นายวราวุธ รมว.พม. (แถวหลังที่ 8 จากซ้าย) พร้อมคณะที่ปรึกษา และผู้บริหารหน่วยงานต่างๆ ในกระทรวง
กระทรวง พม. / นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ คนใหม่ มอบนโยบายการบริหารกระทรวงให้แก่ผู้บริหารหน่วยงานในสังกัด ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ พม. ทั่วประเทศ ยึดหลักการทำงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อรับใช้ประชาชน 66 ล้านคนทั่วประเทศ ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่เด็กทารกถึงผู้สูงอายุ เสนอไอเดียให้ พอช.-การเคหะฯ นำตึกร้างในกรุงเทพฯ มาทำ ‘บ้านตั้งตัว’ ให้คนทำงานรุ่นใหม่ แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยราคาแพง ทำ ‘ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุชุมชน’ รองรับสังคมสูงวัย
วันนี้ (19 กันยายน) ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สะพานขาว กรุงเทพฯ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. ได้มอบนโยบายการบริหารราชการเนื่องในโอกาสการเข้ารับตำแหน่งใหม่ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดเข้าร่วมรับฟัง รวมทั้งรับฟังผ่านระบบออนไลน์ทั่วประเทศ
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า กระทรวง พม.ได้ขับเคลื่อนงานในภารกิจ ทั้งในส่วนของเด็กและเยาวชน สตรีและครอบครัว ผู้สูงอายุ คนพิการ คนด้อยโอกาสในมิติต่างๆ มีหน่วยงานในสังกัด รัฐวิสาหกิจในสังกัด และองค์การมหาชน เช่น สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ วันนี้มีผู้บริหารเข้าร่วมรับฟัง 120 คน และมีผู้เข้าร่วมในระบบซูมทั่วประเทศ ประมาณ 500 คน เช่น พมจ.จังหวัด One Home พม. 76 จังหวัด ฯลฯ
นายวราวุธ รมว.พม.คนใหม่
ทำงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ กล่าวว่า วันนี้ดีใจที่ได้มีโอกาสมาเป็นรมว.พม. เป็นกระทรวงที่ 2 ในชีวิต กระทรวงแรกคือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) วันนี้ได้มาดูแลพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทุกวัยในประเทศไทย โดยมีหัวใจสำคัญในการทำงาน 3 ข้อ คือ 1. การที่พวกเราทำงานตรงนี้ เราทำงานตามรอยเบื้องพระยุคลบาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 นี่คือเป้าหมายหลัก เพื่อทำงานรับใช้พี่น้องประชาชนทั้ง 66 ล้านคน ทุกเพศ ทุกวัย และที่สำคัญคือ เงินเดือนของพวกเราทุกคนมาจากภาษีของประชาชน ดังนั้นตนจะไม่ยอมรับการทุจริตคอร์รัปชั่นใดๆ เด็ดขาด จะใช้เงินทุกบาทให้เกิดประโยชน์กับการทำงานของพี่น้องประชาชนให้มากที่สุด
ประเด็นที่ 2 ตนเรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวเครื่องกล และปริญญาโทด้านไฟแนนท์ ไม่รู้เรื่องสังคม ไม่ใช่นักสังคมสงเคราะห์ ไม่ใช่นักสหวิชาชีพ ไม่มีหน้าที่ต้องคุยกับเคสต่างๆ ตนเป็นนักบริหาร ถ้าการทำงานของท่านติดขัดตรงไหน หน้าที่ของตนจะมาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยให้ พม.ของเราเข้มแข็งมากขึ้น และ 3. เน้นทำได้จริง ทำแล้วจะต้องเกิดประโยชน์ เพื่อขับเคลื่อน พม.ไปข้างหน้า
“การทำงานของผมต้องมีความแม่นยำ ต้องมีความรวดเร็ว ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ได้ ยกตัวอย่าง ผมเริ่มทำงานวันที่ 8 กันยายน มีปัญหาเรื่องเบี้ยเด็กแรกเกิด 600 บาท ทำอย่างไรจะให้ถึงมือประชาชนได้เร็วที่สุด ? ซึ่งในที่สุดเราก็ทำได้ วันนี้ทุกคนได้รับเงินแล้ว นี่คือเป้าหมาย คือ ต้องทำให้เร็ว ทำให้แม่น และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง วันนี้เราเห็นแล้วว่า ไม่มีอะไรที่ พม.ทำไม่ได้ ภายในเวลาเพียง 7 วันที่เข้ามาทำงาน เราสร้างการเปลี่ยนแปลงได้” รมว.พม.กล่าว
เงินอุดหนุนทารก-6 ขวบทั่วประเทศ โอนให้ครอบครัวเด็กเมื่อ 18 กันยายนที่ผ่านมา หลังจากล่าช้าเพราะการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล
รมว.พม.กล่าวต่อไปว่า ในช่วงวันที่ 11-12 กันยายนที่ผ่านมา รัฐบาลได้แถลงนโยบาย ส่วนหนึ่งของนโยบาย ท่านนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ทุกสถานะ ดูแลให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าเดิม แม้นโยบายนี้จะดูกว้าง แต่ก็จะเอื้อให้ พม.ของเรามีช่องทางทำงานได้มากขึ้น และจะนำมาเป็นแนวทางในการทำงานของพม.หลังจากนี้
“ที่ผ่านมา พม.ของเรา คนส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นกระทรวงสังคมสงเคราะห์ ให้อย่างเดียว แต่งานของพวกเรา ไม่ใช่แค่นั้น เพราะภารกิจของ พม.นั้น ทั้งพัฒนาสังคม ทั้งความเป็นอยู่ของพี่น้อง ปกป้องสิทธิทั้งหลาย ดูแลความเป็นอยู่ของพวกเราทุกคน การทำงานเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่าย จากนี้ไปต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมต่างๆ ต้องไปดึง ไปหามา ต้องคิดนอกกรอบว่าจะทำอย่างไรให้งาน พม.ของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น” รมว.พม.กล่าว
นายวราวุธ รมว.พม. กล่าวด้วยว่า ชื่อของกระทรวง ‘การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์’ มาจากคำของ UN หรือองค์การสหประชาชาติ ฉะนั้นนี่คือภารกิจที่สำคัญของกระทรวง เราจะมาสร้าง พม.ยุคใหม่ให้เป็นกระทรวงที่พัฒนาสังคม และดึงศักยภาพของพี่น้องประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งคนพิการ ผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะสถานะใด เพศใด เรามีหน้าที่ดึงศักยภาพเหล่านั้นออกมาให้เป็นทรัพยากรบุคคล เป็นต้นทุนของสังคมไทย ดังนั้นจึงต้องคิดใหม่ ทำใหม่ เพราะถ้าเราไม่คิดใหม่ๆ ทำสิ่งใหม่ๆ ประเทศไทยก็จะเหมือนเดิม ดังนั้นเราจึงต้องมาร่วมกันเปลี่ยนแปลง
“พม.พอใจ ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.”
นายวราวุธ กล่าวถึงคำขวัญในการทำงานของกระทรวงว่า “พม. พอใจ ให้ทุกวัยพึงใจใน พม.” การที่เราจะพอใจในผลงานของตัวเอง ภูมิใจในองค์กรของเรา ความภูมิใจ ความพอใจเหล่านั้น ต้องมาจากคนอื่นที่ได้รับบริการจาก พม.ของเรา มาใช้บริการ พม.เสร็จแล้วพอใจ เช่น เกิดความรวดเร็ว เมื่อใดที่พี่น้องประชาชนเกิดความพอใจก็คือเวลาที่พวกเราพอใจ พึงใจ ทำให้พี่น้องประชาชนมีความสุขได้ ซึ่งต่อนี้ไปเราต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น
นอกจากนี้ รมว.พม.กล่าวถึงเป้าหมายด้าน ‘SDGS’ (Sustainable Development Goals : SDGs) หรือเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของยูเอ็น ซึ่งมี17 ข้อ จาก 17 ข้อเกี่ยวข้องกับกระทรวง พม. ถึง 8 ข้อ หรือกว่าครึ่งหนึ่งของ ‘SDGS’ คือภารกิจของ พม.
ส่วนเรื่องเงินดูแลบุตร ดูแลเด็กแรกเกิด 600 บาท นายวราวุธกล่าวว่า ตนอยากจะให้เป็น 6,000 บาทต่อเดือน แต่ต้องมาดูความเป็นจริงเรื่องงบประมาณ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ เราทำให้เด็ก 4 ล้านคน ตั้งแต่ 0-6 ขวบ ทำอย่างไรจะให้แม่ทุกๆ ที่มีสิทธิเรื่องนี้ จะได้รับเงินทุกคน และทราบว่ามีสิทธิตัวนี้ ต้องทำให้พ่อแม่ทั้งหลายรู้ว่ามีสิทธินี้และเข้าถึง เพื่อให้เงินอุดหนุนนี้ครอบคลุมและทั่วถึง และครอบครัวไม่โดนยกเลิกสิทธิ
รวมทั้งการยกระดับการดูแลพัฒนาเด็กเล็กทั้งร่างกายและจิตใจ พัฒนาสมอง ความคิด ให้เติบโตขึ้นมาให้มีศักยภาพ เติบโตขึ้นมาเป็นคนดีของสังคม รวมทั้งพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลเด็ก ไม่ใช่แค่ให้มีหน้าที่มานั่งดูไม่ให้เด็กล้ม เพื่อให้ช่วง 3-6 ปีแรกของชีวิตได้รับการพัฒนา ทำให้พัฒนาเซลล์สมองให้มากที่สุด
ส่วนระดับเยาวชน วันนี้ พม.ของเรานอกจากที่กระทรวงศึกษาฯ ดูแลแล้ว หน้าที่ของพวกเราต้องดูแลเด็กเหล่านั้น หน้าที่ของเราต้องหาเครื่องมือใหม่ๆ คิดนอกกรอบ คิดแก้ปัญหาให้เด็กๆ เหล่านี้ เช่น มีค่ายเยาวชนค้นหาตัวตน ให้เด็กได้เรียนรู้ ว่าโตขึ้นชอบอะไร ? เป็นคนแบบไหน เวลาเกิดวิกฤติจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ? ชอบอะไร? เป็นต้น
เราอยากจะให้มีครอบครัวอุปถัมภ์ที่แข็งแรง สร้างกลไกที่รองรับเด็กมีแนวคิดที่แตกต่างหรือมีปัญหาต่างๆ ซึ่งครอบครัวอุปถัมภ์จะช่วยแก้ปัญหาให้เด็กได้ หน้าที่ของครอบครัวอุปถัมภ์ไม่ใช่แค่ให้หลังคา ให้อาหาร หรือให้ที่นอน ต้องปรับทัศนคติ มุมมอง เพื่อให้เด็กได้ออกมาเป็นคนดีมีคุณภาพของสังคม
รวมทั้งโครงการใช้ศิลปะบำบัดเพื่อนำร่องใช้ในเด็กในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อถ่ายทอดความรู้สึก ความคิด สะท้อนปัญหา แล้วให้ผู้เชี่ยวชาญนำมาวิเคราะห์ สะท้อนสิ่งที่เด็กคิด เพื่อนำมาใช้แก้ปัญหาเด็กต่อไป
เสนอไอเดียนำตึกร้างสร้างที่พักคนทำงานรุ่นใหม่
ส่วนคนวัยทำงาน คนรุ่นใหม่ การจัดการทรัพย์สินของการเคหะแห่งชาติและสถานธนานุเคราะห์ จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับคนวัยทำงานได้อย่างไร เรามีแนวคิด ‘บ้านตั้งตัว’ กับคนทำงานใหม่ คนรุ่นใหม่ ที่เติบโตขึ้นมามีปัญหาไม่มีเงินซื้อบ้าน เพราะกรุงเทพฯ ที่ดินราคาแพง จึงคิดโครงการบ้านตั้งตัวขึ้นมา เพราะไม่อยากให้เหมือนคนจีนที่คนทำงานรุ่นใหม่ต้องหาซื้อรถตู้แทนบ้าน กินนอนอยู่ในนั้น พอเช้าก็ออกจากรถตู้ไปเข้าห้องน้ำ แต่งตัวที่ออฟฟิศ แล้วเข้าทำงาน เพราะไม่มีเงินซื้อบ้าน
“วันนี้เรามีตึกแถวร้างเต็มไปหมดกรุงเทพฯ ไม่ได้ใช้ เป็นไปได้ไหมที่ พม.ของเรา จะเป็น พอช. หรือการเคหะฯ เข้าไปดูว่าเราจะเอาตึกร้างนี้มาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง ? แบ่งเช่าที่พักราคาถูกได้หรือไม่ ? ไปคุยกับเอกชนเจ้าของตึกได้ไหม ? แทนที่ก่อสร้างแล้วจะอยู่เฉยๆ ให้คนรุ่นใหม่ได้มีที่อยู่อาศัย รวมไปถึงนิคมสร้างตนเองที่มีศักยภาพมากมาย ทำอย่างไรให้คนในนิคมได้พึ่งพาตนเอง ยืนอยู่บนขาตัวเองอย่างยั่งยืน เช่น พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาอาชีพ ตั้งแต่ฐานราก” รมว.พม.บอก
มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัยและ พอช.นำร่องสำรวจอาคาร ตึกร้างใน กทม.เพื่อพัฒนาเป็นที่พักราคาถูกตั้งแต่ปี 2565
นอกจากนี้คนในวัยทำงาน จะต้องเตรียมตัว เตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างมีความพร้อม เพื่อจะได้มีเงินเพื่อดูแลตัวเอง ยามที่ไม่มีลูกหลานดูแล และเมื่อเป็นผู้สูงวัยอยากจะให้มี ‘ศูนย์บริบาลผู้สูงอายุระดับชุมชน’ เพื่อให้คนในชุมชนดูแลกันเอง เช่น มีการอบรมให้ความรู้เรื่องการดูแลสุขภาพ เชื่อมการทำงานร่วมกับ อสม. สาธารณสุข รวมทั้งจัดสวัสดิการให้กับผู้สูงอายุ กองทุนพัฒนาชุมชนเพื่อผู้สูงอายุ
“เราต้องหาสิ่งต่างๆ หาอาชีพให้ผู้สูงอายุได้ทำ ยิ่งอายุมากยิ่งต้องลับสมองมากขึ้น รวมทั้งนำความรู้ประสบการณ์ ดึงเอาศักยภาพผู้สูงอายุมาใช้ประโยชน์ แม้แต่ผู้พิการเราก็ต้องดูแล เพื่อเป็นกำลังสำคัญของสังคมไทย ให้ความรู้ผู้สูงอายุ ให้ความรู้เรื่องการเงิน ความปลอดภัยเรื่องไซเบอร์ ไม่ให้โดนหลอกลวง”
รมว.กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุ ส่วนเรื่องคนพิการ จะต้องทำให้กองทุนคนพิการมีประสิทธิภาพมากขึ้น เงินกองทุนเมื่อออกไปแล้วจะกลับคืนมาสู่สังคมไทยได้มากขึ้น และคนพิการไม่ได้ต้องการให้คนมาช่วย แต่เขาต้องการโอกาสอยู่ร่วมกับคนในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรี การเข้าใจทำให้พวกเขาเหล่านั้นยืนในสังคมไทยได้อย่างมีศักดิ์ศรี นี่คืองานของ พม. ให้คนพิการเข้าถึงงาน มีโอกาสมากขึ้น
“ที่ผ่านมา พม.ทำงานมากมายมหาศาล แต่การสื่อสารกับประชาชนมันนิดเดียว ฉะนั้นเราจะต้องสื่อสารให้ถึงให้เห็นว่าประเทศไทยของเรา มีกลไกของ พม. มีกองทุนของ พม. มีกองทุนอะไรบ้าง มีสิ่งใด มีสิทธิอะไร เช่น สายด่วน 1300 เป็นศูนย์ด่านแรก รับความช่วยเหลือรับเรื่องร้องเรียน ต้องแก้ไขปัญหาเบื้องต้นให้กับพี่น้องประชาชนที่ติดต่อ หรือโทรเข้ามา... พม.ของเราจะต้องเป็นกำแพงที่พึ่งพิงให้กับพี่น้องประชาชนเวลาเขาเหน็ดเหนื่อย เวลาที่เจอปัญหา และเป็นเกราะกำบังป้องกันสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ในสังคมให้กับพี่น้องประชาชน นี่คือหน้าที่ของพวกเรา” นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.พม. กล่าวย้ำในตอนท้าย
นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวง พม. (ที่ 6 จากซ้าย) และผู้บริหาร พอช.
***************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
การเคหะแห่งชาติเข้าร่วมงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวง พม. ครบรอบ 22 ปี
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีสงฆ์และสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
'วราวุธ' ย้ำต้องเร่งปัญหาอุทกภัยก่อนส่วนเรื่องอื่นว่ากันทีหลัง
'วราวุธ' ย้ำช่วยประชาชนน้ำท่วมสำคัญเบอร์ต้น รอคลี่คลาย ค่อยคุยแก้ร ธน.
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย