต่างๆ เช่น การโดนคดีฟ้องร้องข้อหาบุกรุกที่ดิน รฟท. อยากให้ รฟท.เจรจากับชุมชนก่อน เพราะปัจจุบันมีคณะทำงานร่วมกันระหว่างชาวชุมชนกับ รฟท.แล้ว เสนอให้ต่อระยะเวลาการทำโครงการเรื่องที่อยู่อาศัยของ พอช.เกิน 5 ปี (เดิมภายในปี 2566-2570)
เร่งรัดการจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท. สำหรับชุมชนที่ดำเนินการยื่นขอเช่าที่ดิน และจัดทำ ทด.3 เรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่แปลงสถานีสำราญ สถานีขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น , พื้นที่แปลงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ , พื้นที่แปลงที่ดินจังหวัดตรัง 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา ชุมชนทางล้อ และชุมชนคลองมวน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงวันที่อยู่อาศัยโลกเมื่อ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ผู้แทนกระทรวงคมนาคมได้มอบสัญญาเช่าที่ดินให้แก่ชุมชนต่าง ๆ นำร่อง จำนวน 4 ชุมชน คือ ชุมชนหนองแวงตาชู จ.ขอนแก่น 106 ครัวเรือน ที่ดิน 8,520 ตารางเมตร ชุมชนริมทางรถไฟในจังหวัดตรัง 3 ชุมชน รวม 133 ครัวเรือน เนื้อที่รวมกว่า 10,000 ตารางเมตร ระยะเวลาเช่า 30 ปี ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2566-31 ตุลาคม 2596 อัตราค่าเช่าผ่อนปรนตารางเมตรละ 9 บาท
โดยในปีนี้ พอช. มีแผนดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมรางรถไฟนำร่องจำนวน 14 ชุมชนทั่วประเทศ รวม 883 ครัวเรือน ใช้งบประมาณทั้งหมด 119 ล้านบาทเศษ ส่วนที่เหลือจะเร่งดำเนินการในปี 2567 เป็นต้นไป
ผู้แทน 4 ชุมชนที่ได้รับมอบสัญญาเช่าที่ดิน รฟท.จากผู้แทนกระทรวงคมนาคม เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่หน้ากระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก
*********
เรื่องและภาพ : ธิปไตย ฉายบุญครอง สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา