รณรงค์ ‘วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2566’ เข้มข้น...“เสียงจากคนจน” สู่นโยบาย ‘ที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง’

ผู้เข้าร่วมเวทีจากหน่วยงานและผู้แทนชุมชนต่างๆ

พอช. / งานรณรงค์ ‘วันที่อยู่อาศัยโลกปี 2566’  เวทีขับเคลื่อนนโยบาย ‘ที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง’ เข้มข้น  คนจนเสนอปัญหาห้องเช่าราคาแพงเกินรายได้  สภาพห้องเช่าในเมืองแออัด  ราคาแพง  รายได้ต่ำ  ฯลฯ  โดยมี 3 แนวทางนำร่อง  เช่น  ใช้ที่ว่างโครงการบ้านมั่นคงทำห้องเช่า  นำอาคารร้างมาปรับปรุง  ใช้ศูนย์พักคนไร้บ้านทำห้องเช่า  โดย 6 หน่วยงาน/องค์กร  ร่วมลงนามเพื่อขับเคลื่อนห้องเช่าราคาถูกสำหรับคนทำงานในเมือง-ผู้มีรายได้น้อยต่อไป

ระหว่างเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2566 นี้  เครือข่ายชุมชน  หน่วยงานภาคี  และองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในประเทศไทย  เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  เครือข่ายบ้านมั่นคง  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ฯลฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ  เนื่องในโอกาส ‘วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2566’ หรือ ‘World Habitat  Day 2023’

โดยมีการจัดงานแถลงข่าวและจัดเวทีเสวนาการแก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัยในประเด็นต่างๆ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดที่ www.thaipost.net/public-relations-news/449128/)

ล่าสุดวันนี้ (20 กันยายน 2566) ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เขตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีการจัดเวทีเสวนา  เรื่อง ‘ที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง’  ร่วมจัดโดย พอช.  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  กรุงเทพมหานคร  และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)  โดยมีผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  ชาวชุมชนต่างๆ  และผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัย  เข้าร่วมงานกว่า 150 คน   

เวทีเสวนาวันนี้

ห้องเช่าราคาถูกสำหรับคนจนเมือง

นายกฤษดา สมประสงค์  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  กล่าวเปิดเวทีเสวนา  มีใจความว่า  การพัฒนาที่อยู่อาศัยในลักษณะห้องเช่า  บ้านเช่าราคาถูก  มีความสำคัญสำหรับคนที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัว  คนต่างจังหวัดที่เพิ่งเข้ามาทำงานในเมือง ตนเคยเช่าห้องพักราคาเดือนละ 350 บาท เมื่อปี 2526 เป็นห้องเล็กๆ เพื่อเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ  

“การทำห้องเช่าราคาถูกมีแนวทางโดยการถอดชุดองค์ความรู้ ในโครงการบ้านมั่นคงเราทำอยู่แล้ว บางหลังที่เจ้าของไม่อยู่แล้ว เป็นบ้านกลางของโครงการ  นำมาพัฒนาเป็นห้องๆ ให้คนได้เข้ามาเช่าอยู่   บางโครงการตึกร้างอาคารร้างเยอะ  มีหน่วย งานกำลังทำให้เป็นห้องเช่า และการลงทุนในพื้นที่ที่เหมาะสม  พัฒนาเป็นห้องเช่าราคาถูกสำหรับคนที่เริ่มต้นใหม่ เดือนละ 300 -500 บาท  วันหนึ่งเมื่อเขามีอาชีพมั่นคง เขาจะขยับไปอยู่บ้านที่มั่นคงมากขึ้น  การทำบ้านของ พอช. เป็นเครื่องมือที่จะให้พี่น้องลุกขึ้นมาทำงานด้วยกัน  เป็นชุมชน เป็นเครือข่าย เป็นขบวน เราทำผ่านขบวนองค์กรชุมชนทั้งหมด” นายกฤษดา ผอ.พอช. กล่าวเปิดการเสวนา

นายกฤษดา  ผอ.พอช.

นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการ  สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากร กลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สสส.  กล่าวว่า สสส.ทำงานเรื่องคนจนเมืองและคนไร้บ้าน สสส.สนับสนุนเรื่องนี้ด้วย เราอยากทำเรื่องสุขภาวะคนจน 4.4 ล้านคน แต่คนจนเยอะมาก  เกินกว่า สสส.จะทำได้  คนจนยิ่งกว่านั้นคือ “คนไร้บ้าน” คนที่อาศัยอยู่ในที่สาธารณะ  เราให้ความสำคัญกับกลุ่มนี้ สสส.ไม่ได้เคลื่อนงานเอง ทำงานกับภาคีเครือข่าย  เน้นเรื่องวิชาการก่อน สถานการณ์เป็นอย่างไร ? เราต้องทบทวนเพิ่ม เราสนับสนุนไปที่มหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดความรู้ เอาความรู้นั้นมาทำเชิงนโยบาย ถ้าเปลี่ยนนโยบายได้จะเปลี่ยนชีวิตคนได้เป็นจำนวนมาก

จากการศึกษาโอกาสเกิดคนไร้บ้านหน้าใหม่เกี่ยวข้องทั้งรายได้ รัฐสวัสดิการ ความพิการ ความเปราะบางทางเศรษฐกิจและครอบครัว  โดย สสส. พม. และภาคีเครือข่ายคนไร้บ้าน ลงพื้นที่แจงนับคนไร้บ้านในปี 2566  พบจำนวนคนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะ 2,499 คน การแจงนับ คือหัวใจที่ทำให้เขาเริ่มมีตัวตน

จากการศึกษาตั้งแต่ปี 2558 ทำให้มองเห็นตัวตนของคนไร้บ้าน นำมาสู่มาตรการต่าง ๆ ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่พัฒนามาจากฐานข้อมูลเหล่านี้ คือ โครงการ “ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง” โดย สสส. ร่วมกับมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย พัฒนาโครงการ โดย สสส. สนับสนุน 60 % คนไร้บ้านสมทบ 60 %  (ส่วนเพิ่มร้อยละ 20 ของการสมทบจากคนไร้บ้าน จะถูกนำไปเป็นเงินกองทุนเพื่อช่วยเหลือสมาชิกกลุ่มด้านอื่นๆ ต่อไป) ในอัตราค่าเช่า 1,700 – 2,200 บาท/เดือน  ซึ่งโมเดลที่ทำมาประสบความสำเร็จดี หลายคนอาชีพก็มั่นคงขึ้น หลายคนเริ่มถอนตัวจากคนไร้บ้านไปได้ ซึ่งจะถูกขยายออกไปทำในอีกหลาย ๆ ที่

“งานวันนี้จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่ทาง พอช. ได้นำไปขับเคลื่อนเป็นนโยบายที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง ร่วมกันพัฒนาคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงจากภาวะไร้บ้านถาวร  ส่วน สสส. และภาคีเครือข่าย พร้อมจะทำหน้าที่สนับสนุน แก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อคืนสิทธิ และสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่คนไร้บ้านควรจะได้รับต่อไป” ผู้แทน สสส.กล่าว

ผู้บริหาร กทม.-สสส. พูดคุยกับคนไร้บ้านที่เช่าห้องตามโครงการ ‘ที่อยู่อาศัยคนละครึ่ง’

เสียงจากห้องเช่าและ “คนเช่าห้อง”

ณภัทร เสนาะพิณ ผู้แทนกลุ่มห้องเช่าหัวลำโพงและปทุมธานี  บอกว่า  มีผู้เข้าร่วมโครงการ 40 คน พี่น้องเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองได้ คนที่พร้อมจะเข้ามาแต่ละเฟสมีตลอดเวลา มีบางส่วนที่ชีวิตดีขึ้น และขยับขยายไปอยู่ที่อื่น จากสถานการณ์โควิดช่วงนั้นทำให้หลายคนต้องออกมาเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย  พอเข้าร่วมโครงการทำให้ชีวิตดีขึ้น ตอนนี้เรากำลังจะมีห้องเช่าราคาถูกที่ปทุมธานี  ตอนนี้เหลือ 7 คน 5 ห้องที่อยู่แบบคนละครึ่ง  ที่เหลือจ่ายค่าห้องเองได้

“การมีห้องเช่าทำให้เราก้าวออกมาจากจุดที่เราไร้หวัง ไม่มีที่อยู่ เวลาไปสมัครงาน  เราบอกได้ว่าเราอยู่ที่ไหน กลุ่มผู้เช่าด้วยกันเป็นครอบครัว ชุมชนของเรา จากผู้เช่ามาเป็นคนที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการ อยากให้เปลี่ยนทัศนคติการมองคนไร้บ้านว่าขี้เกียจ  แต่จริงๆ เขาอยากมีอาชีพ  อยากทำงาน อยากให้มองคนไร้บ้านใหม่”  ณภัทรบอกความรู้สึก

ทองม้วน ลุนไชยภา ผู้เช่าห้องย่านกีบหมู  เขตคลองสามวา ซึ่งเป็นย่านที่พักสำหรับแรงงานต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานรับจ้างรายวันในกรุงเทพฯ  เล่าว่า  ห้องเช่าอยู่กัน 5 คน มาจากอุดรธานี มาทำงานที่กีบหมูได้ 5 ปีแล้ว มาเป็นช่าง  สารพัดช่าง ห้องเช่าราคาเดือนละ 2,500  บาท  ค่าน้ำ  ค่าไฟ รวมแล้วประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน  มีค่ากินค่าใช้ประจำวัน

“15 ปีก่อนเข้ากรุงเทพฯ ก็มาทำงานก่อสร้าง  บ้านที่ต่างจังหวัดก็ยังไม่ได้สร้าง ที่กีบหมูมีสารพัดช่าง ตื่นเช้ามารอให้คนมารับไปทำงาน สถานการณ์ไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน ต้องไปรองานไม่รู้ว่าจะได้หรือไม่ได้ รายได้สูงสุดประมาณเดือนละ 15,000 บาท”  ทองม้วนบอก

ชิตชัย พรมรัตน์  ผู้อยู่อาศัยในอาคารร้างสิรินเพลส ย่านซอยรามคำแหง 83  บอกว่า  อาคารร้างที่อยู่  เป็นของ ‘ราเกซ สักเสนา’ (นักธุรกิจการเงินการธนาคาร เชื้อสายอินเดีย  ทำธุรกิจล้มละลาย ทรัพย์สินถูกยึด  หลบหนีไปต่างประเทศปี 2539 ) เป็นตึกที่สร้างไม่เสร็จ  เมื่อก่อนมีบริษัทจ้าง รปภ.มาดูแล  ต่อมาก็ปล่อยทิ้งร้าง  รปภ.จึงเข้ามาอยู่  แล้วชักจูงญาติพี่น้องมาอยู่ด้วย

ส่วนตนอยู่มา 20 ปีแล้ว ประมาณปี 2546  ด้านหน้าเป็นอาคารพาณิชย์ ด้านในเป็นตึก  สร้างได้ 7 ชั้น  มีคนอยู่ตั้งแต่ชั้น 1-4  รวมประมาณ  100 ครอบครัว ห้องทั้งหมดประมาณ 150 ห้อง  ขนาดห้องประมาณ 28 ตารางเมตร  คนที่มาอยู่ส่วนใหญ่มีงานทำ เหตุผลคือไม่ต้องเช่า จ่ายเฉพาะค่าน้ำ ค่าไฟ  พ่วงเข้ามา  เช่น  ค่าน้ำประปายูนิตละ 8 บาท  ถ้าใช้แบบประหยัดค่าน้ำไฟตกเดือนละ 500 บาท

“ตอนนี้อาคารเป็นของธนาคาร  อยู่ระหว่างบังคับคดี  ถ้าขายได้ก็พร้อมจะย้ายออก  ในกลุ่มก็ต้องการหาที่อยู่ใหม่ เพราะรู้ตัวว่าบุกรุกเข้ามา ความปลอดภัยไม่มี แต่อยู่สบาย อยากจะพัฒนาเรื่องความสะอาด ความมีระเบียบวินัย” ชิตชัยบอกถึงความไม่มั่นคง  เพราะไม่รู้จะถูกรื้อย้ายในวันไหน

สภาพอาคารร้าง ‘สิรินเพรส’  ด้านในคือที่อยู่อาศัยของผู้คนกว่า 100 ครอบครัว

เพชรลดา ศรัทธารัตนตรัย ผู้แทนคนรุ่นใหม่  บอกว่า  พ่อแม่อยู่ในห้องเช่าราคาสูงเมื่อเทียบกับเงินเดือน ราคาที่เหมาะสมกับการอยู่  คือ 3,000 บาทที่พอจะอยู่ได้  แต่เมื่อเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ คือวันละ 300 บาท  หรือเดือนละ 9,000 บาท ซึ่งข้อมูลจากนักวิชาการบอกว่า  ค่าที่อยู่อาศัยควรจะอยู่ที่ 25เปอร์เซ็นต์ แต่ครอบครัวจ่ายประมาณเดือนละ 33 เปอร์เซ็นต์  ยังไม่รวมค่าน้ำ  ค่าไฟ

“อยากจะฝากทางกระทรวง พม. เมื่อก่อนมีการมอบบ้านพอเพียงให้คนที่ประสบปัญหาด้านนี้ อยากจะให้ พม.มอบบ้านให้คนที่ต้องการอีกจำนวนมาก ปัญหาเหล่านี้จะเชื่อมโยงกันหมด ไม่ว่าจะเป็นการอยู่แบบรุกล้ำหรือห้องที่ไม่ได้มาตรฐาน คงจะดีถ้าเรามีบ้านเช่าราคาถูก ปลอดภัย มีมาตรฐาน และลดภาระค่าใช้จ่าย และอาจจะทำให้พวกเรามีเสถียรภาพทางการเงินมากขึ้น”  เพชรลดาบอกถึงความต้องการ

อภิญญา จารุวัฒนชัยกุล ผู้เช่าห้องย่านสัมพันธวงศ์  บอกว่า  ย่านเยาวราช สำเพ็ง หัวลำโพง  เป็นพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพฯ มีแรงงานต่างชาติจำนวนมาก มีผู้คนหลากหลาย  ทั้งผู้อยู่อาศัยเดิมและประชากรแฝง มีห้องเช่า 71 จุด และ 37 จุดไม่เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐาน ไม่มีข้อมูลในระบบ จึงทำการสำรวจ  พบว่า

 ผู้ถือครองที่ดินส่วนใหญ่เป็นเอกชนและสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์   สภาพห้องเช่าเก่า ทรุดโทรม คับแคบและแออัด อากาศไม่ถ่ายเท  ระบบรักษาความปลอดภัยไม่มี บางคนไม่ได้รับแสงสว่างที่เพียงพอ ใช้ห้องน้ำรวมเป็นหลัก เพราะอาคารไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นที่อยู่อาศัย  อัตราค่าเช่า 3,000 -6,000 บาท ไม่รวมค่าน้ำค่าไฟ

“แรงงานรายได้ต่ำ อาชีพหาบเร่แผงลอย รับจ้างทั่วไป ผู้สูงอายุที่ยังคงต้องประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเอง แรงงานต่างชาติ พม่า กัมพูชา ลาว บริเวณชั้นล่างทำการค้า ชั้น 2-5 ปรับเป็นที่อยู่อาศัย มีการใช้พื้นที่ทางเดินเป็นพื้นที่รวม เช่น ทำอาหาร ตากผ้า บางห้องไม่มีหน้าต่าง ห้องแคบ  ต้องสลับกะกันนอน”  อภิญญาเล่าสภาพห้องเช่าในเมือง

ปัจจุบันห้องเช่าในเมืองมีจำนวนน้อยลง  จึงทำให้ราคาค่าเช่าสูงขึ้น  แต่แรงงานยังหลั่งไหลเข้ามาทำงานในพื้นที่มากขึ้น อัตราการตกงานของแรงงานก็ยังคงสูง  แต่ค่าแรงต่ำ วันละ 300 -550 บาท   ต้องทำงาน 9-18 ชั่วโมงต่อวัน ค่าใช้จ่าย อาหาร ยารักษาโรค  เงินที่ส่งกลับบ้าน  ค่าใช้จ่ายด้านยาแพงขึ้น  เพราะสุขภาพทรุดโทรมจากการทำงานและที่อยู่อาศัยที่ไม่มีมาตรฐาน

เบื้องหลังตึกสูงในเมือง  คือห้องพักสภาพแออัดสำหรับแรงงาน  อาชีพรถเข็นขายของ  แผงลอยในเมือง  ฯลฯ

เวทีเสวนา “แนวทางการพัฒนานโยบายที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก”

นายธนิต ตันบัวคลี่ รองผู้อำนวยการสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร  กล่าวว่า การช่วยเหลือคนด้อยโอกาสอาจจะต้องพิจารณาตามความเป็นจริง  และตามศักยภาพของแต่ละคน การช่วยเหลือเท่ากันอาจจะไม่ใช่คำตอบ คนที่ต้องการความช่วยเหลือมากก็ต้องช่วยมาก  กทม.ทำงานกับคนไร้บ้าน ทำให้พบว่าคนไร้บ้านไม่มีบัตรประชาชน และมีปัญหาสุขภาพ กทม.มีศูนย์บริการสาธารณสุข  มีสำนักงานเขตให้ทำบัตร แต่เขาไปเองไม่ได้ บางครั้งต้องจูงมือเข้าไป เราทำงานร่วมกับ พม. มีรถบริการทำบัตรประชาชนเคลื่อนที่  มีศูนย์บริการไปตั้งที่ศูนย์ประสานงานที่เราทำร่วมกับ พม.

ส่วนเรื่องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยใน กทม.  ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบาย ‘9 ดี 9 ด้าน’ รวมถึงนโยบายที่อยู่อาศัย ห้องเช่าราคาถูก เราแก้ข้อบัญญัติของสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัยสำเร็จแล้ว เพื่อจะมาดูแลเรื่องที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ ทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูกต่อไป   

นายกิตติ อินทรกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวง พม.  กล่าวว่า  นโยบายการเข้าถึงสิทธิ์ การมีบัตรประชาชน จะทำให้เขาเข้าถึงสิทธิ์ กลุ่มคนไร้บ้าน ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด อยู่มานาน แต่ทะเบียนบ้านอยู่ต่างจังหวัด ทำให้ไม่มีสิทธิ์ในหลายเรื่อง จึงเปิดทะเบียนบ้านของกรมฯ  เป็นจุดเริ่มต้นการเข้าถึงสิทธิ์ เข้าระบบการจ้างงาน ประกันสังคม การรักษา พยาบาลได้   บัตรทองต่างจังหวัดทำให้ใช้สิทธิ์ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ กลุ่มเปราะบางต้องถูกพัฒนาเฉพาะ กลุ่มไร้บ้านหรือกลุ่มบ้านเช่า ในกระทรวงยังไม่ได้ยกมาเป็นประเด็นหลัก แต่เราจะยกขึ้นมาทำ

“กระทรวงมีคณะกรรมการพัฒนาที่อยู่อาศัยระดับชาติ มีประชุมแต่ค่อยๆ หายไป เราเคยคิดกันไว้แล้ว และควรผลักเป็นนโยบายระดับชาติ  มีโครงการดีๆ ที่รัฐควรมาสนับสนุน รัฐมนตรีทราบเป็นประเด็นแต่ไม่ได้หยิบมาทำ หลังจากนี้ต้องมีเวทีระดับ ชาติที่ทำงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาเป็นประเด็นใหญ่ในเชิงนโยบาย เรื่องที่อยู่อาศัยต้องเป็นสวัสดิการแห่งชาติ แต่ตอนนี้กลไกการขับเคลื่อนไม่ได้ถูกขยับในเชิงนโยบาย”  นายกิตติกล่าว

นายอดิเรก แสงใสแก้ว เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์  กล่าวว่า  ประเทศสิงคโปร์เคยมาดูงานการเคหะฯ ที่แฟลตดินแดง  แล้วกลับไปทำ ให้คนมีรายได้น้อยสามารถมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง  ในใจกลางเมืองก็มีบ้านได้  สิงคโปร์ทำบ้านให้คนก่อน เพราะมองว่าการมีคนมีบ้านในเมืองเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ถึง 5 เท่า

“ในไทยมีแผนการทำเรื่องที่อยู่อาศัยแต่ทำได้แค่ 2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของทั้งประเทศไม่ใช่แค่การเคหะฯ หรือ พอช.  ถ้าเราทำแบบสิงคโปร์  ทำบ้านราคาถูกให้คนมีรายได้น้อยก่อน  เมื่อเขามีรายได้  เขาก็จะซื้อบ้านราคาแพงได้ บ้านไม่ควรเป็นสินค้า ถ้าตัดเรื่องดอกเบี้ย ภาษีออก จะเห็นโครงสร้างราคาจริงๆ ในกทม.มีที่ดินรกร้างจำนวนมาก เจ้าของอาจไม่มีโอกาสพบผู้ประกอบการ ถ้า กทม. หรือ พอช. เป็นโซ่ข้อกลางทำเรื่องนี้ สามารถทำได้ เพราะคนมีเงินไปฝากธนาคารได้ดอกเบี้ยนิดเดียว ถ้ามาลงทุนทำบ้าน มีรายได้มากกว่าดอกเบี้ยแน่นอน”  นายอดิเรกกล่าว

ชีวิตเงียบเหงาในอาคารร้าง

ประสบการณ์จากต่างประเทศ “ที่ดินไม่ควรเป็นสินค้า”

นายประภาส ปิ่นตบแต่ง กรรมการกำกับทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านและคนจนเมือง สสส.  กล่าวว่า ห้องเช่าแถวสัมพันธวงศ์ ห้องหนึ่งมี 18 คนผลัดกันนอน 3 กะ   ที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อยในไทยมีปัญหาอย่างมาก ในกรุงเทพฯ มีผู้ดือดร้อนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์  ในภาพรวมทั้งโลก อินเดียมีคนที่ไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง 26.5 ล้านคน

บทเรียนจากต่างประเทศ แนวโน้มที่สำคัญคือการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยของคนกลุ่มเปราะบาง มีการเปลี่ยนทิศทาง เช่น เปลี่ยนมาเป็นเช่าราคาถูก เช่น เกาหลี รัฐเป็นคนจัดสวัสดิการ ครอบคลุมทุกกลุ่ม คนจนรัฐหนุนเสริมในราคาถูกกว่าตลาด 30-40 เปอร์เซ็นต์  รัฐจัดโดยมีทิศทางสำคัญ  คือการปรับมาให้เช่า เนื่องจากการเป็นเจ้าของมีปัญหาในแง่ของรายได้ ยากที่คนจะเป็นเจ้าของ จัดตั้งเป็นวิสาหกิจกองทุนที่อยู่อาศัยและที่ดินใช้งบ 0.1 ของ GDP อาศัยรายได้จากพันธบัตร เป็นกองทุนมาบริหารจัดการ แบ่งกลุ่มผู้มีรายได้น้อย  เป็นเปราะบาง ต่ำ  และปานกลาง  สนับสนุนต่างกัน ต่ำกว่าราคาตลาด 30 เปอร์เซ็นต์เป็นอย่างน้อย

 สิงคโปร์ หนุนเสริมผู้เช่าให้มีรายได้พอ อินเดีย ปี 2020 ก่อนหน้านี้คล้ายๆ การเคหะฯ  หลังจากนั้น รัฐลงทุนเอง เอาอาคารเก่าๆ ของราชการปรับมาเป็นที่อยู่อาศัย ร่วมกับเอกชน มาร่วมทุน รัฐมีแรงจูงใจภาคเอกชน ใช้มาตรการภาษี การใช้พื้นที่รอบๆ ให้เป็นประโยชน์ 

บราซิล เซาเปาโล มีกลุ่มคล้ายๆ สลัมสี่ภาคไปยึดตึกและอาคาร มีครอบครัวไปอยู่ 49,000 ครอบครัว รัฐเข้ามาซื้อและปรับปรุงตึก ความสัมพันธ์ของคนที่ไปยึดมีการวางแผนสร้างรายได้ ทำการตลาด รัฐให้คูปองไปเช่า รัฐมีวิธีการสนับสนุนในรูปแบบค่าเช่า

“ที่ดินไม่ควรจะกลายเป็นสินค้า พี่น้องคนจนต้องได้ใช้ด้วย ทิศทางของที่อยู่อาศัยแบบเช่าเป็นทิศทางของทั่วโลก การคิดรูปแบบหลากหลาย อะไรที่จะเหมาะกับของเรา ตึกร้าง ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง รัฐเข้าไปสนับสนุน คุมราคาค่าเช่า รัฐสนับสนุน  เจ้าของกิจกรรมอยู่ได้ด้วย และควรคิดเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนที่เข้าไปอยู่ด้วย สร้างรายได้ สร้างอาชีพ ความสัมพันธ์ของผู้คนที่ไปอยู่ด้วยกัน”  นายประภาสเสนอความเห็น

นางสาวนพพรรณ พรหมศรี ประธานคณะทำงานพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อสวัสดิการคนจน  และเลขาธิการ มพศ.กล่าวว่า   เรื่องที่อยู่อาศัยสำคัญมาก คนมีบ้านยากลำบาก กลุ่มอื่นๆ มีนโยบายสนับสนุน เช่น พอช. ทำโครงการบ้านมั่นคง การเคหะฯ  ช่วยกลุ่มรายได้น้อยอื่นๆ แต่คนที่อยู่ในห้องเช่าราคาถูก ไม่มีใครมองเห็น หรือสนับสนุนเรื่องที่อยู่อาศัยเลย ภาระราคาที่อยู่อาศัยสูงเมื่อเทียบกับรายได้แต่ละเดือน และบางคนรายได้ไม่มั่นคง ไม่รู้ว่าจะจ่ายไหวไหมในแต่ละเดือน

คนไร้บ้านบางส่วนถ้ามีรายได้เขาจะไปเช่าบ้านอยู่ เขาไม่อยากเป็นคนไร้บ้าน ช่วงโควิดเราพบคนที่หลุดออกจากห้องเช่ามาเป็นคนไร้บ้าน เพราะไม่มีงานทำ   จึงทำโครงการห้องเช่าคนละครึ่ง เป็นจุดเริ่มต้นนำร่อง  ถ้าจ่ายที่อยู่อาศัยถูกลงจะทำให้คุณภาพชีวิตเขาดีขึ้น และต้องมีนโยบายสำหรับคนกลุ่มนี้

“เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องพื้นฐาน รัฐต้องช่วย  ต้องให้สอดคล้องกับคนในแต่ละบริบท ไม่ใช่เรื่องการแสวงหากำไรอย่างเดียว  คนทุกกลุ่มในสังคมเข้าถึงที่อยู่อาศัยหรือยัง ?  ที่มูลนิธิทำเรื่องนี้  ชวนหน่วยงานอื่นๆ มาทำ เราก็คุยกับ พอช.ก่อนเพราะ พอช.ทำเรื่องที่อยู่อาศัยให้คนจน ทดลองทำกับคนจนเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง ทดลองรูปแบบ เวทีนี้เราก็พยายามรวบรวมข้อเสนอว่าเราต้องทำอย่างไร ?  และใครสนับสนุนบ้าง เรามีกรรมการจากหลายภาคส่วน เช่น จาก กทม. จาก พม. ได้รูปธรรม 2-3 แนวทาง และพยายามพัฒนาคิดค้นไปเรื่อยๆ ให้ชัดเจนขึ้นในอนาคตว่าควรจะเป็นแบบไหน”  นางสาวนพพรรณกล่าว

นางทิพย์รัตน์ นพลดารมย์ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการบ้านมั่นคง พอช.  กล่าวว่า  พอช.ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเรื่องการทำบ้านเช่าราคาถูก เป็นโครงการทดลองที่ปทุมธานี บ้านพูนสุข และรูปแบบสามารถทำได้หลากหลาย เครือข่ายชุมชนเมืองและท้องถิ่นมาทำงานร่วมกัน ทำที่อยู่อาศัยสำหรับทุกคน กลไกสำคัญคือการเก็บข้อมูลในพื้นที่และทำแผนที่อยู่อาศัยของตนเอง

นโยบายต้องดูระบบการเงินที่จะมาหนุนเสริมให้สำเร็จ ความสามารถในการจ่ายเป็นอย่างไร ? ต้องมาคิดโมเดลที่เหมาะสมกับโครงการ แต่หลักสำคัญคือเจ้าของปัญหาต้องลุกขึ้นมาช่วยจัดการ และต้องแสวงหาความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ต้องทำงานด้วยกันและหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด การออกแบบที่อยู่ต้องมีความหลากหลายตามบริบทของผู้อยู่อาศัย

ผู้อยู่อาศัยในอาคารร้างย่านรามคำแหง

สรุปแนวทางการทำงานโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัย-ที่พักราคาถูก

ในช่วงท้ายของการจัดเวทีเสวนาวันนี้  มีการสรุปการขับเคลื่อนนโยบาย ‘ที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูกสำหรับผู้มีรายได้น้อยในเมือง’ โดยจะมีการผลักดันและนำร่องโครงการต่างๆ  3 แนวทาง คือ 1.ให้ชุมชนในโครงการบ้านมั่นคง  ปรับปรุง  หรือจัดสร้างเป็นห้องเช่า  2.พัฒนา  ปรับปรุงอาคารร้างเป็นห้องเช่า  โดยความร่วมมือกับหลายภาคส่วน  เช่น  เจ้าของอาคาร  ดึงภาคเอกชนเข้าร่วม  และ 3.จัดหาที่ดินว่างเปล่ามาทำเป็นห้องเช่าราคาถูก  โดยขณะนี้ 2 พื้นที่นำร่อง  คือ ศูนย์พัฒนาและฟื้นฟูศักยภาพคนไร้บ้านที่ จ.ปทุมธานี ‘บ้านพูนสุข’  และอาคารสวัสดิการที่อยู่อาศัยเลียบวารี 79 เขตหนองจอก  กรุงเทพฯ

นอกจากนี้  ผู้แทนจากกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  สสส.  พอช. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย  ผู้แทนเครือข่ายบ้านมั่นคง   และสมาคมคนไร้บ้าน   ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการสนับสนุนให้เกิด ‘นโยบายที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก  เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้มีรายได้น้อยที่เป็นผู้เช่าห้องพักอาศัยในเมือง’ ต่อไป !!

ผู้แทน  6 หน่วยงาน/องค์กร  ร่วมลงนามบันทึกเจตนารมณ์ขับเคลื่อนนโยบายที่อยู่อาศัยเช่าราคาถูก

***************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก นำทีมช่างชุมชน Kick Off ซ่อมบ้านผู้ประสบภัยพิบัติ ‘แม่ยาวโมเดล’

พอช. หนุนงบกว่า 30 ล้าน ซ่อม สร้าง 6 ตำบล 875 ครัวเรือน สร้างรูปธรรม การจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย ยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายจากชุมชน ถึงรัฐบาล

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ