ส่องข้อเรียกร้องของ ‘P-Move’ 10 ด้าน เสนอ พม.-พอช.ทำที่พักเช่าราคาถูก-เพิ่มงบที่อยู่อาศัยชั่วคราว

เวทีชุมนุมตรงข้ามกระทรวงศึกษาธิการ  (ภาพจาก P-move)

ถนนราชดำเนินนอก /   ส่องข้อเรียกร้องของ P-Move 10 ด้าน  เสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิด้านที่ดินที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรป่าไม้  ฯลฯ  ส่วนผลเจรจายังไม่คืบหน้า  P-Move รอดูการประชุม ครม. 10 ตุลาคมนี้ว่าจะนำเอาข้อเสนอจากประชาชนเข้าประชุมคลี่คลายปัญหาหรือไม่  นอกจากนี้ P-Move  ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบายด้านที่อยู่อาศัยต่อกระทรวง พม.และ พอช. เช่น  จัดทำที่พักเช่าราคาถูกทุกตำบลๆ ละ 1,000 ยูนิต  เพิ่มงบประมาณที่พักชั่วคราว กรณีไฟไหม้ไล่รื้อจากเดิมครัวเรือนละ 18,000 บาทเป็น 36,000 บาท

ตามที่เครือข่ายภาคประชาชนในนาม ‘ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม’ (ขปส.) หรือ ‘P-Move’ (People Movement) ซึ่งประกอบด้วยประชาชนที่มีความเดือดร้อนกลุ่มต่างๆ  เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ  กลุ่มชาติพันธุ์  ชาวกะเหรี่ยง  ชาวเล  ฯลฯ  ได้ชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล  ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ตุลาคมที่ผ่านมา  ที่บริเวณประตู 5 (ด้านหลังทำเนียบรัฐบาล  ถนนราชดำเนินนอก)  และได้ออกแถลงการณ์มีเนื้อหาส่วนหนึ่งว่า

“ด้วยเครือข่ายประชาชนได้รับผลกระทบจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ก่อให้เกิดความไม่มั่นคงในชีวิตและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิด้านที่ดินที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรป่าไม้และอื่น ๆ  ทั้งนี้ ช่วงรณรงค์การเลือกตั้งที่ผ่านมาทางกลุ่ม P-Move ได้จัดเวทีภาคประชาชนเสนอนโยบายต่อพรรคการเมืองขึ้น เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 เพื่อนำเสนอนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างและปัญหาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ต่อพรรคการเมืองและสาธารณะเกี่ยวกับข้อเสนอเชิงนโยบาย ความไม่มั่นคงในชีวิต และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทั้งสิทธิด้านที่ดินที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย การจัดการทรัพยากรป่าไม้และอื่น ๆ โดยเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคที่ลงสมัครรับเลือกตั้งมานำเสนอนโยบายแล้วนั้น

ดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา  เป็นไปตามนโยบายช่วงรณรงค์เลือกตั้ง อันเป็นสัญญาประชาคมต่อประชาชนทั้งประเทศ จึงเสนอข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้าน ประกอบด้วย 

ข้อเสนอเชิงนโยบาย 10 ด้าน

  1. ด้านสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ขอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีบทบัญญัติกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่าง ๆ ขอให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการทุกขั้นตอน
  2. ด้านการกระจายอำนาจ ขอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง เพื่อปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยการกระจายอำนาจการปกครองส่วนท้องถิ่นและสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  3. ด้านนโยบายการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ขอให้เร่งออกกฎหมายว่าด้วยการนิรโทษกรรมแก่ราษฎรซึ่งได้รับความเสียหายหรือได้รับผลกระทบจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐ
  4. ด้านนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม ขอให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า
  5. ด้านนโยบายการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ขอให้ยกเลิกนโยบายทวงคืนผืนป่าและแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน เพราะการดำเนินนโยบายดังกล่าวทำให้มีการละเมิด คุกคามชีวิตทรัพย์สินและส่งผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่อาศัยและทำกินในที่ดินป่าทั่วประเทศ
  6. ด้านการป้องกันภัยพิบัติ ขอให้มีคณะกรรมการส่งเสริมระบบการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชน เพื่อลดความเสี่ยงของประชาชนในการเตรียมความพร้อมก่อนเกิดเหตุ การช่วยเหลือระหว่างเกิดเหตุ และการฟื้นฟูเยียวยาหลังเกิดเหตุ
  7. การคุ้มครองชาติพันธุ์และสิทธิความเป็นมนุษย์ เพื่อให้เกิดความมั่นคงต่อชุมชนและชาติพันธุ์ในทุก ๆ ด้าน ขอให้เร่งลงนามรับรองร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชุมชนกลุ่มชาติพันธ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. ....
  8. ด้านสิทธิของคนไร้สถานะ แต่งตั้งกรรมการแก้ไขปัญหาสิทธิสถานะเป็นกรรมการกลางที่มีผู้ทรงคุณวุฒิมีภาคประชาชนที่มีประสบการณ์เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเร่งด่วน
  9. ด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ โดยเสนอนโยบายและสวัสดิการถ้วนหน้าจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงสิทธิสวัสดิการ
  10. ด้านที่อยู่อาศัย  โดยให้รัฐจัดสรรที่ดินให้ประชาชนอยู่อาศัย  จัดสรรงบประมาณแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย  หยุดใช้มาตรการไล่รื้อชุมชน

ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี  ร่วมชุมนุม

P-Move ส่งตัวแทนเจรจากับรัฐบาล

ในวันที่ 4 ตุลาคม  ที่ทำเนียบรัฐบาล  ผู้แทน P-Move  เช่น  นายประยงค์  ดอกลำไย  นายจำนงค์  หนูพันธุ์  เข้าประชุมกับตัวแทนฝ่ายรัฐบาล  นำโดยนายภูมิธรรม  เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรี  และร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

หลังจากนั้น  นายภูมิธรรม ได้แถลงต่อสื่อมวลชน  มีใจความว่า   ผู้แทน P-Move  มาทวงถามเรื่องที่เคยเสนอต่อรัฐบาล   มีทั้งที่คลี่คลายไปบ้าง และไม่ได้คลี่คลายบ้าง ใช้เวลานานบ้าง  มายืนยันแสดงความยากลำบาก ความทุกข์ของเขา ซึ่งตนก็ได้นำไปเรียนท่านนายกรัฐมนตรีได้ทราบว่า  ขณะนี้มีประชาชนเดือดร้อน ท่านนายกฯ มอบให้ตนในฐานะกำกับดูแลหน่วยงานหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  และร้อยเอกธรรมนัส   รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เข้ามาดูแลส่วนที่เกี่ยวข้องเรื่องที่ดิน  แต่ดูจากข้อเสนอไม่ได้มีแค่เรื่องที่ดินอย่างเดียว ยังมีเรื่องความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ  เรื่องที่ดินที่อยู่อาศัย และหลาย ๆ เรื่อง   โดยจะให้ร้อยเอกธรรมนัสรับผิดชอบ ประสานงานให้แล้วเสร็จโดยเร็วภายใน 2 อาทิตย์นี้

นายภูมิธรรมกล่าวด้วยว่า  รัฐบาลจะตั้งกรรมชุดหนึ่งขึ้นมา  ไม่ใหญ่เกินไปเพื่อความคลองตัว  โดยจะเรียกหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพื่อหาทางคลี่คลายปัญหาให้เร็วที่สุด  แต่เนื่องจากมีหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้อง  บางเรื่องอาจทำได้เลย บางเรื่องอาจใช้เวลา  เพราะต้องออกกฎหมาย

ขณะที่ผู้แทน P-Move  นายจำนงค์ หนูพันธุ์   กล่าวว่า  P-Move  ยืนยันจะยังปักหลักที่บริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาลอย่างน้อยอีก 1 สัปดาห์ โดยจะไม่มีการย้ายไปชุมนุมที่หน้า UN ตามที่ สน.ดุสิต แจ้งประกาศให้เคลื่อนย้าย   เพื่อรอติดตามการประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า (10 ตุลาคม)  ว่าจะมีการนำปัญหา  รวมถึงข้อเสนอนโยบายทั้ง 10  ด้านเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.หรือไม่  โดยหากประเด็นใดสามารถเห็นชอบได้เลยก็ขอให้รัฐบาลพิจารณาเดินหน้าทันที   ส่วนที่จะต้องใช้เวลาก็ขอให้มีมติ ครม.ที่ชัดเจนออกมา แล้วมาหาแนวทางกลไกการขับเคลื่อนกันต่อ   ทั้งนี้ขอยืนยันว่า นโยบายทั้ง 10 ด้าน  เป็นความเดือดร้อน และจะส่งผลภาพรวมต่อประชาชนทั่วประเทศ 

ผู้แทน P-Move (ซ้าย) กับนายภูมิธรรม  รองนายกรัฐมนตรี (ขวา)

ข้อเสนอนโยบายที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม 

ทั้งนี้ในส่วนข้อเสนอเชิงนโยบายด้านที่ดินและการคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรมนั้น  P-Move ระบุสภาพปัญหาว่า  นโยบายการจัดการที่ดินของรัฐที่ผ่านมาก่อให้เกิดการกระจุกที่ดินอยู่ในมือของคนส่วนน้อย  ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศมีที่ดินทำกินไม่พอเพียง  รวมทั้งโครงการจัดที่ดินให้ชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) รวมทั้งกฎหมายระเบียบและมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องไม่ก่อให้เกิดการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดินที่ยั่งยืน และไม่สอดคล้องกับหลักการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน

ข้อเสนอเชิงหลักการ  1.กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยผลักดัน พ.ร.บ.ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า (เก็บตามมูลค่าและขนาดการถือครองอย่างแท้จริง) พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน   พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร  พ.ร.บ.คุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อป้องกันมิให้ที่ดินที่เหมาะสมสำหรับการเกษตรถูกนำไปใช้ประโยชน์และเปลี่ยนแปลงผิดประเภท และให้ทบทวนการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

2.ทบทวนแนวทางและมาตรการในโครงการจัดที่ดินชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ทั้งนี้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับหลักการรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ดิน

3.การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต้องคุ้มครองวิถีชีวิตและระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่น และส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงประโยชน์ของการพัฒนาเขตเศรษฐกิจนั้นอย่างเท่าเทียม และต้องไม่กระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่

4.ปรับปรุงประมวลกฎหมายที่ดิน เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกมิชอบ (มาตรา 61) และที่ดินทิ้งร้างว่างเปล่า (มาตรา 6) กระจายที่ดินให้ชุมชนไร้ที่ดิน  รวมถึงศึกษาแนวทางการจำกัดการถือครองที่ดินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 34 – 49  ฯลฯ

วิธีการ 1.ให้มีคณะทำงานเพื่อยกร่างกฎหมาย พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรตามรัฐธรรมนูญมาตรา 43 โดยในระหว่างที่ดำเนินการยกร่างกฎหมายฉบับนี้  ให้รัฐบาลเร่งดำเนินการให้เป็นรูปธรรมใน 100 วัน  

2. ให้มีคณะทำงนศึกษาทบทวน พ.ร.บ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ให้เร่งออกกฎกระทรวงในการจัดเก็บภาษีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่การถือครองที่ดินแบบกรรมสิทธิ์ร่วม โฉนดชุมชน และที่ดินแปลงรวมลักษณะอื่นๆ โดยคำนึงถึงหลักการสำคัญ คือ ให้คำนวณภาษีจากพื้นที่ของผู้ถือครอง และใช้ประโยชน์ที่ดินแปลงย่อย ทั้งนี้ในระหว่างดำเนินการออกกฎกระทรวงขอให้ชะลอการเก็บภาษีที่ดินในลักษณะการถือครองแบบโฉนดชุมชน ที่ดินแปลงรวมลักษณะอื่น รอบปี พ.ศ. 2566 โดยทำหนังสือแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน

3.ให้ยกระดับโฉนดชุมชนเป็นการรับรองสิทธิ์ชุมชนในการจัดการที่ดินร่วมกันตามบทบัญญัติ พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 10 (4)  4. ให้มีคณะทำงานทบทวนแนวทางและมาตรการโครงการจัดที่ดินชุมชนภายใต้คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.)  ฯลฯ

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.)  กระทรวงมหาดไทย   กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกระทรวง พม.  ฯลฯ

ชาวกะเหรี่ยงบ้านภูเหม็น  อ.ห้วยคต  จ.อุทัยธานี  ใช้เวลานานหลายปีต่อสู้เรื่องสิทธิที่อยู่อาศัยและทำกินที่ทางราชการประกาศเขตป่าทับซ้อนที่ดินที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาก่อน

ด้านสวัสดิการ :  ที่อยู่อาศัย/ที่ดิน  เสนอสร้างที่อยู่อาศัย 1 ,000 ยูนิตทุกตำบล

P-Move  มีข้อเสนอเชิงนโยบายกด้านนโยบายรัฐสวัสดิการ  ด้านที่อยู่อาศัย/ที่ดิน  โดยระบุสภาพปัญหาว่า ปัญหาที่อยู่อาศัยกระทบกับกลุ่มคนจำนวนมาก ตั้งแต่ผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ผู้พักอาศัยในห้องเช่าราคาถูกมีคุณภาพต่ำ กลุ่มคนรายได้ปานกลาง รายได้น้อย ชุมชนแออัด เข้าไม่ถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ จากข้อจำกัดด้านรายได้  เนื่องจากไม่มีแหล่งทุน ขาดเครดิตการกู้ยืม ฐานะการงานขาดความมั่นคง รายได้ไม่แน่นอน ค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัยไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ครัวเรือน มูลค่าการลงทุนในที่อยู่อาศัยของประชาชน 2.1 ล้านล้านบาท หรือร้อยละ 13 ของ GDP หนี้สินเฉลี่ยครัวเรือนด้านที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 73,808 บาทต่อครัวเรือน คิดเป็นร้อยละ 35.9%  จากหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนทั้งหมด

ที่อยู่อาศัยในเขตเมืองและย่านธุรกิจมีราคาสูงมาก ดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยมีอัตราสูงกว่าราคาซื้อขายที่อยู่อาศัยในการผ่อนระยะยาว ที่อยู่อาศัยราคา 2-5 ล้านบาท สำหรับโครงการในตลาดและโครงการต่ำกว่าหนึ่งล้านบาท มีเพียงร้อยละ 4 จึงมีครัวเรือนไม่ถึงร้อยละ 50 ที่เข้าถึงตลาดที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับรายได้  การกระจุกตัวการถือครองที่ดิน คนที่ถือครองที่ดินมากที่สุด จำนวน 20% ถือครองที่ดินประมาณ 80% ผู้ถือครองที่ดินมากที่สุดถือครองที่ดินจำนวน 6.3 แสนไร่

ข้อเสนอเชิงหลักการ   อัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย/ที่ดินเกษตร ไม่เกินร้อยละ 2  สร้างที่อยู่อาศัยมีคุณภาพให้ประชาชน 1,000 ยูนิตทุกตำบล   กลไกราคาและค่าเช่าที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยรายได้ในพื้นที่   เงินอุดหนุนงบประมาณที่อยู่อาศัยประมาณ 10% ของรายได้เฉลี่ยครัวเรือน

วิธีการ   กระทรวงการคลังกำหนดแนวทางร่วมกับ ขปส.ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่อยู่อาศัย/ที่ดินเกษตร ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน ไม่เกินร้อยละ 2 และพิจารณาแนวทางกลไกราคาและค่าเช่าที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยรายได้ในพื้นที่

กระทรวง พม. การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดแนวทางร่วมกับ ขปส. ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยมีคุณภาพให้เช่าทุกตำบล โดยนำที่ดินของรัฐมาจัดทำ และแนวทางเงินอุดหนุนงบประมาณที่อยู่อาศัยประมาณ 10% ของรายได้เฉลี่ยครัวเรือน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   กระทรวงการคลัง   ธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การเคหะแห่งชาติ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงมหาดไทย  กรมส่งเสริมการปกกครองส่วนท้องถิ่น

กระทรวง พม.  กทม. สสส. เริ่มโครงการห้องเช่าราคาถูกในเมือง (ออกค่าเช่าห้องคนละครึ่งระหว่างหน่วยงานกับคนไร้บ้าน) และกำลังทำห้องเช่าราคาถูกในเขตหนองจอกและ จ.ปทุมธานี

ให้ พม. ทำที่พักเช่าราคาถูก-เพิ่มงบที่พักชั่วคราวเป็น 36,000 บาท

สภาพปัญหา  1. ข้อมูลตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปีของรัฐบาล (ปี พ.ศ.2560-2579) พบว่า 5.87 ล้านครัวเรือน ยังมีที่อยู่อาศัยที่ไม่มั่นคง ครัวเรือนยากจนจำนวนมากต้องเสี่ยงต่อสถานการณ์ไล่รื้อจากภัยคุกคามของโครงการพัฒนาของรัฐที่มองข้ามความเป็นอยู่ของคนในชุมชน และปัญหาที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่การไร้ที่อยู่อาศัยจากสาเหตุอื่นๆ ที่เห็นอยู่ทั่วไปในสังคม เมื่อที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ก็จะนำไปสู่แนวโน้มปัญหาอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้เป็นเรื่องยากมากสำหรับคนจน และคนชายขอบที่จะหลุดพ้นจากความยากจน  และเข้าสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างมีศักดิ์ศรี 

2.ปัญหาราคาที่ดินในเมืองที่มีราคาแพง เกินกำลังของคนจนจะสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยได้ จึงจำเป็นต้องใช้ที่ดินของหน่วยงานรัฐในเมือง แบ่งปันรองรับการจัดสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนจนในเมือง

3.การดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจน ของหน่วยงานที่มีอยู่ ยังมีข้อติดขัดในระเบียบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น การจัดตั้ง และระบบสหกรณ์ ที่ต้องได้รับการปรับปรุงให้การดำเนินโครงการที่อยู่อาศัยคนจนมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับบริบทของคนจน

ข้อเสนอเชิงหลักการ  1.รัฐบาลต้องมีนโยบายให้กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานที่ดูแลที่ดินของรัฐ ให้แบ่งปันที่ดินเพื่อแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเมือง   2.รัฐบาลต้องมีนโยบายที่ชัดเจนไม่ให้หน่วยงานใช้มาตรการทางกฎหมายมาไล่รื้อชุมชน แต่ใช้กระบวนการพูดคุยหาทางออกในการแก้ปัญหาร่วมกันทั้งหน่วยงานและประชาชน

3.ให้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของภาครัฐ ได้รับงบประมาณสนับสนุนแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยเช่นเดียวกับโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยบ้านมั่นคงริมคลองลาดพร้าวและคลองเปรมประชากร และให้โครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 

4.ต้องทบทวนการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ดินแบบแปลงรวม ที่ประชาชนรวมกลุ่มกันซื้อ-เช่าที่ดินมาบริหารร่วมกัน โดยให้คิดเกณฑ์การชำระภาษีกับแปลงย่อยที่แต่ละครัวเรือนครอบครองจริง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) 1.ให้มีนโยบายสนับสนุนการจัดที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก สำหรับคนไร้บ้าน คนจนเมือง และผู้มีรายได้น้อยทั่วไป โดยให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ ‘พอช.’ ดำเนินการพัฒนารูปแบบที่อยู่อาศัยให้สอดคล้องกับศักยภาพของคนจนเมืองกลุ่มต่างๆ

2.หลักเกณฑ์งบประมาณของโครงการที่อยู่อาศัยชั่วคราว(ไฟไหม้-ไล่รื้อ) ให้สอดคล้องกับต้นทุนในภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน จาก 18,000 บาทเป็น 36,000 บาท เพื่อตั้งหลักก่อนจัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ 

กระทรวงมหาดไทย  1.ให้มีนโยบายไปยังท้องถิ่น เรื่องการออกทะเบียนบ้านให้กับประชาชนทุกหลังคาเรือน กับประชาชนทุกหลังคาเรือน   เพื่อจะได้เข้าถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น การขอติดตั้ง ประปา-ไฟฟ้า โดยต้องได้รับการติดตั้งมิเตอร์แบบปกติ และไม่ต้องขออนุญาตติดตั้งจากหน่วยงานเจ้าของที่ดิน

2.ให้คณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ออกประกาศตามมาตรา 17 ของ พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนของการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจหน้าที่จัดให้มีเคหะให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัย รวมถึงจัดให้มีสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  1.ให้ปรับปรุงระเบียบการจัดตั้งสหกรณ์ให้สอดคล้องกับโครงการบ้านมั่นคง  ให้มีการตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาการจัดตั้งสหกรณ์ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานภายในเดือนตุลาคม 2566 และให้เปิดประชุมภายใน 15 พฤศจิกายน 2566   ให้ตั้งสหกรณ์รูปแบบใหม่ โดยให้มีการแก้กฎหมายให้ไม่ต้องมีการประกอบธุรกิจการแสวงหาผลกำไร

กระทรวงคมนาคม  1.การเร่งรัดการอนุมัติเช่าที่ดินเพื่อจัดสร้างที่อยู่อาศัยในโครงการบ้านมั่นคง  2.ปรับปรุงระเบียบ  การปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อการเช่าที่ดินต่อคนจนในโครงการบ้านมั่นคง     โดยให้ตั้งกลไกการแก้ปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท. โดยมี รมช.กระทรวงคมนาคม (นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ) เป็นประธาน  ภายในเดือนตุลาคม 2566 และให้เปิดประชุมภายใน 15 พฤศจิกายน 2566   ฯลฯ

ในช่วงรณรงค์วันที่อยู่อาศัยโลก 2566  เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา  เครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนได้ยื่นข้อเรียกร้องการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยต่อรัฐบาลเช่นเดียวกัน

******************

เรื่องและภาพ  :  สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ