เศรษฐกิจหมุนเวียน สังคมแห่งการรีไซเคิล & อัพไซเคิล เพื่อชีวิตที่ดีกว่า บนเวที SX2023

แนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ถูกออกแบบมาเพื่อให้ชีวิตใหม่แก่วัสดุต่างๆ ในวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) แทนการทิ้งให้กลายเป็นขยะเมื่อสิ้นสุดการบริโภค เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด การหมุนเวียนเป็นวงจรต่อเนื่องโดยไม่มีของเสียตลอดทั้งกระบวนการของสินค้าและบริการ แนวคิดดังกล่าวมีความสำคัญต่อนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทเอกชนและรัฐบาลทั่วโลก และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน พ.ศ. 2568 (ASEAN Community Vision 2025) ที่สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและสังคมคาร์บอนต่ำ

นายธัชวัช เตชะมงคลจิต ผู้บริหารสูงสุดบริษัท Royce Universal จำกัด กลุ่มอุตสาหกรรมพลาสติกที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบ Recycle มาเป็นเวลานาน กล่าวในงาน  Sustainability Expo 2023 มหกรรมความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดใน Asean

“กลุ่มบริษัทเราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการกระบวนการใช้งานพลาสติกที่ผ่านการใช้งานมาจาก Consumer เพื่อกลับเข้าสู่วงจรการใช้งานอีกครั้ง และอีกทั้งยังสามารถ “Recycle” และในปีนี้เราได้ออกแบบระบบที่เรียกว่า  “ Roycycling”  คือการรีไซเคิลวัสดุที่ใช้แล้ว มุ่งเน้นให้เกิดกิจกรรมระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคโดยลดวงจรการนำกลับมาใช้ซ้ำให้ได้ขั้นตอนน้อยที่สุด

ในงาน SX 2023 นี้ ทุกคนคงเห็นแล้วว่ามีวัสดุตกแต่งในงานมากมาย คำถามคือเราจะเอามันไปไว้ที่ไหนหลังจากจบงานนี้ ผมคิดว่าคงใช้เวลาอีกนานที่สิ่งเหล่านี้จะเข้าสู่ Recycling Loop  บางส่วนคงถูกนำไปเก็บไว้อีกนาน บางส่วนคงถูกฝังกลบ แต่ด้วย “Roycycling” System เรามีระบบที่ทันสมัย เรามีผลิตภัณฑ์อีกมากมาย และนำกลับมาใช้เป็น Display ได้ใหม่อีกครั้งอย่างรวดเร็ว นี่คือกระบวนการที่โดดเด่นอย่างยิ่งของ Roycycling โดยเรามีแพลนที่จะนำมาจัดแสดงให้ทุกคนได้เห็นและเข้าใจกันเป็นภาพกันอย่างชัดเจนในปีหน้าอย่างแน่นอน

Royce Universal จึงเห็นค่าทุกสิ่งที่เราใช้ไปเปรียบเสมือนทรัพยากรอันมีคุณค่า เพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”  คุณธัชวัช ผู้บริหาร Royce Universal จำกัดกล่าว

 คุณธนะชาติ เหล่าศิริพงศ์ ผู้ช่วยรองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร ธุรกิจไบโอพลาสติค บริษัท ไทยวา จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เล่าถึงการนำแป้งมันสำปะหลัง และโพลิเมอร์มาผลิตเป็นฟิล์มคลุมดินชีวภาพ (Bio Mulch Film) รูปแบบใหม่ที่ย่อยสลายได้ มาช่วยแก้ปัญหาดินเสื่อมโทรม เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรแบบยั่งยืน และลดการใช้สารเคมี โดยทดลองใช้กับการปลูกมันสำปะหลังในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ได้ชื่อว่ามีสภาพดินอยู่ในระดับที่แย่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ซึ่งค่าอินทรียวัตถุในดินเกือบเป็นศูนย์

“หลังทดลองใช้ เราพบว่าฟิล์มคลุมดินชีวภาพช่วยกักเก็บความชื้น และเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรได้ประมาณ 50% ช่วยฟื้นชีวิตให้ดินได้เป็นอย่างดี เราใช้ธรรมชาติมาช่วยปรับปรุงธรรมชาติ การใช้ฟิล์มคลุมดินชีวภาพที่สามารถย่อยสลายลงดินได้ ทำให้เราสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง และช่วยเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ในดิน เราอยากแชร์เทคโนโลยีนี้ให้เวียดนาม กัมพูชา และลาว ทั้งโรงงานมันสำปะหลังและโรงงานผลิตแอลกอฮอล์จากมันสำปะหลังก็ใช้วัตถุดิบเดียวกัน เราอยากเสนอโซลูชั่นนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายในห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ของอุตสาหกรรมมันสำปะหลังได้ประโยชน์ เกษตรกรจะได้มีกำไรเพิ่มขึ้นจากผลผลิตที่ดีขึ้น และใช้ประโยชน์ของเสียจากการเกษตรและวัสดุพลอยได้ (By-product) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน” นายธนะชาติ สรุป  

นายไร่ วัน หมัย อธิบดีกรมทรัพยากรธรรมชาติและเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เล่าถึงสถานการณ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนว่า ปัจจุบันรัฐบาลกำลังศึกษาว่าบริษัทในเวียดนามต้องการความช่วยเหลือหรือมีปัญหาใดบ้าง เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียน และจะจัดให้มีการประชุมหารือระหว่างภาครัฐกับเอกชนในเร็วๆ นี้

เราทำงานร่วมกับสมาคมธุรกิจเกษตร อี-คอมเมิร์ซ และเครื่องดื่ม มีหลายบริษัทเสนอแนวคิดและนโยบายด้านรีไซเคิลและอัพไซเคิล อย่างไรก็ตาม จำนวนบริษัทที่มีนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียนในเวียดนามยังมีน้อยมาก    

“หน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวข้อง ต้องระบุให้ชัดว่าอะไรคือโมเดลที่จะเกิดผลในทางปฏิบัติได้มากขึ้น และจะส่งเสริม อธิบายเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนในทางปฏิบัติกันอย่างไร เป็นหน้าที่ของผมด้วยที่จะต้องหารือกับบริษัทต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อเข้าใจถึงปัญหาและศักยภาพของพวกเขา และพัฒนากฎระเบียบที่เหมาะสมต่อการเปลี่ยนผ่านต่อไป” นายไร่ กล่าว

“การเงินสีเขียว (Green Finance) กำลังนำโอกาสที่ดีมาให้ทั้งเวียดนามและบริษัทในกลุ่มอาเซียน และปัจจุบันเวียดนามกำลังพัฒนาการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Green Taxonomy)”  นายไร่ กล่าวสรุป

มาร่วมเปลี่ยนโลก เพื่อสมดุลที่ดี เพื่อโลกที่ดีกว่า Good Balance, Better World ภายใต้มหกรรมด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน SUSTAINABILITY EXPO 2023 (SX2023) ตั้งแต่วันนี้ถึง 8 ตุลาคม  2566 เวลา 10.00 – 20.00 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น G และ LG งานนี้เข้าชมฟรี!

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

”นฤมล“ โชว์วิสัยทัศน์บนเวที SPIEF ย้ำ ไทยขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

วันนี้ (6 มิถุนายน 2567) เวลา 11.00 น. (เวลาตามท้องถิ่น นครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก สหพันธรัฐรัสเซีย) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายศาสตราจารย์ นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เข้าร่วมการประชุม St. Petersburg International

SX2023 พลังแห่งความร่วมมือ ต้นแบบ Platform ความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ปลุกกระแสเยาวชน และผู้เข้าชมงาน มากกว่า 3 แสนคน

นับเป็นต้นแบบของ “Collaboration platform” พลังแห่งความร่วมมือด้านความยั่งยืนระดับโลก ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน สำหรับงาน Sustainability Expo 2023 (SX2023)

เยาวชนตัวแทนคนรุ่นใหม่ สร้างสรรค์งานศิลปะ “ด้วยมือเรา” จากสื่อผสม เจ้าของรางวัล CEO AWARD จากโครงการศิลปกรรมช้างเผือก

โครงการ “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 12 ภายใต้หัวข้อ “รักโลก” ที่จัดโดย บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเวทีที่ให้เหล่าศิลปิน

ร่วมกันสู้กับขยะในทะเลเพื่อคืนความหลากหลายทางชีวภาพแก่โลก

นอกจากปัญหาโลกร้อนที่กำลังจะเข้าสู่ยุคโลกเดือดที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเป็นอย่างมากแล้ว ปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกประเด็นหนึ่งที่ทุกภาคส่วนพยายามอย่างหนักในการร่วมกันบรรเทาความรุนแรง