ร้อยเอกธรรมนัส รมว.เกษตรฯ รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาพีมูฟพบกลุ่มผู้ชุมนุมด้านหลังทำเนียบรัฐบาล (10 ตุลาคม)
ทำเนียบรัฐบาล / การประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ครม.รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ ‘พีมูฟ’ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน 10 ด้าน โดยกระทรวง พม.และ พอช. รับผิดชอบร่วมกับหน่วยงานต่างๆ แก้ไขปัญหา 4 ด้านคือ ที่ดิน-คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม, ฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์, รัฐสวัสดิการ และที่อยู่อาศัย
ตามที่เครือข่ายภาคประชาชนในนาม ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ (ขปส.) หรือ ‘P-Move’ (People Movement) ซึ่งประกอบด้วยประชาชนที่มีความเดือดร้อนกลุ่มต่างๆ เช่น เครือข่ายสลัม 4 ภาค สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กลุ่มชาติพันธุ์ ชาวกะเหรี่ยง ชาวเล ฯลฯ ได้ชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลรวม 10 ด้าน ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา ที่บริเวณประตู 5 (ด้านหลังทำเนียบรัฐบาล ถนนราชดำเนินนอก) และได้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายรัฐบาล นำโดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม
‘ภูมิธรรม’ รองนายกฯ เป็นแม่ทัพแก้ปัญหาพีมูฟ
ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ในการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล ครม.ได้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างต่อเนื่องตามอำนาจและหน้าที่ต่อไป
นอกจากนี้ ครม.รับทราบข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้านของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และเห็นชอบให้ใช้กลไกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ ‘พีมูฟ’ ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมีนายภูมิธรรม รองนายกฯ เป็นประธาน ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นรองประธาน และมีคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนพีมูฟร่วมเป็นคณะกรรมการ
การประชุม ครม. 10 ตุลาคม (ภาพจากเพจไทยคู่ฟ้า)
คณะกรรมการชุดนี้จะมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดนโยบาย แนวทาง มาตรการ และงบประมาณ ดำเนินการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ อำนวยการ เร่งรัดการดำเนินการ และตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา
โดยหลังการประชุม ครม. ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหา ได้เดินทางมาพบปะกับกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อแจ้งผลการประชุม ครม.ที่เกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม และว่าจะมีการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาครั้งแรกภายในสัปดาห์นี้ โดยมีตัวแทนของพีมูฟจำนวน 21 คนร่วมเป็นคณะกรรมการ
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า สิ่งที่พีมูฟยื่นข้อเรียกร้องมา ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ที่เป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิต และการไร้ที่ดินทำกินที่มีจำนวนที่สูงขึ้น และอาจนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยที่เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลขอสร้างความเชื่อมั่นว่าไม่นิ่งดูดาย หลายส่วนรัฐบาลชุดก่อนดำเนินการไว้อย่างดี และรัฐบาลชุดใหม่มีความพร้อมที่จะสานต่อให้หลายๆ สิ่งเกิดเป็นรูปธรรม รวมถึงได้มีการกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
นายภูมิธรรม รองนายกฯ ประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาพีมูฟ (ภาพจากเพจไทยคู่ฟ้า)
ข้อเรียกร้อง 10 ด้านของพีมูฟ
นายจำนงค์ หนูพันธ์ ผู้แทนขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ ‘พีมูฟ’ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องของพีมูฟเป็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนทั่วประเทศที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิด้านที่ดินที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรป่าไม้และอื่น ๆ โดยพีมูฟได้เคลื่อนไหวต่อสู้มานานนับสิบปีแล้ว เมื่อมีรัฐบาลใหม่จึงต้องขับเคลื่อนเพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ซึ่งประกอบด้วย
- ด้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ ขอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการทุกขั้นตอน
- ด้านการกระจายอำนาจ ขอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- ด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ขอให้เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
- ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ขอให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า
- ด้านนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขอให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด คุกคามชีวิตทรัพย์สินและส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ
- ด้านการป้องกันภัยพิบัติ ขอให้มีคณะกรรมการส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ
- การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนและชาติพันธุ์ในทุก ๆ ด้าน ขอให้เร่งลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ....
- ด้านสิทธิของคนไร้สถานะ แต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มีผู้ทรงคุณวุฒิมีภาคประชาชนที่มีประสบการณ์เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน
- ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยเสนอนโยบายและสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ
- ด้านที่อยู่อาศัย โดยให้รัฐจัดสรรที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัย จัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย หยุดใช้มาตรการไล่รื้อชุมชน
ร้อยเอกธรรมนัส รองประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาพีมูฟพบกลุ่มผู้ชุมนุม
กระทรวง พม.-พอช. ร่วมแก้ปัญหา 4 ด้าน
ทั้งนี้ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายของกลุ่มพีมูฟทั้ง 10 ด้าน คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาและเห็นชอบให้ใช้กลไกคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการ มีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะกรรมการ เช่น กระทรวงมหาดไทย เกษตรและสหกรณ์ คมนาคม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ฯลฯ
ส่วนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ มีปัญหาที่ร่วมรับผิดชอบแก้ไข รวม 4 ด้าน คือ ข้อ 4. ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ข้อ 7. การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ ข้อ 9. ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ และข้อ 10. ด้านที่อยู่อาศัย
ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม มีข้อเสนอเชิงหลักการ เช่น 1.กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า (เก็บตามมูลค่าและขนาดการถือครองอย่างแท้จริง) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร พ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อป้องกันมิให้ที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรถูกนำไปใช้ประโยชน์และเปลี่ยนแปลงผิดประเภท และให้ทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
2.ทบทวนแนวทางและมาตรการในโครงการจัดที่ดินชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้งนี้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน
3.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องคุ้มครองวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น และส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงประโยชน์ของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจนั้นอย่างเท่าเทียม และต้องไม่กระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่
ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ (ที่อยู่อาศัย/ที่ดิน) มีข้อเสนอเชิงหลักการ เช่น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย/ที่ดินเกษตร ไม่เกินร้อยละ 2 สร้างที่อยู่อาศัยมีคุณภาพให้ประชาชน 1,000 ยูนิตทุกตำบล กลไกราคาและค่าเช่าที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยรายได้ในพื้นที่ เงินอุดหนุนงบประมาณที่อยู่อาศัยประมาณ 10% ของรายได้เฉลี่ยครัวเรือน
โดยพีมูฟเสนอให้ กระทรวง พม. การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดแนวทางร่วมกับพีมูฟในการพัฒนาที่อยู่อาศัยมีคุณภาพให้เช่าทุกตำบล โดยนำที่ดินของรัฐมาจัดทำ และแนวทางเงินอุดหนุนงบประมาณที่อยู่อาศัยประมาณ 10% ของรายได้เฉลี่ยครัวเรือน
โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากรที่ พอช.อยู่ในระหว่างการดำเนินการ ทำให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ดำเนินการแล้วประมาณ 50 ชุมชน สร้างบ้านเสร็จแล้วเกือบ 5,000 ครัวเรือน
เสนอ พม. ทำที่พักเช่าราคาถูก-เพิ่มงบที่พักชั่วคราวเป็น 36,000 บาท
ด้านที่อยู่อาศัย มีข้อเสนอเชิงหลักการ เช่น 1.รัฐบาลต้องมีนโยบายให้กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐ ให้แบ่งปันที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง 2.รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนไม่ให้หน่วยงานใช้มาตรการทางกฎหมายมาไล่รื้อชุมชน แต่ใช้กระบวนการพูดคุยหาทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกันทั้งหน่วยงานและประชาชน
3.ให้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ ได้รับงบประมาณสนับสนุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร และให้โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟที่ได้ดำเนินการไปแล้ว ฯลฯ
โดยพีมูฟมีข้อเสนอต่อกระทรวง พม. 1.ให้มีนโยบายสนับสนุนการจัดที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก สำหรับคนไร้บ้าน คนจนเมือง และผู้มีรายได้น้อยทั่วไป โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ดำเนินการพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับศักยภาพของคนจนเมืองกลุ่มต่างๆ
2.หลักเกณฑ์งบประมาณของโครงการที่อยู่อาศัยชั่วคราว(ไฟไหม้-ไล่รื้อ) ให้สอดคล้องกับต้นทุนในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จาก 18,000 บาทเป็น 36,000 บาท เพื่อตั้งหลักก่อนจัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ ฯลฯ
******************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ประเสริฐ' แจงม็อบพีมูฟ ครม.เห็นชอบร่างพ.ร.ฎ. 2 ฉบับ แก้ที่ทำกินให้คนอยู่กับป่าได้
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม(พีมูฟ) นำโดย นายจำนงค์ หนูพันธ์ ประธานและที่ปรึกษาพีมูฟ รวมตัวจัดกิจกรรมคัดค้านการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562
ฉีกสัญญาพีมูฟ 'กรมอุทยาน' ดันร่างกม.ลูกเข้า ครม.ส่อพิพาทป่าทับคนรุนแรงขึ้น
ส่อความขัดแย้งเพิ่ม พีมูฟเบรกร่างกม.ลูกกรมอุทยานฯ เข้า ครม . ชี้ยิ่งจุดชนวนสร้างข้อพิพาทป่าทับคนรุนแรงขึ้น
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
พีมูฟ 15 วันหน้าทำเนียบ 'นายกฯอิงค์' ปล่อยตำรวจใช้อำนาจกดดันมากกว่าอำนวยความสะดวก
ชาวบ้านพีมูฟอยู่หน้าทำเนียบ 15 วัน โวยเจออำนาจตำรวจกดดันมากกว่าอำนวยความสะดวก ประกาศเดินหน้าชุมชนไม่มีกำหนด
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด