กระทรวง พม. จัดงาน “วันที่อยู่อาศัยโลก 2566” หนุนเศรษฐกิจชุมชนที่ยืดหยุ่น : เมืองที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโต

ผู้ร่วมงานวันที่อยู่อาศัยโลกที่กระทรวง พม. ทำสัญลักษณ์ ‘ที่อยู่อาศัย’

วันนี้ (2 ตุลาคม) เวลา 13.00 น. นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว.พม.) เป็นประธานเปิดงานวันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2566 ประเทศไทย (World Habitat Day 2023 – Thailand) ภายใต้แนวคิด “เศรษฐกิจชุมชนที่ยืดหยุ่น: เมืองที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตและการฟื้นฟู” (Resilient Urban Economies : Cities as drivers of growth and recovery) พร้อมปาฐกถาพิเศษ "การพัฒนาที่อยู่อาศัยและเมืองท่ามกลางแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ (Megatrend) และความท้าทายของประเทศไทย"   

โดยมีคณะผู้บริหารกระทรวง พม. Mr.Srinivasa Popuri UN Habitat ประจำประเทศไทย และผู้แทนภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย เข้าร่วมงานประมาณ 160 คน   ณ ห้องประชุมปกรณ์ อังศุสิงห์ ชั้น 2 อาคารกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวรายงาน และการนำเสนอสาส์นจากผู้แทน UN - Habitat โดย Executive Director (Mrs. Maimunah Mohd Sharif) จากนั้น  นายวราวุธ  รัฐมนตรี  พม. เป็นประธานพิธีมอบประกาศนียบัตรเพื่อเชิดชูเกียรติเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2566สำหรับผู้ที่สนับสนุนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย จำนวน 35 ราย 

นอกจากนี้ มีการจัดเวทีเสวนาวิชาการ "ทุกภาคส่วนร่วมสร้างระบบการเงินที่ยืดหยุ่นและเศรษฐกิจที่พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงสำหรับทุกคน"  โดยมีนายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และนายกฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) เข้าร่วมเสวนา

นายวราวุธ  รมว.พม.กับเครือข่ายบ้านมั่นคงที่มาร่วมงาน

นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.พม. กล่าวว่า  องค์การที่อยู่อาศัยแห่งสหประชาชาติ (UN – HABITAT)  กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528  เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก สำหรับปีนี้ วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม 2566

ทั้งนี้ ประเทศไทย โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ (พม.) กำหนดจัดงานวันที่อยู่อาศัยโลก ประจำปี 2566 ประเทศไทย ภายใต้หัวข้อหลัก “เศรษฐกิจชุมชนที่ยืดหยุ่น: เมืองที่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตและการฟื้นฟู”  ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลตามแผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560 - 2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยถ้วนทั่วและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในปี 2579 (Smart Housing)” ภายใต้เป้าหมาย 1,300,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดยมีการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์และภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน

นายวราวุธ รมว.พม.

นายวราวุธ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันปัญหาที่อยู่อาศัย เป็นปัญหาของเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงเทพฯ มีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยจำนวนมาก  ดังนั้นภายในปี 2579 กระทรวง พม. จะทำให้พี่น้องประชาชนมีที่อยู่อาศัยในสัดส่วนที่เหมาะสม ซึ่งมีนโยบาย อาทิ การช่วยออกค่าเช่าบ้านหรือค่าเช่าห้องคนละครึ่ง ซึ่งหน้าที่ของกระทรวง พม. คือการดึงศักยภาพของพี่น้องประชาชนเข้ามาช่วยกันทำงาน และแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาเป็นค่าเช่าที่พักอาศัย ทั้งนี้ การที่จะมีที่อยู่อาศัยนั้น ทุกคนต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน ไม่ใช่หน้าที่ของภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งอย่างเดียว เมื่อพี่น้องประชาชนออกแรง เราจะช่วยออกอีกแรง เพราะหนึ่งในปัจจัย 4 คือที่อยู่อาศัย

"วันนี้ เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก 2023 (World Habitat Day 2023) กระทรวง พม. มุ่งเน้นให้ทุกคนร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้ยั่งยืน และสามารถเดินไปข้างหน้าได้ด้วยกัน" นายวราวุธ รมว.พม.กล่าวในตอนท้าย

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ  ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ 

นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ  ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ  กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยการเคหะแห่งชาติ หรือ ‘กคช.’หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ   มีภารกิจสำคัญด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย รวมถึงกลุ่มครัวเรือนเปราะบางให้มีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานในราคาที่เหมาะสมและสามารถรับภาระได้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 จนถึงปัจจุบัน ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้ว จำนวน 751,061 หน่วย ควบคู่กับการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สำคัญ

ได้แก่ 1.โครงการฟื้นฟูและพัฒนาเมือง มุ่งสู่ Smart Community  2. โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า 3.โครงการเคหะสุขประชา บ้านเช่าพร้อมอาชีพ ในเวลาเดียวกัน 4. โครงการบ้านเบอร์ 5 ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ 6.โครงการชุมชนอัจฉริยะและน่าอยู่อย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาชุมชน 4 มิติ และ 6.โครงการบ้านเช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เป็นต้น รวมถึงโครงการฝึกฝนและเพิ่มพูนทักษะอาชีพ เพื่อสร้างรายได้เสริมให้ชุมชน และประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อลดรายจ่าย สร้างรายได้ ซึ่งสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของการเคหะแห่งชาติ “สร้างบ้าน สร้างสุข เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี”

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการ พอช.

นายกฤษดา  สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ฯ หรือ ‘พอช.’ กล่าวว่า กระทรวง พม. โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  มีภารกิจสำคัญด้านการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย ตั้งแต่ปี 2546 ได้จัดทำโครงการ ‘บ้านมั่นคง’ ขึ้นมา เพื่อแก้ไขปัญหาชุมชนที่อยู่ในที่ดินบุกรุกหรือที่ดินเช่าที่ไม่มีความมั่นคง  โดยทำงานร่วมกับชาวบ้าน  ตั้งแต่รวมกลุ่ม สร้างความเข้าใจ จนกระทั่งสร้างบ้านเสร็จแล้ว จากนั้น จึงมีแผนพัฒนาชุมชนในทุกมิติทั้งอาชีพ  แหล่งอาหาร  สิ่งแวดล้อม   สวัสดิการชุมชน  ฯลฯ   โดยมีหลักการสำคัญ  คือ “ชุมชนที่เดือดร้อนเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหา  พอช. และภาคีที่เกี่ยวข้องเป็นฝ่ายสนับสนุน”

ปัจจุบัน พอช.ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนผู้ยากไร้มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยทั้งในชนบทและเมืองไปแล้วกว่า 200,000 ครัวเรือน  เช่น  โครงการบ้านมั่นคง 131,437 หลังคาเรือน โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว 3,553 ครัวเรือน คลองเปรมประชากร 1,364 ครัวเรือน และโครงการบ้านพอเพียงชนบท 352,000 ครัวเรือน เป็นต้น  อีกทั้ง ครม. ได้เห็นชอบอนุมัติแผน 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟทั่วประเทศ ใน 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน

นายอนุกูล  ปีดแก้ว  ปลัดกระทรวง พม.

นายอนุกูล  ปีดแก้ว  ปลัดกระทรวง พม.กล่าวว่า  กระทรวง พม. โดย 1. กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ได้ขับเคลื่อนโครงการปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ ซึ่งแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) มีเป้าหมายปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับคนพิการ จำนวน 132,700 หลัง โดยดำเนินการเรียบร้อยแล้ว (พ.ศ. 2560 - 2566) จำนวน 21,231 หลัง 

2.กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้ขับเคลื่อนโครงการปรับสภาพแวดล้อมและสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้สูงอายุให้เหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งแผนแม่บทพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560 - 2579) มีเป้าหมายปรับปรุงที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ จำนวน 447,618 หลัง โดยดำเนินการเรียบร้อยแล้ว (พ.ศ. 2560 - 2566) จำนวน 34,528 หลัง 

3.กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้ขับเคลื่อนโครงการบ้านที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก  ด้วยการซ่อมแซมบ้านให้กับครอบครัวเด็กเปราะบางทั่วประเทศ  โดยทำงานร่วมกับหุ้นส่วนการพัฒนาสังคมในพื้นที่  และ 4.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) ได้ขับเคลื่อนโครงการซ่อมแซมบ้านเรือนราษฎรที่ยากจนและด้อยโอกาส โครงการตำบลมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และโครงการที่อยู่อาศัย ‘คนละครึ่ง’ สำหรับคนไร้บ้าน

ผู้แทนหน่วยงาน  องค์กรต่างๆ  รับมอบประกาศนียบัตรจาก รมว.พม. เพื่อเชิดชูเกียรติ  เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2566 สำหรับผู้ที่สนับสนุนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประเทศไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา