‘20 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนทั่วประเทศ กว่า 3,000 โครงการ รวม 265,382 ครัวเรือน

สภาพชุมชนแออัดแห่งหนึ่งย่านบ่อนไก่  เขตปทุมวัน  กรุงเทพฯ ก่อนเริ่มโครงการบ้านมั่นคงในปี 2546

โครงการ ‘บ้านมั่นคง’ เริ่มดำเนินการในปี 2546  โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการและอนุมัติงบประมาณในเดือนมกราคมปีนั้น  จำนวน 146 ล้านบาทเศษ  เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ จัดทำโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่มีรายได้น้อย  ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน-ที่อยู่อาศัย นำร่องจำนวน 10 โครงการทั่วประเทศ 

เช่น  ชุมชนบ่อนไก่  ชุมชนเจริญชัยนิมิตใหม่  กรุงเทพฯ  ชุมชนแหลมรุ่งเรือง  จ.ระยอง  ชุมชนบุ่งคุก จ.อุตรดิตถ์  ชุมชนเก้าเส้ง  จ.สงขลา  ฯลฯ

นายวีระศักดิ์  โควสุรัตน์  ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม (ซ้าย) เปิดบ้านมั่นคงบุ่งคุก  จ.อุตรดิตถ์ในปี 2546

แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัย 20 ปี

นอกจากนี้ในปี 2560  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้จัดทำ ‘แผนแม่บทการพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579)’ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของประชาชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศประมาณ 3 ล้านครัวเรือน  โดยการเคหะแห่งชาติรับผิดชอบดำเนินการประมาณ 2 ล้านครัวเรือน  พอช. ประมาณ 1,050,000 ครัวเรือน

โครงการบ้านมั่นคง ที่ดำเนินการโดย พอช.  แตกต่างจากโครงการที่ดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติก็คือ  การเคหะฯ จะสร้างบ้าน  สร้างแฟลต หรืออาคารสูง เพื่อขายให้แก่ประชาชนทั่วไปในลักษณะ ‘เช่า-ซื้อเป็นรายบุคคล’

ส่วนโครงการบ้านมั่นคง  พอช. จะสนับสนุนให้ ‘ชุมชนที่มีความเดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย’  เช่น  อยู่ในที่ดินบุกรุกทั้งของรัฐและเอกชน  ที่ดินเช่า  บ้านเช่า  เสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อ  ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  ฯลฯ  รวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหา  เช่น  จัดหาที่ดินใหม่  โดยเช่าหรือซื้อ เพื่อสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่ หรือซ่อม  สร้าง  ปรับปรุงบ้านใหม่ในที่ดินเดิม ฯลฯ  ตามสภาพปัญหาของแต่ละชุมชน

โดย พอช. จะส่งเจ้าหน้าที่  สถาปนิกชุมชน  เข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน  เช่น  สนับสนุนการรวมกลุ่ม  จัดตั้งคณะทำงานจากชุมชนขึ้นมาเพื่อดำเนินการ  ร่วมกันออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนพัฒนาที่อยู่อาศัย  ร่วมกันออกแบบบ้าน  ออกแบบผังชุมชน ในลักษณะ “ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่”  ให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน  และจัดตั้งสหกรณ์เคหสถานเพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล  สำหรับทำนิติกรรมสัญญา  ซื้อ-เช่าที่ดิน  ขอใช้สินเชื่อจาก พอช. และบริหารโครงการ-ก่อสร้างบ้าน

‘บ้านมั่นคง’  ชาวบ้านหรือชุมชนที่เดือดร้อนจะมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ  คือ “ร่วมคิด  ร่วมทำ” 

นอกจากนี้ พอช.ยังมีหน้าที่สนับสนุนทางด้านการเงินแก่ชุมชน  เช่น  ให้สินเชื่อซื้อที่ดิน-ก่อสร้างบ้าน  (ดอกเบี้ยต่ำ  ผ่อนระยะยาว)  อุดหนุนงบประมาณการสร้างบ้าน  สร้างสาธารณูปโภคส่วนกลาง  ฯลฯ  โดย พอช.จะอนุมัติงบประมาณผ่านสหกรณ์เคหสถานที่ชุมชนจัดตั้งขึ้นมา  (ไม่ได้อนุมัติเป็นรายบุคคล) และคณะกรรมการสหกรณ์ฯ จะร่วมกันบริหารโครงการ-ก่อสร้างบ้าน

ไม่ใช่วางเงินจองบ้านแล้วหิ้วกระเป๋าเข้าอยู่ได้เลยเหมือนบ้านจัดสรรทั่วไป  แต่ทุกคนในชุมชนจะต้องมีส่วนร่วมในการสร้างบ้าน  สร้างชุมชนใหม่  รวมทั้งร่วมกันพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ดังตัวอย่างบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น...!!

ชาวชุมชนบ้านมั่นคงในเมืองชุมแพ  จ.ขอนแก่น  ร่วมกันออมเงินเพื่อเป็นทุนในการพัฒนาชุมชนและแก้ไขปัญหาต่างๆ

บ้านมั่นคงเมืองชุมแพ บทพิสูจน์จากรางวัล ‘เลิศรัฐ 2566’

สยาม  นนท์คำจันทร์  ผู้ช่วยผู้อำนวยการ  พอช.  บอกว่า  โครงการบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ อ.ชุมแพ  จ.ขอนแก่น   พอช.เข้าไปสนับสนุนให้คนจนในเขตเทศบาลเมืองชุมแพที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองรวมกลุ่มกันแก้ไขปัญหาตั้งแต่ปี 2547  โดยมี ‘แม่สนอง  รวยสูงเนิน  เป็นกำลังสำคัญ  ทำให้คนจน  ผู้ที่บุกรุกที่ดินรัฐและเอกชนในเมืองชุมแพ  รวมตัวกันตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อเป็นทุนในการพัฒนาที่อยู่อาศัย   นำไปสู่การเจรจาต่อรองขอเช่าที่ดินกรมธนารักษ์ที่เทศบาลดูแล  เพื่อสร้างบ้านมั่นคง  (บางชุมชนซื้อที่ดินเอกชนทำโครงการ)

เริ่มจากผู้เดือดร้อนชุมชนเดียว  ต่อมาได้ขยายไปสู่ชุมชนคนยากจนต่างๆ ในเขตเทศบาลเมืองชุมแพ  โดยมีกลไกที่สำคัญคือ คณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ ซึ่งประกอบด้วยหลายภาคส่วน  เช่น  เทศบาล  ชาวชุมชน  หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ฯลฯ  ร่วมเป็นคณะกรรมการ  นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ  ไม่ใช่เฉพาะเรื่องบ้าน

เช่น  ในปี 2553 ร่วมกันระดมทุนจัดซื้อที่ดินเนื้อที่ 38 ไร่  ราคา 2.6 ล้านบาท  เพื่อทำนารวม  ปลูกผัก  เลี้ยงปลา  สร้างความมั่นคงทางอาหาร  สร้างโรงงานผลิตน้ำดื่มจำหน่าย  รายได้กลับคืนสู่ชุมชน   นอกจากนี้ในช่วงโควิดระบาดตั้งแต่ปี 2563  รวมทั้งเมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในภูมิภาคต่างๆ  เครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพจะระดมข้าวปลาอาหาร  น้ำดื่ม  สมุนไพร  ฯลฯ ไปช่วยเหลือพี่น้องที่เดือดร้อน

บ้านมั่นคงเมืองชุมแพสวยงามไม่แพ้บ้านจัดสรร 

แม่สนอง  รวยสูงเนิน  หญิงแกร่งแห่งเมืองชุมแพ  บอกว่า  ปัจจุบันเครือข่ายบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพช่วยให้คนยากคนจนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง  ไม่ต้องกลัวโดนไล่รื้อ  จำนวน 13 ชุมชน  รวม 1,052 ครอบครัว   และมีแปลงนารวม  ปีที่ผ่านมาปลูกข้าวเหนียวได้ผลผลิตรวม 28 ตัน  นำมาแบ่งปันกันกิน   มีโรงงานผลิตน้ำดื่ม  ขายให้ชาวบ้าน 13 ชุมชน  และหน่วยราชการต่างๆ  มียอดขายรวมประมาณเดือนละ 1 แสนบาท 

นอกจากนี้ยังมีกองทุนต่างๆ เอาไว้ช่วยเหลือดูแลกัน  เช่น  กองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยเมืองชุมแพ  มีเงินหมุนเวียนประมาณ 16 ล้านบาท   กองทุนสวัสดิการชุมชนเครือข่ายบ้านมั่นคง  มีเงินกองทุนประมาณ 2 ล้านบาท   มีกลุ่มออมทรัพย์ให้กู้ยืมไปประกอบอาชีพ ฯลฯ  ทำให้พี่น้องชุมชนและเครือข่ายได้อาศัยพึ่งพา  แก้ปัญหาความเดือดร้อน  สร้างความมั่นคงทั้งเรื่องที่อยู่อาศัยและคุณภาพชีวิต  จนได้รับการยอมรับจากหน่วยงานต่างๆ  และได้รับรางวัลเกียรติยศจากหลายหน่วยงาน

“รางวัลเลิศรัฐทำให้คนจนๆ  ชาวบ้านธรรมดาๆ อย่างพวกเราดีใจมาก  และเกิดความภูมิใจที่ได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาเรื่องบ้าน  เรื่องที่อยู่อาศัยให้คนจนด้วยกัน  ตอนนี้เรามีโครงการใหม่ที่คิดจะทำ  คือ  เรื่องบ้านเช่าราคาถูก  เพราะในเมืองชุมแพยังมีคนที่ไม่มีบ้านเป็นของตัวเองอีกมาก  เช่น  เด็กที่เรียนจบและทำงานใหม่ๆ  และคนทำงาน  แต่ราคาค่าเช่าบ้านในเมืองชุมแพตกประมาณเดือนละ 3-4 พันบาท   เราจะแบ่งเอาที่นาบางส่วนมาทำบ้านแถวประมาณ 20 ห้อง  คิดค่าเช่าแค่เดือนละ 1,500 บาท  เพื่อช่วยเหลือกัน  โดยจะเอาเงินของกองทุนและ  พอช. มาทำเรื่องนี้  คิดว่าปีหน้าคงจะเริ่มได้”  แม่สนองบอกถึงแผนงานเรื่องที่อยู่อาศัยที่จะทำต่อไป  ไม่ได้หยุดนิ่งเฉพาะปัญหาของตัวเอง

ทั้งนี้ รางวัลเลิศรัฐ  เป็นรางวัลที่  คณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ จะมอบให้แก่หน่วยงานที่มีผลงานโดดเด่นในสาขาต่างๆ  จัดขึ้นทุกปี  โดยในปีนี้  พอช.ได้รับรางวัลสาขา  ‘การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม  ประเภทร่วมใจแก้จน จากผลการดำเนินงาน โครงการบ้านมั่นคงเทศบาลเมืองชุมแพ’ ที่ พอช. เข้าไปสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยทั้งเมืองตั้งแต่ปี 2547

แม่สนอง (แถวหน้าที่ 3 จากซ้าย) และผู้แทน พอช. รับรางวัล ‘เลิศรัฐ ปี 2566’   โดยนายวิษณุ  เครืองาม  อดีตรองนายกฯ เป็นผู้มอบที่ศูนย์ประชุมเมืองทองธานี  เมื่อ 7 กันยายนที่ผ่านมา

20 ปีบ้านมั่นคงและก้าวย่างต่อไป

          นับจากปี 2546 ที่เริ่มดำเนินโครงการบ้านมั่นคง  พอช. ได้ร่วมกับชุมชน  สภาองค์กรชุมชน  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  สถาบันการศึกษา  ภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั่วประเทศ  ขยายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง  เช่น  โครงการแก้ไขปัญหาที่ดินและที่อยู่อาศัย 3 จังหวัดชายแดนใต้  โครงการบ้านพอเพียงชนบท (ซ่อมสร้างบ้านครอบครัวที่ยากจน)  โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลองลาดพร้าว  คลองเปรมประชากร  สนับสนุนการสร้างที่พักอาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไร้บ้าน ฯลฯ 

โครงการบ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากรทำให้ชุมชนเดิมที่เคยบุกรุกที่ดินราชพัสดุริมคลองได้เช่าที่ดินและปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยถูกกฎหมาย  มีบ้านใหม่ที่สวยงาม  สภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเดิม (ผ่อนชำระเงินกู้สร้างบ้านจาก พอช.ประมาณเดือนละ 3 พันบาทเศษ  ระยะเวลา 15 ปี)  ขณะนี้ก่อสร้างแล้วใน 17 ชุมชน  จำนวน 1,500 ครัวเรือน  จากเป้าหมายทั้งหมด 38 ชุมชน  รวม 6,386 หลัง

จนถึงปัจจุบัน (กันยายน 2566) เป็นเวลา 20 ปี   พอช. ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ  ทำให้ประชาชนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตไปแล้ว  รวมกว่า 3,000 โครงการ  จำนวน  265,382 ครัวเรือน

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการแก้ไขปัญหาในมิติใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับสภาพการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของคนทำงานในเมือง  คนเรียนจบใหม่  เพิ่งทำงาน  ไม่มีรายได้เพียงพอที่จะซื้อหาที่อยู่อาศัย  หรือค่าเช่าราคาแพงไม่สอดคล้องกับรายได้  เช่น  การนำอาคารร้าง  ตึกร้างของรัฐและเอกชนในกรุงเทพฯ  หรือพื้นที่ว่าง-ห้องว่างในโครงการบ้านมั่นคงมาพัฒนา  ปรับปรุงเป็นห้องเช่าราคาถูกต่อไป !!

จากการประเมินเบื้องต้น  อาคารร้างใน กทม.มีประมาณ 400 แห่ง  หลายแห่งเจ้าของอาคารประสบปัญหาด้านการเงิน  ถูกธนาคารยึด  อยู่ระหว่างการบังคับคดี  ฯลฯ  โดยเมื่อเร็วๆ นี้  นายวราวุธ  ศิลปอาชา  รมว.กระทรวง พม. เสนอไอเดียให้การเคหะฯ และ พอช.ไปคุยกับเจ้าของอาคารเพื่อหาแนวทางการนำมาใช้ประโยชน์  พัฒนาเป็นที่พักราคาถูก

                                                                           *****************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา