ประเดิมเวทีวิชาการ ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’ จัดเสวนา ‘การแก้ปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.’ แผน 5 ปี 27,000 ครัวเรือน

เวทีเสวนา ‘การแก้ไขปัญหาชุมชนที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย’ ที่ พอช. (15 กันยายน)

พอช. / การจัดงานรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ‘World Habitat Day 2023’ ของภาคีเครือข่ายการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของคนจนในประเทศไทยปีนี้  ประเดิมเวทีวิชาการวันแรกที่ พอช. โดยมีการจัดเสวนาหัวข้อ “การขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย”  โดย พอช.ได้รับมอบหมายตามแผนงานรองรับที่อยู่อาศัย 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) เร่งดำเนินงานในชุมชนริมทางรถไฟ 35 จังหวัด 300 ชุมชน 27,084 ครัวเรือน

คนจน รวมพลังจัดงาน ‘วันที่อยู่อาศัยโลก 2566’

UN – HABITAT   หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’  กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’  เริ่มตั้งแต่ปี 2528  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ในโลกให้ความสำคัญกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนตระหนักถึงสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมของประชากรทุกคนบนโลก

ทั้งนี้ที่ผ่านมา  ภาคประชาชนและองค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGOs  ทั่วโลก  จะจัดกิจกรรมรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกทุกปี  เพื่อให้รัฐบาลในประเทศนั้นๆ  แก้ไขปัญหาเรื่องที่อยู่อาศัย  รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน

ในประเทศไทย  เครือข่ายคนจนที่ทำงานด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย  เช่น  เครือข่ายสลัม 4 ภาค  สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) สหพันธ์ชุมชนแออัดคลองเตย   ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) เครือข่ายสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ  ฯลฯ  ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาต่างๆ  เช่น  ชุมชนในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)  การแก้ไขปัญหาที่ดินชาวเล  ที่ดิน ส.ป.ก.  ที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ  ฯลฯ

ในปีนี้วันที่อยู่อาศัยโลกตรงกับวันจันทร์ที่ 2 ตุลาคม  UN – HABITAT มีคำขวัญว่า “Resilence urban economies, Cities as drivers of growth and recovery” เศรษฐกิจเมืองที่ยืดหยุ่น มีเมืองเป็นกลไกหลักในการฟื้นฟูและสร้างความเจริญ”  โดยองค์กร  ภาคีเครือข่ายที่ทำงานแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนในประเทศไทยได้ร่วมกันจัดงานรณรงค์แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยทั่วปะเทศ  ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน  จนถึงเดือนพฤศจิกายนนี้ (ดูรายละเอียดที่ https://web.codi.or.th/index.php/20230915-48239/) 

โดยในวันนี้ (15 กันยายน)  มีการจัดเวทีวิชาการครั้งแรก  เรื่อง “การขับเคลื่อนนโยบายการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทย” ที่สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ ‘พอช.’ ถนนนวมินทร์  เชตบางกะปิ  กรุงเทพฯ  มีผู้ร่วมเสวนาจากการรถไฟแห่งประเทศไทย  นักวิชาการ  ผู้บริหาร พอช.  ผู้แทนชุมชน  และหน่วยงานภาคี  ดำเนินรายการโดย  พิชญาพร โพธิ์สง่า ผู้สื่อข่าวThaiPBS  มีผู้เข้าร่วมฟังและแสดงความคิดเห็นจากชาวชุมชนและผู้แทนเครือข่ายที่อยู่อาศัยทั่วประเทศประมาณ 160 คน

ประเดิมเวที ‘การแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.’

ในช่วงรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา  มีนโยบายการพัฒนาระบบรางทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2561 เช่น  โครงการรถไฟรางคู่ในภาคใต้  รถไฟความเร็วสูงในภาคอีสาน  รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน  ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา  ฯลฯ   ทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนสองข้างทางรถไฟ  ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม  และเครือข่ายสลัม 4 ภาค  จึงร่วมกันเจรจาเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย  จนคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแก้ปัญหา

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566  เห็นชอบตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโครงการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบรางรถไฟ   ในพื้นที่  35 จังหวัด  300 ชุมชน จำนวน  27,084  ครัวเรือน  ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ   

โดยรัฐบาลมอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ  โดยสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  หรือ พอช. จัดทำแผนงานรองรับ ระยะเวลาดำเนินการ 5 ปี (พ.ศ.2566-2570) ส่วน รฟท.จะอนุญาตให้ชุมชนเช่าที่ดิน รฟท. ผ่าน พอช. เพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ 

นายวิชชา เหล็กนุช รองผู้ว่าการฝ่ายการจัดการกรรมสิทธิ์ที่ดิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า มติบอร์ดใหม่ รฟท. มาจากมติเก่าในปี 2543 โดยปีนี้ 17 พฤษภาคม 2566 เราตกลงกับ พอช.และเครือข่ายชุมชนว่า  ต่อไปนี้จะไม่มีชุมชนเพิ่มเติมในที่ดินของการรถไฟ  บอร์ด รฟท.ต้องการให้สำรวจพื้นที่ทั้งหมด ว่ามีผู้ที่อยู่ในพื้นที่การรถไฟจำนวนเท่าไหร่ ?

ประการต่อมา  เรื่องการเช่าที่ดินจาก รฟท.  กำหนดว่าระยะ 20 เมตรจากรางรถไฟจะไม่ให้เช่า  เพราะเป็นระยะปลอดภัย ถ้ารถไฟตกราง บ้านเรือนจะได้รับผลกระทบ ระยะที่เกินกว่า 40 เมตรขึ้นไปมีแนวนโยบายให้เช่าได้ ระยะ 20 -40 เมตร ระยะที่เป็นที่ท้องช้าง ให้เช่าในระยะยาวไม่ได้  มีการรวบรวมหมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน หัวหน้าครอบครัว การจัดทำผังที่ดิน  เพื่อทำสัญญาเช่าที่ดินให้แล้วเสร็จก่อนปี 2571   โดยอนุญาตให้ปลูกสร้างที่อยู่อาศัยไม่เกิน 5x20 ตารางเมตร/ต่อครอบครัว

“การรถไฟมีหน้าที่  พันธกิจให้บริการขนส่งทางราง การพัฒนาที่ดินไม่ใช่พันธกิจหลักของการรถไฟ การรถไฟมีหนี้สินสะสม 2  แสนล้านบาท  และต้องกู้เงินอีก 1.8 หมื่นล้าน เพราะราคารถไฟไม่แพง ไม่ได้ปรับค่าโดยสารเพิ่มขึ้น  ในขณะที่ราคาน้ำมันสูง  ต้นทุนของการรถไฟสูง ทำให้รัฐบาลมีโจทย์ว่าการรถไฟต้องพัฒนาทรัพย์สินเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ที่ดินเป็นเป้าหมายแรกในการพัฒนาเพื่อลดหนี้ของการรถไฟ”  ผู้แทน รฟท.บอกถึงภารกิจหลัก

นายวิชชา  ผู้แทน รฟท.

ส่วนการแก้ไขปัญหาชุมชนในที่ดิน รฟท.นั้น  ที่ผ่านมา รฟท. มีแนวการทำงานแบบบูรณาการ โดยพูดคุยกับ พอช.ทุกสองสัปดาห์   ส่วนนโยบายของรัฐบาลใหม่เรื่องการพัฒนาระบบรางไม่น่าจะหนีจากแนวเดิม เพราะการขนส่งระบบรางเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนประเทศ  เมื่อพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเส้นทางการพัฒนาได้รับผลกระทบ  รัฐบาลจึงมีแนวทางช่วยเหลือดังกล่าว

พอช.จับมือ รฟท.ทำแผนปฏิบัติการลงพื้นที่แก้ปัญหา

นายสยาม นนท์คำจันทร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ พอช.  กล่าวว่า  โครงการพัฒนาระบบรางรถไฟ ซึ่งทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบนี้  เป็นโครงการที่รัฐอุดหนุนงบประมาณพอๆ กับการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนริมคลอง  ทำให้ชาวบ้านมีเงินอย่างน้อย 1แสนบาทเพื่อก่อสร้างบ้าน   ซึ่งโครงการนี้จะเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของประชาชนในโครงการอื่นๆ เช่น โครงการโครงการพัฒนาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง  

อย่างไรก็ตาม  ปัญหาในการดำเนการเรื่องที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดิน รฟท. คือ มีเวลาจำกัด  พอช. จึงตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมาทำงาน  ใช้เวลา 4 เดือนในการเซ็ตระบบ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาเรื่องหนี้ 70 ล้านบาท (ชุมชนเช่าที่ดิน รฟท.ก่อนหน้านี้หลายปี  หลายสิบชุมชน  ค้างชำระ  หรือไม่ได้จ่ายค่าเช่าสะสม) ต้องจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ด้วย

“ พอช.แบ่งการทำงานเป็น 2 ระยะ  คือของเดิมที่ติดหนี้ต้องเคลียร์ก่อนเพื่อให้เช่าที่ดินต่อ  ส่วนชุมชนใหม่ที่ไม่ได้ติดหนี้จะทำอย่างไรให้เร็วขึ้น  ระยะต่อไปได้คุยกับการรถไฟว่า  ปี 2567 ต้องทำ action plan ด้วยกัน ชุมชนไหนจะเดินหน้าก่อน เส้นกรุงเทพฯ-ระยอง,  กรุงเทพ-นครราชสีมา ต้องทำก่อน บางเส้นชาวบ้านอยากทำเลย เช่น สงขลา” ผู้ช่วย ผอ.พอช. ซึ่งรับผิดชอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนในที่ดิน รฟท. กล่าว

นางทองเชื้อ  สลัม 4 ภาค

นางทองเชื้อ วระชุน ผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค  กล่าวว่า  ชุมชนเราร่วมต่อสู้ สมัยก่อนรัฐพัฒนาไม่ทั่วถึง เราก็มาเช่าบ้านอยู่เป็นสิบปี  บ้านหนึ่งหลังซอยเป็น 10 ห้อง มีห้องน้ำห้องเดียว ที่ดินริมรางรถไฟมีคนมาทำสวน เราก็กลับไปรื้อไม้ที่บ้านมาสร้างเอง  ต่อน้ำต่อไฟจากบ้านข้างๆ  อยู่ไปอยู่มามีคนมาชวนทำบ้านมั่นคง ตอนแรกเราไม่เชื่อ ต่อมาก็ไปชวนคนอื่นๆ มารวมกลุ่มกัน เริ่มคุยกัน และมีแนวคิดว่าเราต้องเช่าที่ดินการรถไฟ มีการเจรจาขอที่ดินการรถไฟในนามสลัม 4 ภาค และได้มติบอร์ด รฟท.ปี 2543  แต่ก็ต้องต่อสู้อีกเยอะ จนได้เช่าที่ดินทำบ้านมั่นคง ตอนนี้เช่ามาตั้งแต่ปี 2550 ผ่อนบ้านหมดแล้ว และได้ขยายไปยังชุมชนใกล้เคียง ย่านบางระมาด ตลิ่งชัน  และไม่ใช่พัฒนาแค่บ้าน  แต่พัฒนาด้านสังคมด้วย

“อยากฝากการรถไฟ  ที่ผ่านมา ที่เช่าไปแล้วไม่ต้องรื้อ  เพราะชาวบ้านปลูกบ้านไปแล้ว เวลาจะเช่าที่อยากให้เร็วกว่านี้เพราะแต่ละชุมชนใช้เวลานานมาก 300 ชุมชนทำไม่ทันภายใน 5 ปี  บางทีชุมชนชินกับการอยู่ฟรี งบที่อนุมัติเมื่อ 14 มีนาคม (มติ ครม.14 มีนาคม 2566)  เป็นการแบ่งเบาภาระของชาวบ้าน”  นางทองเชื้อกล่าว

“ที่ดินไม่ใช่สินค้า”  คนจนร่วมพัฒนาเมืองได้

นายเชาว์ เกิดอารีย์ ผู้แทนเครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) บอกว่า  ชุมชนริมทางรถไฟย่านราชเทวี ทั้ง 4 ชุมชนมีการเตรียมตัว  ก่อนหน้านี้ไปเรียกร้องเรื่องที่อยู่อาศัย โดนหมายศาล หมายบังคับคดี ตอนนี้ทำบ้านพักชั่วคราว และไปเช่าที่ริมบึงมักกะสัน  ประมาณ 7 ไร่เศษ  อยากให้การรถไฟเร่งทำสัญญาเช่าให้พวกเราเร็วๆ สัญญาเช่า 30 ปี เป็นโมเดลแรกที่ผู้ว่าการรถไฟได้ให้โอกาสกับคนในชุมชนว่า  จะมีการให้เช่าที่ดินกับคนที่ได้รับผลกระทบ ต่อไปจะมีการกู้เงินจาก พอช.มาทำบ้านมั่นคง อยากให้การรถไฟมองที่ดินเป็นเหมือนภาคประชาชน ไม่ใช่สินค้า ถ้าเป็นสินค้าตกไปอยู่ในมือนายทุน ถ้าคนมาอยู่สามารถพัฒนาเมืองไปร่วมกันได้

“อยากให้การรถไฟเดินหน้าไปกับชุมชนและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ เพราะจะทำให้ราบรื่น เพราะการมีส่วนร่วม คนในชุมชนก็ช่วยเหลืองานของการรถไฟได้ เพียงแต่ว่าเรายังไม่ได้ปรับ คุยกัน อยากให้การรถไฟมองว่าเราเป็นเพื่อน”  แกนนำ ชมฟ. บอก

นายอัภยุทย์ นักพัฒนาอิสระ

นายอัภยุทย์ จันทรพา นักพัฒนาอิสระ  บอกว่า  เรื่องรถไฟมี 2 ภาค ปี 2543 มี 61 ชุมชนที่ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินทำเรื่องที่อยู่อาศัยกับ รฟท. แต่ทั่วประเทศมีมากกว่า 61 ฃุมชน  เวลา รฟท.จะแก้ปัญหาจะดูว่าอยู่ใน 61 ชุมชนหรือไม่ ?  เพราะ รฟท.จะทำเส้นทางเชื่อม 3 สนามบิน จึงเป็นที่มาของการเสนอส่วนต่อขยายภาค 2  จาก 61 ชุมชนเป็นทั่วประเทศ และ พอช.มาสำรวจพร้อมกันได้ 300 กว่าชุมชน หลักการใหญ่มาจาก 4 ข้อเดิมของมติบอร์ดปี 2543 และมีพี่น้องไม่จ่ายค่าเช่า ทำให้เกิดกระแสไม่จ่าย ทำให้ พอช.ต้องค้างหนี้ รฟท. (รฟท.ให้ พอช.เช่าที่ดิน เพื่อนำมาให้ชุมชนเช่าต่อ) มติบอร์ด รฟท. ให้จ่ายค่าเช่าก่อน แต่ไม่ได้บอกว่าให้จ่ายทั้งหมด ถ้าไม่สามารถเจรจาในทางภาพรวมได้  ก็ให้เจรจาเป็นรายกรณี เพราะมติบอร์ด รฟท.เปิดช่องไว้

นายอัภยุทธ์กล่าวว่า  ทำไมต้องเรียกร้องการเช่า ? ก่อนปี 2543 ไฟไม่มี น้ำไม่มี ไม่มีการพัฒนา การรถไฟให้อยู่  ถ้ามีโครงการจึงจะไล่ ชาวบ้านก็พัฒนาไม่ได้ เครือข่ายสลัม 4 ภาคเป็นผู้บุกเบิกให้เกิดการแก้ไขให้ถูกกฎหมาย เพราะการรถไฟมีที่ดินและให้ภาคเอกชนเช่า ชาวบ้านก็รู้สึกว่าถ้าคนรวยกู้ได้ ชาวบ้านก็ควรกู้ได้ ชาวบ้านไม่ได้ปฏิเสธโครงการของการถไฟแต่อยากได้สิทธิ์แบบ 61 ชุมชน

“จะเช่าอย่างไร ?  เป็นประเด็นที่มีปัญหาในทางปฏิบัติ เพราะ 300 ชุมชนให้เวลา 5 ปีทำให้เสร็จ ขนาด 5 ชุมชนคุยกัน 5 ปีแล้วยังไม่ได้ลงนาม  ต้องยอมรับว่านโยบายนี้ดี เพราะถ้าจะทำอะไรก็ต้องไล่ชาวบ้านที ชาวบ้านก็ไปประท้วง ก็เกิดปัญหา ถ้ามาสำรวจแล้วทำเป็นโครงการ ก็เป็นวิธีที่แก้ปัญหาโดยสันติ   แต่ปัญหาที่พบคือนโยบายมี งบประมาณมีแล้ว แต่กระบวนการในการทำงานยังไม่ค่อยราบรื่น มีแผนแต่ยังไม่ทำตามให้บรรลุเป็นรูปธรรม มีนโยบายแล้ว ชุมชนก็ต้องทำร่วมกัน”  นายอัภยุทย์บอก

เขาบอกด้วยว่า  ตนเข้าใจการรถไฟ  แต่เราขอที่ดินเพียงส่วนเล็กๆ เช่น  ที่บางซื่อ กม. 11 มีที่ดินกว่า 2 พันไร่  เราขอไม่ถึง 10 ไร่  เพื่อให้คนจนเมืองมีชีวิตอยู่ในเมือง ถ้าไม่คลี่คลายปัญหาด้วยการแบ่งปันก็จะต้องเผชิญหน้า แถวมักะสันโรงเจ เราทำกลุ่มออมทรัพย์ไว้   ชุมชนอยากจะขอแบ่งปันที่ดิน ทำไมเจ้าสัวได้ไป 150 ไร่ ?

รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  กล่าวว่า มติบอร์ด รฟท. 13 กันยายน 2543 ก็เป็นมติที่ถูกต้อง  ทำให้เปลี่ยนหลายๆ เรื่อง ที่ดิน รฟท. เป็นโครงการที่ทำให้เห็นก่อน เห็นว่าสอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้านและเป็นไปได้ คือไม่ต้องให้ชาวบ้านย้ายที่ดิน  โครงการโฮปเวลล์ย้ายคนจำนวนมากไปอยู่ที่ฉลองกรุง  ลาดกระบัง  ประกอบอาชีพไม่ได้ คนจำนวนมากก็กลับมาหาที่บุกเบิกในเมือง การแก้ไขปัญหาต้องแก้แล้วจบ คือชาวบ้านต้องอยู่ในเมือง เพราะอาชีพเขาอยู่ในเมือง

รศ.ดร.บุญเลิศ

โครงการแรกที่ได้เช่าคือปักแก้ว ตรงจตุรทิศ ใกล้คลองจั่น สัญญาเช่าปี 2545 การที่เขาได้อยู่ตรงนั้น  ได้ทำงานที่เดิม หลายคนคุณภาพชีวิตดีขึ้น ชาวบ้านทำบ้านได้สวย เป็นภาพที่ดีต่อเมือง คนที่ไม่ปรับปรุงบ้านเพราะเขาไม่มีความมั่นคงในที่ดินและบ้าน ไม่กล้าลงทุน การให้หลักประกันที่มั่นคง เป็นสิ่งที่เขาจะมีแรงจูงใจในการปรับปรุงบ้าน  อาชีพคนจนต่างกับพนักงาน ใช้พื้นที่บ้านเป็นสถานที่ทำงาน เขาต้องการพื้นที่แนวราบในการทำงาน

“การไม่ให้เช่า  ไม่เป็นประโยชน์ทั้งกับการรถไฟและชุมชน 20 ปีที่ผ่านมา เมื่อไม่ให้เช่า ชาวบ้านก็อยู่แบบนั้น บ้านก็เพิ่มขึ้น การทำงานร่วมกัน  การให้เช่าดีกว่า แต่ละพื้นที่รู้ว่าการรถไฟจะทำอะไร ร่วมกันทำ ชาวบ้านก็เข้าใจการรถไฟ เขาไปเช่าตรงขอบก็ได้ ที่ดินไข่แดงตรงกลางชาวบ้านก็เข้าใจ  เขาไม่ได้อยากได้ ที่ดินบางแห่งนักลงทุนก็ไม่กล้าลงทุนถ้าต้องมีปัญหายืดเยื้อ ส่วนคนในชุมชนมีทั้งที่อยากเช่าและไม่อยากเช่า แต่คนที่มานั่งในห้องนี้แสดงเจตจำนงค์ว่าเขาอยากทำ อยากเช่า  ไม่ได้อยากอยู่เฉยๆ”  รศ.ดร.บุญเลิศกล่าว

ความคืบหน้าและข้อเสนอจากประชาชนชาวริมทางรถไฟ

โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาระบบราง  พอช.มีแผนดำเนินการภายใน5  ปี  เริ่มตั้งแต่ปี 2566-2570   ขณะนี้ชุมชนต่างๆ จำนวน 300 ชุมชน 35 จังหวัด จำนวน  27,084  ครัวเรือน  (ใช้งบประมาณรวม 7,718 ล้านบาทเศษ)  กำลังเร่งสำรวจข้อมูลชุมชน  ครัวเรือน  เพื่อจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท. (กรณีอยู่ในที่ดินเดิมได้)  หรือจัดหาที่ดินแปลงใหม่ 

อย่างไรก็ตาม  เนื่องจากมีอุปสรรคบางประการในการทำงาน  เช่น  ชาวบ้านบางส่วนยังไม่เชื่อว่าจะมีโครงการพัฒนาระบบรถไฟ  ยังไม่เข้าร่วม  ฯลฯ   รฟท. กับ พอช.จึงมีแนวคิดจัดตั้งคณะทำงานร่วมลงไปในพื้นที่ สื่อสารสร้างความเข้าใจกับกับชุมชนให้รวดเร็วขึ้น

โดย รฟท. และ พอช. จะทำแผนปฏิบัติการ หรือ action plan และเร่งดำเนินการใน 3 ระยะ คือ 1. ให้ชุมชนแจ้งความจำนงค์ว่าจะเข้าร่วมโครงการหรือไม่ 2. ต้องดำเนินการให้เช่าที่ดิน รฟท. ภายใน 30 ธันวาคม 2571 และ3. เมื่อสิ้นสุดงบประมาณปี 2570 ต้องวางแผนว่า จาก 27,084 ครัวเรือน  จะเข้าร่วมพัฒนาที่อยู่อาศัยจำนวนเท่าไหร่ ?  โดยพี่น้องชาวชุมชนจะต้องลุกขึ้นมาหารือกันมากยิ่งขึ้น ต้องมาคุยกันเป็นเครือข่ายอาจจะแก้ไขปัญหานี้ได้

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอจากประชาชนริมทางรถไฟในประเด็นต่างๆ  เช่น  การโดนคดีฟ้องร้องข้อหาบุกรุกที่ดิน รฟท. อยากให้มีการเจรจาก่อน  เพราะปัจจุบันมีคณะทำงานร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับ รฟท.แล้ว   เสนอให้ต่อระยะเวลาการทำโครงการเรื่องที่อยู่อาศัยของ พอช.เกิน 5 ปี (เดิมภายในปี 2566-2570)

เร่งรัดการจัดทำสัญญาเช่าที่ดิน รฟท. สำหรับชุมชนที่ดำเนินการยื่นขอเช่าที่ดิน และจัดทำ ทด.3 เรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่แปลงสถานีสำราญ สถานีขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น , พื้นที่แปลงมักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพฯ , พื้นที่แปลงที่ดินจังหวัดตรัง 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนชายเขาใหม่พัฒนา ชุมชนทางล้อ  และชุมชนคลองมวน  เพื่อเป็นของขวัญให้กับชาวชุมชนเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก

รฟท. และ พอช. ควรมีแนวทางการทำงานที่ชัดเจน  และลงพื้นที่ชี้แจงให้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศเพื่อให้เข้าใจหลักการดำเนินการ   ฯลฯ

ผู้ร่วมงานแสดงสัญลักษณ์ ‘บ้าน’

                                                     ***************

เรื่องและภาพ : สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร  สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน)  กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สุราษฎร์ธานี จัดงานวันที่อยู่อาศัยโลกปี67 ย้ำชุมชนต้องเป็นแกนหลักในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจน

UN – HABITAT หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’ กำหนดให้วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมทุกปีเป็น ‘วันที่อยู่อาศัยโลก’ หรือ ‘World Habitat Day’

รวมพลังคนจนแก้ปัญหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัยทั่วประเทศ วันที่อยู่อาศัยโลก ปี 2567

ปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยหรือมีที่อยู่อาศัยไม่เหมาะสมเป็นปัญหาที่สำคัญของผู้คนทั่วโลก UN-Habitat หรือ ‘โครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ’

‘21 ปีบ้านมั่นคง’ พอช. แก้ปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนทั่วประเทศ กว่า 3 แสนครัวเรือน

รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงในการอยู่อาศัยแก่คนจนในเมืองที่ ยังไม่มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัด

เสียงจากคลองเปรมประชากร…บ้านหลังใหม่ชีวิตใหม่ “คืนสายน้ำให้คนคลอง คืนสายคลองให้คนเมือง”

คลองเปรมประชากร มีประวัติศาสตร์อันยาวนานและมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาชุมชนและเศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา คลองนี้ได้ประสบปัญหามากมาย

บอร์ด พอช. มีมติ พักชำระหนี้องค์กรผู้ใช้สินเชื่อในพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ

สถานการณ์การเกิดอุทกภัยจากอิทธิพลของพายุยางิ ในระหว่างวันที่ 7 - 8 กันยายน 2567 ส่งผลกระทบต่อประชาชนในจังหวัดเชียงราย จำนวน 7 อำเภอ

รมว.พม. แจ้งตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว 34 แห่ง ใน 13 จว. ช่วยกลุ่มเปราะบาง-ผู้ประสบภัยน้ำท่วมริมแม่น้ำโขง ด้าน พอช. พร้อมอนุมัติงบช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติภาคเหนือและอีสาน

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ภาคเหนือ ส่งผลกระทบในพื้นที่ 8 จังหวัด 47 อำเภอ 207 ตำบล 22,817 ครัวเรือน โดยเฉพาะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา