“ดิน น้ำ ลม ป่า” สมบูรณ์พูนสุข ด้วยการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

การพัฒนาประเทศหลากหลายโครงการที่เกี่ยวกับดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ ประมง และปศุสัตว์ ปัจจัยพื้นฐานในการประกอบอาชีพของประชาชนชาวไทย ได้รับการขยายผลก่อเกิดความอุดมสมบูรณ์เอื้อต่อการดำรงชีพสร้างมิติอยู่ดีมีสุขอย่างกว้างขวางในปัจจุบันนั้น ได้เกิดขึ้นหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อพุทธศักราช 2494 ประทับในพระราชอาณาจักรเป็นการถาวรแล้ว

พระราชกรณียกิจรากฐานการพัฒนาที่ประชาชนคนไทยพึงได้รับเกิดขึ้นโดยทั่วถ้วนนับตั้งแต่การแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่าไม้ เพื่อใช้เป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิต ทรงหาแนวทางในการปรับปรุง รักษา พัฒนา และต่อยอดให้ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้อยู่ในสภาพที่ดียิ่งขึ้น เพื่อให้ประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์โดยเฉพาะดินและน้ำ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการผลิตพืชผลทางการเกษตร ทรงแก้ปัญหาดินมาอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรมทั้งดินเปรี้ยว ดินเค็ม ดินทราย ดินแข็ง ดินที่ถูกชะล้างพังทลาย เฉกเช่นเดียวกับน้ำ ทรงตระหนักถึงความสำคัญของน้ำที่เสมือนต้นทุนหลักของชีวิตที่ได้รับการพัฒนาควบคู่ไปกับการจัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาเป็นกรณี ๆ ตามสภาพปัญหาของพื้นที่นั้น ๆ แนวพระราชดำริในการแก้ไขปัญหาเรื่องดิน เช่น ดินทราย ก็เพิ่มกันชนให้ดินคือเพิ่มความชื้นและเพิ่มอินทรียวัตถุที่จะทำหน้าที่เสมือนกันชนให้ดิน ตัวอย่างเห็นได้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อนอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นความสำเร็จที่สามารถแก้ไขปัญหาดินทรายมีแร่ธาตุน้อย ส่วนดินพรุ หรือดินเปรี้ยว ก็ทำให้ดินโกรธโดยการแกล้งดิน ตัวอย่างที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส และอีกหนึ่งในพระปรีชาสามารถด้านการแก้ปัญหาเรื่องดิน คือ การใช้หญ้าแฝกมาช่วยแก้ปัญหา จากพืชที่เคยถูกมองข้าม กลายเป็นพืชมหัศจรรย์ในเวลาต่อมาจนผลความสำเร็จปรากฏชัดจากโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่มากมาย

น้ำอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพชีวิตของประชาชน ทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและเพื่อการประกอบอาชีพ  ดังเช่น ฝนหลวง ที่ช่วยให้เกษตรกรที่ต้องประสบปัญหาภัยแล้งมีน้ำในการเพาะปลูกโดยนำน้ำที่อยู่ในชั้นบรรยากาศมาใช้ด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการควบคุมน้ำฝนให้ตกในพื้นที่เป้าหมาย อันเป็นที่มาของฝนหลวง หรือแม้แต่การแก้ปัญหาน้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ที่ทำให้เกษตรกรไม่สามารถประกอบอาชีพด้านการเกษตรได้อย่างเต็มศักยภาพ ตัวอย่างที่พระราชทานแนวทางแก้ปัญหา คือ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราช และอีกหนึ่งในพระราชดำริคือโครงการแก้มลิง เป็นการระบายน้ำวิธีหนึ่งที่พระองค์ทรงน้ำมาใช้แก้ปัญหาอุทกภัยอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิผลยั่งยืนในทุกพื้นที่ แม้ในยามที่น้ำเน่าเสีย ก็ทรงหาวิธีแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางธรรมชาติ เช่น การใช้ผักตบชวาเพื่อดูดซับความสกปรก หรือการใช้วิธีการทางกลศาสตร์ที่ทรงคิดค้นเครื่องกลเติมอากาศหลายรูปแบบ เป็นที่รู้จักในชื่อ กังหันน้ำชัยพัฒนา

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ครอบคลุมอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเฉพาะศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ที่พระราชทานไว้นั้นเป็นดั่งมรดกให้ลูกหลานชาวไทยได้ใช้เป็นต้นแบบในการประกอบอาชีพจากองค์ความรู้ที่เกิดจากการศึกษา วิจัย ทดลองทั้งดิน น้ำ ป่า พลังงานทดแทน และการประกอบอาชีพภายใต้บริบทของภูมิสังคมที่แตกต่างกัน พร้อมนำผลขยายสู่การปฏิบัติใช้ของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ปัจจุบันพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอดโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ทำหน้าที่ในการสนองพระราชดำริและประสานการดำเนินงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีอยู่มากมายให้เกิดสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ทรัพยากรธรรมชาติกลับมาอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน และวันที่ 13 ตุลาคม 2566 เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือเรียกว่า “สัตตมวรรษ” เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลขอพระราชทานพระมหากรุณาของทุกปีสืบไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เตรียมพบกับคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์ครั้งยิ่งใหญ่ 'H.M. Blues'

ปรากฏการณ์ดนตรีแจ๊สครั้งสำคัญที่คนไทยจะได้ร่วมรำลึกถึงพระอัจฉริยภาพทางด้านดนตรีแจ๊สของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงแจ๊สที่มีคุณค่าเป็นจำนวนมาก

ขยายผลพื้นที่และจำนวนประชากรรับประโยชน์ องค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาฯ และศูนย์สาขา

ในปี 2567 สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) เดินหน้าสร้างความอยู่ดี กินดี ของประชาชนไทยโดยการสร้างต้นแบบเกษตรกรที่ได้รับองค์ความรู้จากศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และศูนย์สาขาฯ ที่ได้นำผลจากการศึกษา ทดลอง

เอกลักษณ์ คน กปร. ตัวคูณ ร่วมสืบสาน รักษา และต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

สำนักงาน กปร. เดินหน้า 10 ปี ต่อเนื่อง โครงการศึกษาอบรมหลักสูตรนักบริหารการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (นบร.) ก้าวสู่รุ่นที่ 12 และหลักสูตรนักพัฒนาตามแนวพระราชดำริ (พพร.) รุ่นที่ 11 ภายใต้โครงการ RDPB Talk ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

43 ปี "อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" สร้างสุข สู่รอยยิ้ม และความยั่งยืน

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศนั้น มีส่วนสำคัญต่อการเสริมแผนงานต่าง ๆ ของรัฐบาลและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง อันเป็นผลจากพระราชกรณียกิจ

ยึดมั่นแนวพระราชดำริ สู่ “ศูนย์เรียนรู้” ทำเกษตรแบบผสมผสาน

ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี เป็นพื้นที่เขตอับฝน ในอดีตมีการตัดไม้เพื่อทำถ่านขายโดยไม่มีการปลูกทดแทน อีกทั้ง

เสนอพระนาม 'ในหลวง ร.9' ให้ยูเนสโกประกาศยกย่อง ฉลอง 100 ปี วันพระบรมราชสมภพ ในปี 2570

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ประชุม ครม.เห็นชอบหลักการเสนอพระนามพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช