เราต่างทราบกันดีว่าโลกกำลังเผชิญกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ “เอลนีโญ” ซึ่งสร้างผลกระทบต่อสภาพอากาศอย่างรุนแรง ตลอดจนสิ่งมีชีวิต ระบบนิเวศ และการดำรงชีวิต โดยเริ่มแผลงฤทธิ์ตั้งแต่ช่วงต้นปีทำให้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หลายประเทศมีอากาศร้อนจัดจนทุบสถิติ น้ำทะเลมีอุณภูมิสูงขึ้นทำให้แนวปะการังน้ำตื้นได้รับผลกระทบอย่างหนักส่งผลให้ปะการังตายจำนวนมาก
ข้อมูลจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ชี้ว่าประเทศไทยเข้าสู่ปรากฎการณ์เอลนีโญตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ซึ่งสร้างผลกระทบที่เด่นชัดในกรกฎาคมที่ผ่านมาทำให้ฝนตกน้อยกว่าปกติ และคาดว่าจะทวีความรุนแรงในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงมกราคม 2567 นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมคาดการณ์ว่าปีหน้าคนที่อาศัยในกรุงเทพฯและพื้นที่ทางภาคเหนือของไทยจะต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศซึ่งเกิดจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 อย่างหนักหน่วง เนื่องจากปรากฎการณ์เอลนีโญจะทำให้ฝนตกน้อยและเกิดความแห้งแล้งมากกว่าปกติ ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดไฟป่าหรือการเผาในที่โล่งแจ้งจากภาคการเกษตรจึงเพิ่มขึ้น
กรมควบคุมมลพิษ ได้ดำเนินการปรับค่ามาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในบรรยากาศให้เข้มข้นมากขึ้น จากเดิมต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ปรับลงมาเป็น จะต้องไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา
กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมบังคับใช้มาตรฐานยูโร 5 ดีเดย์ 1 มกราคม 2567 เพื่อควบคุมสารมลพิษจากรถยนต์ขนาดเล็กที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและรถยนต์ขนาดใหญ่ทั้งที่ใช้เครื่องยนต์เบนซินและดีเซลเพื่อยกระดับการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน
ดร. ศักดา ตรีเดช ผู้อำนวยการส่วนนวัตกรรมคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ สังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับฝุ่นพิษในการสัมมนาหัวข้อ “Air Pollution Innovation Exchange: Shaping a Sustainable Future” ซึ่งมี ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย จัดขึ้นในงาน Sustainability Expo 2023 มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน ภายใต้แนวคิด “พอเพียง ยั่งยืน เพื่อโลก” ระหว่าง 29 กันยายน ถึง 8 ตุลาคม 2566 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ โดยกล่าวว่ากรมฯ เน้นการสร้างเครือข่ายการติดตามตรวจวัดคุณภาพอากาศ ซึ่งปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ 87 สถานี และกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการติดตั้งเพิ่มอีก 9 สถานีพร้อมหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เฉพาะกิจตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน (mobile unit) นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบการพยากรณ์สภาพอากาศล่วงหน้า 7 วัน ระบบบริหารจัดการเผาผ่านแอปพลิเคชัน และการนำเสนอข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม
“ระบบการพยากรณ์สภาพอากาศจะสามารถช่วยประชาชน โดยเฉพาะคนกลุ่มเปราะบางวางแผนในการใช้ชีวิตกลางแจ้งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจเกิดจากฝุ่นพิษ และยังสามารถตรวจวัดได้ว่าลมพาฝุ่นมาจากทิศทางไหน เรานำนวัตกรรมชั้นสูงมาใช้ในการทำนายสภาพอากาศ และร่วมมือกับ สวทช.และกรมอุตุนิยมวิทยา ในการประมวลผล และการแจ้งเตือน”
นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้รับซื้อวัสดุชีวมวล เศษวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรจากเกษตรกรเพื่อสร้างแรงจูงใจให้หลีกเลี่ยงการเผาซึ่งเป็นสาเหตุอันดับ 2 ที่ทำให้เกิดมลพิษทางอาการศในกรุงเทพฯ รองจากควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ โดยได้เพิ่มฟีเจอร์การรับซื้อวัสดุชีวมวลใน Burn Check App ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับประชาชน เกษตรกร ในการลงทะเบียนการเผากำจัดวัชพืชเพื่อไม่ให้มีการเผากระจุกตัว ลดปัญหามลพิษทางอากาศซึ่งเป็นการขจัดปัญหาที่ต้นตอ
“ห้ามประชาชน เกษตรกร เผาเศษวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร วัสดุชีวมวลทำได้ยากมาก ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ เราจึงเปลี่ยนเป็นการรับซื้อแทน”
ที่ผ่านมารัฐบาลมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 อย่างต่อเนื่อง โดยใช้หลายแนวทางเพื่อควบคุมมลพิษทางอากาศเน้นการทำงานแบบบูรณาการและขอความร่วมมือจากภาคประชาชน ทั้งยังได้ยกระดับมาตรการในการป้องกันและแก้ไขโดยการใช้กฎหมายจัดการแหล่งกำเนิดมลพิษ คือ การลดการระบายไอเสียจากรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล การควบคุมการเผาไหม้เชื้อเพลิง การเผาวัสดุทางการเกษตร การเผาป่า และเผาขยะในพื้นที่
“เราถอดบทเรียนการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายและมาตรการที่บังคับใช้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
พิพากษา ธเนศถาวรกุล ผู้ประสานงาน บริษัท คนกล้าคืนถิ่น วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กล่าวว่า “บริษัทฯ ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) พัฒนานวัตกรรมเพื่อดัดแปลงรถยนต์เก่าของ กทม. เป็นรถไฟฟ้า และนำเครื่องยนต์ดีเซลมาดัดแปลงเป็นเครื่องทุ่นแรงทางการเกษตรซึ่งขับเคลื่อนโดยพลังงานชีวมวล ทั้งยังพัฒนานวัตกรรมทางสังคมโดยการสร้างแพลตฟอร์มการออกแบบพื้นที่และการปลูกต้นไม้ซึ่งสามารถวิเคราะห์ว่าพื้นที่ไหนเหมาะกับการปลูกพืชชนิดใด วัดปริมาณคาร์บอนเครดิต ปริมาณการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกของต้นไม้ โดยโครงการนี้มุ่งสนับสนุนคนรุ่นใหม่หวนกลับไปทำการเกษตรแบบยั่งยืนที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมในชนบท บ้านเกิด เพื่อสร้างระบบนิเวศขนาดจุลภาค (micro ecosystem) ทั่วประเทศ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปประยุกต์ใช้ร่วมกับวิถีเกษตรในพื้นที่เป็นการช่วยเหลือชุมชน ชนบท และเกษตรกร
“คนรุ่นใหม่ไม่ได้หมายถึงคนอายุน้อย แต่หมายถึงคนที่มีมุมมองในการทำการเกษตรรูปแบบใหม่ที่เน้นความยั่งยืนเป็นหลัก เราเชื่อว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงและนำพาไปสู่ความยั่งยืนได้ โครงการนี้เราเน้นการพัฒนาบุคคลเป็นหลัก ปัญหาจากภาคการเกษตรและการขนส่ง การจราจร ล้วนแล้วเกิดจากคนทั้งสิ้น” FHI 360 องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรด้านการพัฒนามนุษย์ซึ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนร่วมแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM.2.5 เช่นกัน
คณาเดช ธรรมนูญรักษ์ ที่ปรึกษาสายงานสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่าองค์กรฯ ร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียทำงานวิจัยเกี่ยวกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และร่วมกับกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA) เพื่อสำรวจความเปราะบางของระบบสาธารณสุขไทย ตลอดจนความพร้อมในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) ทั้งยังทำงานร่วมกับองค์กรภาครัฐ ได้แก่ สสส. กทม. กระทรวงสาธารณสุขให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการกำหนดแนวทางการแก้ไขและบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กเพื่อฝ่าวิกฤตฝุ่นอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้ องค์กรฯ ยังจัดทำโครงการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในเมืองกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล ผ่านโครงการและกิจกรรม หนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญคือการพัฒนานวัตกรรมปอดเทียม (artificial lung) ทำจากไส้กรองอากาศ เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบด้านสุขภาพของฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5
“เราติดตั้งปอดเทียมไว้หน้ากระทรวงสาธารณสุข เมื่อเวลาผ่านไปไส้กรองสีขาวเปลี่ยนเป็นสีดำ เราต้องการแสดงให้เห็นว่าการสูดอากาศที่เป็นพิษอย่างต่อเนื่องจะทำร้ายปอดของเรา เพราะบางคนไม่สามารถเชื่อมโยงค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของพวกเขา ทั้งยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบของฝุ่นพิษเพราะไม่ได้ทำให้เสียชีวิตในทันที แต่เป็นผลระยะยาว เราวางแผนจะนำโครงการนี้ไปประยุกต์ใช้ในประเทศไทยเช่นกัน”
องค์กรฯ ยังทำกิจกรรมร่วมกับภาคพลเมืองจัดทำเครื่องวัดสภาพอากาศต้นทุนต่ำ จัดทำโครงการบ่มเพาะผู้ประกอบการโดยทำร่วมกับพันธมิตร และสตาร์ทอัพ เพื่อส่งเสริมการคิดค้น พัฒนานวัตกรรม เทคโนโลยีมาใช้แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น เช่น เครื่องดักจับควันดำรถยนต์โดยใช้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ (AI-driven smoke detector) ซึ่งช่วยลดการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และลดงบประมาณของภาครัฐ
“การแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษเป็นหนึ่งในพันธกิจขององค์กรเราในประเทศไทย เราจะยังคงเดินหน้าทำงานอย่างต่อเนื่องกับพันธมิตรด้านสิ่งแวดล้อม ต่อยอดงานวิจัย และสร้างสรรค์กิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยให้ประเทศรับมือกับปัญหาฝุ่นได้อย่างยั่งยืน”
ประเทศไทยจะสามารถฝ่าวิกฤตฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ซึ่งทวีความรุนแรงเนื่องจากปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” ที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศของโลก และจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส สร้างประเทศใหม่ไร้ฝุ่นได้หรือไม่ คงต้องจับตามาตรการ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ที่นำมาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหารับมือว่าจะ “ปัง” หรือ “แป้ก” แล้วคุณล่ะพร้อมหรือยังกับชีวิตที่ต้องเปื้อนฝุ่น (พิษ) เมื่อฤดูหนาวซึ่งเป็นฤดูกาลของฝุ่นพิษ และการเผาป่ากำลังจะมาถึง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เตรียมใจยังร้อนกันอีกยาว 'เอลนีโญ'ส่อหวนกลับมาเร็ว
จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศการติดตามและการคาดหมายปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยมี 4 ปรากฏการณ์ ประกอบด้วย ปรากฏการณ์เอนโซ El Nino Southern Oscillation (ENSO) ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ปรากฏการณ์ Madden Julian Oscillation (MJO) และลมมรสุม (Monsoon) นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรว
ทะเลเดือดของจริง! 'ดร.ธรณ์' เผยอ่าวไทยร้อนเกิน 32 องศา อุณหภูมิน้ำสูงจนน่าสะพรึง
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า ทะเลเดือดของจริงมาถึงแล้วแม่เจ้าเอ๊ย เตือนเพื่อนธรณ์มาตั้งแต่ปีก่อน เอลนีโญบวกโลกร้อนจะทำให้ทะเลเดือด เ
ยุคโลกเดือด! 'ดร.ธรณ์' เตือนรับมือ 'เอลนีโญ' ปีนี้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โมเดลล่าสุดทำนายว่า ปีนี้เอลนีโญอาจทำให้เมืองไทยร้อนเป็นประวัติการณ์