‘วราวุธ’ รมว. พม. จับมือ ‘ชัชชาติ’ ผู้ว่า กทม.ทำงานร่วมกัน ตั้งคณะทำงานร่วม 7 ด้านแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเมือง

นายชัชชาติ  ผู้ว่าฯ กทม. และนายวราวุธ รมว.พม.

กระทรวง พม. / รมว. กระทรวง พม.จับมือ ผู้ว่าฯ กทม. บูรณาการการทำงานร่วมกัน  แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในเมือง  กลุ่มเปราะบาง  ตั้งคณะทำงานร่วม 7 ด้าน  ตั้งแต่ด้านเด็ก  เยาวชน  สตรีและครอบครัว  ผู้สูงอายุ  คนพิการ  คนขอทาน  คนไร้บ้าน ด้านที่อยู่อาศัยทำที่พักเช่าราคาถูกสำหรับคนทำงานในเมือง ฯลฯ  เริ่มภายในปีนี้

เมื่อบ่ายวันที่ 12 ตุลาคม  ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.  และนายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาคนไร้บ้าน คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ โดยมีนายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. คณะผู้บริหารกระทรวง  พม. และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครร่วมประชุมหารือ

การประชุมร่วมระหว่างคณะผู้บริหาร กทม.กับ พม.

หลังจากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายแถลงข่าวร่วมกัน  โดยนายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.พม.กล่าวว่า  ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา  กระทรวง พม.กับ กทม.ไม่มีการทำงานที่ใกล้ชิดกัน  แต่จากนี้ต่อไปจะทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น  รวดเร็วและต่อเนื่องมากขึ้น  โดยจะมีการตั้งคณะทำงานร่วมขึ้นมา 7 คณะ  เช่น  คณะทำงานด้านที่อยู่อาศัย  ซึ่งในส่วนของกระทรวง พม.จะมีการเคะแห่งชาติและสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ที่กระทรวงดูแลอยู่  มีคณะทำงานด้านคนพิการ  ด้านคนขอทาน  คนไร้บ้าน   ด้านเด็กและเยาวชน  ด้านผู้สูงอายุ  ด้านสตรีและสถาบันครอบครัว ฯลฯ  คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะแต่งตั้งคณะทำงานแต่ละด้านขึ้นมาได้  โดยตนและผู้ว่า ฯ กทม.จะคอยติดตามความก้าวหน้า

รมว.พม. กล่าวต่อไปว่า  ข้อมูลต่างๆ ที่ กทม.มีอยู่จะสามารถเชื่อมต่อกับดาต้าเบสที่กระทรวง พม.มีอยู่ได้  เมื่อฐานข้อมูลของแต่ละฝ่ายเชื่อมกันได้  เช่น  ข้อมูลคนไร้บ้าน  ผู้สูงอายุ  คนพิการ  ฯลฯ ข้อมูลดาต้าเหล่านี้จะแปลงมาเป็นระบบสารสนเทศให้ข้าราชการของกระทรวง พม.และ กทม. สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดี  เพราะมิติของกระทรวง พม.กับ กทม.มีความใกล้เคียงกัน  ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย  คนพิการ  การดูแลคนขอทาน  ฯลฯ

“การแก้ไขปัญหาต่างๆ เหล่านี้  เช่น  เรื่องคนขอทาน  อาจจะไม่ใช่เรื่องของกระทรวง พม.และ กทม. เพียงอย่างเดียว  อาจจะต้องมีคณะทำงานหรือหน่วยงานอื่นของรัฐมาร่วมมือ  รวมทั้งเรื่องเด็กและเยาวชน  และสถาบันครอบครัว  ซึ่งวันนี้ถือเป็นภารกิจอันดับหนึ่งที่กระทรวง พม.และ กทม.จะป้องกันแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสังคม  การที่พ่อแม่จะใส่ใจกับลูก  การสร้างสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดในครอบครัว  จะเป็นบ่อเกิดในการป้องกันปัญหาที่เราไม่อยากจะให้เกิด  และคาดว่าภายในปีนี้คงจะมีกิจกรรมดีๆ ระหว่างกระทรวง พม.กับ กทม.เกิดขึ้น”  นายวราวุธ รมว.พม.กล่าว

นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์  ผู้ว่า ฯ กทม. กล่าวว่า  กระทรวง พม.กับ กทม.มีภารกิจที่สอดคล้องกันจำนวนมาก   ซึ่งหัวใจสำคัญก็คือ การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในเมืองที่เป็นปัญหาหลัก  ซึ่งเป็นหน้าที่ของกระทรวง พม. โดยตรง      ทั้งเรื่องกลุ่มเปราะบาง  เรื่องเด็ก  วัยรุ่น  คนทำงาน  ผู้สูงอายุ  คนพิการ  คนด้อยโอกาสต่างๆ  โดยภารกิจเร่งด่วนลำดับหนึ่ง  คือ  การแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกัน 7 คณะ  โดยจะเน้นเป้าหมายให้ชัดเจนว่า 1-2 ปีนี้จากนี้จะเห็นผลรูปธรรมที่ชัดเจนคืออะไร ?  เพื่อให้คนทำงานทุ่มเททรัพยากรและความรู้ต่างๆให้บรรลุเป้าหมาย  ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าจะรู้เป้าหมายของคณะทำงานแต่ละด้านที่ชัดเจน  เช่น  คนไร้บ้านจะทำอะไร  ?  เรื่องผู้สูงอายุ  เด็ก  สตรี ควรจะมีเป้าหมายอะไร ?

นายชัชชาติกล่าวต่อไปว่า  เรื่องเร่งด่วนลำดับที่สองคือ  การทำฐานข้อมูล  เพราะหากไม่มีข้อมูลจะทำงานลำบาก   ซึ่งกระทรวง พม.และ กทม.จะเอาฐานข้อมูลมารวมกันให้เป็นระบบดิจิทัล  เพื่อให้รู้ว่ากลุ่มเปราะบางต่างๆ  เช่น คนพิการ  คนไร้บ้าน  คนขอทาน  มีจำนวนเท่าไหร่

“เรื่องที่สาม  คือเรื่องคนไร้บ้าน  ซึ่งในกรุงเทพฯ มีจำนวนคนไร้บ้านลดน้อยลง  แต่จะไปอยู่หนาแน่นที่ถนนราชดำเนิน  โดย กทม.และ พม.ร่วมกันดูแลคนไร้บ้านบริเวณนี้  และจะจัดหาที่อยู่อาศัยให้เหมาะสม  ซึ่งขณะนี้กำลังดูพื้นที่บริเวณแยกแม้นศรี  และไม่ใช่จะแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ  แต่จะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  คือเรื่องเศรษฐกิจ  หาอาชีพ  เพื่อให้คนไร้บ้านอยู่ได้อย่างสง่างามในสังคม  และมีความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สิน”  นายชัชชาติ  ผู้ว่าฯ กทม. กล่าว

กระทรวง พม.ให้คำปรึกษาช่วยเหลือคนไร้บ้านร่วมกับ กทม. บริเวณใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า (ภาพจากศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง กทม.)

ผู้ว่าฯ  กทม. ยังกล่าวถึงปัญหาเรื่องชุมชนบุกรุก  เรื่องการสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัย  โดยจะเน้นที่ชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร ซึ่ง กทม.ทำงานร่วมกับ พอช.มาตลอด  โดยจะเร่งรัดให้เห็นผลรูปธรรมที่ชัดเจนต่อเนื่อง   เช่น  จะมีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนว่าปีนี้จะดำเนินการกี่หลัง ปีหน้ากี่หลัง  เพื่อให้การทำงานชัดเจนขึ้น 

นอกจากนี้ยังมีโครงการบ้านเช่าราคาถูก  สำหรับคนทำงาน  หรือคนเรียนจบใหม่ที่ทำงานในเมือง แต่บ้านอยู่ไกล เพื่อไม่ต้องเดินทางไกล  ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น  แต่ไม่ได้ให้อยู่ถาวร  เช่น  ให้อยู่ 5 ปี  เมื่อเข้มแข็งแล้วย้ายออกไป เพื่อให้คนใหม่เข้ามาอยู่  ฯลฯ ซึ่งโครงการต่างๆ เหล่านี้จะร่วมมือกับ พม.ให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น

“มีโครงการจำนวนมากที่สามารถทำได้  โดยไม่ต้องใช้งบประมาณมากมาย  ใช้เทคโนโลยี  เปลี่ยนวิธีคิด  และหาแนวร่วมจากภาคเอกชน  ซึ่งผมเชื่อว่าการร่วมมือของสองหน่วยงานจะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม  และเกิดประโยชน์กับพี่น้อง  โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางได้อย่างรวดเร็ว”  นายชัชชาติ  ผู้ว่า ฯ กทม. กล่าวในตอนท้าย

การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรที่ พอช.ดำเนินการ  ทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง  ดำเนินการแล้วประมาณ 50 ชุมชน  สร้างบ้านเสร็จแล้วเกือบ 5,000 ครัวเรือน

****************

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายกฯกดปุ่ม 30 รักษาทุกที่ โว 98%พอใจนโยบาย ผ่านมานับสิบปียังมีคนขอบคุณ

นายกฯกดปุ่ม 30 รักษาทุกที่ ตั้งเป้าปีนี้ครอบคลุมทั่วประเทศ โว98%พอใจนโยบาย ผ่านมานับสิบปียังมีคนขอบคุณ เผยสมัย 'พ่อแม้ว' นั่งนายกฯ ภาคภูมิใจชาวบ้านปลื้มผ่าตัดโรคหัวใจฟรี