ชาวคลองเตย และผู้ว่า กทม. ‘ชัชชาติ’ ร่วมเวทีที่อยู่อาศัยที่วัดสะพาน คลองเตย กรุงเทพฯ (17 กันยายน)
วัดสะพาน / ชาวคลองเตยจัดเวทีหารือ ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดคลองเตย’ เนื่องในโอกาสการรณรงค์แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนในช่วง ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ โดยขอแบ่งปันที่ดินจากการท่าเรือแห่งประเทศไทยซึ่งมีแผนงานจะนำที่ดินท่าเรือคลองเตยกว่า 2,300 ไร่มาพัฒนาเชิงพาณิชย์มูลค่าระดับแสนล้านบาท เพื่อนำมาสร้างที่อยู่อาศัยให้คนคลองเตย เพื่ออนาคตของลูกหลานมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง โดยมี ‘ชัชชาติ’ ผู้ว่า กทม.ร่วมงาน
ระหว่างวันที่ 15 กันยายน - 10 พฤศจิกายนนี้ เครือข่ายชุมชน หน่วยงานภาคี และองค์กรที่ทำงานด้านการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยในประเทศไทย เช่น มูลนิธิดวงประทีป เครือข่ายสลัม 4 ภาค เครือข่ายบ้านมั่นคง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ฯลฯ ร่วมกันจัดกิจกรรมต่างๆ
เพื่อรณรงค์ให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินที่อยู่อาศัยและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวชุมชนที่มีรายได้น้อยทั่วประเทศ เนื่องในโอกาส ‘วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2566’ หรือ ‘World Habitat Day 2023’ โดยมีการจัดงานแถลงข่าวและจัดเวทีเสวนาการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา (ดูรายละเอียดที่ https://web.codi.or.th/index.php/20230915-48239/) และวันนี้ (17 กันยายน) จัดกิจกรรมเสวนา ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดคลองเตย’ ที่วัดสะพาน คลองเตย
ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ เริ่มสร้างเมื่อปี 2481
85 ปีท่าเรือและคนคลองเตย
ชุมชนแออัดคลองเตย ตั้งอยู่ในที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,353 ไร่ สภาพเดิมเป็นทุ่งนาและที่ดินที่มีผู้ครอบครอง เนื้อที่กว้างใหญ่จรดยาวไปจนถึงริมแม่น้ำเจ้าพระยา หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 รัฐบาลในขณะนั้น มีแผนงานก่อสร้างท่าเรือของรัฐในกรุงเทพฯ ให้ทันสมัย เพื่อขนส่งสินค้าไปขายยังต่างประเทศ จากเดิมที่ต้องขนถ่ายสินค้าที่เกาะสีชัง จ.ชลบุรี
ต่อมาในปี 2481 จึงเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่าเรือริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลคลองเตย และขุดลอกร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ในปี 2490 ท่าเรือระยะแรกก่อสร้างแล้วเสร็จ เริ่มเปิดดำเนินการท่าเรือคลองเตยเป็นครั้งแรก ในปี 2494 จึงจัดตั้ง ‘การท่าเรือแห่งประเทศไทย’ ขึ้นมา เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคมเพื่อบริหารกิจการท่าเรือ
นับตั้งแต่มีการก่อสร้างท่าเรือและขุดลอกร่องน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่ปี 2481 เป็นต้นมา ทำให้มีแรงงานจากทุกสารทิศทั่วประเทศเดินทางเข้ามาหางานทำ ส่วนใหญ่เป็นงานกรรมกร งานขนถ่ายสินค้า ฯลฯ และปลูกสร้างที่พักในที่ดินของการท่าเรือ ต่อมาจึงมีผู้คนจากที่ต่างๆ ที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ อาศัยที่ดินการท่าเรือฯ ปลูกสร้างบ้านพักอาศัย จนขยายกลายเป็นย่านชุมชนแออัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 85 ปีนับตั้งแต่ก่อสร้างท่าเรือ มีชุมชนแออัดที่ตั้งอยู่ในที่ดินของการท่าเรือฯ รวมทั้งหมด 26 ชุมชน ประมาณ 12,000 ครอบครัว ประชากรที่มีทะเบียนราษฎร์ไม่ต่ำกว่า 60,000 คน หากรวมประชากรแฝงอาจถึง 100,000 คน ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างทั่วไป แม่บ้าน รปภ. ค้าขาย พนักงานบริษัทเอกชน ข้าราชการ ขับรถแท็กซี่ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ฯลฯ
ชาวคลองเตยทั้ง 26 ชุมชน ส่วนใหญ่ปลูกสร้างบ้านโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการท่าเรือฯ รวมเนื้อที่อยู่อาศัยของชาวคลองเตยทั้งหมดประมาณ 400 ไร่ (ที่ดินการท่าเรือฯ ทั้งหมด 2,353 ไร่) แต่มีบางส่วน เช่น โครงการบ้านมั่นคงสร้างสรรค์ในชุมชนคลองเตยที่ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการท่าเรือฯ อย่างถูกต้อง
ท่าเรือคลองเตยในปัจจุบัน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยมีแผนงานพัฒนาท่าเรือคลองเตยให้ทันสมัย แต่ยังไม่มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ในสมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี กระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาพื้นที่การท่าเรือคลองเตยในเชิงพาณิชย์ เช่น มีศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงแรม ฯลฯ ในที่ดิน 2,353 ไร่ และจะมีการรื้อย้ายชุมชนแออัดออกไป โดยมีโครงการ “Smart Community’ รองรับชาวคลองเตย
โครงการ Smart Community เพื่อรองรับชาวชุมชนคลองเตยที่อยู่อาศัยในพื้นที่การท่าเรือฯ ประมาณ 6,000 ครอบครัว โดยการท่าเรือฯ จะจัดสรรพื้นที่ในคลองเตย 58 ไร่ เพื่อสร้างชุมชนใหม่ และมีข้อเสนอ 3 แนวทางให้ชาวคลองเตยเลือก คือ 1.รื้อย้ายแล้วเข้าอยู่ในอาคารสูงที่การท่าเรือจะสร้างให้ 2.ย้ายไปสร้างชุมชนใหม่ที่บริเวณหนองจอก และ3.รับเงินชดเชยแล้วย้ายออกจากพื้นที่หรือกลับภูมิลำเนา โดยการท่าเรือเปิดตัวโครงการนี้ไปเมื่อต้นปี 2562
อย่างไรก็ตาม โครงการพัฒนาท่าเรือและที่อยู่อาศัยของชาวคลองเตยจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการแต่อย่างใด และรัฐบาลใหม่จะมีนโยบายในเรื่องนี้อย่างไร ? ขณะที่ชาวคลองเตยมีความกระตือรือร้นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาที่อยู่อาศัย
ชุมชนคลองเตย (ภาพจาก taejai.com)
ชาวคลองเตยจัดเวทีแก้ปัญหาที่ดินการท่าเรือฯ
โดยในวันนี้ (17 กันยายน) สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย มูลนิธิดวงประทีป เครือข่ายสลัม 4 ภาค และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช. ร่วมกันจัดงาน ‘เวทีการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดคลองเตย’ ที่วัดสะพาน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสาวเฉลิมศรี ระดากูล รองผู้อำนวยการ พอช. ผู้แทนหน่วยงานภาคีเครือข่าย และชาวชุมชนคลองเตย เข้าร่วมงานประมาณ 150 คน
พระพิศาลธรรมานุสิฐ เจ้าอาวาสวัดสะพาน กล่าวว่า เรื่องที่อยู่ที่อาศัยในคลองเตย ใช่ว่าเราจะต่อสู้แค่ 1-2 ปี หากนับเวลาย้อนหลังไป ใช้เวลามา 50 ปี มีการขอร้องผู้มีอำนาจในพื้นที่ที่เราได้พัฒนาตั้งแต่เริ่มต้นมาจนถึงวันนี้ เป็นข้อสังเกตว่าทำไมยังไม่สำเร็จเสร็จสิ้นลงไป เราต้องปรึกษาหรือกันว่า เราจะดำเนินการอย่างไร จะขอที่อยู่อาศัยอย่างไร ?ให้เป็นรูปธรรมที่จัดเชน ซึ่งเป็นข้อต่อรองกันมาจนถึงทุกวันนี้
สิ่งที่การท่าเรือเช่าให้เรา ที่อยู่ที่อาศัย เฉพาะกลุ่มที่ทำงาน อายุ 20-30 ปีขึ้นไป แต่ไม่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ หากจะพัฒนาเป็นรูปแบบเมือง ก็ควรจะมีพื้นที่ 20-30 ไร่ ตามแนวคิดในหลวงรัชกาลที่ 9 หากเป็นพื้นที่ไร่ นา สวนจะเหมาะสมกับผู้สูงอายุมากกว่า การที่จะสร้างนิคมใหม่ ต้องอาศัยเวลา 5-10 ปี รวมทั้งเรื่องสาธารณูปโภค จะทำให้ที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุจะมีความชัดเจนขึ้น
“การสร้างเมืองยุคใหม่ ปัจจุบันใช้ AI ในการสร้างประมวลผลให้เรา ทุกวันนี้ใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างการทำงานหากตั้งใจจริงใช้เวลาไม่เกิน 1 ปีก็จะสำเร็จ ทุกวันนี้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปเป็นมาตรฐานเดียวกัน วันนี้ขอให้ปรึกษาหารือให้ตกผลึกว่าจะทำอย่างไร ? ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ก็อยากพัฒนาเมืองให้สวยงาม ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของโลก การพัฒนาเมืองต้องพัฒนาเมืองไปทั้งด้านวัตถุและจิตใจ” เจ้าอาวาสวัดสะพานให้แง่คิด
ตัวแทนชาวชุมชนคลองเตยร่วมเวที
นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป กล่าวว่า เรื่องที่อยู่อาศัยเป็น 1 ในปัจจัย 4 รัฐบาลควรให้ความสนใจ ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องที่อยู่อาศัย ทำให้คนจนที่เป็นแรงงาน เป็นฐานรากของสังคม ให้มีที่อยู่อาศัยที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี การจัดงานวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของวันที่อยู่อาศัยโลก ปีนี้ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม เพื่อสร้างความตระหนักในเรื่องที่อยู่อาศัยของรัฐบาล
“ประเด็นที่อยู่อาศัยของชุมชนคลองเตยเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมาหลายสิบปี การท่าเรือได้เวนคืนที่ดิน 2,353 ไร่ จากประชาชนและจะเปลี่ยนวัตถุสงค์ของการใช้ที่ดิน จากการขนถ่ายสินค้าของการท่าเรือ จะใช้ที่ดินมาเป็นการพัฒนาย่านอุตสาหกรรม ธุรกิจ โรงแรม มีการไล่ชุมชนกว่า 20 ครั้ง ชุมชนย้ายที่อยู่ไปตามที่อยู่ต่าง ๆ ย้ายไปไกลจากที่ทำกิน อยู่อาศัยไม่ได้ก็ต้องย้ายกลับมา คุณภาพชีวิตก็ต่ำลง” เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีปกล่าว
‘ครูประทีป’ บอกด้วยว่า หลายปีที่ผ่านมา การท่าเรือได้เสนอให้กับประชาชน เช่น ขึ้นตึกสูง ไปอยู่ในที่ดิน 19 ตารางวาที่หนองจอก ซึ่งทั้ง 3 ทางเลือกที่ได้นำเสนอไม่ได้เกิดจากการระดมสมอง และการพัฒนาแผนดังกล่าว มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบถึง 3 ครั้ง โดยที่ภาคประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วม จึงได้มีการเรียกร้องจากรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐมาโดยตลอด
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาที่อยู่อาศัยเป็นปัญหาใหญ่ของเมือง คนจนไม่มีที่ดิน ที่ดินในเมืองแพง ทรัพยากรที่ขาดคือที่ดิน และไม่มีที่อยู่อาศัย ท่านเจ้าอาวาสทันสมัยมาก ท่านพูดว่า เป็นจุดที่เรามาใช้เวลาคุยเรื่องนี้คือ “อย่ามีอคติ” และที่ครูประทีปพูดคือ “ต้องช่วยกัน อย่าไปด่าเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่รัฐอย่ามาด่าว่าชุมชนจะเอาประโยชน์ต่อตัวเอง” ที่ดินมีพอที่จะทำที่อยู่อาศัยแก่ทุกคน แต่รูปแบบอาจไม่ตรงใจทุกคน
ผู้ว่า กทม. กล่าวว่า อนาคตย่านพระราม 4 จะเป็นทำเลทอง ในอนาคตจะเป็นแหล่งงาน หลักการคือต้องอยู่ใกล้งานเพราะเดินทางลำบาก ต้องคุยกัน อาจไม่ได้อยู่ทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว อาจจะเป็นอาคารสูง ถ้าอยู่ในพื้นที่ที่ดี มีสวน มีโรงเรียน มีโรงพยาบาล คนขายหาบเร่แผงลอยมีที่เก็บของ ต้องแลกเปลี่ยนกัน หัวใจของความสำเร็จต้องฟังกันให้มาก และหากที่อยู่อาศัยไม่มั่นคง ชีวิตลูกหลานก็ไม่ปลอดภัย ซึ่ง กทม.จะเดินหน้าไปกับพวกเราทุกคน
‘ชัชชาติ’ ผู้ว่า กทม.
เสียงจากคนคลองเตย 26 ชุมชน
นางประไพ สานุสรรค์ ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย กล่าวว่า สภาองค์กรชุมชนเกิดจาก พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชน พ.ศ. 2551 ถือเป็นความภาคภูมิใจที่ประชาชนมีกฎหมายของตัวเอง และใช้สภาองค์กรชุมชนฯ ขับเคลื่อนงานต่าง ๆ ที่จะนำพาพี่น้องชุมชนเป็นผู้บุกเบิกชุมชนเมืองของเรา เช่น ทำเรื่องที่อยู่อาศัย สิ่งแวดล้อม การศึกษา ความปลอดภัย ฯลฯ
ทั้งนี้เรื่องที่อยู่อาศัยในชุมชนคลองเตยทั้ง 26 ชุมชนนั้น สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตยร่วมกับชาวชุมชนขับเคลื่อนและยื่นข้อเสนอการแก้ไขปัญหาให้กับการท่าเรือฯ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา สำหรับเวที ‘การพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแออัดคลองเตย’ ที่วัดสะพานวันนี้ มีการแบ่งตัวแทนชาวชุมชนที่เข้าร่วมประชุมประมาณ 150 คนออกเป็นกลุ่มย่อย เพื่อให้แต่ละกลุ่มได้แสดงความคิดเห็นเพื่อนำมาประมวลและรวบรมนำเสนอต่อการท่าเรือฯ และกระทรวงคมนาคมต่อไป
โดยมีประเด็นพูดคุย คือ ทางเลือก 3 แนวทางที่การท่าเรือฯ เสนอต่อชุมชน คือ 1.รูปแบบการอยู่อาศัยในอาคารสูง ในที่ดินการท่าเรือฯ คลองเตย (บริเวณโรงฟอกหนังเก่า) ขนาดห้องประมาณ 33 ตารางเมตร 2.การย้ายที่อยู่อาศัยไปยังที่ดินเขตหนองจอก 3.ย้ายกลับภูมิลำเนา และทางเลือกที่ 4.ขอแบ่งปันที่ดินการท่าเรือฯ มาบริหารจัดการเอง
ข้อเสนอแนวทางที่ 1.รูปแบบการอยู่อาศัยในอาคารสูง ในที่ดินการท่าเรือฯ คลองเตย ขนาดห้อง 33 ตารางเมตร เช่น 1.ต้องมีการประชุมออกกฎกติกาการอยู่ร่วมกันให้ชัดเจน 2.ขอขยายพื้นที่ 1 ยูนิต 33 ตร.เมตร เป็น 36 ตร.เมตร อยู่กันไม่เกิน 4 คน 3.หากเกิน 4 คน ควรจะให้เพิ่มอีก 1 สิทธิ เช่น 7-8 คน หากไม่ให้ 1 สิทธิ ต้องสร้างอาคารขนาด 45 ตร.เมตร
4.มีสถานที่ส่วนกลาง ออกกำลังกาย สถานประกอบอาชีพ ร้านค้า 5.การก่อสร้างอาคาร ต้องมีห้องว่างสำหรับพบปะพูดคุย สันทนาการ เช่น 25 ชั้น ชั้นที่ 20-25 จะมี 1 ชั้นที่มีพื้นที่ให้พบปะพูดคุย 6.การก่อสร้างอาคารควรห่างกันไม่ต่ำกว่า 10 เมตร เพื่อความปลอดภัย เช่น กรณีไฟไหม้ 7.ให้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างแฟลตหรือคอนโด เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เมื่อเกิดเหตุจะหนีได้ 2 ทาง
8.การสร้างอาคารต้องมีลิฟท์ 3 ตัว 1 ตัว รับน้ำหนัก และอีก 2 ตัวเป็นลิฟท์ขึ้น-ลง 9.ระบบป้องกันอัคคีภัย มีอาสาสมัครที่จัดตั้งเป็นหน่วยบรรเทาสาธารณภัย 10.จัดให้มีที่จัดเก็บอุปกรณ์ค้าขาย ที่จอดรถ 11.ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ให้โอกาสเลือกที่อยู่อาศัยชั้นที่ต่ำที่สุด เช่น ชั้น 1-2- 3 ฯลฯ
โมเดลอาคารสูงที่การท่าเรือ ฯ มีแผนรองรับชาวคลองเตยประมาณ 6,000 ครอบครัว
การย้ายที่อยู่อาศัยไปยังที่ดินเขตหนองจอก-กลับภูมิลำเนา
ข้อเสนอแนวทางที่ 2 การย้ายที่อยู่อาศัยไปยังที่ดินเขตหนองจอก โดยการท่าเรือฯ มีที่ดินถมแล้ว จัดสรรให้ครอบครัวละ 19.5 ตารางวาเพื่อก่อสร้างบ้าน โดยที่ประชุมมีข้อเสนอ เช่น 1.ขอให้มีค่าตอบในการปลูกบ้านอัตราเดียวกับอาคารสูง มีค่าที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง 2.ขอให้การท่าเรือฯสนับสนุนรถและบุคลากรขนย้ายสิ่งของ 2.ขอหน่วยงานสนับสนุน เช่น พอช. สำนักงานเขต กทม. ตั้งแต่เริ่มต้นในการออกแบบแปลนบ้าน จัดระบบให้มีสาธารณูปโภค การไฟฟ้า ประปา หากย้ายไปสามารถเข้าอยู่ได้เลย ไม่ต้องต่อเติม สร้างใหม่ 3.การปรับถนนที่ดิน น้ำไม่ท่วมขัง
4,ขอพื้นที่สำหรับทำกิจกรรม สนามกีฬา สวนหย่อม ผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรม 5.มีความปลอดภัย มีที่จอดรถ หน่วยงานดับเพลิง การให้ความรู้ให้ชุมชนตระหนักความปลอดภัย 6.มีรถบริการสาธารณะ 7.มีโรงเรียน สถานศึกษา สถานพยาบาล หอกระจายข่าว
ข้อเสนอแนวทางที่ 3.ย้ายกลับภูมิลำเนา ที่ประชุมมีความคิดเห็น เช่น หากการท่าเรือฯ จะจ่ายค่าตอบแทนเพื่อกลับไปตั้งต้นชีวิตใหม่ที่จังหวัด ครอบครัวละ 500,000 บาท อาจไม่พอเพียง เพราะปัจจุบันค่าครองชีพสูงขึ้น กลับไปจะทำอาชีพอะไร ? ถ้าไม่มีที่ดินทำกิน ดังนั้นแนวทางนี้จึงไม่ค่อยได้รับความสนใจ หลายคนบอกอยากจะทำมาหากินอยู่ที่คลองเตยตลอดไป
“พวกเราอยากอยู่ที่นี่ต่อ ผมว่าเงิน 500,000 บาทไม่สามารถไปต่อยอดอะไรได้มากมาย พวกผมไม่มีที่ดินที่ต่างจังหวัด ทุกคนไม่มีใครอยากไป ไม่แน่ใจว่าเงิน 500,000 บาท เขาจะจ่ายเงินครั้งเดียว หรือทยอยจ่าย อยากให้พี่น้องแข็งแกร่งและสู้ไปในทิศทางเดียวกัน ผมอยากเป็นคนคลองเตยไปตลอด
ผมทำงานรับจ้างท่าเรือมาตลอด พวกเรายังอยู่ที่เคยสร้างท่าเรือมาตลอด อย่ามองข้ามพวกเรา สรุปพวกผมอยู่มา 60 กว่าปี ผมอยากอยู่ และตายที่นี่ !!” เสียงจากคนคลองเตยบอก
“Land Sharing” ขอแบ่งปันที่ดินมาบริหารจัดการเอง
นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอที่ 4 ของชาวคลองเตย คือ การแบ่งปันที่ดินของการท่าเรือฯ ที่คลองเตย เพื่อมาบริหารจัดการสร้างบ้าน สร้างชุมชนเอง โดยมีข้อเสนอ เช่น 1.ขอแบ่งปันที่ดินการท่าเรือฯ จำนวน 10 เปอร์เซ็นต์จากจำนวนที่ดินทั้งหมด 2,353 ไร่ เพื่อรองรับชาวคลองเตยทั้ง 26 ชุมชน เพื่อความสะดวกในการทำมาหากิน การเดินทาง ความสะดวกที่เคยชินกับการใช้ชีวิตคลองเตย ทุกคนอยากอยู่ที่เดิม
2.ขอให้พอช.มาร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัย 3.ขอให้มีหน่วยงานภาครัฐเข้าอยู่ในพื้นที่ 15-20% เช่น มีศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนประถม มัธยม อาชีวะ สนง.ตำรวจ มูลนิธิดวงประทีม และมูลนิธิอื่นๆ มีสวนสาธารณะ เพื่อทำพื้นที่สร้างสรรค์ในชุมชน โดยชุมชนมีแผนงาน เช่น สำรวจข้อมูล สำรวจว่าใครต้อการที่อยู่อาศัยแบบไหน บางคนอยากอยู่แนวราบ แนวสูง แล้วจัดทำแผนงานเพื่อนำเสนอต่อการท่าเรือฯ
นอกจากนี้ยังมีความเห็นอื่นๆ เช่น การออกแบบผังชุมชน โดยมีกติการของตนเอง เหมือนที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ เพราะเรามีกิจกรรมอยู่ในชุมชนของเราอยู่แล้ว อยากให้การท่าเรือฯ นำแผนที่มีอยู่มาทำความเข้าใจกับชุมชน ตอนนี้ชุมชนยังไม่เห็นแผนของการท่าเรือฯ
“คนที่อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตยเป็นแรงงานหลักในสังคม แต่เขาเป็นผู้มีรายได้น้อยเลยไม่ค่อยมีตัวตน แต่เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ การแบ่งปันที่ดินคือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน”
แกนนำสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย (เสื้อสีม่วง) ผู้ร่วมงานและภาคีเครือข่าย
***************
เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน
UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’
รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567
ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’
‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน
รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด
เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”
คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย
บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ
สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ
รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน
จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา